Friday, April 18, 2008

บทความที่๔๐๘.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว (๑๙)

การกลับมาของฝรั่งเศส

นับแต่มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างโฮจิมินห์กับผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสประจำอินโดจีน การสู้รับระหว่างทหารเวียดนามกับทหารฝรั่งเศสก็ได้ยุติลงชั่วคราว ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสนี้ส่งกำลังทหารของตนเข้าไปในประเทศลาวเพิ่มมากขึ้น การปะทะสู้รบกับทหารฝรั่งเศสได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และทวีความถี่ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๘ กองทหารลาวได้เคลื่อนกำลังจากบ้านสีไคเขาปฏิบิตการโจมตีทหารฝรั่งเศสที่เมืองทุระคม และได้ปะทะสู้รบกันอย่างหนักตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน หลังสู้รบกันเป็นเวลา ๓ วัน ทหารฝรั่งเศสได้ล่าถอยออกไปจากเมือง ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสียงอาหารไว้เป็นจำนวนมาก

ฝรั่งเศสเตรียมการกลับเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในพื้นที่ภาคเหนือของอินโดจีนแทนกำลังทหารก๊กมินตั่ง ภายใต้การบัญชาการของนายพล หลิว ฮั่น ที่จำต้องถอนกำลังทหารก๊กมินตั๋งทั้งหมดกลับคืนประเทศจีน สาเหตุสำคัญที่ทำให้นายพล เจียงไคเช็คต้องถอนกำลังทหารกลับคืนประเทศก็เนื่องจากต้องเตรียมต่อสู้กับกองทัพแดง ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงและนายพล จูเต๋อ

ฝรั่งเศสได้ใช้โอกาสนี้เปิดเจรจากับนายพล เจียงไคเช็คที่จุงกิง เสนอคืนสิทธิในดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดครองไว้ อันได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เทียนสิน หางโจว และกวางตุ้ง เพื่อแลกกับการกลับเข้าไปมีอำนาจในดินแดนลาวและเวียดนามดังเดิม เจียงไคเช็ครับข้อเสนอดังกล่าวและมีการลงนามกับฝรั่งเศสในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๙

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมที่ปอตสดัม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ได้กำหนดว่า หลังสงครามยุติ ให้กองทหารจีนรับผิดชอบการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในดินแดนอินโดจีนเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ส่วนดินแดนใต้เส้นขนานที่ ๑๖ ลงไปให้อยู่ภายใต้ควารับผิดชอบของกองทหารอังกฤษ หลังสงครามยุติ ประเทศสัมพันธมิตรคือ จีน อังกฤษ และฝรั่งเศสได้ประชุมร่วมมือกันในการครอบครองพื้นที่อินโดจีน

ผลจากการลงนามในข้อตกลงร่วมกันดังกล่าว เอื้ออำนวยให้ฝรั่งเศสทุ่มกองกำลังทหารคอมมานโดพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยเข้ามาในฮานอยเป็นจนวนถึง ๑๕,๐๐๐ คน และได้ส่งกองทหารอีกจำนวนหนึ่งกระจายอยู่ในภาคเหนือของเวียดนาม อีกส่วนหนึ่งกลับเข้าไปตั้งฐานบัญชาการอยู่ที่เมืองสิงและหลวงน้ำทาในภาคเหนือของลาว

หลังกองทหารญี่ปุ่นประกาศยอมจำนน และถอนตัวออกไปจากดินแดนลาวหมดแล้ว ทหารฝรั่งเศสี่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าเขาพยายามรวมตัวกันอีกครั้งโดยตั้งฐานบัญชาการอยู่ที่พูเขาควาย จัดแบ่งกำลังเป็นกรมกอง มีการส่งคนออกไปชักชวนชาวลาวให้มาร่วมเป็นทหาร และเริ่มเคลื่อนไหวปฏิบัติการทางทหารเพื่อกลับมาครอบครองลาวดังเดิม

ในช่วงแรก ทหารฝรั่งเศสจากพูเขาควายได้เคลื่อนกำลังประมาณ ๕๐๐ นายเข้ายึดเมืองทุระคม ทว่าถูกทหารจากองทัพราษฎร ภายใต้การนำของอำพอน พลราชซึ่งกำลังอยู่ทั้งสิ้นเพียง ๑๖๐ คนเข้าปฏิบัติการซุ่มโจมตีแบบกองโจรด้วยอาวุธเก่าที่ทหารญี่ปุ่นทิ้งไว้ จนทหารฝรั่งเศสต้องถอนกำลังกลับ

ในด้านยุทธศาสตร์ ทหารกองทัพราษฎรมีกำลังน้อยกว่ามาก เพื่อหลบหลีกการปฏิบัตากรโจมตีของกองทหารฝรั่งเศส จึงได้เคลื่อนย้ายกำลังไปตั้งอยู่ที่เมืองโพนโอง หลังจากนั้นไม่กี่วันต่อมา กำลังทหารฝรั่งเศสได้เคลื่อนพลกลับมายึดเมืองทุระคมอีกครั้ง แล้วใช้เป็นฐานในการส่งกำลังบำรุงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทางเครื่องบิน

หลังกองทหารฝรั่งเศสระดมกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากแล้ว ก็เคลื่อนกำลังทหาร ๖๐๐ นายเข้ายึดบ้านท่าเดื่อซึ่งอยู่ตรงข้ามจังหวัดหนองคาย ในวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๙ กองบัญชาการกองทัพราษฎรที่เวียงจันทน์รายงานจากทหารด่านท่าเดื่อ จึงแจ้งให้ผู้บัญชาการทหารจีนในเวียงจันทน์ทราบ เพื่อมุ่งหวังให้กองทหารก๊กมินตั๋งที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ได้ช่วยเจรจา

ผู้บัญชาการทหารก๊กมิ่นตั๋งได้ส่งผู้แทนทหารจีนเดินทางไปเจรจา ขอทราบวัตถุประสงค์ และขอให้ยุติการปฏิบัติการ ทว่าทหารฝรั่งเศสไม่สนใจและยิงใส่รถผู้แทนทหารจีนซึ่งติดธงชาติไว้ด้วย ผู้แทนทหารจีนจึงกลับมายังเวียงจันทน์และแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้กองบัญชาการกองทัพราษฎรทราบ กองบัญชาการกองทัพราษฎรจึงส่งกองกำลังลาว-เวียดนาม ออกไปปฏิบัติการต้านทานการรุกรบของกองทหารฝรั่งเศส การปะทะสู้รบดำเนินตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น.เรื่อยไปจนถึง ๐๔.๐๐ น.ของวันใหม่

สำหรับทหารเวียดนามนั้นเป็นกำลังทหารที่ฝ่ายเวียดมินห์ส่งมาช่วยเหลือ หลังให้การรับรองในเอกราช อิสรภาพของลาว รวมทั้งให้การรับรองรัฐบาลลาวอิสระที่ได้ก่อตั้งขึ้น และแม้ว่ากองทัพราษฎรและกองกำลังผสมลาว-เวียดนามจะมีกำลังทหารน้อยกว่าถึง ๑๐ ต่อ ๑ อาวุธด้อยประสิทธิภาพกว่า อีกทั้งเสียเปรียบในด้านยุทธภูมิ แต่ก็สามารถตีโต้จนทหารฝรั่งเศสได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ต้องถอยร่นลงไปยังชายฝั่งแม่น้ำโขง และแตกกระจายแยกย้ายหนี ขนทหารที่ได้รับบาดเจ็บส่วนหนึ่งข้ามไปรักษาที่หนองคาย อีกทั้งสูญเสียวอาวุธยุทโธปกรณ์ คือ ปืนครก ๕กระบอก ปืนกลหนัก ๑๐ กระบอก ปืนเล็กยาว ๓๐๐ กระบอก ระเบิดมือและกระสุนอีกหลายพันนัด

ต่อมาทหารฝรั่งเศสกลับไปรวมตัวกันที่เมืองทุระคมอีกครั้ง และจัดแบ่งกำลังออกเป็นหมดหมู่ มีการส่งกำลังทหารมาเพิ่มทางเครื่องบิน เพื่อเตรียมปฏิบัติการครั้งใหญ่ คือรุกเข้าโจมตีเพื่อยึดกรุงเวียงจันทน์

กองทหารผสมลาว-เวียดนาม ได้ออกปฏิบัติการซุ่มโจมตีกองกำลังส่วนหน้าของฝรั่งเศสที่บ้านท่าง่อน ริมแม่น้ำงึม อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเคลื่อนกำลังเข้าโอบล้อมทหารฝรั่งเศสที่เมืองทุระคม ในวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๙ การสู้รบดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอดสองวัน ในวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น.กองทหารฝรั่งเศสอีกกองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านท่งมั่งได้ยกกำลังมาถึงและกระจายกำลังกันเข้าโอบล้อมกองทหารผสมลาว-เวียดนาม กว่าจะตีแหวกวงล้อมออกมาได้ในเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ก็ต้องสูญเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมาก

นับแต่นั้นเป็นต้นมา กองทหารผสมลาว-เวียดนามและกองทัพราษฎรได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ หันมาใช้วิธีการรบแบบกองโจรเพื่อสงวนกำลังที่มีอยู่ไม่มากนัก และออกปฏิบัติการซุ่มโจมตีทหารฝรั่งเศสเป็นครั้งคราว

No comments: