Thursday, April 24, 2008

บทความที่๔๑๘.คุณูปการของท่านปรีดีฯต่อขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน

คุณูปการของท่านปรีดี พนมยงค์ต่อขบวนการกู้เอกราชในกลุ่มประเทศอินโดจีน

ในช่วงเวลาปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนมีการเคลื่อนไหวและขยายตัวอยู่ในพื้นที่ชนบทภาคใต้ของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองท่าแขกมีเครือข่ายสมาชิกเข้มแข็งมาก โดยมีเจ้าฟั่นหรือเจ้าสุพานุวง ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการเรียกขานว่า “เจ้าแดง” เป็นผู้นำคนสำคัญร่วมกับไกสอน พมวิหาน สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี และหนูฮัก พูมสะหวัน

เจ้าสุพานุวงและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมอยู่ในขบวนการลาวอิสระและคณธกรรมการราษฎร ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชและอิสรภาพของลาว เดือนกันยายน ๒๔๘๘ หนึ่งเดือนก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสและเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๑๒ ตุลาคม เจ้าสุพานุวงได้เปิดประชุมบรรดาสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเพื่อกำหนดแนวทางการต่อต้านฝรั่งเศส ปลายเดือนตุลาคมได้เปิดประชุมบรรดาสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในประเด็นเดียวกันที่ภาคใต้ จากนั้นเดินทางมาประชุมเคลื่อนไหวศูนย์กลางที่เวียงจันทน์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ เจ้าสุพานุวงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้บัญชาการทหารสูงสุด

แนวคิดมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ขยายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนชนบทป่าเขา ที่มีชนชาติส่วนน้อยตั้งถิ่นฐานอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งนี้อาศัยประเด็นปัญหาการถูกกดขี่เป็นทาสแรงงานและการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นพลเมืองที่ต่ำต้อยด้อยกว่ามาแต่โบราณเป็นเงื่อนไขหลัก ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้มีการจัดตั้งแกนนำหมู่บ้านขึ้นในพื้นที่เมืองท่าแขกและชนบทรอบนอก รวมทั้งเมืองต่างๆแถบภาคใต้

รายงานของเพนตากอนระบุว่า โฮจิมินห์และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนส่วนหนึ่งได้ใช้กระแสชาตินิยมและกระแสการเรียกร้องเอกราช-อิสรภาพมาเป็นเงื่อนไขในการปฏิวัติสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศในอินโดจีนไปสู่การเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ จึงได้ระงับให้การช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ก็แสวงหาแนวทางในการสะกัดกั้นหยุดยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนอินโดจีนและภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

มีการสรุปผลการศึกษาออกมาว่า โฮจิมินห์ใช้วิธีสร้างสามัคคีประชาชาติและหลอมรวมความคิดของคนในชาติให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเอกราช ปลดปล่อยตนเองจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยผ่านทางแนวคิดชาตินิยมเช่นเดียวกับที่นายพล ตีโต้แห่งยูโกสลาเวียได้นำมาใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีของลาว มีการเรียกขานลัทธิชาตินิยมว่า “ลัทธิฮักชาติ”

ข้อมูลหลักฐานที่เพนตากอนนำมาสนับสนุนข้อกล่าวหาข้างต้นคือโทรเลขของเจ้าสุพานุวงในนามของรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลลาวอิสระ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ที่มีไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามที่ฮานอยและหัวหน้าลาวอิสระในหลวงพระบาง ซำเหนือ สะหวันนะเขด และตัวแทนประจำเมืองนาเปและเซโปน แจ้งให้ทราบว่า ได้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการลาวอิสระขึ้นที่ถนนบาเตรียงในฮานอย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลลาวอิสระกับเวียดมินห์พร้อมกับกล่าวในนามของรัฐบาลและประชาชนว่า มุ่งมั่นที่จะแจ้งให้ชาวโลกประจักษ์ว่า “ประชาชนลาวพร้อมจะสละทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งเลือดหยดสุดท้าย เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชและอิสภาพ โดยจะร่วมต่อสู้กับเวียดนามและมิตรประเทศอื่นๆ”

ด้วยเหตุผลข้างต้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด ในการแสวงหาแนวทางการป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในการนี้ ได้มการศึกษาถึงยุทธวิธีของโฮจิมินห์ที่ใช้ในการเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ รวมทั้งการขยายฐานมวลชนในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา

แผนการร่วมือของประชาชนในเอเซียอาคเนย์ หรือ “สมาคสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ของนายปรีดี พนมยงค์ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับโฮจิมินห์ รวมทั้งความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีต่อ “ขบวนการเวียดนาม ดอคแล็บ ดองมินห์” หรือ “เวียดมินห์” และบรรดามิต ประเทศในอินโดจีน เช่น การก่อตั้ง “ขบวนการเสรีลาว” หรือ “องค์กรลาวอิสระ” ได้เป็นประเด็นสำคัญในรายงานข่าวกรองของหน่วย โอ เอส เอส ว่า “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ของนายปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นองค์กรของพวกคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังได้เพ่งเล็งถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับบรรดาผู้นำขบวนการชาตินิยมในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา พร้องกับดึงมาเป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้แก่สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเกรงว่า นายปรีดี พนมยงค์ และโฮจิมินห์จะนำบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ระบบสังคมนิยม

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ช่วงนายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อให้พิจารณาใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถูกบรรดานักการเมืองฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์โจมตีว่า เป็นการนำเอาแนวความคิดคอมมิวนิสต์มาใช้และเตรียมการปฏิวัติแบบเลนิน

ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกรรมาธิการสอบสวนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๗๖ ประธานสภาได้สรุปผลการสอบสวน หลวงประดิษฐ์ฯไม่มีมลทินในเรื่องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เลย

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ภายในประเทศไทยเองก็อยู่ในสภาวะตึงเครียด การปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซียได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๗)ได้กล่าวหาว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการนำเอาโครงการแบบคอมมิวนิสต์รัสเซียมาใข้ และหวาดกลัวว่าจะมีการนำเอาการปกครองแบบมหาชนรัฐมาปกครองประเทศ

สำหรับความร่วมมือและความช่วยที่นายปรีดีและขบวนการเสรีไทยมีให้ต่อขบวนการกู้ชาติลาวนั้น โชติ เพชราสี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและวางแผน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายลาวรักชาติประจำนครเวียงจันทน์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“ความจริงแท้อันหนึ่งก็คือ ตอนที่ขบวนแนวลาวอิสระกำลังต่อต้านฝรั่งเศสทางผู้ครองอำนาจของไทยตอนนั้นคือขบวนการเสรีไทย พร้อมทั้งมวลประชาชนไทยได้ให้ความสนับสนุนดูแลอย่างดียิ่ง การสนับสนุนของไทยในครั้งนั้นได้เป็นบุญคุณแก่ขบวนการลาวอิสระและประวัติศาสตร์ลาว พวกข้าพเจ้าในขบวนการกู้ชาติขอจารึกคุณงามความดีของประชาชนไทย และบรรดาท่านที่ครองอำนาจในสมัยนั้นไว้อย่างสูงเสมอ”

No comments: