Friday, April 4, 2008

บทความที่๓๘๘.วิฑุรบัณฑิตผู้ไม่ก้มศรีษะแก่อำนาจอกุศล

วิฑุรบัณฑิตผู้ไม่ก้มศรีษะแก่อำนาจอกุศล

ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอบรมบารมี เพื่อที่จะให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญบารมี คือ การเจริญสติปัฎฎาน ในอดีตด้วย เพียงแต่ว่าเมื่อทรงปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอริยเจ้า ขอกล่าวถึงเรื่องราวของวิฑุรบัณฑิตในขุททกนิกาย ชาดก วิฑุรชาดก โดยเรียบเรียงดังนี้

พระนางวิมาลามเหสีของท้าวรุฬนาคราช ปรารถนาหทัยคือหัวใจของวิฑุรบัณฑิต เพราะรู้ว่ายากอย่างยิ่งที่จะได้มา เพราะเหตุว่าบัณฑิตย่อมเป็นผู้ที่ฉลาด เพราะฉะนั้นการที่จะได้หทัย หรือหัวใจของบัณฑิตก็เป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะได้ ปุณณกยักษ์ผู้มีความปรารถนาในธิดาของท้าววรุฬนาคราช จึงรับจะไปเอาหัวใจของวิฑุรบัณฑิตมาให้ เพื่อที่มโนรถของตนจะสมประสงค์

ปุณณกยักษ์ได้ไปท้าพนันสะกา (สกา – น.เครื่องเล่นการพนันอย่างหนึ่งใช้ลูกบาศก์ทอดแล้วเดินตัวสกาตามแต้มลูกบาศก์)กับพระเจ้าธนัญชัยโกรัพพยะราชผู้ที่วิฑุรบัณฑิตได้รับใช้ให้คำปรึกษา ผลการท้าพนัน ปุณณกยักษ์เป็นผู้ชนะและได้ทวงเอา ”ทรัพย์อันประเสริฐ” จากพระเจ้าธนัญชัยฯ คือตัววิฑุรบัณฑิต

ปุณณกยักษ์กราบทูลพระราชาว่า “ ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑลและแก้วอื่นใด ที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์ บัณฑิตมีนามว่าวิฑุระ เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพนันพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิฑุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด”

พระราชาตรัสตอบว่า “วิฑุรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกราะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ท่านไม่ควรเปรียบวิฑุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา วิฑุรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือเป็นตัวเรา”

ท่านผู้อ่านทั้งหลายควรพิจารณาว่า ทรัพย์ของท่านทั้งหมดที่มีอยู่เทียบกับปัญญา ทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน สำหรับผู้ที่เห็นค่าของปัญญาแล้ว จะเห็นว่า ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหมด

ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า “การโต้เถียงกันของข้าพระองค์กับพระองค์ จะพึงเป็นกาลช้านาน ขอเชิญเสด็จไปถามวิฑุรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิฑุรบัณฑิตนั้นแล ชี้แจงเนื้อความนั้น วิฑุรบัณฑิตจะกล่าวคำใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง”


พระราชาตรัสว่า “ดูกร มานพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียวและไม่ผลุนผลัน เราไปถามวิฑุรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้งสองคนจงยินดีตามคำที่วิฑุรบัณฑิตพูดนั้น”

ปุณณกยักษ์เมื่อได้พบวิฑุรบัณฑิตแล้วก็ได้ถามว่า

“เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐ ชื่อ วิฑุระ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมะจริงหรือ การบัญญัติชื่อว่า วิฑุระ ในโลกนั้นท่านเป็นอะไร? คือเป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา?”

วิฑุรบัณฑิตตอบว่า “ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวกคือ ทาสครอก ๑ ทาสไถ่ ๑ ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเผ้า ๑ ทาสเชลย ๑ แม้ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ตามจะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่น ก็ยังเป็นทาสของสมมติเทพนั่นเอง,ดูกร มานพ พระราชาเมื่อจะทรงพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็นค่าพนันแก่ท่าน ก็ทรงพระราชทานโดยธรรมะ”

ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลพระราชาว่า “วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่สอง เพราะว่า วิฑุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาแจ่มแจ้ง พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมะหนอ ไม่ทรงยอมให้วิฑุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์”

พระราชาตรัสว่า “ดูกร กัจจานะ(คำนี้เป็นคำเรียกสรรพนามบุรุษที่ ๒ หมายถึงท่านผู้เจริญ)ถ้าวิฑุรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายดังนี้ว่า เราเป็นทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิฑุรบัณฑิตผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด”

ก่อนจะจากไป พระราชาได้ตรัสถามธรรมะกับวิฑุรบัณฑิตว่า “ท่านวิฑุรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนจะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไรมานพจึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร”

การดำเนินชีวิตปกติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะท่านผู้อ่านย่อมจะต้องจากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแต่ว่าจะไปยังโลกใด ปลอดภัยหรือไม่ ย่อมขึ้นกับการดำเนินชีวิตในปกติประจำวันนี่เอง

วิฑุรบัณฑิต ผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญา เห็นอรรถ ธรรมะอันสุขุม กำหนดรู้ธรรมะทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า

“ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรส้องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลกไม่ให้สวรรค์ นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้นไม่ทำให้ปัญญาเจริญ

ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยมกล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน

ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดธรรม พึงบำรุงสมณะพราหมณ์ด้วยข้าว น้ำ ทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรมะ จำทรงอรรถธรรมะที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหุสูตร โดยเคารพ

คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมานพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะมีชื่อว่าปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกได้ด้วยอาการอย่างนี้พระเจ้าข้า นี้คือว่า ฆราวาสปัญหา”

จากนั้นวิฑุรบัณฑิตได้กล่าวขอร้องให้ปุณณกยักษ์รอก่อนเป็นเวลา ๓ วันเพื่อที่วิฑุรบัณฑิตจะได้กล่าวสอนบุตร ภรรยา เพราะการไปครั้งนี้จะเป็นการไปสู่ความตาย ก็ควรที่จะได้สงเคราะห์บุตร ภรรยาโดยการกล่าวสั่งสอนธรรมะก่อน เมื่อพ้นกำหนด ๓ วันแล้ว วิฑุรบัณฑิตก็ได้เดินทางไปกับปุณณกยักษ์ ไปยังเมืองของท้าววรุฬนาคราช

วิฑุรบัณฑิตเป็นผู้ไม่มีจิตใจหวั่นไหวเพราะท่านเป็นผู้มีปัญญาและเป็นผู้เจริญกุศล เพราะฉะนั้นก็ไม่หวั่นกลัวต่ออกุศล ซึ่งเมื่อได้มาเฝ้าท้าววรุฬนาคราช วิฑุรบัณฑิตไม่แสดงการอภิวาทท้าววรุฬนาคราชเลย ทั้งที่เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ แต่วิฑุรบัณฑิตก็ไม่ไหว้! ซึ่งเป็นที่แปลกพระทัยของท้าววรุฬนาคราชอย่างมาก

ท้าววรุฬนาคราชตรัสถามว่า “ท่านวิฑุรบัณฑิตเป็นผู้ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว เป็นผู้ไม่กลัวและไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”

ความหมายของท้าววรุฬนาคราชก็คือ ผู้มีปัญญาควรจะทำอะไรก็ต้องถูกกาลเทศะและเหตุผล แต่เพราะเหตุใดวิฑุรบัณฑิตซึ่งเป็นผู้มีปัญญา กลับไม่อภิวาทพระราชา ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ไม่มีปัญญา

วิฑุรบัณฑิตกราบทูลว่า “นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะพึงกราบไหว้คนผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะให้คนที่ตนปรารถนาจะฆ่าไหว้ตน อย่างไรเล่า? กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย”

ที่วิฑุรบัณฑิตกล่าวเป็นเรื่องของการอ่อนน้อมต่อกุศลธรรม ไม่ใช่ต่ออกุศลกรรม เพราะฉะนั้นถ้าจิตใจของใครขณะนี้เป็นอกุศล แล้วก็ต้องการให้บุคคลอี่นกราบไหว้ แสดงความนอบน้อมในอกุศล ผู้เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่แสดงอาการนอบน้อมต่ออกุศลธรรม!

ด้วยเหตุนี้เมื่อวิฑุรบัณฑิตรู้ว่าพระราชามีความปรารถนาที่จะฆ่าตน เพราะฉะนั้นก็ไม่อภิวาทเพราะเหตุว่า จิตที่คิดจะฆ่าหรือจิตที่คิดจะประหารบุคคลอื่นนั้น เป็นอกุศลจิต ท้าววรุฬนาคราชก็เห็นด้วยกับถ้อยคำของบัณฑิตนั้น วิฑุรบัณฑิตก็ได้แสดงธรรมะกับท้าววรุฬนาคราชคือได้กราบทูลถามว่า วิมาน ความสุข ความสบายทั้งหมดที่ท้าววรุฬนาคราชได้นี้นั้น มาจากไหน ซึ่งท้าววรุฬนาคราชก็ได้ตรัสว่า

“เราและภรรยาเมื่อยังอยู่ในมนุษย์โลก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ในครั้งนั้นเรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลายและเราได้บำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญ เราทั้งสองได้ถวายทานคือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พักอาศัย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำ โดยเคารพ ทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้นเป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา

ดูกร ท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพและวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็น(กุศล)วิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นอันเราประพฤติดีแล้ว”

เพราะฉะนั้นผู้ที่ฉลาด เมื่อได้ย้อนระลึกถึงบุญของตนเองที่ได้กระทำไว้ในอดีต ที่เป็นเหตุให้ได้ผลที่น่ารื่นรมย์พอใจต่างๆ ก็ทำให้ระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะ “ฆ่า” ผู้ที่เป็นบัณฑิต เพราะฉะนั้นท้าววรุฬนาคราชพาวิฑุรบัณฑิตไปเฝ้าพระนางวิมาลา วิฑุรบัณฑิตก็ไม่อภิวาทพระนางวิมาลาเช่นกัน คำกล่าวกับพระนางวิมาลาก็เช่นกับที่กล่าวกะท้าววรุฬนาคราช และท่านก็แสดงธรรมแก่พระนางวิมาลาเช่นเดียวกัน

เมื่อพระนางวิมาลาได้เข้าใจธรรมะแล้ว ได้เห็นคุณและโทษของกุศลและอกุศลกรรมและได้ระลึกถึงบุญในอดีตที่ได้กระทำไว้ ที่ทำให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฏัพพะและวิมานที่น่ารื่นรมย์ พระนางวิมาลาก็ได้ตรัสว่า

“ปัญญานั่นเอง เป็นทหัยของบัณฑิตทั้งหลาย คือปัญญานั่นเองที่เป็นหัวใจของบัณฑิต เราทั้งสองนั้นยินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก”

แล้วท้าววรุฬนาคราชก็ส่งวิฑุรบัณฑิตกลับคืนไปแคว้นกุรุรัฐในวันนั้น.

No comments: