Monday, March 31, 2008

บทความที่๓๘๒.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติในลาว(๓)

ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส
โดยในอีกด้านหนึ่ง ม.ปาวี ได้ใช่เล่ห์เพทุบายให้เจ้าชีวิตลาวเห็นด้วยว่า สยามประเทศไม่อาจจะให้ความคุ้มครองและยังความเจริญก้าวหน้าให้กับราชอาณาจักรลาวได้ ซึ่งเจ้าชีวิตลาวเห็นด้วย และเมื่อฝรั่งเศสเสนอตัวเข้าเป็นประเทศผู้อารักขาแทนสยาม เจ้าชีวิตลาวก็เห็นดีเห็นงามโดยไม่ลังเล เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกให้ลาวรู้ว่า นอกจากราชอาณาจักรสยามไม่อาจยังความเจริญก้าวหน้าให้กับราชอาณาจักรลาวแล้ว ราชอาณาจักรสยามยังรังแกข่มเหงผู้รักชาติ รักปิตุภูมิของลาว อย่างกรณีเจ้าอนุวงศ์เป็นต้น

เจ้าชีวิตลาวโดยเจ้าอุปราชอุ่นคำลงนามมอบประเทศลาวให้อยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส ผลงานสำคัญสำคัญในการปกครองดินแดนอาณานิคมลาวช่วยให้ ม.ปาวีได้รับการยกย่องจากฝรั่งเศสว่าเป็น “ผู้พิชิตใจ” (Congueror of the hearts)

ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ ๘๐ ปีที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองดินแดนอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้ามาครอบครองดินแดนลาว กล่าวได้ว่า แนวทางหลักที่นำมาใช้ในการปกครองเป็นกลวิธีที่ออกุส ปาวี ได้ค้นคิดและนำมาใช้ปฏิบัติแทบทั้งสิ้น

ตัวอย่างผลงานของ ออกุส ปาวี ช่วงทำหน้าที่เป็นกงสุลอยู่ในหลวงพระบาง ศูนย์กลางอำนาจของลาว ก็คือการแก้ปัญหาเขตพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการลงนามในสนธิสัญญาเขตแดนระหว่าง ลาว-จีน ลาว-พม่า และ ลาว-สยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนธิสัญญาเขตแดน ลาว-สยาม ที่รัฐบาลฝรั่งเศสใช้อำนาจทางการทหารคือ “นโยบายการทูตเรือปืน” บังคับกดดันให้รัฐบาลสยามยินยอมลงนามให้ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖

การกำหนดเนื้อหาของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว ฝรั่งเศสดำเนินการตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจว่า ฝ่ายไทยรวมทั้งประชาชนลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะมีความคิดเห็นเป็นประการใด

สนธิสัญญาลาว-สยามและอนุสัญญาฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นคู่กัน ๒ ฉบับ ผู้มีอำนาจเต็มแต่ละฝ่ายที่ได้ลงนามและประทับตราไว้ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ คือ เลมีเด วินลีเอ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

การกดดันให้ลงนามในสนธิสัญญาของฝรั่งเศสดังกล่าว สร้างความเคียดแค้นให้แก่ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสาระสำคัญในสนธิสัญญาดังกล่าว กำหนดให้ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดน ทำให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดตกอยู่ใต้อาณัติของอาณานิคมฝรั่งเศส แบ่งแยกญาติมิตรพี่น้องออกจากกัน อีกทั้งยังสร้างความเป็นศัตรูให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่คนละฝั่งฝากแม่น้ำโขง

ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจเข้าไปถือครองเหนือดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าหัวพันทั้งหก มาแล้ว (ขณะนั้นสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าหัวพันทั้งหก ขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรสยาม)ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๙ อังกฤษและฝรั่งเศสที่แข่งขันกันครอบครองดินแดนมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ลงนามแบ่งเขตพื้นที่อิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้ ในลักษณะไม่ต่างอะไรกับการแบ่งเค้ก โดยกำหนดให้ไทยเป็นรัฐกันชน

หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็ได้แผ่ขยายอำนาจเข้าครอบคลุมในดินแดนลาวอย่างเป็นระบบ โดยมีประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสประจำลาวในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๒

แนวทางการปกครองอาณานิคมอินโดจีน ฝรั่งเศสได้ใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครองโดยออกประกาศในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ให้ผนวกลาวเป็นแคว้นที่ ๕ ของสหพันธ์ฝรั่งเศส นอกเหนือจากแคว้นตังเกี๋ย (เวียดนามภาคเหนือ)แคว้นอันนัม (เวียดนามภาคกลาง)แคว้นโคชินไชน่า(เวียดนามภาคใต้)และแคว้นกัมพูชา โดยให้อยู่ภายใต้ระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบเงินตราของสหพันธ์ฝรั่งเศส

การเข้าครอบครองดินแดนลาวใช่ว่าจะราบรื่นเสียทีเดียว หลังยึดครองได้เพียง ๘ ปี ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการลุกฮือขึ้นต่อต้าน ทั้งจากคนลาวและคนกลุ่มน้อย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๔ คนลาวทั้งจากฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงได้รวมตัวกันในรูปของ “ขบวนผู้มีบุญ” จับอาวุธต่อต้านอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส โดยเริ่มที่เมืองสองคอนและเมืองเขมลาด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ฝรั่งเศสก็ได้เข้าครอบครองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ

No comments: