Saturday, August 20, 2011

ลำดับ๖๓๐.คำร้องเพื่อให้มีการสอบสวนสถานการณ์การกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย ๐๒

คำร้องนี้ยังมีรายงานของผู้เชี่ยวชาญ จ่าสิบโทโจ เรย์ วิทตี้(เกษียณ) จากกองรบพิเศษของกองทัพสหรัฐฯ จ.ส.ท.วิทตี้เป็นพลซุ่มยิงทหารที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด เขาเคยร่วมปฏิบัติการสู้รบของทหารในอัฟกานิสถานและอิรัก ปัจจุบันเขาทำงานกับหน่วยสวาทของกรมตำรวจนครลอสแองเจลิส โดยเป็นพลซุ่มยิงและเป็นฝ่ายทำลายสิ่งกีดขวาง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ฝึกสอนด้านการควบคุมและการจัดการฝูงชนให้แก่กรมตำรวจลอสแองเจลิส โดยมีหน้าที่ในการวางแผนและการปฏิบัติการของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในการจัดการกับการชุมนุมในเขตนครหลวงลอสแองเจลิสด้วย

จ.ส.ท. วิทตี้ได้ศึกษาและประเมินการตอบโต้ของกองทัพไทยต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ๒๕๕๓ หลังจากการศึกษาคลิปวีดีโอยาวหลายชั่วโมงและหลักฐานภาพถ่ายที่บันทึกการชุมนุม และจากการไปตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการของทหารด้วยตนเอง และการสัมภาษณ์พยานจำนวนมาก จ.ส.ท.วิทตี้ได้จัดทำรายงานผู้เชี่ยวชาญที่มีบทสรุปดังต่อไปนี้

*เมื่อวันที่ ๑๐ เมษาน ๒๕๕๓ กองทัพบกของไทยไม่ได้ดำเนินปฏิบัติการจัดการฝูงชนอย่างมีเหตุผลหรือสมเหตุสมผล ซึ่งจะต้องมีความพยายามอย่างแท้จริงที่จะสลายการชุมนุมโดยไม่ก่อให้เกิดการได้รับบาดเจ็บ ในทางตรงข้าม กองทัพไทยกลับตั้งใจปิดกั้นทางออก ล้อมฝูงชนเข้าไปอยู่ในบริเวณจำกัด และกระทำการผิดกฎหมายต่างๆ เพื่อยั่วยุให้ฝูงชนกระทำการรุนแรง เพื่อที่ทางกองทัพจะได้มีความชอบธรรมในการใช้กำลังรุนแรงถึงแก่ชีวิตกับผู้ชุมนุม การกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
๑) การใช้พลซุ่มยิงทหารที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีไปยิงผู้ชุมนุมไร้อาวุธ โดยใช้กระสุนจริงยิงจากบริเวณที่สูงโดยไม่ปรากฏตัว โดยที่ไม่มีการยั่วยุก่อนหรือมีเหตุผลรองรับที่ชอบธรรม

๒) การใช้อาวุธทางการทหาร รวมถึงการใช้ปืนไรเฟิลเอ็ม-๑๖ และอาวุธออโต้อื่นๆยิงกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุมไร้อาวุธที่อยู่รวมกันหนาแน่นโดยตรงอย่างตั้งใจและไม่เลือกหน้า โดยที่ไม่มีการยั่วยุก่อนหรือมีเหตุผลรองรับที่ชอบธรรม

๓)การจุดวัตถุระเบิดระดับที่ใช้ในการทหารหลายลูกอย่างตั้งใจภายในบริเวณติดกับจุดที่ตั้งของกองทหาร ในลักษณะที่เป็นการยิงกันเองอย่างร้ายแรงมาก เพื่อสร้างความเข้าใจผิดว่ากองทัพถูกผู้ชุมนุมโจมตี

*กองทัพไทยได้ออกกฎการใช้กำลังที่เป็นไปตามหลักการจัดการฝูงชนที่เป็นที่ยอมรับกัน เพื่อสร้างความเข้าใจผิดว่ามีการปฏิบัติที่สมเหตุสมผล แต่แท้จริงแล้วกองทัพได้ละเมิดกฎการใช้กำลังของตนเองอย่างเป็นระบบในลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดทางอาญา

*ปฏิบัติการของกองทัพไทยเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ นั้นเป็นปฏิบัติการทางการทหาร ที่มีเป้าหมายเพื่อสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยที่ไม่ได้มีการยั่วยุก่อน หรือมีเหตุผลชอบธรรมรองรับ เพื่อปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

*กองทัพไทยพุ่งเป้าไปที่พลเรือนไม่มีอาวุธซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน ถึง ๑๙ เมษายน ๒๕๕๓ โดยใช้กำลังรุนแรงถึงแก่ชีวิตในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายที่สมเหตุสมผลเลย แต่เป็นไปอย่างมีเจตนา โดยไม่มีการยั่วยุเกิดขึ้นก่อน ไม่มีเหตุผลรองรับและเป็นการผิดทางอาญา

*ปฏิบัติการของกองทัพไทยในช่วงระหว่างวันที่ ๑๓-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นั้นเป็นปฏิบัติการทางการทหาร การปฏิบัติการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปเรื่องการจัดการฝูงชนหรือกับกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยเอง และยังเป็นการกระทำที่มีความผิดทางอาญาอีกด้วย

*ปฏิบัติการของกองทัพไทยในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นั้นเป็นปฏิบัติการทางการทหาร การปฏิบัติการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปเรื่องการจัดการฝูงชนหรือกับกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยเอง และยังเป็นการกระทำที่มีความผิดทางอาญาอีกด้วย การปฏิบัติการนั้นถูกออกแบบมาเพื่อสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยที่ไม่ได้มีการยั่วยุก่อนหรือมีเหตุผลชอบธรรมรองรับ เพื่อปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

คำร้องฉบับนี้ยังมีหลักฐานที่เป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจำนวนหนึ่งในประเทศไทย ที่มีความรู้เกี่ยวกับสถานะและความคืบหน้าของการสืบสวนอย่างเป็นทางการโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีการสังหารในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ให้การแบบเป็นกลุ่มโดยใช้ชื่อว่า พยานที่ไม่เปิดเผยชื่อ ลำดับที่ ๒๐ ว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ดีเอสไอจะยินดีทำการสืบสวนอย่างถูกต้องเหมาะสมกรณีการเสียชีวิตของพลเรือนและทหารในระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง เนื่องจาก

*รัฐบาลมีนโยบายอย่างเป็นทางการที่จะปกปิดและ/หรือทำลายหลักฐานการกระทำผิดทางอาญาของรัฐบาลหรือผู้นำกองทัพทั้งหมดที่เกี่ยวกับการสังหารพลเรือน

*หลังจากการสังหารเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้ให้อำนาจดีเอสไอในการสืบสวนเพื่อที่จะควบคุมผลของการสืบสวนได้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้อำนวยการดีเอสไอ เป็นสมาชิกของ ศอฉ.ด้วย การมอบหมายหน้าที่นี้ให้ดีเอสไอเป็นการไม่เหมาะสมเพราะตัว ศอฉ. เองควรจะเป็นเป้าของการสืบสวนกรณีความผิดอาญาด้วย

*นายธาริต ผู้อำนวยการดีเอสไอ ได้มอบหมายการสืบสวนให้แก่ พันตำรวจโท วีรวัชร์ เดชบุญภา เจ้าหน้าที่สืบสวนของดีเอสไอ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดกับนายธาริต พ.ต.ท.วีรวัชร์ไม่ได้ทำการสอบสวนคดีดังกล่าวเลย หลังจากที่มีการฆ่าขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคม ก็มีการมอบหมายให้ พ.ต.ท.วีรวัชร์สืบสวนการเสียชีวิตรวมทั้งหมด ๘๙ ราย จนถึงปัจจุบันนี้ พ.ต.ท.วีรวัชร์ยังไม่ได้ทำการสืบสวนการเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างจริงจัง แต่กลับพยายามโยนความผิดให้กับแกนนำเสื้อแดงที่กำลังถูกคุมขังอยู่ เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวการก่อการร้ายที่รัฐบาลป้ายสีให้แก่แกนนำเสื้อแดงที่กำลังถูกคุมขังอยู่ เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวการก่อการร้ายที่รัฐบาลป้ายสีให้แก่แกนนำเสื้อแดงอย่างเห็นได้ชัด

*วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ นายธาริตต้องยอมทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนและมอบหมายหน้าที่การสืบสวนให้แก่เจ้าหน้าที่สืบสวนคนอื่นของดีเอสไอ ซึ่งมีหลายคนที่ทำหน้าที่สืบสวนอย่างถูกต้องเหมาะสม การสืบสวนหลายกรณีสรุปในขั้นต้นเป็นอย่างน้อยว่า การสังหารเป็นผลจากการกระทำของทหารบางนายในกองทัพตามคำสั่งของรัฐบาลและ ศอฉ. เจ้าหน้าที่สืบสวนดีเอสไอบางคนที่มีข้อสรุปเช่นนี้ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้เปลี่ยนข้อสรุปของตน

*เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอบางคนไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้การสืบสวนคืนหน้าเลย นอกจากนี้พวกเขายังหวังจะได้รับเลื่อนตำแหน่งที่นายธาริตกำลังขอจากรัฐบาลให้เป็นแบบพิเศษอีกด้วย

*เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ทำรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของประชาชนอย่างน้อยสี่รายเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ เสร็จสิ้นแล้ว โดยสรุปว่าทหารบางนายจากกองทัพภายใต้คำสั่งจากรัฐบาลเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต ปกติแล้วในขั้นตอนนี้ดีเอสไอจะต้องปรึกษากับสำนักงานอัยการเพื่อขอให้มีอัยการมาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สอบสวนของดีเอสไอ เพื่อประเมินว่าการฆ่านั้นกระทำโดยเจตนา หรือเป็นการป้องกันตัว ทว่านายธาริตไม่ได้ดำเนินการใดๆเพื่อเริ่มการสอบสวนถึงเจตนาของการกระทำนั้น นี่เป็นการขัดระเบียบวิธีปฏิบัติปกติของดีเอสไอและขัดกฎหมายไทย และเป็นความพยายามทำให้คดีล่าช้า

*นายธาริต ผู้อำนวยการดีเอสไอ ยังได้ออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สอบสวนของดีเอสไอเรียกทหารจากกองทัพมาสอบสวน การกระทำเช่นนี้ขัดกับหลักปฏิบัติปกติของดีเอสไอที่ควรจะสอบสวนบุคคลใดก็ตามที่ดีเอสไอสรุปว่ามีส่วนรับผิดชอบกับการฆาตกรรมไปนานแล้ว

*หลังจากรายงานทางการของดีเอสไอกรณีการฆาตกรรมบางรายได้รั่วไหลออกมายังสื่อมวลชน รองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ได้เรียกให้นายธาริต ผู้อำนวยการดีเอสไอ เข้าพบ และยินยอมให้นายธาริตรักษาตำแหน่งไว้แลกกับการที่เขาจะต้องไม่ดำเนินคดีกับผู้นำทหารหรือรัฐบาล โดยการออกผลการสืบสวนว่าทางทหารและรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะกระทำความผิดทางอาญา

*ไม่นานหลังจากการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ นายธาริตได้ออกคำสั่งภายในดีเอสไอกำหนดให้ตนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินว่าการสังหารแต่ละกรณีเกิดขึ้นโดยมีเจตนาหรือไม่เพียงคนเดียว หากไม่พบว่ามีเจตนา ผู้นำกองทัพ สมาชิก ศอฉ. หรือรัฐบาลไทย ก็ไม่ต้องรับผิดชอบทางอาญาต่อการกระทำดังกล่าว

*นอกจากนี้ หลังจากการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ นายธาริตยังได้แจ้งทีมเจ้าหน้าที่สอบสวนของตนว่า หากพวกเขาไม่สามารถระบุรายชื่อของบุคคลที่ลั่นไกปืนในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้ พวกเขาจะต้องสรุปว่าคนเสื้อแดงเป็นคนยิง

คำร้องนี้เป็นรายงานล่าสุดที่พัฒนาต่อจากรายงานเบื้องต้นของสำนักกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ที่ได้เสนอต่ออัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศไปเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ รายงานฉบับนั้นมีหลักฐานที่เสนอมูลเหตุอันสมควรให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลไทยและกองทัพไทยมีความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามมาตรา ๕ ของธรรมนูญกรุงโรม (ได้รับการนิยามในมาตรา ๖,๗ และ๘) คำร้องนี้กล่าวถึงพื้นฐานทางการพิจารณาคดีเพื่อให้เริ่มมีการสืบสวน และเพื่อเสนอหลักฐานที่ถูกค้นพบใหม่ที่สนับสนุนว่ามีการก่ออาชญากรรมตามที่ได้กล่าวมา คำร้องฉบับนี้ยังให้รายละเอียดเรื่องความรับผิดทางอาญาส่วนบุคคลและความรับผิดของผู้บังคับบัญชาบนฐานของหลักฐานที่ค้นพบใหม่นี้ ประการสุดท้ายก็คือ รายงานเบื้องต้นได้เพียงขอให้อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศรับข้อมูลโดยหวังว่าจะมีการสืบสวนในอนาคต ส่วนคำร้องนี้ได้สรุปโดยเสนอมาตรการที่ขอให้อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการไว้อย่างชัดเจน.

No comments: