Sunday, March 8, 2009

บทความที่๔๗๔.สงคราม๓๐ปีหลังประกาศเอกราชลาว(๔)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว-สงคราม ๓๐ ปีหลังการประกาศเอกราช
บทที่ ๔ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในไทย

ในการเดินทางจากลาวเข้ามาลี้ภัยและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในประเทศไทย(ในช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยในสยามกำลังเติบโตและก้าวหน้าทางความคิดอย่างมาก คือเป็นสมัยของรัฐบาลตัวแทนประชาชนอย่างชอบธรรมก่อนจะเกิดเหตุการณ์วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐)ช่วงแรกเริ่ม บรรดาผู้มีแนวคิดชาตินิยมมุ่งสรรค์สร้างสังคมลาวให้มีความเป็นเอกราชและเพื่ออธิปไตยโดยสมบูรณ์ บุคคลสำคัญๆที่อยู่ในเวียงจันทน์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมารวมตัวกันที่จังหวัดหนองคาย จากนั้นเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ 

ในช่วงนั้นมีการใช้เส้นทาง  ๓ เส้นทางด้วยกันคือ เส้นทางน้ำโขงจากหลวงพระบางไปยังอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย, เส้นทางจากเวียงจันทน์มายังหนองคายและกรุงเทพฯ และเส้นทางบกจากหลวงพระบางไปยังเมืองไชยะบุรีและเมืองปากลาย จากนั้นเข้าสู่ชายแดนไทยที่อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์

คณะที่ข้ามทางทางด้านจังหวัดหนองคายคือคณะของอุ่น ชะนะนิกอน, สีลา วีระวงส์, อำพอน พลราชเจ้าสุวันนะพูมา ฯลฯ สำหรับเจ้าเพ็ดชะลาดและคณะอันประกอบด้วย เจ้าคำตัน เจ้าคำผาย และผู้ติดตามอีกประมาณ ๔๐ คน ได้ขี่ม้าออกจากเมืองหลวงพระบางในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ฝรั่งเศสได้ส่งทหารกระโดดร่มลงที่ทุ่งนาบ้านเมืองขาย แล้วบุกค้นวังเชียงแก้ว ทว่าไม่พบตัวเจ้าเพ็ดชะลาด จึงให้เครื่องบินออกไล่ล่าสังหาร

เจ้าเพ็ดชะลาดชอบเดินป่าและเคยดินทางตรวจราชการในพื้นที่ชนบท จึงรู้จักเส้นทางซับซ้อนแถบนั้นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางที่ชาวม้งใช้ในการลำเลียงฝิ่นเข้าสู่ประเทศไทย บางช่วงเดินป่าไต่สันเขาไปตามเส้นทางที่ทอดเชื่อมระหว่างหมู่บ้านม้ง บางช่วงใช้เส้นทางน้ำกระทั่งเข้าสู่เมืองไชยะบุรี มีผู้เดินทางมาร่วมสมบทคือเจ้าบุนยะวัด เจ้าแขวงเมืองหลวงพระบาง และพัตรี อ้วน ราทิกุล จากนั้นเข้าสู่เมืองปากลาย และเข้าสู่เขตแดนไทยที่อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ ในเวลาเดินป่าถึง ๑ เดือนเต็ม

เมื่อเข้าสู่ดินแดนไทย เจ้าเพ็ดชะลาดได้พักที่บ้านข้าราชการฝ่ายปกครอง คือบ้านนายอำเภอฟากท่า นายอำเภอลับแล นายอำเภอแสนตอ กำนันสบน้ำปาด และกำนันบ้านด่าน ก่อนจะพบกับพันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เดินทางขึ้นไปตรวจราชการที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นเจ้าเพ็ดชะลาดได้ขอยืมเงินข้าหลวงจังหวัดอุตรดิตถ์เดินทางลงมายังกรุงเทพฯ

เจ้าเพ็ดชะลาดได้ให้เจ้าคำตันย้อนขึ้นไปทางหนองคาย เจ้าสมสนิทได้หลบจากเวียงจันทน์เอาเสื้อผ้ามาส่งให้ แล้วเดินทางพร้อมกับทหารและผู้ติดตามไปยังจังหวัดพิษณุโลก เข้าพักที่บ้านข้าหลวงนายพรมสูตร สุคนธ์ ก่อนจะเดินทางเข้ามาสมบทกันที่กรุงเทพฯ

นอกจากนั้นยังมีผู้ติดตามมาสมบทในภายหลังอีกจำนวนหนึ่ง คือคณะของท้าวคำเหล็กและสมาชิกลาวอิสระจากหลวงพระบาง ที่ถ่อเรือทวนแม่น้ำโขงมายังเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อีกส่วนหนึ่งล่องเรือจากหลวงพระบางมายังอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งอยู่ตรงข้ามเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ในปัจจุบัน จากนั้นเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ

เมื่อเจ้าเพ็ดชะลาดมาถึงกรุงเทพฯ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยให้พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีมหาดไทย จัดบ้านพักให้หลังหนึ่งที่ตำบลบางกะปิ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในเขตอำเภอพระโขนง และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ซอยงามดูพลี พร้อมกันนี้ท่านผู้หญิงพูนศูข พนมยงค์ ได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยให้หม่อมอภิณพร บุตรสาวของนายเชื้อ ยงใจยุทธไปช่วยทำหน้าที่ติดต่อประสานทั้งเป็นแม่บ้านคอยดูแล และต่อมาได้เป็นชายาของเจ้าเพ็ดชะลาด

นอกจากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้จัดที่พักให้สมาชิกลาวอิสระอีกหลายคนได้พักอาศัยคือ บ้านคิงส์ดอนที่ปากซอยสาธร๑ สำหรับเป็นที่พำนักของเจ้าสุวันนะพูมาและคณะผู้ติดตาม อีกหลังหนึ่งคือบ้านไม้สองชั้นในซอยพิกุล สาธร ๙ สำหรับเป็นที่พำนักของเจ้าสุพานุวงและสมาชิกอิสระจำนวนหนึ่ง

ส่วนครอบครัวกระต่าย โตนสะโสลิด รองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลลาวอิสระ  พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ได้เช่าบ้านของ ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร คือบ้านไชโย ที่หัวลำโพงให้เป็นที่พำนัก

ในช่วงเวลานั้นมีบรรดานักกู้เอกราชของลาวเข้ามาลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ต่อมามีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙ โดยมีเจ้าเพ็ดชะลาดเป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าสุวันนะพูมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีโยธา ฯลฯ สำหรับเจ้าสุพานุวง นอกเหนือจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าสุพานุวงได้ก่อตั้งกองกำลังผสมลาว-เวียดนามขึ้นที่เมืองท่าแขก ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ และมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหาร


No comments: