Thursday, February 26, 2009

บทความที่๔๔๕.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๔)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)
ระบบสังคมนิยมเป็นวิวัฒนาการของสังคมที่สืบต่อจากระบบทุนนิยม อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของกฎวิวัฒนาการของสังคมก่อนที่จะเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ระบบสังคมนิยมจึงเป็นระบบข้อต่อระหว่างระบบทุนนิยมกับระบบคอมมิวนิสต์

ระบบสังคมนิยมก็เช่นเดียวกับระบบอื่นๆ ที่ผ่านมา ในข้อที่ว่า ตัวมูลธาตุของระบบเก่านั้นเองที่ได้ให้กำเนิดระบบใหม่ขึ้นมา ระบบสังคมนิยมก็เช่นกัน มีขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัยมูลธาตุของสังคมที่ได้มีอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือเป็นสังคมที่คลอดออกจากครรภ์ของสังคมทุนนิยม

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจ ศีลธรรม และทางปัญญาหรือในทางใดๆ ก็ดี สังคมนิยมที่กำเนิดออกใหม่นั้น ก็จะยังคงมีร่องรอยที่ได้มาจากสังคมเก่าหรือสังคมทุนนิยม

ความจริงแล้ว การคลี่คลายที่มีอยู่ในสังคมทุนนิยมนั้นเอง ทีได้ตระเตรียมลู่ทางให้แก่การกำเนิดของลัทธิสังคมนิยม และบอกให้รู้ว่าลักษณะของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปฉันใด

การตระเตรียมที่สังคมทุนนิยมได้จัดแจงไว้ให้นั้น ได้แก่การจัดแจงให้การผลิตกลายเป็นการผลิตที่มีลักษณะเป็นการผลิตของสังคมยิ่งขึ้น ทั้งนี้หมายความว่าพวกนายทุนได้จัดแจงให้คนงานได้มารวมกันเป็นหมู่ใหญ่มากขึ้นๆ โรงงานต่างๆ ได้ขยายใหญ่โตออกไปทุกที และการดำเนินการของการผลิตก็ได้กวาดต้อนผู้คนให้มารวมกันเป็นหมู่ใหญ่ในการทำงานแปลงวัตถุดิบให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป ความเกี่ยวข้องอาศัยซึ่งกันและกันในหมู่ชน ก็ขยายตัวกว้างขวางออกไปเป็นอันมาก ระบบทุนนิยมได้ทำลายพันธะและความสัมพันธ์แบบศักดินาย่อยยับลงไปนานแล้ว

แต่จากการคลี่คลายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นเอง ที่ได้สร้างความสัมพันธ์อันใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์อันแผ่คลุมไปอย่างไพศาล จนกระทั่งว่าแต่ละคนที่อยู่ในสังคมจะพลอยได้รับความกระทบกระเทือนทั่วกันไปไม่มากก็น้อย ในเมื่อมีอุบัติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดแก่สังคมส่วนรวม อย่างเช่นวิกฤติการณ์ยุค IMF ในปัจจุบันเป็นต้น

อย่างไรก็ดี การผลิตแบบเศรษฐกิจทุนนิยม ถึงแม้ว่าจะมีความโน้มเอียงไปในลักษณะที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ความจริงก็มีอยู่ว่า ผลิตผลที่มวลสมาชิกของสังคมได้ออกน้ำพักน้ำแรงร่วมมือกันผลิตนั้น ก็ได้ตกไปเป็นทรัพย์สมบัติของเอกชนหรือกลุ่มชนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้น แทนที่จะตกไปเป็นสมบัติของสังคมหรือของมวลสมาชิกผู้ออกแรงงานผลิตทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นงานขั้นแรกในการก่อสร้างสังคมสังคมนิยม จึงอยู่ที่ว่าจะต้องจัดการให้สังคมได้รับมอบผลิตผลซึ่งสังคมได้ผลิตขึ้น และการจัดการดังกล่าวนี้ก็หมายถึงว่า สังคมในฐานที่เป็นส่วนรวม จักต้องเป็นผู้ครอบครองเครื่องมือและปัจจัยการผลิต ซึ่งภายใต้เศรษฐกิจระบบทุนนิยม บรรดาเครื่องมือและปัจจัยการผลิต เอกชนกลุ่มหนึ่งได้เข้าครอบครองถือไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตน

พึงเข้าใจว่าการเข้าครอบครองเครื่องมือและปัจจัยการผลิตของสังคมจะบังเกิดขึ้นได้ ก็แต่โดยการอาศัยมูลฐานที่สังคมใหม่ได้รับมรดกตกทอดมาจากสังคมเก่าเท่านั้นเอง และก็เฉพาะแต่กิจการของบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่สังคมจะเข้าถือเอาในทันที

อนึ่ง พึงรู้ไว้ด้วยว่า กิจการใหญ่ๆเหล่านั้น ก็มิใช่ใครที่ไหนเลยเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น แท้จริงการคลี่คลายทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมนั้นเอง ที่ได้ตระเตรียมการเหล่านี้ไว้ สำหรับสังคมใหม่ จะเข้ารับเอามาดัดแปลงให้เป็นประโยชน์แก่มวลสมาชิกของสังคม ซึ่งเป็นผู้ออกแรงผลิต โดยแท้จริงต่อไป

ตามความเป็นจริงนั้น ได้มีการแยกกันอย่างสิ้นเชิงอยู่แล้ว ระหว่างผู้เป็นเจ้าของและการดำเนินงานในการผลิตในบริษัทใหญ่ๆ เหล่านั้น มีห่วงเชื่อมโยงความสัมพันธ์อยู่เพียงห่วงเดียวเท่านั้น คือ เงินปันผลกำไรหรือดอกเบี้ยที่บริษัทได้จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น

ด้วยเหตุที่การผลิตนั้นได้ดำเนินไปโดยคณะบุคคลที่เป็นคนงานหรือลูกจ้างอยู่เป็นปกติภาพแล้ว การย้ายการครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในกิจการหรือสมบัติดังกล่าวไปสู่สังคมส่วนรวม จึงไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกระเทือนการงานของปวงชนคนงานและลูกจ้างแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นสังคมจึงอาจเข้าถือเอากิจการของบริษัทใหญ่ๆ ดังกล่าวนี้ไว้ได้ในทันที

No comments: