Friday, April 11, 2008

บทความที่๓๙๗.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๑๓)

ท่านปรีดี พนมยงค์ กับขบวนการกู้เอกราชในลาว ตอน ขบวนการชาตินิยม
ในลาว แม้การประกาศรวมดินแดนแขวงภาคใต้เข้ากับราชอาณาจักรหลวงพระบางจะได้รับการสนับสนุนตอบรับอย่างแข็งแรงจากเจ้าแขวงและประชาชนทั่วประเทศ แต่ก็ถูกคัดค้านและตอบโต้อย่างแข็งกร้าวจากชีวิตสีสว่างวง

ในวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๘๘ มีโทรเลขจากรัฐมนตรีมหาดไทยถึงเจ้าเพ็ดชะลาดซึ่งเป็นการแจ้งพระราชโองการของเจ้าชีวิตสีสว่างวง ว่า ทรงยินยอมให้ฝรั่งเศสกลับมาปกครองลาว ในฐานะเป็นประเทศอาณานิคมดังเดิม สำเนาโทรเลขราชการฉบับที่ ๒๓๓ มีใจความว่า

“ขอเรียนให้ทราบว่า เจ้าชีวิตเรียกร้องขอให้ราชอาณาจักรหลวงพระบางเป็นอณานิคมของฝรั่งเศสต่อไป”

เจ้าเพ็ดชะลาดไม่เห็นด้วย และได้เขียนแถลงการณ์ถึงประชาชนลาวทั้งสี่แขวง แสดงเจตจำนงในการรวมชาติ ไว้ดังนี้

“พี่น้องชาวแขวงสะหวันนะเขด สาละวัน คำม่วน จำปาสัก ทั้งหลาย หลายปีมาแล้วที่พวกเรา ลาวเหนือ ลาวใต้ อยากจะรวมเข้าเป็นชาติเดียวกัน แต่มีเหตุการณ์หลายอย่างขัดขวางความตั้งใจของเราไว้ จึงไม่ได้รับความสำเร็จ แต่เวลานี้โอกาสได้มาถึงแล้ว นับแต่วันนี้เป็นต้นไป คำว่าลาวเหนือ ลาวใต้นั้นไม่มีอีกแล้ว เราได้รวมกันเป็นชาติเดียว เป็นชาติลาวแห่งเดียว เหมือนดังที่เคยเป็นมาแล้วสมัยเจ้าฟ้างุ่ม เจ้าเชษฐาธิราช และเจ้าสุริยวงสา”

“รัฐบาลราชอาณาจักรหวังว่า พี่น้องทั้งหลายจะตอบรับด้วยความยินดี การรวมลาวเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชาชน ความสำเร็จของประชาชนลาวจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อผู้แทนของชาติได้เปิดประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกัน

สภาจะพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การฟื้นฟูชาติและจะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้เทียมบ่าเทียมไหล่กับเพื่อนร่วมทวีปในเอเซีย อีกทั้งจะรักษาป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของคนต่างด้าวทุกท่าน ผู้เป็นที่เคารพนับถือหรืออยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายแห่งชาติ สำหรับรัฐบาลใหม่ที่ตั้งขึ้นจะอยู่ที่เวียงจันทน์ โดยคณะรัฐบาลประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถและเคยรับราชการมาก่อน”

ในการดำเนินความพยายามประกาศเอกราช “คณะลาวอิสระ” ได้เปิดประชุมและมีมติออกมาว่า ภารกิจหลักของคณะลาวอิสระหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ก็คือ ดำเนินการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองความเป็นเอกราชของลาว จึงควรยื่นคำร้องต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นหัวหน้า ให้ประเทศลาวได้รับเอกราชตามเงื่อนไขของกฎบัตรแอตแลนติด ที่ระบุไว้ว่า “เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง จะให้ประเทศทั้งหลายที่เป็นอาณานิคมได้รับเอกราช” โดย ๕ ชาติมหาอำนาจอันประกอบด้วยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จน และฝรั่งเศสเสรีได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘

ทว่า “คณะลาวอิสระ” ยังมิได้เป็นองค์กรที่มีหลักประกันหรือได้รับการรองจากประเทศใดๆ ทาง “คณะลาวอิสระ” จึงเรียกประชุมสมาชิกที่เข้ามาลี้ภัยและดำเนินการต่อสู้เพื่อเอกราชอยู่ในประเทศไทย ที่ประชุมมีมติเห็นพ้องต้องกันให้ส่งพันตำรวจตรี บุนมี ปันยาทิบ และสมาชิกส่วนหนึ่งข้ามแม่น้ำโขงไปติดต่อกับเจ้าเพ็ดชะลาดที่กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัฐบาลลาวหลวงพระบาง แจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุม “คณะลาวอิสระ” เห็นสมควรให้เจ้าเพ็ดชะลาดเป็นผู้ยื่นคำรองขอเอกราช ทั้งนี้เนื่องเพราะ พระองค์เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นและญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อสัมพันธมิตร รัฐบาลของเจ้าชีวิตสีสว่างวงก็พ้นสภาพไปด้วย

เจ้าเพ็ดชะลาดนัดหมายให้ตัวแทน “คณะลาวอิสระ” เดินทางมาพบและเจรจากันตรงหลักกิโลเมตรที่ ๗ ในเส้นทางไปหลวงพระบาง ตรงจุดที่เคยเป็นโรงเลื่อยคำใบ โดยให้ทุกคนแต่งตัวเป็นชาวนาเดินไปตามถนน ส่วนเจ้าเพ็ดชะลาดจะขับรถมาตามทาง ตัวแทนคณะลาวอิสระ อันได้แก่ พันตำรวจตรี บุนมี ปันยาทิบ พันเอก บง สรีรัตนะกุน และ มหาสีลา วีระสงส์ ได้ว่าจ้างเรือถ่อจากหนองคายลัดเลาะตามลำน้ำโขงไปย้งบ้านหม้อ แล้วข้ามแม่น้ำโขงไปพบเจ้าเพ็ดชะลาดในจุดนัดหมาย

ความร้ายแรงของระเบิดปรมาณูเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ความเสียหายและความสูญเสียที่ญี่ปุ่นได้รับในชั่วระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ประมาณ ๔๘ ชั่วโมง ส่งผลให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ถือเป็นการยุติสงครามของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง

แม้ว่าการประกาศยอมจำนนของญี่ปุ่นจะมีผลให้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในทวีเอเซียยุติลง ทว่าทหารญี่ปุ่นในลาวยังคงตั้งเวรยามตรวจตราอยู่ที่สนามบินวัดไตและในเส้นทางสายต่างๆ เหมือนยังเป็นสถานการณ์สู้รบอยู่เช่นเดิม

จากนั้นในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๘ ตัวแทน “คณะลาวอิสระ” ได้เข้าพบเจ้าสุวันนะพูมาเพื่อแจ้งวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราช และทางเจ้าสุวันนะพูมาได้ให้ตัวแทน “คณะลาวอิสระ” ไปรอคำตอบหรือรอรับเอกสารร้องขอความเป็นเอกราชของเจ้าเพ็ดชะลาด อยู่ที่บ้าน “จารย์เป็ง” ที่ตาแสงสีไค เพื่อนำไปมอบให้แก่ตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตร คือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ประจำจังหวัดสกลนครและหนองคาย

หลังจากนั้นในอีกสองวันต่อมา เจ้าสนิด วงกดรัตนะ ได้นำเอกสารร้องขอการรับรองความเป็นเอกราชของลาวจากเจ้าอุปราชเพ็ดชะลาดมาให้ เอกสารดังกล่าวมีจำนวน ๓ ซองสำหรับนำไปมอบให้นายทหารตัวแทนสหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดสกลนคร นายทหารตัวแทนอังกฤษ ประจำหนองคาย และนายปกรณ์ อังสุสิงห์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เพื่อให้เสนอผ่านขึ้นไปยังรัฐบาลไทย

No comments: