Tuesday, March 10, 2009

ลำดับ๔๘๒.ลาวในสงครามอินโดจีน(๒)

การต่อสู้ของลาวในสงครามอินโดจีน
บทที่๒ การรบที่เมืองท่าแขก

ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนถูกตั้งขึ้นในเวียดนาม นำพาประชาชนในอินโดจีนต่อสู้นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส และต่อมาก็ต่อต้านพรรคฟาสซิสต์ญี่ปุ่นที่เข้ามาแทนที่ฝรั่งเศสในปี ๒๔๘๔ ล่วงมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนภายใต้การนำของประธานโฮจิมินห์ได้ร่วมกับแนวร่วมลาวสัมพันธ์ซึ่งพวกศัตรูเรียกพวกเขารวมๆว่า “เวียดมินห์” เคลื่อนไหวโดยมีแผนการคือ สามัคคีทุกชั้นชนในหมู่ประชาชนลาว ต่อสู้เพื่อเอกราช สร้างกำลังมหาชน สะสมกำลังอาวุธ ตั้งเขตต่อต้าน รอกาลโอกาสเพื่อลุกขึ้นยึดอำนาจปกครอง

คืนวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๘๘ กองทหารญี่ปุ่นได้โค่นล้มอำนาจปกครองฝรั่งเศสทั่วอินโดจีน พวกชาวฝรั่งเศสในเมืองท่าแขกบ้างก็ถูกจับ บ้างก็หลบหนีเข้าป่า หมดทางที่จะต่อสู้กับญี่ปุ่น หลังจากขับไล่ฝรั่งเศสออกไปแล้วญี่ปุ่นจึงหันไปดำเนินการปราบปรามขบวนการอภิวัฒน์ของชาวอินโดจีน ทำให้หน่วยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและรากฐานมหาชนที่เมืองท่าแขกที่เพิ่งจะฟื้นขึ้นมาได้ไม่นานต้องถูกทำลายให้แตกลงอีก อย่างไรก็ดีบรรดาผู้รักชาติที่ท่าแขกก็ยังคงพยายามหาวิธีเคลื่อนไหวใต้ดิน ทำการจัดตั้งโฆษณากล่าวประณามการกระทำของฟาสซิสต์ญี่ปุ่น รวบรวมมหาชนดำเนินการต่อสู้กับญี่ปุ่นจนกระทั่งถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตร ประชาชนลาวพร้อมด้วยชาวเวียดนามที่อยู่ในเมืองท่าแขก ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ได้ลุกขึ้นยึดอำนาจการปกครองจากญี่ปุ่น ท่าแขกจึงได้กลับคืนสู่เอกราช ภายหลังที่ได้จมอยู่ในความเป็นเมืองส่วยและเมืองขึ้นเป็นเวลา ๑๐๐ กว่าปี

เมื่อยึดอำนาจการปกครองแล้ว ประชาชนลาวและเวียดนามต่างด้าวที่ท่าแขก ได้ร่วมมือกันปกป้องตัวเมืองท่าแขก บรรดาหนุ่มสาวได้รับการระดมให้ไปเป็นทหารภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลสิงกะโป สีโคตตรจุนนะมลิ ส่วนหนุ่มสาวชาวเวียดนามก็ได้รับการตั้งเป็นกรมกองทหารและอยู่ภายใต้การบัญชาของคณะกรรมการเวียดมินห์ การเคลื่อนไหวอภิวัฒน์ของมวลชนในขณะนั้นเป็นประดุจงานบุญที่ครึกครื้นอย่างมาก ทุกคนพร้อมจะสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อปกป้องเมืองท่าแขก ขบวนการได้คึกคักยิ่งขึ้นและได้รับกำลังใจอย่างเต็มเปี่ยมเมื่อเจ้าสุภานุวงศ์พร้อมด้วยกำลังประกอบอาวุธมาประจำอยู่ที่เมืองท่าแขก

ก่อนหน้านี้ เจ้าสุภานุวงศ์ขณะที่อยู่ในเวียดนามได้ไปพบกับประธานโฮจิมินห์ ได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลือให้จัดตั้งกองทหารผสมลาว-เวียดนาม แล้วจึงมาเคลื่อนไหวในประเทศลาว เจ้าสุภานุวงศ์พร้อมด้วยกองทหารลาว-เวียดนาม ได้เคลื่อนทัพมาอยู่เมืองสะวันเขตในต้นเดือนตุลาคม ๒๔๘๘ จากนั้นได้ย้ายมาประจำที่เมืองท่าแขก ต่อมาในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๘๘ เจ้าสุภานุวงศ์ ได้ไปยังนครเวียงจันทน์เพื่อพบกับเจ้าเพชรราช เจ้าพี่สุวรรณภูมาและพี่น้องอื่นๆ เขาได้พบกับรัฐบาลาวอิสระที่ตั้งขึ้นหลังประกาศความเป็นเอกราชในวันที่ ๑๒ ตุลาคมปีเดียวกันเอง

เมื่อกลับที่เมืองท่าแขก เจ้าสุภานุวงศ์ได้เริ่มต้นจัดตั้งอำนาจการปกครอง จัดตั้งกำลังติดอาวุธและดำเนินการขยายขอบเขตควบคุมบริเวณท่าแขก

ทางฝ่ายฝรั่งเศสที่แตกทัพหลบหนีเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นยึดท่าแขก ได้กลับมาจัดตั้งกองกำลังและดำเนินการเคลื่อนไหวทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของเมืองท่าแขก กองทหารผสมลาว-เวียดนาม ที่มีจำนวนประมาณ ๖๐๐ คนมีอาวุธที่ดีพอควรได้เคลื่อนไหวโจมตีกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศสที่นามะลาดซึ่งอยู่ห่างจากเมืองท่าแขกไปทางใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร กองกำลังผสมลาว-เวียดนามชุดนี้อยู่ภายใต้การบัญชาการของเจ้าสุภานุวงศ์โดยตรง ในเดือนธันวาคม ๒๔๘๘ กองทหารฝรั่งเศสถูกตีแตกยับเยินแต่กองกำลังผสมฝ่ายอภิวัฒน์ก็ได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่งเช่นเดียวกัน

ต่อมากองทหารก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นบริเวณเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ได้มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับฝรั่งเศสในเดือนมกราคม ๒๔๘๙ ที่เมืองนานกิง รัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งเห็นดีให้ฝรั่งเศสส่งกองทหารเข้ามาในลาวแทนกองพลที่ ๙๓ ของก๊กมินตั๋งที่จะต้องถอยกลับไปสู้กับกองทัพจีนคอมมิวนิสต์

ล่วงถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้ร่วมประชุมวิสามัญมีความเห็นว่าพวกฝรั่งเศสได้มีการตระเตรียมเป็นการใหญ่เพื่อที่จะยึดเมืองท่าแขกให้ได้ จึงมีมติให้กองกำลังผสมลาว-เวียดนามต้องติดอาวุธป้องกันเมืองท่าแขกจนถึงที่สุด ส่วนพวกพลเรือนนั้นให้อพยพไปเมืองไทย แต่แม้ว่ามติจะเป็นเช่นนั้น ประชาชนก็ไม่ได้ทิ้งบ้านเรือนไปอย่างง่ายดาย ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ที่ท่าแขก เพื่อช่วยเหลือบรรดากำลังติดอาวุธ

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๘๙ บรรดากองกำลังฝรั่งเศสที่จะตียึดเมืองท่าแขกนั้น ไม่ได้มีเฉพาะทหารฝรั่งเศสแต่มีกองกำลังจากอังกฤษที่เข้ามาปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่นใต้เส้นขนานที่๑๖ ร่วมด้วย ฝ่ายฝรั่งเศสจึงมีฐานที่มั่นที่ใหญ่อยู่ทางภาคใต้ของลาว เพื่อเข้ายึดประเทศลาว

บรรดากำลังของฝรั่งเศสที่ใช้ตียึดเมืองท่าแขกมีประมาณ ๒ กองพัน ประกอบด้วยทหารฝรั่งเศส ทหารแขกดำเป็นส่วนใหญ่ และทหารลาว(ฝ่ายนิยมกษัตริย์)ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากมาย และด้วยเครื่องบินสังเกตการณ์ ทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสรู้ที่ตั้งของบรรดากองทหารอภิวัฒน์ลาว

No comments: