Thursday, March 20, 2008

บทความที่๓๖๙.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์ (จบ)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์


โดยปกตินอกจากฤดูหนาวแล้ว ข้าพเจ้ากับคุณเฉียบฯ ได้ไปเยือนชาวนาชาวไร่ในบริเวณใกล้กำแพงเมืองปักกิ่งเสมอ เพื่อไปศึกษาวิธีทำนาทำไร่ของคนจีน ซึ่งทำให้เกิดความรู้ทางปฏิบัติหลายอย่าง และทำตนเป็นมิตรกับชาวนาชาวไร่ พึ่งพวกเขาก็ได้ให้การต้อนรับแก่เราเป็นอย่างดี นอกจากมีล่ามติดตามไปด้วยเพื่อช่วยแปลแล้ว หลายครั้งข้าพเจ้ากับคุณเฉียบฯ ก็ไปกับผู้อารักขาโดยไม่มีล่าม ในการนั้นก็ได้อาศัยคุณเฉียบเป็นล่าม เพราะแม้ว่าคุณเฉียบฯไม่รู้หนังสือจีนแต่ก็เป็นผู้ที่พูดภาษาจีนกลางพอเข้าใจกับกรรมกรและชาวนาได้ คือ คุณเฉียบฯใช้วิธีทำพจนานุกรมโดยสอบถามทหารและผู้อารักขาว่าวัตถุนั้นและอาการกิริยาเช่นนั้น คนจีนออกสำเนียงว่ากระไรก็จดจำสำเนียงของคำนั้นไว้ด้วยอักขรวิธีไทย

ใน พ.ศ.๒๔๙๙ ใกล้กับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ คุณเฉียบฯกับชมฯปรารถนากลับสู่ประเทศไทยเพื่อเตรียมตัวอุปสมบทในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษนั้น จึงได้ส่งจดหมายลงทะเบียนตรงไปยังนายกรัฐมนตรีจีนขออนุญาตเดินทางกลับประเทศไทยอย่างเปิดเผย ทางจีนก็ได้ช่วยเหลือคุณเฉียบฯกับชมฯ เดินทางจากปักกิ่งไปถึงฮ่องกงแล้วขึ้นเครื่องบินจากฮ่องกงไปลงสนามบินดอนเมือง ณ ที่นั้นฝ่ายตำรวจไทยได้มาคอยต้อนรับอยู่แล้ว นำตัวคุณเฉียบฯ กับชมฯ ไปขังไว้ที่กองตำรวจสันติบาล โดยแจ้งข้อหามากมายหลายกระทงรวมทั้งข้อหาขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร

ตำรวจได้ทำการสอบสวนและขออนุญาตฝากขังต่อไปหลายครั้ง แล้วได้ส่งสำนวนไปยังกรมอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล กรมอัยการได้พิจารณาแล้วว่าเห็นว่าหลักฐานที่ตำรวจส่งมานั้นไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟ้องร้องคุณเฉียบฯกับชมฯ เป็นจำเลยต่อศาลได้ จึงได้ส่งสำนวนมาให้กรมตำรวจสอบสวนต่อไปอีก แต่กรมตำรวจก็ไม่สามารถสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติม จึงไม่คัดค้านความเห็นของอัยการ คุณเฉียบฯกับคุณชมฯ จึงได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระพ้นจากข้อหาทุกสำนวน

ครั้นแล้วคุณเฉียบฯ กับชมฯ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดสุทัศน์ เมื่อออกพรรษาแล้วลาสิกขาบทเป็นฆราวาสต่อไป คุณเฉียบฯจึงได้เตรียมก่อตั้งพรรคศรีอาริยเมตไตรยขึ้น

มีผู้เขียนกระแหนะกระแหนคุณเฉียบฯ แม้ไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าก็ได้เห็นบางบทความที่มีผู้กระแหนะกระแหนคุณเฉียบฯที่เปลี่ยนนามสกุลจาก ‘ชัยสงค์’ มาเป็น ‘อัมพุนันทน์’ และการที่คุณเฉียบฯ ได้ขอพระราชทานเวนคืนยศนายร้อยตำรวจเอก โดยผู้กระแหนะกระแหนเขม่นคุณเฉียบฯ ที่ทำการล้ำหน้าหลายเรื่อง

เหตุที่คุณเฉียบฯขอเปลี่ยนการใช้นามสกุล เพราะคุณเฉียบฯเห็นว่า ในการที่ตนยอมเสียสละทำภารกิจทางการเมืองเพื่อรับใช้ชาติและราษฎร อาจกระทบถึงผู้ใช้นามสกุล ‘ชัยสงค์’ อันเป็นนามสกุลของบิดามารดาบุญธรรมของคุณเฉียบ ฉะนั้นจึงเปลี่ยนจากนามสกุลนั้นมาใช้นามสกุล ‘อัมพุนันทน์’ อันเป็นนามสกุลโดยกำเนิดของคุณเฉียบ ส่วนการที่ขอพระราชทานเวนคืนยศนายร้อยตำรวจเอกนั้น ก็มีมูลสืบมาจากคุณเฉียบ ทราบว่าในการประชุมกรรมกรสากลที่ปักกิ่ง ใน ค.ศ.๑๙๔๙ นั้น องค์การกรรมกรหนึ่งแห่งประเทศไทยได้ส่งนายร้อยตำรวจตรี วาศ สุนทรจามร ไปเป็นผู้แทนกรรมกรไทย เมื่อสำนักเลขาธิการกรรมกรสากลทราบว่านายร้อยตำรวจมาเป็นผู้แทนกรรมกรไทย ก็เกิดฉงนขึ้นมาว่า นายตำรวจกับกรรมกรนั้นไปด้วยกันไม่ได้ แต่ภายหลังเขาทราบว่านายร้อยตำรวจตรีวาศฯ นั้น ได้ลาออกจากตำรวจนานแล้วและได้ยืนหยัดในกรรมกรจริง เขาจึงไม่ขัดข้องให้คุณวาศฯ เป็นตัวแทนกรรมกรไทยในที่ประชุม

คุณเฉียบฯจึงเห็นว่า เมื่อตนยืนหยัดในชนชั้นวรรณะกรรมกรแล้วก็ไม่เสียดายยศนายตำรวจ และไม่ต้องการให้รัฐบาลบรรจุตนเข้าประจำการเป็นตำรวจตามสิทธิที่ควรมี ฉะนั้นจึงพระราชทานเวนคืนยศนายร้อยตำรวจเอกซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตามความประสงค์ของคุณเฉียบ

คุณเฉียบได้ดำเนินจัดตั้งพรรคสหภาพแรงงานหลายอาชีพ ภายใต้การนำของพรรคศรีอารยเมตไตรย ตนเองกับคณะได้แต่งกายอย่างกรรมกร คือ ใช้กางเกงผ้าและเสื้อเชิรต์สีน้ำเงินแก่ กรรมกรหลายคนก็นิยมชมชอบ แต่บุคคลในชนชั้นวรรณะอื่นก็ไม่ชอบ บางคนก็เขม่นว่าคุณเฉียบทำล้ำหน้าเกินไป

คุณเฉียบดำเนินงานเพื่อกรรมกรอยู่ได้จนถึง พ.ศ.๒๕๐๑ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ฯ ทำรัฐประหารที่เรียกเองว่า ‘ปฏิวัติ’ แล้วจับคุณเฉียบฯ ไปคุมขังไว้ที่เรือนจำลาดยาว ชนิด ‘ขังทิ้ง’ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

มรณกรรมของคุณเฉียบฯทำให้ครอบครัวญาติมิตร รวมทั้งข้าพเจ้ากับภรรยามีความเสียใจและอาลัยเป็นอันมาก คุณเฉียบฯเป็นมิตรคนหนึ่งที่ซื่อสัตย์ของข้าพเจ้ากับภรรยาตลอดมา ยิ่งในคราวที่เราตกทุกข์ได้ยาก คุณเฉียบฯก็มิได้ท้อถอยในอุดมคติและความรักกับความนับถือที่มีต่อเราทั้งสอง

โอกาสนี้ ข้าพเจ้าและภรรยาขอตั้งจิตอธิษฐานให้ผลานิสงส์แห่งกุศลกรรมซึ่งคุณเฉียบ อัมพุนันทน์ ได้อุทิศตนรับใช้ชาติและราษฎรทั้งปวง โปรดบันดาลให้เกียรติประวัติของคุณเฉียบฯ ดำรงคงอยู่ชั่วกาลนาน และขอให้คุณเฉียบฯสู่สัมปรายภพด้วยสุคติทุกประการเทอญ

ชานกรุงปารีส
๑๐ พ.ค. ๒๕๑๗

No comments: