Tuesday, March 24, 2009

ลำดับ๕๑๗.แหกคุกโพนเค็งบันลือโลก(๕)

บทที่ ๕ ชนะใจทหารเวรยาม

หลังจากที่อัยการศาลเข้าสอบสวนพิจารณากันถึงในห้องขังแล้ว เรื่องก็เงียบไปเฉยๆ ไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อไปอีก เจ้าสุภานุวงศ์และคณะจึงได้ลงชื่อร่วมกันในหนังสือกล่าวโทษผุย ชนะนิกร ที่ละเมิดข้อตกลงเจนีวา พร้อมกับเรียกร้องให้ผุยปล่อยตัวพวกเขาออกจากคุก คำกล่าวโทษดังกล่าวถูกนำส่งมือผุย ชนะนิกร โดยตำรวจคนหนึ่งที่ได้รับการขอร้องจากเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้นำส่ง

ต่อคำกล่าวโทษดังกล่าวผุย ชนะนิกร โกรธมาก จึงแทนที่จะสั่งปล่อย เขากลับสั่งให้เข้มงวดกวดขันในการควบคุมมากยิ่งขึ้น ตำรวจที่ถือคำร้องและพรรคพวกถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วส่งสารวัตรทหารที่จบหลักสูตรวิชาปราบคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะมาเป็นผู้ควบคุมแทน มีรถหุ้มเกราะ ๒ คันประจำอยู่ปากทาง ซึ่งบัญชาการโดยพลเอก ลำเงิน ระเบียบการต่างๆมีการเปลี่ยนแปลง และการควบคุมก็เคร่งครัดขึ้นกว่าเก่ามาก

แต่ละคืนจะมีสารวัตรทหารมาอยู่ยามเป็น ๒ ผลัดๆละ ๑๐ คนตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐น.ถึง ๒๔.๐๐ น. และจาก ๒๔.๐๐น.ถึง ๐๖.๐๐ น. สำหรับตอนกลางวันก็เช่นเดียวกัน คือแบ่งเป็น ๒ ผลัดๆละ ๑๐ คน จาก ๐๖.๐๐ น.-๑๒.๐๐ น.และจาก ๑๒.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น.

พวกสารวัตรทหารเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะได้รับการอบรมบ่มเพาะมาเป็นพิเศษให้มีความเกลียดชังคอมมิวนิสต์ และถูกห้ามไม่ให้พูดคุยกับพวกผู้ต้องขังก็ตาม แต่เมื่อนานวันเข้าความเห็นอกเห็นใจก็เกิดขึ้นในเมื่อได้เห็นวัตรปฏิบัติของท่านผู้ต้องขังเหล่านั้น ท่าทีเมินเฉยของพวกเขาก็ได้เปลี่ยนเป็นโอนอ่อน จึงพร้อมที่จะรับฟังคำพูดจาปราศรัยของผู้ต้องขังเหล่านั้น ในเรื่องที่พวกเขาไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนด้วยความสนใจและประหลาดใจ และในที่สุดพวกเขาก็เข้าใจ ว่าพวกท่านที่ถูกควบคุมตัวอยู่นี้เป็นคนกู้ชาติเป็นคนรักชาติประชาชน ไม่ใช่พวกทรยศกบฎต่อชาติอย่างที่พวกเขาเคยรับรู้มาก่อน ตรงข้ามพวกผุยต่างหากที่เป็นพวกกบฏทรยศต่อชาติต่อประชาชน

โดยเฉพาะท้าวหวา ซึ่งเคารพนับถือสิงกะโปเป็นอาจารย์ ได้เอ่ยปากปวารณาตัวกับท่านสิงกะโปที่จะให้ความช่วยเหลือทุกวิถีทางที่ต้องการ และบอกว่า “ถึงแม้พลเอกลำเงินเป็นผู้บัญชาการก็จริง แต่ผู้ควบคุมพวกท่านอย่างใกล้ชิดคือพวกข้าน้อยเอง”

จากการทำความเข้าใจกับพวกสารวัตรทหาร จนพวกเขาเข้าใจในสถานการณ์และอุดมการณ์ของแนวลาวรักชาติ พวกเขาจึงให้ความสะดวกในทุกๆ ทาง การอยู่เวรยามก็เพียงทำไปตามหน้าที่พอเป็นพิธีเท่านั้น

จึงเป็นอันว่าภาระหน้าที่ในการทำงานทางอุดมการณ์เกลี้ยกล่อมให้การศึกษาพวกทหารเวรยามได้ประสบความสำเร็จด้วยดี ยังคอยแต่เงื่อนไขสถานการณ์และเวลาที่จะลงมือในขั้นต่อไป

No comments: