Saturday, March 14, 2009

ลำดับ๔๙๐.สงครามลับของCIAในลาว(๒)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒ ความเดือดดาลของดัลเลส

ระหว่างที่ดัลเลสพยายามหาเสียงสนับสนุนจากหลายประเทศในการบอมบ์อินโดจีน กลาโหมสหรัฐก็วางแผนลึกซึ้งขึ้นไปอีก พลเอกแมทธิว ริดจ์เวย์ เสนาธิการกองทัพบก ผู้เคยมีประสบการณ์มาก่อนในฐานะผู้บัญชาการ “กองทัพสหประชาชาติ” ในสงครามเกาหลี ผู้ไม่เคยเชื่อเลยว่า การใช้กำลังทางอากาศจะชี้ขาดผลแพ้ชนะของสงคราม ก็ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปอินโดจีนเพื่อประเมินว่าจะต้องใช้กำลังเท่าที่จำเป็นสักเท่าไรจึงจะทำให้การแทรกแซงครั้งนี้ได้ผล

คณะผู้เชี่ยวชาญรายงานกลับมาว่า “เริ่มแรกจะต้องใช้กำลังที่จำเป็นอย่างน้อยที่สุด ๕ กองพล และเมื่อการรบคืบหน้าไป จะต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๑๐ กองพลหรือกว่านี้”

ริดจ์เวย์ผู้ซึ่งคัดค้านแผนการส่งทหารเข้าไปในอินโดจีนได้บันทึกในหนังสือของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญ มีน้ำหนักและอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดในการจูงใจให้รัฐบาลอเมริกันไม่ส่งกองทหารเข้าไปเสี่ยงภัยอันจะมีแต่โศกนาฏกรรม

แม้ว่าแผนของแรดฟอร์ด มุ่งโดยตรงที่จะกอบกู้ฝรั่งเศสที่ศึกในหุบเดียนเบียนฟู แต่มันก็แน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวพันไปถึงลาวอย่างแยกไม่ออก ในเมื่อกระทรวงกลาโหมพิจารณามันในแง่ของสงครามทั่วไปทั้งอินโดจีนไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใด แม้ว่าต่างก็เป็นประเทศที่มีเขตแดนของตนอยู่โดยเฉพาะก็ตาม ดังเช่นในการรุกของฝรั่งเศสระหว่างฤดูหนาวถึงฤดูสปริง ๒๔๙๖-๒๔๙๗ เครื่องบินซึ่งมีฐานทัพในไทยโดยนักบินอเมริกันก็ได้บินไปทิ้งระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตมนุษย์และวัตถุต่างๆ มากมายในบริเวณทางเหนือของลาวอันเป็นที่ซึ่งขบวนการปเทดลาวครอบครองอยู่

ดัลเลสหันไปที่ประชุมเจนีวาตั้งแต่ระยะแรก เพื่อจูงใจประเทศต่างๆ ที่เคยมีส่วนร่วมรบในสงครามเกาหลีทั้งๆ ที่ไม่มีทางจะทำได้ ดัลเลสหวังอยู่ว่าจะสามารถผลักดันประเทศต่างๆ ให้ร่วมกันเข้าแทรกแซงในอินโดจีนอย่างที่เคยกระทำมาแล้วในเกาหลี แต่ปรากฏว่ามีแต่เกาหลีใต้กับออสเตรเลียเท่านั้นที่เสนอช่วยด้วยกองทหาร ไทยกับฟิลิปปินส์เสนออย่างไม่เต็มใจว่าสนับสนุน “ในหลักการ” (แต่ต่อมารัฐบาลไทยได้ช่วยเหลืออย่างเต็มใจ ซึ่งจะได้ทราบต่อไป) เชอร์ชิล ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดและ เลสเตอร์ เพียร์สัน นายกรัฐมนตรีแคนาดา ก็ไม่ยอมสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ดัลเลสก็ออกเดินทางไปจากเจนีวาด้วยความเดือดดาล (พวกนักหนังสือพิมพ์ที่ไปทำข่าวยังจำได้ดีถึงความเดือดดาลของดัลเลสที่ปรากฏออกมาทางสีหน้าและท่าทาง)เมื่อเขาได้รับโทรเลขจากเชอร์ชิลนั้น เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ผลุนผลันเดินทางออกไปจากเจนีวา

แต่แม้เมื่อมาถึงวอชิงตันแล้ว ดัลเลสก็ยังไม่ยอมแพ้ เขาพยายามทุกทางที่จะไม่ให้มีการสงบศึกในอินโดจีนให้จงได้ ถึงขนาดเสนอที่จะมอบระเบิดปรมณูจำนวน ๒ ลูกแก่นายบิโดลต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส หากว่ามันจะสามารถให้ทำกองทหารฝรั่งเศสยังคงอยูในอินโดจีนต่อไป แต่ชะตากรรมเจ้าเอ๋ย,รัฐบาลลาเนียล-ปิโดลต์ต้องล้มลงและมังแดส ฟรังซ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และได้ขีดเส้นตายไว้ว่า จะสงบศึกในอินโดจีนให้ได้ภายในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ถ้าไม่ได้ตนจะลาออก

การประชุมเจรจาครั้งสำคัญซึ่งทั่วโลกไม่ทราบเลยเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ระหว่างดัลเลส,อีเดนและมังแดส ฟรังซ์ ที่กรุงปารีส(ก่อนหน้าที่มังแดสจะให้คำมั่นว่าถ้าอินโดจีนไม่สงบตนจะลาออก)ดัลเลสได้เสนอแผนจัดตั้งองค์การซีอาโต้ (SouthEast Asia Treaty Organization)ลงที่โต๊ะประชุม เรียกร้องให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยฉับพลันเพื่อจะได้เอาไว้เป็นเครื่องมือสำหรับเข้าแทรกแซงอินโดจีนในยามฉุกเฉิน

หลังการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงซึ่งทั้งดัลเลสและมังแดส ฟรังซ์ต่างก็ทุบโต๊ะเข้าหากัน มังแดส ฟรังซ์นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้รับความสนับสนุนจากอีเดนอย่างแข็งขันก็ได้ “ปฏิเสธการแทรกแซง” ในกรณีฉุกเฉิน แต่ยอมรับข้อคิดในเรื่องซีอาโต้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะจัดตั้งขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเรื่องสงบศึกเป็นไปโดยเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

ดัลเลสผลุนผลันออกไปจากที่ประชุมด้วยความเดือดดาลอีก ไม่ผิดอะไรกับตอนเดินทางออกไปจากเจนีวาครั้งแรก แต่ก็ยังมีลูกไม้ที่จะนำมาใช้อีก ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆเช่นเคย.

No comments: