Tuesday, March 17, 2009

ลำดับ๕๐๔.สงครามลับของCIAในลาว(๑๗)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๗ อเมริกันและอังกฤษร่วมกันกีดกันการจัดตั้งรัฐบาลผสม

การตกลงทำสัญญากันได้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สัญญาดีๆ ที่กระทำกันมาไม่เคยขาดเลยตลอดประวัติศาสตร์แห่งความยุ่งยากในลาว แต่สัญญาใดก็ตามที่ระบุถึงความสงบสุขและเอกราชที่แท้จริงในลาวเป็นต้องถูกบ่อนทำลายลงไป

สัญญาสงบศึกระหว่าง “เจ้าพี่-เจ้าน้อง” สุวรรณภูมากับสุภานุวงศ์ยังจะต้องเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สัตยาบันอีกครั้งหนึ่ง สถานทูตอเมริกันจึงต้องออกโรงรณรงค์เพื่อยับยั้งอย่างถึงขนาด เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันรุดไปพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนพร้อมด้วยหนังสือพ็อกเก็ตบุกส์ยัดไส้เล่มหนาเป็นปึก ถ้าติดสินบนไม่สำเร็จก็ข่มขู่คุกคามด้วยประการต่างๆ
ประมาณกลางเดือนมกราคม ๒๕๐๐ พอเจ้าสุภานุวงศ์เดินทางกลับซำเหนือเพื่อเตรียมการให้ฝ่ายประเทศลาวได้เข้าร่วมรัฐบาลใหม่ สถานทูตอเมริกันและอังกฤษก็ฉวยโอกาสตอนเจ้าสุภานุวงศ์ไม่อยู่ กดดันเจ้าพี่อย่างหนักหน่วงเพื่อให้ปฏิเสธสัญญาสงบศึกให้จงได้ เบอร์เช็ตต์ซึ่เดินทางมาถึงเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่งในระยะนี้พอดีก็ปรากฏว่าวีซ่าของเขาต้องถูกยกเลิกอีกเช่นเคย เขาได้รับคำสั่งให้เดินทางออกนอกประเทศใน ๒๔ ชั่วโมง

เบอร์เช็ตต์เล่าไว้ในหนังสือ The Second Indochina War ว่า “เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันคนหนึ่งในเครือ สคริปส์-โฮเวิร์ด ซึ่งมีนัดรับประทานอาหารกลางวันกับผม มาพบผมด้วยใบหน้าที่แดงด้วยความกระดากกระเดื่องและขอโทษขอโพย “ผมไม่อาจจะมาพบปะพูดคุยกับคุณให้คนเห็นได้” เขาชี้แจง และไม่ยอมแม้แต่จะนั่งลง “ผมอยากจะให้เกิดความตื่นเต้นตกใจกันในสถานทูตของเรา(สถานทูตอเมริกันและออสเตรเลีย)เพียงแค่มาอยู่กับคุณแถวนี้เท่านั้น” เมื่อผมถามเขาว่ามันเรื่องอะไรกัน เขาตอบว่า “สถานทูตเขาบอกว่าคุณเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เจ้าพี่เจ้าน้องรวมกันได้” แล้วเขาก็ผลุนผลันออกไป

เมื่อผมมาถึงโฮเต็ลก็พบตำรวจรออยู่ เขาถามว่าเมื่อไรจะออกเดินทาง เขาจะ “คุ้มกัน” ไปถึงสนามบินด้วยมอเตอร์ไซคล์ให้”

“ผมไปกระทรวงการต่างประเทศลาว แต่คราวนี้ไม่ได้ผล “มีอำนาจที่ใหญ่ยิ่งกว่าเรา” เป็นคำตอบด้วยน้ำเสียงแสดงความเสียใจ เจ้าสุวรรณภูมาส่งหนังสือมาทางประธานคณะกรรมการควบคุมสงบศึกชาวอินเดีย “ครั้งนี้ผมช่วยอะไรคุณไม่ได้ โปรดกลับมาใหม่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว”

ผมได้ทราบจากประธานกรรมการชาวอินเดียว่า เอกอัครราชทูตอังกฤษได้ประท้วงมายังประธานกรรมการควบคุมสงบศึกด้วยว่า การปล่อยให้ผู้สื่อข่าวเช่นนี้เดินทางโดยเครื่องบินของคณะกรรมการควบคุมสงบศึกเป็นเรื่อง “เสื่อมเสีย” ซึ่งความจริงเครื่องบินดังกล่าวเป็นสายการบินสายเดียวที่บินอยู่ระหว่าง ฮานอย,เวียงจันทน์,และพนมเปญ

ยิ่งกว่านี้เอกอัครราชทูตอังกฤษยังตำหนิอย่างเปิดเผยเป็นพิเศษว่า “หน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมสงบศึกสมควรจะได้แก่การแยกเจ้าพี่กับเจ้าน้องออกจากกัน แทนที่จะให้รวมกัน”

เหตุผลก็คือ เครื่องบินของคณะกรรมการควบคุมสงบศึกบินรับส่งเจ้าสุภานุวงศ์อยู่ระหว่างซำเหนือกับเวียงจันทน์ เพราะเป็นหน้าที่ตรงตัวที่สุดที่คณะกรรมการควบคุมสงบศึกจะต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา”

No comments: