Thursday, October 30, 2008

บทความที่๔๒๕.รบทำไมและรบเพื่อใคร? ตอนที่๓

รบทำไมและรบเพื่อใคร?

จากบทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล


สงครามในยุคของศักดินา เป็นการรบเพื่อชาติ (คือประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม)หรือรบเพื่อเจ้าศักดินาและบริวาร? พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง พระราชพิธี ๑๒ เดือน (ตอนว่าด้วยพระราชพิธีสัจจปานกาล คือ ถือน้ำพิพัฒสัจจา)ได้ให้คำตอบไว้อย่างแจ่มชัดดังนี้

 

เมื่อจะคิดหาต้นเหตุการถือน้ำให้ได้ความว่า เหตุใดเมื่อให้คนอ่านคำสาบานทำสัตย์แล้ว จึงต้องให้ดื่มน้ำชำระพระแสงอีกด้วยเล่า ก็เห็นว่าลัทธิที่ใช้น้ำล้างอาวุธเป็นน้ำสาบานนี้ ต้นแรกที่จะเกิดขึ้นด้วยการทหารเป็นวิธีขัตติยฤากระษัตริย์ ที่นับว่าเป็นชาติทหารในจำพวกที่หนึ่งของชาติ ซึ่งแบ่งกันอยู่ในประเทศอินเดียคล้ายกันกับไนต์ของอังกฤษ ฤาสุมุไรของญี่ปุ่นชาติขัตติยเป็นชาติที่ไม่ได้หากินด้วยการค้าขาย ไถ หว่าน ปลูกเพาะ ฤารับไทยทานผู้หนึ่งผู้ใดให้ ย่อมหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธ แต่มิใช่ผู้ร้ายเที่ยวลอบลักทำโจรกรรม ใช้ปราบปรามโดยตรงซึ่งหน้า ให้ตกอยู่ในอำนาจแล้วแลได้ทรัพย์สมบัติโดยผู้ซึ่งกลัวเกรงอำนาจยกยอให้ แต่การที่ประพฤติเช่นนี้เมื่อว่าโดยอย่างยิ่งแล้วก็อยูในเป็นผู้ร้ายนั่นเอง แต่เป็นผู้ร้ายที่มีความสัตย์ แลคิดแบ่งการที่ตัวประพฤติ (ถึงแม้ว่าไม่เป็นธรรมแท้ของโลกย์) ออกเป็น ๒ ภาค ภาคหนึ่งถือว่าการซึ่งตนจะกระทำเช่นนั้นไม่เป็นการผิดธรรม ภาคหนึ่งถ้าตนจะกระทำเช่นนั้นเป็นการผิดธรรม คำว่าธรรมในที่นี้เป็นธรรมของขัตติย มิใช่ธรรมของโลกย์ เมื่อว่าเท่านี้ยังจะเข้าใจยาก จะต้องยกตัวอย่างให้เห็นหน่อยหนึ่ง

 

ว่าตามลัทธิความประพฤติของชาติขัตติยโบราณ คือเหมือนหนึ่งว่าผู้มีอำนาจเป็นชาติขัตติยได้ปกครองแผ่นดิน ทราบว่าลูกสาวของขัตติยเมืองอื่นมีอยู่สมควรแก่ตนๆ ตนยังมีคู่ซึ่งจะได้อภิเศก เมื่อไปสู่ขอ บิดามารดาของหญิงนั้นไม่ยอมให้ ขัตติยผู้ที่ไปสู่ขอถือว่าการที่ตัวคิดนั้นเป็นการชอบธรรม ด้วยใช่ว่าจะเอามาทำอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์มายกย่องให้เป็นใหญ่เป็นโต บิดามารดาของหญิงที่ไม่ยอมให้นั้นหมิ่นประมาทผู้ซึ่งไปขอ เป็นการประพฤติผิดธรรมประเพณี เพราะไม่รักษากิริยาอันดีต่อกัน ผู้ซึ่งไปสู่ขอสามารถที่จะประกาศแก่ทหารของตัว ว่าการซึ่งตัวประพฤตินั้นเป็นการชอบธรรม แต่บิดามารดาของหญิงประพฤติไม่ชอบธรรม จะต้องยกไปรบชิงเอานางให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพไปทำลายบ้านเมืองนั้นเสียได้ โดยมิได้ถือเป็นการผิดธรรม

 

ฤาเมื่ออยู่ดีๆ เชื่อว่าตัวมีวิชาความรู้กำลังวังชาแข็งแรง ยกไปชวนพระราชาที่เป็นชาติขัตติยอื่นซี่งเสมอๆกัน ให้มาลองฝีมือ เมื่อผู้ใดแพ้บ้านเมืองก็เป็นสินพนัน ก็ถือว่าการซึ่งขัตติยผู้ไปชวนนั้นไม่ได้ประพฤติผิดธรรมเหมือนกัน

 

ถ้าขัตติยนั้นไปพบลูกสาวชาวบ้าน ซึ่งมีชาติต่ำกำลังน้อยไม่สามารถจะต่อสู้ ฉุดชิงมาด้วยกำลังพวกมากฤาเห็นคนยากไร้เดินอยู่ตามถนน เอาศาสตราวุธประหารให้ถึงแก่ความตาย ฤาป่วยลำบาก ขัตติยผู้ซึ่งประพฤติการทั้งสองอย่างนี้ เป็นประพฤติผิดธรรม การยุติธรรมและไม่ยุติธรรมฤาต้องด้วยธรรมและไม่ต้องด้วยของพวกขัตติยนั้นเป็นดังนี้ จึงกล่าวว่ามิใช่ยุติธรรมของโลกีย์

Wednesday, October 29, 2008

บทความที่๔๒๔. รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๒

รบทำไมและรบเพื่อใคร?

 

จากบทความของคุณสุพจน์  ด่านตระกูล

 

สงครามรุกรานในยุคศักดินานั้น ล้วนแต่เป็นสงครามเพื่อสนองตัณหาหรือความทะยานอยากของกษัตริย์และเจ้าศักดินาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามปล้นสดมภ์ล่าเมืองขึ้น หรือสงครามเผยแพร่ลัทธิศาสนา และไม่ว่าจะเป็นสงครามชิงนางหรือสงครามชิงช้างก็ตาม พวกไพร่ทั้งหลายหาได้รับประโยชน์แต่ประการใดไม่

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางสงครามสนองตัณหาของกษัตริย์หรือขัตติยนี้ ซึ่งเป็นสงครามรุกรานและเป็นสงครามที่ไม่ชอบธรรมนั้น ก็มีสงครามที่ชอบธรรมเป็นฝาแฝดอยู่ด้วย คือ สงครามป้องกันตัวเองของกษัตริย์หรือขัตติยอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าเป็นการรบเพื่อชาติที่แท้จริง อย่างเช่นที่บรรพบุรุษของพวกเราชาวไทยรบกับข้าศึกผู้รุกรานเพื่อป้องกันเอกราชของชาติมาแล้วมากครั้งหลายหนในอดีต หรืออย่างเช่นที่บรรพบุรุษของเราเคยทำสงครามปลดปล่อยชาติ ให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมัยขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ล้วนแต่เป็นสงครามที่ชอบธรรม และสงครามที่ชอบธรรมก็คือสงครามที่เป็นไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและผลประโยชน์ของชาติ (คือคนทั้งชาติ)ที่แท้จริง

 

สังคมไม่หยุดนิ่ง ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่เรียกตามภาษาพุทธปรัชญาว่า อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา หรือเรียกตามภาษาปรัชญามาร์กซิสม์แห่งวิทยาศาสตร์สังคมว่า สสารธรรมประติการ (Dialectic)

 

ดังนั้น การคลี่คลายขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุคนี้จึงได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านกสิกรรม หัตถกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม และต่อมาเมื่ออังกฤษได้นำเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาใช้ในงานอุตสาหกรรม ก็ได้ทำให้งานอุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างชนิดที่เรียกว่าก้าวกระโดด นักประวัติศาสตร์เรียกสถานการณ์ของความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมครั้งนั้นว่า อุตสาหกรรมอภิวัฒน์และพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของการเศรษฐกิจทุกๆ สาขาดังกล่าวนี้ การล่าเมืองขึ้นของเจ้าศักดินาตะวันตก ซึ่งบัดนี้ได้กลายมาเป็นจักรวรรดิ์ศักดินาก็ได้เป็นไปอย่างกว้างขวางเช่นกัน วัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่า ที่ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานของอังกฤษและของฝรั่งเศสในเวลานี้ ส่วนหนึ่งก็คือที่จักรวรรดิ์ศักดินาอังกฤษและฝรั่งเศส ตีชิงปล้นสดมภ์เอาไปจากประเทศอาณานิคมในแถบเอเซียและอาฟริกา

บทความที่๔๒๓. รบทำไม?และรบเพื่อใคร? ตอนที่๑

รบทำไมและรบเพื่อใคร?

 

สงครามในยุคครองทาส เป็นสงครามแย่งทาสเพื่อเอาแรงงานมาใช้ในการผลิตเป็นกรรมสิทธิส่วนตัวของนายทาส การผลิตและผลิตผลทั้งหมดจึงเป็นของนายทาส การสงครามในยุคนี้ จึงเป็นสงครามเพื่อผลประโยชน์ของนายทาสโดยเฉพาะเท่านั้น คนส่วนใหญ่ของสังคม อันได้แก่บรรดาทาสทั้งหลาย หาได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วยไม่ และดังนั้น ผู้ที่เป็นต้นเหตุก่อสงครามขึ้นในยุคนี้ ก็คือบรรดานายทาสทั้งหลายนั้นเอง

 

ในยุคศักดินาก็เช่นเดียวกับยุคทาส คือสงครามที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง(หมายถึงสงครามรุกราน,ตรงกันข้ามกับสงครามป้องกันตัว) ก็เพื่อผลประโยชน์และรับใช้ผลประโยชน์ของบรรดาพวกเจ้าศักดินาและบริวารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามเพื่อขยายอิทธิพลอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองหรือสงครามเพื่อสนองตัณหาความยิ่งใหญ่ของเจ้าศักดินาเองโดยตรงก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมที่มีฐานะเป็นไพร่หาได้รับผลประโยชน์อะไรจากสงครามแม้แต่น้อยไม่

 

ตรงกันข้าม พวกเขานอกจากจะถูกบังคับให้เป็นทหารออกไปทำสงครามแล้ว พ่อแม่ลูกเมียและญาติพี่น้องของเขาที่บางคนไม่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ก็ต้องถูกเกณฑ์แรงงานหรือถูกกดขี่ขูดรีดหนักยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตไปเลี้ยงกองทัพ และเพื่อจัดซื้อหาเครื่องศาสตราวุธต่างๆ กองทัพใหญ่โตมากขึ้นเท่าใด ยิ่งจัดซื้อจัดหาเครื่องศาสตราวุธมากเท่าใด นั่น,ก็หมายความถึงการกดขี่ขูดรีดยิ่งทารุณมากขึ้นเท่านั้น และนั่นก็หมายความถึงความแร้นแค้นแสนเข็ญของพวกไพร่ อันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

 

แน่นอน,ในการยกทัพโยธาไปตีบ้านชิงเมืองหรืออาณาจักรศักดินาอื่นๆ พวกไพร่ทั้งหลายจะถูกปลุกระดมด้วยคำว่า รบเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน และ ตายเพื่อชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของคนในชาติทุกคน และพวกไพร่เองก็ยอมรับหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างเหนียวแน่นเช่นกัน โดยที่พวกเขาไม่เคยเฉียวใจและตั้งคำถามว่า ชาติคืออะไร? และแผ่นดินที่ว่านั้นพวกเขามีกันคนละกี่ไร่

 

แน่นอน, ถ้าพวกไพร่ทั้งหลายอันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม รู้ความจริงว่า ชาติคือเผ่าชนที่มีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณี หรือรวมเรียกว่า วัฒนธรรม อย่างเดียวกัน (แม้ว่าจะไม่มีประเทศอย่างเช่นชาติยิวในอดีต)พวกไพร่ทั้งหลายก็จะได้รู้ทันทีว่าพวกเขาถูกหลอกลวงเสียแล้ว เพราะพวกเขาทั้งหลายนั้นเองที่มีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม(หรือนัยหนึ่งคือชาติ)หาได้รับผลประโยชน์แต่ประการใดจากการสงครามแม้แต่น้อยไม่ แต่พวกศักดินาและบริวารผู้กระหายสงคราม กลับมาบอกว่ารบเพื่อชาติ รบเพื่อชาติจึงเป็นการโกหกหลอกลวงกันชัดๆ