Monday, March 10, 2008

บทความที่๓๕๑.บันทึกของเนห์รู-สงครามเพื่อประชาธิปไตย

บันทึกของเนห์รู
(เรียบเรียงจาก The Discovery of India ของยวาหระลาล เนห์รู , กรุณา กุศลาสัย แปล)
ที่คุมขังป้อมอะหะหมัดนคร ค.ศ. ๑๙๔๔

สงครามเพื่อประชาธิปไตย

ในอินเดีย ยุโรป แอฟริกา และในท้องมหาสมุทรแปซิฟิกตลอดจนมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ไพศาล สงครามได้ดำเนินไปในรูปลักษณะที่น่าสะพรึงกลัว เป็นเวลาเกือบเจ็ดปีที่สงครามได้ดำเนินอยู่ในประเทศจีน ในยุโรป และแอฟริกา สงครามก็ได้อุบัติขึ้นแล้วนานถึงกว่าสี่ปีครึ่ง และสงครามโลกก็ได้ดำเนินมาแล้วเป็นเวลาสองปีกับสี่เดือน อันเป็นสงครามต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์และนาซิสม์และความพยายามที่จะครองโลก ในระยะเวลาหลายปีแห่งสงครามนี้ เท่าที่ผ่านมาแล้ว ข้าพเจ้าต้องมาใช้เวลาเกือบสามปีในเรือนจำ ณ ป้อม อะหะหมัดนครนี้ และ ณ สถานที่อื่นในอินเดียอีกด้วย

ข้าพเจ้ายังระลึกได้ว่า ข้าพเจ้าเกิดวามรู้สึกมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อลัทธิฟาสซิสม์และนาซิสม์ ในระยะเริ่มแรกของการก่อตัวของลัทธิทั้งสองนี้ และไม่เฉพาะแต่ข้าพเจ้าเท่านั้น หากยังมีผู้อื่นอีกมากมายในประเทศอินเดียที่เกิดความรู้สึกมีปฏิกิริยาเช่นนี้ ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าการรุกรานของญี่ปุ่นในประเทศจีน ได้สร้างความรู้สึกอย่างไรให้เกิดแก่อินเดีย และได้ฟื้นฟูมิตรภาพระหว่างสองประเทศนี้อันมีมาแต่โบราณกาล ให้กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกได้อย่างไร

ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า การที่อิตาลีเข้าข่มเหงรังแกอบิสซิเนียนั้น ได้สร้างความเศร้าสลดให้แก่เราเพียงใด การหักหลังเชโกสโลวาเกียได้ก่อความเจ็บช้ำและขมขื่นให้แก่เราแค่ไหน ข้าพเจ้ายังจำได้ นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า การอวสานของสาธารณรัฐสเปญ หลังจากที่ได้ต่อสู้อย่างเต็มไปด้วยความกล้าหาญอดทน ได้ก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมและความเศร้าสลดใจเป็นส่วนตัวแก่ข้าพเจ้าและแก่ผู้อื่นเพียงไร

มิใช่แต่เพียงการรุกรานทางรูปธรรมซึ่งลัทธินาซิสม์และฟาสซิสม์ใช้ดำเนินการอยู่เท่านั้น และมิใช่เพียงความทารุณโหดร้ายและความหยาบช้าสามานย์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการดำเนินการเยี่ยงนี้เท่านั้นที่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่เรา ทั้งๆที่พฤติกรรมสองประการนี้โดยตัวของมันเองก็เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองพออยู่แล้ว หากแต่ว่าหลักการซึ่งลัทธิทั้งสองใช้เป็นรากฐานยืนหยัดและประกาศใช้อย่างโจ่งแจ้งห้าวหาญ อันเป็นทฤษฎีชีวิตที่ลัทธิดังกล่าวพยายามนำมาใช้ปฏิบัติ ก็ได้สร้างความกระทบกระเทือนให้เกิดแก่เราอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลักการเช่นนี้เป็น ปฏิปักษ์ต่อสิ่งที่เรายึดมั่นเชื่อถืออยู่ในปัจจุบัน และที่เราได้ยึดมั่นเชื่อถือมานานแล้วแต่อดีตหลายยุคหลายสมัย

ถึงแม้ว่าเราจะได้ทอดทิ้งความทรงจำประจำชาติและจะได้สูญเสียหลักมั่นไปบ้างแล้ว แต่ความเจนจัดที่เราได้รับ แม้ว่าความเจนจัดเหล่านี้จะเกิดขึ้นแก่เราในลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างกันและค่อนข้างจะปลอมแปลงตัวมาเพื่อความสุภาพและเหมาะสม ก็มีพอเพียงที่จะช่วยสอนให้เรารู้ได้ว่า หลักการและทฤษฎีของลัทธินาซิสม์ที่มีต่อชีวิตและรัฐ จะพาเราไปสู่ ณ ที่ใดในที่สุด ประชาชนของเราต้องตกเป็นเหยื่อของหลักการและวิธีการปกครองเช่นนี้มาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นเราจึงเกิดอาการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิฟาสซิสม์และนาซิสม์อย่างทันทีและรุนแรง
ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงการปฏิเสธที่ข้าพเจ้าได้กระทำต่อคำเชิญอย่างรบเร้าของซินญอร์ มุสโสลินี ที่ขอให้ข้าพเจ้าไปพบกับเขาในตอนต้นเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๓๖ รัฐบุรุษของอังกฤษหลายคน ผู้ซึ่งในปีหลังๆ เมื่ออิตาลีได้กลายเป็นศัตรูคู่สงครามของอังกฤษไปแล้ว ได้ประณามการกระทำของดูเซ่ (มุสโสลินี)แต่ในระยะเวลาซึ่งกำลังกล่าวถึงรัฐบุรุษเหล่านี้ได้กล่าวถึงมุสโสลินีด้วยถ้อยคำอันนุ่มนวลไพเราะ และได้สรรเสริญระบอบการปกครองและวิธีการของเขา

สองปีต่อมา ในฤดูร้อนก่อนที่จะเกิดกรณีมูนิค ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญในนามของรัฐบาลนาซี ให้ไปเยี่ยมประเทศเยอรมนี คำเชิญนั้นมีถ้อยคำเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้เชิญตระหนักดีถึงความเป็นปฏิปักษ์ของข้าพเจ้าที่มีต่อลัทธินาซิสม์ แต่แม้กระนั้นก็ตาม เขาก็อยากให้ข้าพเจ้าได้ไปเห็นประเทศเยอรมนีด้วยตนเอง ข้าพเจ้าจะไปในฐานะเป็นแขกของเขา หรือเป็นคนธรรมดาสามัญก็ได้และจะใช้นามจริงหรือนามก็ได้ แล้วแต่ข้าพเจ้าจะชอบ ข้าพเจ้ามีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ที่จะท่องเที่ยวไปในที่ใดๆ ได้ตามใจชอบ ข้าพเจ้าได้ตอบปฏิเสธไปพร้อมทั้งแสดงความขอบคุณ แต่ตรงข้าม ข้าพเจ้ากลับเดินทางไปประเทศเชโกสโลวาเกีย “ประเทศที่ไกลโพ้น” ซึ่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในสมัยนั้นไม่สู้จะรู้จักมักคุ้นนัก

ก่อนหน้าที่จะเกิดกรณีมูนิค ข้าพเจ้าได้พบกับรัฐมนตรีและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของอังกฤษบางท่าน ข้าพเจ้าได้หาญพรรณนาความคิดความนึกของข้าพเจ้าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิฟาซิสม์และนาซิสม์ให้เขาฟัง และข้าพเจ้าได้พบว่า ทรรศนะของข้าพเจ้าไม่เป็นที่สบอารมณ์ของเขา เขาบอกแก่ข้าพเจ้าว่า มีเรื่องอย่างอื่นอีกมากที่จะต้องตระหนักไว้ในใจ

ในระยะเวลาทีวิกฤตกาลเชโกสโลวาเกียได้เกิดขึ้น สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ประสบจากการดำเนินงานทางการเมืองของฝรั่งเศสและอังกฤษในนครปร๊ากและสุเดเตนแลนด์ (Sudentenland) ในนครลอนดอนและปารีส ตลอดจนในนครเยเนวาที่ซึ่งสันนิบาตชาติกำลังประชุมอยู่ในขณะนั้น ได้สร้างความประหลาดใจและเอือมระอาให้แก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก คำว่า “เอาใจ” ดูจะเป็นคำที่มีความหมายน้อยเกินไปสำหรับพฤติการณ์ในครั้งนั้น เบื้องหลังของพฤติการทั้งมวล มิใช่จะมีแต่ความกลัวฮิตเลอร์แฝงอยู่เท่านั้น หากยังมีความชื่นชมสดุดีในตัวฮิตเล่อร์ผสมอยู่อีกด้วย

แต่ขณะนี้ ช่างเป็นการหมุนเวียนของวงล้อแห่งชาตากรรมที่น่าประหลาดเสียนี่กระไร ในการที่ข้าพเจ้าและผู้ที่มีแนวความคิดเห็นอย่างข้าพเจ้า ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเช่นนี้ ในขณะที่สงครามต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์และนาซิสม์กำลังดำเนินไปอย่างสุดเหวี่ยง และขณะที่บรรดาท่านผู้เคยก้มศีรษะให้แก่ฮิตเล่อร์และมุสโสลินี ตลอดจนผู้ที่เคยเห็นดีเห็นงามด้วยกับการรุกรานของญี่ปุ่นในประเทศจีน กำลังชูธงแห่งเสรีภาพ ประชาธิปไตยและการต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์ อย่างสูงส่งอยู่ในโลกภายนอก

การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นในอินเดียอย่างน่าสังเกตเช่นเดียวกัน และเช่นเดียวกับที่อื่น ที่นี่ก็มี “นักรัฐบาลนิยม” ผู้เฝ้าเต้นแร้งเต้นกาอยู่รอบๆ ชายกระโปรงของรัฐบาล ทำหน้าที่สะท้อนทรรศนะที่เขาคิดว่า จะเป็นที่สบอารมณ์ของบุคคลซึ่งเขาต้องการขอความเมตตากรุณาอยู่เป็นเนืองนิจ สมัยหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ บุคคลเหล่านี้สรรเสริญฮิตเล่อร์และมุสโสลินี นับถือคนทั้งสองเป็นแบบฉบับและแช่งชักหักกระดูกสหภาพโซเวียตอย่างไม่ขอคบค้าสมาคมด้วย แต่เดี๋ยวนี้พฤติการณ์มิได้เป็นดั่งเช่นที่ว่ามาเสียแล้ว เพราะบรรยากาศได้เปลี่ยนแปลงไป บุคคลเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในวงการรัฐบาลกลางและรัฐบาลประจำภาค เขาต่างก็ประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิฟาสซิสม์และนาซิสม์อย่างอึกทึกครึกโครมและหาญกล่าวขวัญถึงประชาธิปไตยแม้จะด้วยถ้อยคำที่ไม่สู้จะองอาจนักว่า เป็นสิ่งอันพึงปรารถนา ทว่าบรรลุถึงได้โดยยาก บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้ารู้สึกฉงนใจว่า บุคคลเหล่านี้จะทำอย่างไรหากเหตุการณ์ผันแปรเป็นอื่นไปอีก อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุผลที่จะต้องใช้การอนุมานแต่ประการใด เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาเสวยอำนาจก็ตาม บุคคลเหล่านี้ก็จะต้องต้อนรับเขาด้วยพวงมาลัย และด้วยสุนทรพจน์อย่างอบอุ่นเสมอ

เป็นเวลาหลายปีก่อนที่สงครามจะได้อุบัติขึ้น จิตใจของข้าพเจ้าครุ่นคิดถึงเรื่องของสงคราม ซึ่งกำลังคืบคลานใกล้เข้ามา ข้าพเจ้าคิดถึงสงคราม พูดถึงสงคราม เขียนถึงสงคราม และตระเตรียมจิตใจของตนเองเพื่อรับสงคราม ข้าพเจ้าอยากให้อินเดียมีบทบาทในการพันตูอันยิ่งใหญ่นี้อย่างจริงจังและด้วยความกระตือรือร้น เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่า หลักการอันสูงส่งกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย อนุสนธิการปะทะกันครั้งนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ยิ่งใหญ่แบบปฏิวัติขึ้นในอินเดียและในโลก เวลานั้นข้าพเจ้ามิได้คำนึงถึงการคุกคามโดยตรงที่จะเกิดแก่อินเดีย ข้าพเจ้าหมายถึงโอกาสที่อินเดียจะต้องถูกบุกรุกอย่างจริงจัง แม้กระนั้นข้าพเจ้าก็อยากให้อินเดียมีส่วนร่วมด้วยอย่างสมบูรณ์ แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าอินเดียจะปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ก็ต่อเมื่ออินเดียเป็นประเทศอิสระเสรี มีฐานะเป็นผู้ร่วมงานอย่างเทียมบ่าเทียมไหล่กับประเทศอื่นๆ...



No comments: