Tuesday, March 10, 2009

ลำดับ๔๘๑.ลาวในสงครามอินโดจีน(๑)

การต่อสู้ของลาวในสงครามอินโดจีน
บทที่ ๑ สถานการณ์ก่อนสงครามอินโดจีน

๙ สิงหาคม ๒๔๘๘ ลูกไฟมหึมาทรงดอกเห็ดสูง ๖๐,๐๐๐ ฟิต ปรากฏเหนือเมืองนางาซากิ มันเป็นผลของอาวุธมหาประลัยที่มีอานุภาพทำลายร้ายรุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษยชาติประดิษฐ์ขึ้นมาได้ ความร้อนจาก “Fat boy” ฉีกกระชากอาคารบ้านเรือนและสรรพชีวิตที่อยู่ในรัศมีการทำลายให้สลายกลายเป็นกองฝุ่น ๖ วันต่อมาญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข ปิดฉากมหาสงครามของมวลมนุษยชาติลงเพียงเท่านี้ แต่ทว่าประชาชนในกลุ่มประเทศอินโดจีน คือ ลาว กัมพูชาและ เวียดนาม ฝันร้ายอันยาวนานถึง ๓๐ ปีเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น จากนี้ไปนี่คือมหาสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา สงครามปลดปล่อยประเทศให้เป็นเอกราช.

กรกฎาคม ๒๔๘๘ การประชุมที่เมืองปอตสดัมของกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามก็ได้มีมติให้กองทัพจีนคณะชาติ(ก๊กมินตั๋ง)ของจอมพลเจียงไคเช็คเป็นฝ่ายเข้ามาปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป ส่วนใต้เส้นขนานที่ ๑๖ ลงมาให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทหารอังกฤษ.

แต่สถานการณ์ในจีนแผ่นดินใหญ่กลับต่างออกไป การสู้รบที่ยืดเยื้อระหว่างกองทัพแดงของเหมาเจ๋อตงกับกองทัพจีนคณะชาติของเจียงไคเช็คกลับมารุนแรงหนักหน่วงขึ้นอีก หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหยุดรบไว้ชั่วคราวเพื่อช่วยกันต่อสู้กับกองทัพแห่งอาทิตย์อุทัยในช่วงสงครามโลก และเมื่อสงครามโลกยุติลง กองทัพแห่งอาทิตย์อุทัยก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป กองทัพคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของนายพลจูเต๋อและโจวเอินไหลก็ไม่ปล่อยโอกาสให้กองทัพจีนคณะชาติได้มีเวลาหายใจ ได้เข้าโรมรันพันตูอย่างหนักหน่วง จึง,เจียงไคเช็คต้องดึงกำลังพลส่วนใหญ่ออกมาจากอินโดจีนเพื่อโหมการรบในแผ่นดินใหญ่.

ในห้วงเวลาที่ว่างเว้นจากประเทศผู้กดขี่ ประเทศลาวได้ประกาศความเป็นเอกราชเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๘๘ และตั้งรัฐบาลของประชาชนขึ้นมามีชื่อว่า “คณะลาวอิสระ” พร้อมกันนี้เจ้าชีวิตสว่างวงกษัตริย์ของลาวได้ประกาศสละราชสมบัติหลังจากที่พระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามาปกครองลาวอีกครั้ง ถูกปฏิเสธจากมวลราษฎรทั้งประเทศ.

ทางด้านฝรั่งเศสผู้ที่สายลมแห่งโชคชะตาช่วยให้กลับมาเป็นฝ่ายชนะสงคราม ก็ทะยานอยากจะกลับมาปกครองอินโดจีนเหมือนในอดีต จึงยื่นข้อเสนอแก่เจียงไคเช็คว่าฝรั่งเศสจะคืนดินแดนในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ฝรั่งเศสได้ยึดครองไว้ให้แก่จีนแลกกับการได้กลับเข้ามาปกครองอินโดจีนอาณานิคมเก่าของตน เจียงไคเช็คเห็นดีกับข้อเสนอนั้น จึงลงนามในสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๙

จากนั้นฝรั่งเศสจึงส่งกองกำลังจำนวน ๑๕,๐๐๐ คนเข้ามาในอินโดจีน หมายจะเข้ายึดครองด้วยกำลังทหารและอาวุธที่เหนือกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ลาวและเวียดนามที่ด้อยกว่าในจำนวนพลและอาวุธจึงได้ร่วมกันตั้งเป็นกองกำลังผสม ลาว-เวียดนาม เข้าโจมตีแบบกองโจร สร้างความเสียหายและปั่นป่วนให้แก่ฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะกองกำลังผสมรู้จักพื้นที่และที่หลบซ่อนอันเป็นมาตุภูมิของตนเป็นอย่างดี จึงสามารถขับไล่และยึดครองเมืองสำคัญไว้ได้ แต่การได้เปรียบก็เป็นไปแต่เพียงระยะแรกเท่านั้น เพราะไม่นานฝรั่งเศสก็ส่งเครื่องบินพร้อมด้วยกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลเข้ามา และสามารถยึดเมืองสำคัญๆไว้ได้ แต่การสู้รบที่สำคัญที่เป็นจุดหักเหให้รัฐบาลลาวอิสระต้องหลบหนีภัยมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศไทย ก็คือ สงครามที่เมืองท่าแขก ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป.

No comments: