Wednesday, March 19, 2008

บทความที่๓๖๓.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๑)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์

ด้วย คุณมหิทธิพล(เสือ) อัมพุนันทน์ อดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน ได้แจ้งมายังข้าพเจ้าว่า จะได้ร่วมกับพี่น้องจัดการปลงศพบิดามารดา คือ นายเฉียบ อัมพุนันทน์ อดีตหัวหน้าพรรคศรีอารยเมตไตรย และนางสุคนธ์ อัมพุนันทน์

คุณมหิทธิพล ขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำรำลึก ถึง คุณเฉียบ อัมพุนันทน์ ซึ่งคุณมหิทธิพลจะได้นำไปลงพิมพ์ไว้ในหนังสือที่จะได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คุณเฉียบฯ คือหนังสือ มนุษย์สังคมปรัชญาเบื้องต้น(ตอนที่๑) และบางเรื่องในนิตยสาร ‘สังคมสามัคคี’ จัดเสนอผู้อ่านเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๑ โดยนายเฉียบ อัมพุนันทน์ อดีตหัวหน้าพรรคศรีอารยเมตไตรย คุณเฉียบเป็นผู้อำนวยการนิตยสาร ‘สังคมสามัคคี’ ซึ่งได้ตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ แล้วต่อมาอีกไม่กี่สัปดาห์ รัฐบาลสฤษดิ์ฯ จับตัวคุณเฉียบฯ ไปคุมขังไว้ที่เรือนจำลาดยาวชนิด ‘ขังทิ้ง’ เป็นเวลากว่า ๕ ปี โดยไม่นำตัวขึ้นฟ้องต่อศาลยุติธรรม จนกระทั่งคุณเฉียบฯ ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลตำรวจระหว่างเป็นผู้ต้องหา

คุณมหิทธิพลเห็นว่าแม้บทความบางเรื่องในนิตยสารนั้นได้พิมพ์เป็นครั้งแรกเป็นเวลากว่า ๑๖ ปีมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังทันสมัยและมีข้อเท็จจริงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นจึงสมควรจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คุณเฉียบฯ โดยขออนุญาตลิขสิทธิ์หนังสือของข้าพเจ้าเรื่อง ‘มนุษย์สังคมปรัชญาเบื้องต้น (ตอนที่๑)’ ไปลงพิมพ์ไว้ด้วยพร้อมกับบทความอื่นๆ ซึ่งคุณเฉียบเป็นผู้เขียนและนำเสนอ

ข้าพเจ้ารู้จักคุณเฉียบฯ เป็นครั้งแรกโดยการแนะนำของ ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ ขณะนั้นคุณเฉียบมียศเป็นนายร้อยตำรวจเอก เหตุที่ ร.ต.อ.เชื้อฯนำคุณเฉียบมาพบข้าพเจ้านั้น ก็เนื่องจาก ร.ต.อ.เชื้อเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ขบวนการนั้นหลายประการ ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับ ร.ต.อ.เชื้อว่า จะมีนายตำรวจคนใดที่ไว้ใจได้ เพื่อข้าพเจ้าจะได้ขอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ อดุลย์เดชจรัส อธิบดีตำรวจสั่งย้ายไปเป็นผู้บังคับการกองตำรวจ จ.ชุมพร เพื่อจัดตั้งราษฎรเป็นกองกำลังเสรีไทยในการต่อต้านบั่นทอนกำลังทหารญี่ปุ่นซึ่งยึดพื้นที่บริเวณจังหวัดนั้น อีกทั้งเพื่อร่วมกับหน่วยเสรีไทยซึ่งบางครั้งมีความจำเป็นต้องให้เครื่องบินทะเลของสัมพันธมิตรลงมาในอ่าวสยาม บริเวณชายฝั่ง จ.ชุมพร เพื่อขนส่งอาวุธให้เสรีไทยภายในประเทศและรับเพื่อรับส่งสมาชิกขบวนการเสรีไทย

ร.ต.อ.เชื้อ รับไปพิจารณาแล้วแจ้งว่า ร.ต.อ.เฉียบ ขณะนั้นใช้นามสกุล ‘ชัยสงค์’ เป็นเพื่อนสนิทเพราะเคยศึกษาวิชานายร้อยตำรวจจากกรมยุทธศึกษาทหารบกมาด้วยกันกับ ร.ต.อ.เชื้อฯ และได้ทาบทามแล้ว ร.ต.อ.เฉียบมีความยินดีและเต็มใจพร้อมสละชีพเพื่อชาติ ในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งขบวนการเสรีไทยมอบหมายให้ด้วยความระมัดระวังและรักษาเป็นความลับจนกว่าจะได้รับคำสั่งให้ลุกขึ้นต่อสู้กองทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้ ร.ต.อ.เชื้อ นำ ร.ต.อ.เฉียบ มาพบข้าพเจ้าเพื่อสอบถามความสมัครใจอีกครั้งหนึ่ง แล้วข้าพเจ้าได้ขอให้พล.ต.อ.อดุลย์ฯ สั่งย้าย ร.ต.อ.เฉียบฯจากกองตำรวจสันติบาลไปเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพร การทำงานที่รับมอบหมายมี ๒ ส่วนคือ

(๑) ส่วนจัดตั้งกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่น ในการนื้ให้ถือกองตำรวจเป็นกำลังหลัก ให้ร่วมมือกับฝ่ายปกครองท้องที่ปลุกราษฎรให้เกิดจิตสำนึกที่จะต้องสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน ให้ร่วมมือกับพัศดีเรือนจำคัดเลือกนักโทษที่มีความประพฤติที่จะแก้ไขความผิดเดิมของตนให้เป็นพลเมืองดีต่อไปนั้น รับการฝึกฝนวิชาพลทหารเกียกกาย เพื่อว่าเมื่อถึงคราวต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยแล้ว กองตำรวจประจำการและตำรวจกองหนุนที่จะระดมเข้าประจำการจะได้ทำการรบแนวหน้า ส่วนนักโทษที่ประพฤติดีและได้รับการฝึกฝน เป็นพลทหารเกียกกายแล้ว จะได้รับการอภัยโทษเข้าทำหน้าที่เป็นพลาธิการให้แก่กองตำรวจ ส่วนราษฎรสามัญที่สมัครเข้าขบวนเสรีไทยก็จะได้แยกออกเป็นหน่วยต่างๆ ทำการรบแบบพลพรรค

(๒)ส่วนต้อนรับเครื่องบินทะเลและรับส่งอาวุธและสมาชิกเสรีไทยนั้น ให้เตรียมเรือยนต์และเตรียมบ้านพักบนบกไว้

ร.ต.อ.เฉียบฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายครบถ้วนเป็นอย่างดีทุกประการ หน่วยเสรีไทยชุมพรนี้เป็นหน่วยหนึ่งซึ่งกองบัญชาการสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ได้กำหนดจะให้ทำการวินาศกรรมสะพานและทางคมนาคม เพื่อป้องกันมิให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายลงไปทางใต้ได้สะดวก ในกรณีสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งปักษ์ใต้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จำนนต่อสัมพันธมิตรก่อนที่สัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นชายฝั่ง

แต่กองทัพญี่ปุ่นบริเวณชุมพรและคอคอดกระยังไม่ยอมวางอาวุธ กองบัญชาการสัมพันธมิตรจึงส่งพันตรีแอนดรูกิลคริสต์กับคณะมาทางเครื่องบินทะเลลงที่บริเวณชายฝั่งชุมพร โดยการต้อนรับของหน่วยเสรีไทย ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉียบฯเป็นหัวหน้า เพื่อสัมพันธมิตรจัดการป้องกันความปลอดภัยของเชลยที่ญี่ปุ่นจับมาทำงาน

ต่อมา พันตรีแอนดรูกิลคริสต์ปลดจากประจำการ แล้วกลับเข้ามาทำงานทางการทูตอังกฤษต่อไปตามเดิม แล้วได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ จนได้บรรดาศักดิ์เป็นท่านเซอร์ คือ Sir Andrew Gilchrist ผู้แต่งหนังสือ Bangkok Top Secret (ความลับสุดยอดของบางกอก)

No comments: