Friday, March 21, 2008

บทความที่๓๗๒.ภารกิจเสรีไทย (๒)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์(ชัยสงค์)
ตอนที่ ๒ : กลับสู่กองสันติบาล อารักขาบุคคลสำคัญ
นายทหารชั้นสัญญาบัตรนายหนึ่งในสังกัดมณฑลทหารบกที่ ๓ ภายใต้การปกครองของพลโท ผิน ชุณหะวัน ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ ๓ นครราชสีมา ได้มาเกณฑ์ทหารที่อำเภอนี้ เมื่อเมาเข้าก็สั่งการแก่กำนันให้นำนางงามประจำอำเภอจัตุรัสซึ่งประกวดชนะเลิศในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เพิ่งแล้วไปหยกๆนี้ให้เขาได้ชมโฉม ท่านกำนันของข้าพเจ้าก็ลนลานเพราะมีความเกรงกลัวเป็นต้นทุน ได้พาขวัญใจของอำเภอจัตุรัสพร้อมด้วยน้องสาวและบิดามารดาของเธอมากราบไหว้ด้วยความเคารพอย่างสูง เพราะเป็น “เจ้านาย” มาจากเมืองโคราชอันเป็นเมืองชั้นเอกในสมัยโบราณ เมื่อนักรบของเราได้ยลโฉมยอดพธูแห่งอำเภอนี้แล้วจะถึงกับเคลิบเคลิ้มในความงามไปหรือว่าแก่ฤทธิ์แอลกอฮอล์ก็เหลือเดา เขาได้ลุกขึ้นทำการต้อนรับด้วยการทำอนาจารต่อหน้าธารกำนันเอาดื้อๆ ข้าพเจ้าได้ตักเตือนนายทหารผู้นั้นผ่านคนกลางไปแล้วว่าควรจะให้ค่าเสีย “ผี” ตามธรรมเนียมเขาเสียสัก ๑๒ บาท เรื่องก็อาจจะจบได้ไม่ถึงพนักงานสอบสวน แต่เขากลับเห็นว่าเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” หากว่าเขากระทำตามคำแนะนำของข้าพเจ้าแล้วก็เป็นเรื่องเสื่อมเสีย “เกียรติศักดิ์” ของนายทหารแห่งกองทัพบก เขาอาจจะมีความคิดดูถูกชาวอีสานว่าเป็นราษฎรที่โง่เง่า เพราะใครๆก็อาจหาเมียเบ็ดเตล็ดอย่างใดก็ได้ เพียงแต่เสียค่าแต่งงานรายละ ๔ บาท เมื่อเอามาเป็นเมียสัก ๒-๓ คืนจนคุ้ม หรือจนได้กำไรหรือว่าเบื่อแล้วก็บอกเลิกได้ ถัดจากนั้นก็ไปทำแก่หญิงรายอื่นอีกต่อไปรายแล้วก็รายเล่าโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ใยเล่าที่เขาจะมาเอาใจใส่ในการที่จะต้องเสียเงินตั้ง ๑๒ บาท นี่คือการดูถูกชาวอีสาน ข้าพเจ้าไม่พอใจวิธีการทำนองนี้ของชาวภาคกลางมานานแล้ว เพราะมันเป็นการทำลายศีลธรรมอันดีของสังคม

บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังเผชิญกับปัญหาอันนี้เข้าอีก ซึ่งก่อให้เกิดขึ้นด้วยฝีมือของนายทหารสัญญาบัตรแห่งกองทัพบก ซึ่งทรนงในตัวเองว่าตนเป็นผู้มีอำนาจและอยู่เหนือราษฎร มีทัศนะว่าจะเอาหญิงเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความสำราญ เป็นเครื่องส้องเสพย์แสวงหาความสุขตามอารมณ์ ชอบดูหมิ่นชาวอีสานว่าต่ำต้อยและพร้อมที่ย่ำยีได้ทุกขณะ

ข้าพเจ้าลุกขึ้นทำการป้องกันเกียรติแห่งราษฎรของนางงามประจำอำเภอจัตุรัส เมื่อได้เห็นน้ำตาของบุรพการีของเธอหลั่งนองหน้า มันมิได้มีความหมายแต่เพียงว่าเป็นการป้องกันเกียรติของฝ่ายเจ้าทุกข์เท่านั้น แต่วิญญาณอันแท้จริงของมันเป็นการป้องกันเกียรติแห่งราษฎรอีสานทั้งมวล

เมื่อข้าพเจ้าจรดปากกาลงกับแผ่นกระดาษทำการสอบสวนเป็นรูปคดีขึ้น ข้าพเจ้าก็ต้องปะทะเข้ากับข้าหลวงประจำจังหวัด ข้าพเจ้าได้ต่อสู้แล้ว “เพื่ออุดมการณ์แห่งความเป็นธรรม” เมื่อสำนวนนี้ได้สอบสวนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ส่งตรงไปยังอัยการศาลทหารประจำมณฑลทหารบกที่ ๓ แต่แล้วก็เงียบหาย ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับแจ้งผลจากพนักงานอัยการเลยว่าผลที่สุดแห่งคดีเป็นอย่างใดเพียงแต่ได้รับข่าวแว่วๆเป็นส่วนตัวว่าได้จัดการลงโทษทางวินัยแล้ว นี่แหละช่างตรงกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “วโส อิสุสริยํ โลเก” ซึ่งแปลว่า “อำนาจเป็นใหญ่ในโลก”

นายพลตำรวจเอก อดุล อดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้นได้ให้ความเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างดี จากสาเหตุที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ข้าพเจ้าถูกสั่งย้ายกลับกรุงเทพฯ ให้ประจำอยู่ ณ กองตำรวจสันติบาลกอง ๔ แผนก ๒ ซึ่งเป็นแผนกที่มีความรับผิดชอบในการอารักขาให้ความปลอดภัยแก่คณะรัฐบาล ตลอดจนบุคคลสำคัญแห่งชาติและสถานที่สำคัญทางการเมือง ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อข้าพเจ้าได้เดินทางมาถึงกองตำรวจสันติบาลแล้ว ก็เข้ารายงานตนต่อ พ.ต.ท.หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท ผู้บังคับการสันติบาลในวันแรกที่มาถึงทีเดียว และข้าพเจ้าก็พบกับโอวาทอันแปลกประหลาดว่า

“ขอให้คุณจงทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะตำรวจกองสันติบาลนี้เป็นตำรวจกองการเมือง คุณจะต้องระมัดระวังในเรื่องกาละและเทศะให้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งตำรวจเรานั้นเป็นได้ทั้งทหารและพลเรือน ข้างบนสวมเครื่องแบบ ข้างล่างนุ่งผ้าม่วง เราทำงานก็ต้องรู้จักยืดรู้จักหด..”

ข้าพเจ้ายิ้มในโอวาทของท่านผู้บังคับการที่หวังดีต่อข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ใส่ใจต่อโอวาทนั้น เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าคร่ำครึและล้าสมัยไปเสียแล้ว จึงปล่อยให้โอวาทของท่านค่อยๆ หลุดออกมาจากฝีปากท่านซึ่งอมหมากและเคี้ยวเอื้องอยู่แจ๊บๆ เป็นเวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง ความจริงท่านตั้งใจสั่งสอนให้โอวาทอย่างจริงจัง แต่ข้าพเจ้าไม่สนใจเสีย เพราะพอเห็นผู้บังคับการของข้าพเจ้ากินหมากเข้าเท่านั้นก็ชักไม่เกิดศรัทธาเสียแล้ว โดยเข้าใจว่าท่านเป็นคนโบราณไม่ทันสมัย

พ.ต.ท.เนื่อง อาชุบุตร เป็นผู้กำกับการของข้าพเจ้า ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่สนิทสนมกับท่านนายกรัฐมนตรีมาก จนได้รับเข็ม “ไก่” ทองคำลงยา เพราะเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลอย่างยิ่งในหน้าที่ “รักษาความปลอดภัย” แต่ก็มีคนมาตั้งฉายากอง ๔ แผนก ๒ นี้ว่าเป็นกอง “ไทยยาม” เพราะมีแต่เรื่อง “เข้ายาม” อย่างเดียว ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นจริงด้วยว่าการเข้ามาประจำอยู่แผนกนี้ไม่มีความหมายในเรื่องที่จะได้รับความรู้เพิ่มเติมเพราะไม่มีหน้าที่ทำการสอบสวนคดีเอาเสียเลย ข้าพเจ้าก็ “ยืนยาม” ทำหน้าที่เป็น “ผู้บังคับกองรักษาการณ์” ณ ทำเนียบสามัคคีชัย, วังสวนกุหลาบ,ค่ายชนชาติศัตรู,สถานทูตอังกฤษ,สถานทูตอเมริกันและสถานทูตฮอลันดา สับเปลี่ยนกันไป นี่คืองานประจำของข้าพเจ้า เพราะในยามนั้นเป็นยามที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามกับประเทศบริเตนใหญ่และอเมริกา จึงได้เข้าพิทักษ์บรรดาสถานทูตต่างๆที่เป็นปรปักษ์ด้วย และได้มีการจับกุม “ชนชาติศัตรู” ที่ประเทศของเราได้ประกาศสงครามด้วย ไปรวมกันไว้ที่ “ค่ายชนชาติศัตรู” ณ ท่าพระจันทร์

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็น “นายตำรวจอารักขา” ซึ่งเคยรักษาความปลอดภัยแก่รัฐบุรุษหลายท่านมาแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องกล่าวถึงนิสัยส่วนตัวของรัฐบุรุษที่สำคัญบางท่านใน “บางแง่” ที่ควรแก่กาละที่จะกล่าวได้ โดยเฉพาะท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น เป็นผู้ที่มีมารยาทส่วนตัวอ่อนโยน แต่หัวใจนั้นแข็งกร้าวเป็นพิเศษ ข้าพเจ้ายังจำได้อยู่จนกระทั่งบัดนี้ว่า ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าติดตามจอมพล ป.พิบูลสงครามไปทอดกฐินที่วัดพระศรีมหาธาตุ ข้าพเจ้านั่งรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ติดตามดมฝุ่นรถของนายกรัฐมนตรีไปตลอดทาง ท่านได้ชะโงกกระจกรถยนต์ด้านหลังหันมายิ้มกับข้าพเจ้าอย่างเห็นใจ ที่ข้าพเจ้าได้สูดขี้ฝุ่นรถของท่านเข้าไปอย่างเต็มเปา เมื่อถึงวัดพระศรีมหาธาตุแล้ว ก็ได้แจกหนังสือที่ท่านได้ประพันธ์ไว้เป็นของชำร่วย เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปรับหนังสือเล่มนั้นก็ได้รับการทักทายอย่างชื่นใจว่า “อารักขานี่แย่หน่อยนะ” ข้าพเจ้าพอใจแล้วที่ผู้ใหญ่มีความเห็นอกเห็นใจ รู้ถึงความทุกข์ยากของผู้น้อย เมื่อกลับถึงทำเนียบสามัคคีชัยแล้ว ข้าพเจ้าก็รีบลงจากจักรยานยนต์พ่วงข้าง ยืนขึ้นทำความเคารพ จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับยกมือขึ้นทำวันทยาหัตถ์ให้แก่ข้าพเจ้าก่อนเสียซ้ำ แล้วก็หันไปทำวันทยาหัตถ์ตอบนายตำรวจอีกสองคน แต่ละคนได้รับการส่งยิ้มเป็นอย่างดี ก่อนที่ท่านจะเดินขึ้นตึกไป ก็ยังอุตส่าห์หันมาสั่งการแก่พวกเสนาที่อยู่ใกล้ๆนั้นว่า ให้จัดหาอาหารให้บรรดานายตำรวจและตำรวจขับรถกินเสียก่อนที่จะกลับไป

นี่คืออาการที่แสดงออกถึงการรู้จักเอาใจชั้นผู้น้อยโดยเฉพาะเป็นผู้ที่ไม่เคยหวงลายเซ็นในการแต่งตั้งพวกพ้องในเรื่องตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์ แม้จนกระทั่งเรื่องเหรียญตราหรือสายสะพาย ผิดกับท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไม่ค่อยยอมเซ็นแต่งตั้งใครง่ายๆ ซึ่งทำให้ผู้อยู่ใกล้ชิดมักจะเข้าทำนองที่ว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” แม้พระยาพหลพลพยุหเสนาก็เหมือนกัน จะไม่ยอมสนับสนุนใครง่ายๆ

เช่นครั้งหนึ่งขณะที่ ร.ต.ต.หอม นายตำรวจอารักขากำลังทำหน้าที่ “นวด” เจ้าคุณพหลฯ อยู่ชั้นบนในตึกวังปารุสนั้น น้องภรรยาของท่านคนหนึ่งเห็นว่าท่านกำลังอารมณ์ดีจึงค่อยๆคลานเข้าไป เพื่อขอให้ท่านสนับสนุนให้ตนเองได้เลื่อนขั้นเป็น “ชั้นตรี” เท่านั้นเองก็เกิดฟ้าผ่าโครมลงมา โดยท่านเชษฐบุรุษลุกขึ้นคว้ากระโถนปากแครเหวี่ยงโครมเข้าให้ ทำให้น้ำหมาก น้ำลายในกระโถนนั้นกระจายออกมาราวกับเป็นลูกระเบิดปรมาณู น้องภรรยาของท่านต้องรีบหนีลงบันไดแทบไม่ทัน เนื้อตัวของท่านก็สั่นเทิ้มด้วยอาการอันโกรธจัด ปากก็กล่าวว่า

“กูทำการปฏิวัติก็เพราะกูเกลียดพวกเจ้าที่มันเอาแต่พวกพ้อง บัดนี้มึงจะมาทำเหมือนพวกเจ้าอีกแล้ว มึงจะทำให้กูต้องเสียหาย ถ้ามึงทำงานดีทำไมนายมึงถึงจะไม่เลื่อนให้..”

พร้อมกันท่านก็หลุดคำผรุสวาทออกมาทั้งๆที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียบร้อยและอ่อนโยนมาแต่ก่อน นี่แหละเป็นบุคคลิกลักษณะของรัฐบุรุษเมืองไทยที่มีลักษณะบางแง่แตกต่างกัน ซึ่งข้าพเจ้ามีหน้าที่ให้ความอารักขารัฐบุรุษต่างๆ ซึ่งโดยมากเป็น “ผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนา” ทั้งสิ้นและก็เป็นเวรหมุนเวียนเปลี่ยนไป.

No comments: