Thursday, February 26, 2009

บทความที่๔๔๖.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๕)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)
นักมนุษยธรรมอาจเห็นว่า ในการที่สังคมจะเข้าถือเอาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตของเอกชนเหล่านั้นมาเป็นของสังคมย่อมไม่ชอบธรรมเพราะเอกชนเหล่านั้นเป็นผู้จัดหาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตมาด้วยทุนรอนของเขาเอง ก็ต้องขอย้อนถามกลับไปว่า ที่ว่าเอกชนเหล่านั้นจัดหาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตมาด้วยทุนรอนของตนเองนั้น ทุนรอนเหล่านั้นมาจากไหนเล่า?มันหล่นตกมาจากฟากฟ้าหรืออย่างไร? ก็เปล่าทั้งเพ!หากมาจากการสะสมทุนตามกลไกของระบบทุนนิยมนั้นเอง พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของผู้ใช้แรงงานทั้งหลายนั้นเอง

ดังนั้นการที่สังคมเข้าถือเอาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตของนายทุนเอกชนกลับคืนมาเป็นของสังคม จึงเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่ง หลังจากที่สังคมได้รับการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมจากชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีด มาเป็นเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการของสังคม

ในส่วนที่เกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดย่อม เฉพาะอย่างยิ่งในกิจการที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของได้มีบทบาทสำคัญในการผลิตนั้น รูปการย่อมแตกต่างกับกิจการของบริษัทใหญ่ๆดังกล่าวแล้ว

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า การที่จะเข้าถือเอาและเข้าดำเนินการจัดการโรงงานขนาดย่อมจำนวนมาก ที่ตั้งอยู่ในที่ต่างๆ กันนั้น เป็นงานอันยากยิ่งและสุดวิสัยทีเดียวที่จะลงมือปฏิบัติในระยะเริ่มแรกที่เตรียมตัวเข้าสู่สังคมนิยม

สิ่งที่เป็นสาระสำคัญในขั้นเริ่มแรกนี้ คือการเตรียมลู่ทางเพื่อให้มีหน่วยจัดการศูนย์กลางที่ใช้กับวิสาหกิจขนาดย่อมเหล่านี้ รวมทั้งกิจการอุตสาหกรรมตามหัวเมืองและเกษตรกรรมย่อมๆ

มรรควิธีที่เป็นการทั่วไปเกี่ยวกับกิจการขนาดย่อมเหล่านี้ในขั้นต้นนั้นได้แก่การส่งเสริมให้มีการเข้าร่วมมือในการทำงาน เพื่อให้ผู้ผลิตขนาดย่อมเหล่านี้ได้เรียนรู้ถึงการผลิตร่วมกัน และให้มีการจัดตั้งหน่วยอำนวยการผลิตขึ้นหน่วยเดียว แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างดำเนินการผลิตไปตามบุญตามกรรม ดังที่ทำกันมาในระบบทุนนิยม

ท่านนักวิทยาศาสตร์สังคมได้ให้คำชี้แจงในเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่มีที่ดินขนาดย่อมไว้ดังนี้

“ภาระของเราอยู่ที่ว่า จะต้องเปลี่ยนรูปการทำงานของบุคคลประเภทนั้น ที่เป็นการผลิตของแต่ละคนและเป็นการถือกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน ให้เป็นการผลิตแบบรวมหมู่ หรือแบบสหการและเป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ทั้งนี้,โดยมิใช่วิธีการบังคับ แต่โดยการกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างและโดยการให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนเพื่อความประสงค์ข้อนี้”

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตซึ่งมิใช่ด้วยวิธีการบังคับ แต่โดยการกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างและโดยให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน นี่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญของ “หลักการ” ในการเข้าสู่การก่อสร้างสังคมนิยม

ลักษณะสาระสำคัญอันแรกของระบบสังคมนิยมนั้น ได้แก่การเพิกถอนกรรมสิทธิ์ของเอกชนในบรรดาอุปกรณ์การผลิต แล้วนำอุปกรณ์การผลิตเหล่านั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม แต่การกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ขึ้นนั้น หลักการมิได้อ้างอิงว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่มาจากหลักจริยธรรมอันไพเราะเพราะพริ้ง แต่ไม่มีผลเป็นจริงเป็นจังไปถึงประชาชนแต่อย่างใด

หลักเกณฑ์เช่นนี้มีที่มาจากเหตุผลที่เห็นได้ง่ายๆ ในข้อที่ว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในบรรดาอุปกรณ์การผลิตนั้น ตามความจริงแล้วย่อมเหนี่ยวรั้งการผลิต และกีดกันการใช้กำลังผลิตที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นไว้มิให้นำออกใช้เต็มตามกำลังผลิตที่มีอยู่

เพราะฉะนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลไปให้แก่สังคมส่วนรวม จึงเป็นการตบแต่งพื้นที่ให้เรียบร้อยเท่านั้น งานต่อไปจึงได้แก่การคลี่คลายอย่างมีแผนการและมีสำนึกในบรรดากำลังผลิต

การที่กำลังผลิตยังคงล้าหลังอยู่นั้น ก็เนื่องมาแต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม กล่าวคือเนื่องมาแต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่คอยเหนี่ยวรั้งการผลิตอยู่เนืองนิจ เนื่องมาแต่การผลิตเพื่อนำออกขายในตลาด และเพราะว่าภายในลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นตลาดย่อมอยู่ในความจำกัด เหตุฉะนั้นความเติบโตของกำลังการผลิตจึงพลอยถูกจำกัดไปด้วย เพราะว่าการผูกขาดในทางการค้า จะรวมเอาการคิดประดิษฐ์เครื่องจักรและอื่นๆ ไปไว้ในครอบครองเสียฝ่ายเดียวและกีดกันมิให้การประดิษฐ์หรือค้นคว้าเหล่านั้น ได้นำออกใช้อย่างกว้างขวางและตามวิธีการของลัทธิทุนนิยมนั้นย่อมไม่อาจจัดให้การผลิตเป็นการผลิตที่มีแผนการได้ เพราะนายทุนแต่ละคนต่างก็แย่งกันเป็นใหญในตลาด จึงไม่มีการขยายตัวอย่างมีระเบียบ

เพราะว่ารัฐในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจำต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อเตรียมสงคราม ดังบทพระราชนิพนธ์ทีว่ายามสงบเตรียมรบให้พร้อมสรรค์.. เพราะว่าลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมได้แบ่งแยกงานที่ใช้มือออกต่างหากจากงานที่ใช้สมอง และเพราะว่าเศรษฐกิจทุนนิยมได้ปล่อยให้ผู้คนจำนวนแสนจำนวนล้านต้องว่างงาน

เพราะฉะนั้นบรรดาโรงงานและวิสาหกิจต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนรูปการองค์การเสียใหม่ และจะต้องจัดให้กิจการเหล่านั้นดำเนินไปให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในการยกระดับการผลิตให้สูงขึ้นไป ทั้งนี้โดยวัตถุประสงค์เพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น

No comments: