Thursday, February 26, 2009

บทความที่๔๔๘.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๗)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)

เพราะฉะนั้น การแบ่งปันผลิตผลทั้งหมดที่จะใช้ในการบริโภค จึงดำเนินไปภายใต้หลักการที่ว่า “เอาจากแต่ละคนตามแต่ความสามารถของเขา และให้แก่แต่ละคนตามแต่ผลงานของเขา” หรืออีกนัยหนึ่ง “แต่ละคนทำงานตามความสามารถและแต่ละคนเอา(ค่าตอบแทน)ไปตามผลของงาน”

แต่ระบบสังคมนิยมนั้น หาได้หยุดยั้งอยู่แต่ระดับที่ได้รับมรดกมาจากสังคมทุนนิยมไม่ หากระบบสังคมนิยมจะเพิ่มพูนการผลิตให้สูงขึ้นทุกปีและในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มพูนฝีมือในการทำงาน รวมทั้งเพิ่มพูนความคลี่คลายทางวัฒนธรรมของประชาชนไปพร้อมกันด้วย เพราะว่าคนงานที่ได้รับการอบรมทางวัฒนธรรมดีแล้ว และเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำงาน ย่อมจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าคนงานที่ไม่มีฝีมือ

ดังนั้น, ความแตกต่างกันในอัตราค่าจ้างนี่แหละ ได้เป็นเครื่องกระตุ้นใจให้คนงานทุกคนพยายามที่จะปรับปรุงคุณสมบัติในการทำงานให้สูงขึ้นอยู่เสมอ และผลที่ได้จากการนี้ก็คือ เมื่อคนงานต่างก็พยายามปรับปรุงฝีมือการทำงานของเขาให้สูงขึ้น ผลิกรรมก็ย่อมทวีขึ้น ซึ่งหมายความว่าความสะดวกสบายของชีวิตจะขยายกว้างออกไป และรูปการเช่นนี้ย่อมจะส่งเสริมให้มาตรฐานการครองชีพของทุกคนได้เขยิบสูงขึ้นโดยลำดับ

เพราะฉะนั้นความไม่เสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่ในระบบสังคมนิยมในเยาว์วัยนั้น จึงเป็นเครื่องมือสำหรับยกระดับของสังคมส่วนรวม หรือนัยหนึ่งยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนทั้งหมด ให้เลื่อนจากชั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงต่อไปและต่อไป

ความไม่เสมอภาคในระบบสังคมนิยม(ขั้นต้น)จึงทำหน้าที่แตกต่างกับความไม่เสมอภาคในระบบทุนนิยม เพราะว่าตามลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น ความไม่เสมอภาคทำหน้าที่เป็นอาวุธสำหรับเพิ่มพูนความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่กลุ่มชนส่วนน้อยนิดคือนายทุน และบีบบังคับคนส่วนใหญ่คือผู้ออกแรงงานรังสรรค์สังคมให้ตกอยู่ในความยากจนค่นแค้น

อาจมีผู้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ความไม่เสมอภาคนี้จะคงอยู่ตลอดกาลในสังคมอนาคตหรือไม่?

ขอตอบว่า ไม่ สักวันหนึ่งสังคมในอนาคตจะบรรลุถึงขั้นที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ที่จะแบ่งปันผลผลิตของสังคมให้แก่ประชาชนตามส่วนแห่งบริการที่เขากระทำให้แก่สังคม

อย่างไรก็ดี การที่จะแบ่งปันผลิตผลของสังคม ให้แก่ผู้ทำงานตามส่วนแห่งผลงานที่เขาได้ทำให้สังคมหรือตามหลักการอื่นใดก็ตาม ก็เท่ากับเป็นการสารภาพว่า ไม่มีผลิตผลเพียงพอที่จะแบ่งปันให้แก่ทุกคนตามความต้องการของเขา

ในสังคมทุนนิยม ครอบครัวที่สามารถจะให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีอาหารการกินได้อย่างไม่อั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องวางกฎการแบ่งอาหารการกินขึ้นไว้ สมาชิกทุกคนในครอบครัวเช่นนั้นย่อมจะจัดการกับอาหารการกินได้ตามความต้องการของทุกคน

ในทำนองเดียวกัน เมื่อการผลิตของระบบสังคมนิยมได้ทวีขึ้น ถึงขั้นที่พลเมืองทุกคน อาจถือเอาของที่ผลิตขึ้นไปใช้ได้อย่างครบถ้วนตามความต้องการของเขา โดยที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นต้องประสบกับการขาดแคลน เมื่อเป็นไปได้เช่นนั้น ก็จะไม่มีเหตุอันใดแม้แต่น้อย ที่จะต้องมาคำนวณและจำกัดว่าคนใดควรจะได้รับส่วนแบ่งปันเท่าใด

เมื่อสังคมได้คลี่คลายก้าวหน้าไปถึงขั้นนั้นแล้ว หลักการในเรื่องผลิตกรรมและวิภาคกรรม หรือในเรื่องการผลิตและการแบ่งปัน ก็จะแผกเพี้ยนไปจากหลักเดิมและจะดำเนินไปสู่หลักการที่ว่า “เอาจากแต่ละคนตามแต่ความสามารถของเขา และให้แก่แต่ละคนตามความต้องการของเขา” 

แต่เมื่อสังคมได้บรรลุถึงขั้นสูงแล้ว ก็มิได้หมายความแต่เพียงว่าทุกคนจะมีเครื่องอุปโภค-บริโภคเพียงพอแก่ความต้องการเท่านั้น สังคมนิยมในระดับสูงยังมีความหมายในประการอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น เช่นการเปลี่ยนแปลงท่าทีและทรรศน์ของประชาชน การศึกษาและโอกาสทั้งมวล เพื่อคลี่คลายไปสู่ความเจริญ ทุกสถานการศึกษาเปิดให้แก่เด็กทุกคน โดยเท่าเทียมกัน เด็กๆ จะได้รับการศึกษาทั้งในทางใช้มือและใช้สมอง และการให้โอกาสเท่าเทียมกันในการทำงานใช้แรงงานและใช้สมองนี้ จะค่อยๆ ขยายตัวไปสู่ประชาชนทั้งประเทศ ทุกคนจะได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นบุคคลในจำพวก “ปัญญาชน” ทั่วหน้ากัน และเมื่อเป็นดังนี้ ปัญญาชนก็จะไม่แยกตนออกไปจากงานที่ใช้แรง คงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแรงงานและรวมเรียกว่าคนงาน (Worker)

ในสังคมนิยม สตรีจะไม่ถูกแลดูเป็นเพศที่มีความด้อยกว่าบุรุษเพศ หรือเป็นเพศที่ไม่สามารถเข้ามีบทบาทในงานทุกแขนงของชีวิตแห่งสังคมอีกต่อไป เพราะว่าจะได้มีการปฏิบัติเป็นพิเศษเพื่อบรรเทาอุปสรรคต่อการที่สตรีจะออกจากบ้านไปทำงาน เช่น จัดให้มีสถานที่เลี้ยงเด็กตามโรงงานและตามที่อื่น ตามความจำเป็น เพื่อว่าสตรีผู้เป็นมารดาจะได้มีอิสระภาพมากขึ้นกว่าเดิม งานของสตรีทางบ้านจะลดลง โดยจัดให้มีโรงครัว โรงซักรีด และร้านขายอาหารของชุมชนขึ้น

การจัดการต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของสตรีเช่นนี้ ไม่หมายถึงว่าจะเกณฑ์ให้สตรีออกไปทำงาน เพราะว่าไม่มีการเกณฑ์สตรีให้ออกไปทำงานนอกบ้านแต่อย่างใด การอำนวยความสะดวกสบายต่างๆดังกล่าวนี้ ก็เพื่อจะบรรเทาภาระของเพศแม่ลงเท่านั้น แต่จิตสำนึกจากการอบรมบ่มเพราะของระบบสังคมนิยมนั้นเอง ที่จะเรียกร้องให้พวกเธอออกไปทำงานรับใช้สังคมตามทรรศนะที่ว่า “แต่ละคนทำงานเพื่อทุกๆคน และทุกๆคนทำงานเพื่อแต่ละคน”

No comments: