Thursday, April 17, 2008

บทความที่๔๐๕.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๑๖)

ตอน คณะกรรมการราษฎร(ลาว)ประกาศเอกราช ตอนที่ ๒

การขยายตัวของแนวคิดมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ดำเนินไปภายใต้การชี้นำของสำนักงานศูนย์บัญชาการของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน “สาขาลาว-สยาม” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี รับผิดชอบการปฏิบัติการในพื้นที่ดินแดนอินโดจีน และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรงกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๕ เขต คือ เขตงานภาคกลางมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี รับผิดชอบวารินทร์ชำราบและจังหวัดสุรินทร์ เขตงานภาคเหนือมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเขตงานภาคใต้เคลื่อนไหวกับ “พรรคสยาม-มาลายา” ทั้งนี้สมาชิกระดับนำในศูนย์บัญชาการพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนสาขา “ลาว-สยาม” บางคนมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สำหรับในการปฏิบัติงานเคลื่อนไหวเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ มีสำนักงานสาขาย่อยกระจายอยู่ในหลายเมืองตลอดแนวสองฝากฝั่งแม่น้ำโขง อันได้แก่ เวียงจันทน์ หนองคาย หมากแข้ สกลนคร มุกดาหาร ธาตุพนม นครพนม อุบลราชธานี เหมืองแร่ที่คำม่วน ท่าแขก สะหวันนะเขด และปากเซ

สมาชิกผู้ปฏิบัติงานมาลชนมีหลากหลายสาขาอาชีพ สำหรับโฮจิมินห์นั้นเป็นทั้งนักเขียนและกรรมการ นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งเป็นปัญญาชน ครู อาจารย์ เช่น สิงคโป สีโคตจุนนะมาลี บ้างเป็นชาวนา กรรมกร เช่น หนูฮัก พูมสะหวัน หรือแม้กระทั่งเชื้อพระวงศ์แห่งราชสำนักเมืองหลวงพระบาง อันได้แก่ เจ้าสุพานุวงหรือ “เจ้าแดง”

ท่ามกลางกระแสชาตินิยมและการขยายตัวของ “ลัทธิฮักชาติ” มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่สมาชิกคณะกรรมการราษฎรและประชาชนทั่วไปว่า มีสมาชิกบางคนฝักใฝ่เป็นใจกับฝรั่งเศส บางคนเอาใจฝักใฝ่เวียดนาม และบางคนก็ฝักใฝ่เป็นใจกับไทย เพื่อลบล้างข้อครหาดังกล่าวจึงมีการตั้ง “สมาคมลาวเป็นลาว” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและสรรค์สร้างความสมัครสมานสามัคคีภายในชาติ โดยใช้บ้านของคำใบ พิลาพัเดด ในกรุงเวียนจันทน์เป็นที่ประชุม ผู้รับหน้าที่เป็นประธานคนแรกก็คือพันเอก บง สรีรัตนะกุน และมีคำใบ พิลาพันเดดเป็นรองประธาน ท้าวอำพอน พลราช เป็นที่ปรึกษา พร้อมกันนี้มีคณะกรรมการอีก ๘ ท่านและเลขานุการอีก ๓ ท่าน

“สมาคมลาวเป็นลาว” ได้ขยายสาขาออกไปยังแขวงต่างๆ อีก ๔ แขวง คือ

๑. แขวงหลวงพระบาง๒.แขวงสะหวันนะเขด๓.แขวงเชียงขวาง๔.แขวงคำม่วน มีเจ้าสุพานุวง ผู้ที่เรียกขานกันว่า “เจ้าฟั่น” หรือ “เจ้าแดง” เป็นประธาน และมีคณะกรรมการอีกส่วนหนึ่ง เช่น สิงคโป สีโคตจุนนะมาลี

พร้อมกันนี้ “สมาคมลาวเป็นลาว” ได้มีการก่อตั้งกองทัพราษฎรขึ้นในแขวงใหญ่ๆ หลายแขวงด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสและช่วยเหลือกองทหารของรัฐบาล ภายใต้การบัญชาการของนายพล สิง รัตนะสมัย ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้งและมีกำลังทหารไม่มากนัก

กองทัพราษฎรที่เวียงจันทน์อยู่ภายใต้การบัญชาการของอำพอน พลราช มีกองกำลังทหารที่เป็นชาวลาวผู้รักชาติอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ท่าแขก อยู่ภายใต้การบัญชาการของเจ้าสุพานุวง มีกองกำลังผสมลาว-เวียดนาม และที่สะหวันนะเขดอยู่ภายใต้การบัญชาการของอุ่น ชะนะนิกอน มีกำลังทหารอยู่อีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน

ในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ สมาชิกในขบวนการชาตินิยมส่วนหนึ่งที่รวมตัวกันเป็น “คณะลาวอิสระ” ได้เปิดประชุมวางแผนประกาศเอกราชและอิสรภาพรวมทั้งเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศ สมาชิกคณะลาวอิสระที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นเรียกตนว่า “คณะกรรมการราษฎร” ประกอบด้วย พญาคำม้าว กระต่าย โตนสะโสลิด เจ้าสุวันนะพูมา นายพล อุดอน ชะนะนิกอน นายพล พัมไชยะสิดเสนา พันเอก บง สรีรัตนะกุน อำพอน พลราช คำใบ พิลาพันเดด บัวจัน อินทะวงศ์ พันตรี สิง รัตนะสมัย เกื่อง ปทุมชาด พญาอุ่นเรือน นรสิงห์ มหาสีลา วีรวงส์ และพันโท ประสาน ทองภักดี

ที่ประชุมมีมติใน ๓ หัวข้อสำคัญ คือ

๑.ให้กำหนดเอาวันที่ ๑๒ ตุลาคม เป็นวันประกาศเอกราชและอิสรภาพ

๒. คัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ

๓.ให้โทรเลขทูลเชิญเจ้าชีวิตสว่างวงมาเป็นเจ้าชีวิตของลาวทั้งมวล ภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้หลังประกาศเอกราชแล้ว ต่อมาในวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ประธานที่ประชุมได้โทรเลขกราบทูลเจ้าชีวิตสว่างวง โดยกำหนดให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง มีใจความว่าดังนี้

(๑)คณะกรรมการราษฎรขอให้พระองค์ทราบในจุดประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่คณะกรรมการราษฎรจะได้ประกาศ

(๒)ขอให้พระองค์ทรงรับรองกฏหมายรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศ ที่คณะกรรมการราษฎรจะได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย

(๓)ขอให้พระองค์ประกาศลบล้างรัฐบาลแห่งอาณาจักรหลวงพระบาง แล้วให้การรับรองรัฐบาลใหม่แห่งราชอาณาจักรลาวทั้งหมด ที่จะได้ประกาศจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ และ

(๔) ขอเชิญพระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์ของคนลาวทั้งประเทศ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

No comments: