Monday, March 31, 2008

บทความที่๓๘๓.ท่านปรีดีฯกับขวบการกู้ชาติในลาว(๔)

ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส
ในปีเดียวกันนี้ คือ พ.ศ.๒๔๔๔ ชนชาติขมุหรือข่าในภาคใต้ของลาวที่ไม่พอใจที่ฝรั่งเศสเก็บภาษีมีมาตรการเข้มงวดในด้านการค้า บังคับใช้แรงงานในการสร้างเส้นทางคมนาคมทางบกและการสำรวจเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง (ฝรั่งเศสได้เกณฑ์แรงงานชนชาติข่า(ขมุ)ไปสร้างเส้นทางเพื่อลำเลียงแร่จากเหมืองในเขตพื้นที่ภาคกลางและเชื่อมการคมนาคมระหว่างเมืองต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นแรงงานในการถ่อเรือสำรวจแม่น้ำโขงจากหลวงพระบางขึ้นไปยังมณฑลยูนนาน)

องแก้วผู้นำชาวขมุจึงนำชาวขมุกว่า ๑๕,๐๐๐ คน จับอาวุธขึ้นต่อต้าน ใช้ธนูอาบยาพิษซุ่มโจมตีทหารฝรั่งเศส ต่อมาองแก้วถูกบิดาของบุนอุ้ม ณ จำปาสัก ผู้สนับสนุนฝรั่งเศสในการปกครองลาว หลอกว่าฝรั่งเศสเปิดการเจรจาแล้วพาไปยิงทิ้ง

องกมมะดำได้ก้าวขึ้นมานำขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสต่อ แต่ว่าหันไปต่อสู้แบบสันติวิธี เขียนจดหมายขอร้องต่อผู้ปกครองฝรั่งเศสให้ผ่อนผันมาตรการต่าง แต่ทว่า องกมมะดำกลับถูกล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหด ชาวขมุในทุ่งบลิเวน รวมทั้งในพื้นที่เทือกเขาที่ตั้งเป็นฐานที่มั่นก็ถูกสังหารอย่างไร้ความปรานี

หลังจากองกมมะดำเสียชีวิต ลูกชายคือคำพัน กมมะดำ และสีทน กมมะดำได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำชาวขมุต่อสู้กับฝรั่งเศสอย่างเข้มแข็ง โดยได้ร่วมมือกับขบวนการประเทศลาว ภายใต้การนำของเจ้าสุพานุวง ต่อสู้จนได้รับเอกราช รวมระยะเวลาที่ชนชาติขมุต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสอย่างยืดเยื้อนานถึง ๓๕ ปี

นอกจากนี้ยังมีขบวนการของคนลาวและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ลุกฮือจับอาวุธขึ้นต่อต้านอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสอีหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ ในช่วง พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๔๕๓ เจ้าวันนะพูมได้นำประชาชนชาวเมืองอูในพงสาลีลุกฮือขึ้นต่อต้าน จากนั้นในช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๕๘ ประชาชนในซำเหนือก็ได้จับอาวุธขึ้นต่อต้าน

สาเหตุที่นำไปสู่การลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจฝรั่งเศสก็เนื่องจากผู้ปกครองฝรั่งเศสดำเนินการเก็บภาษีจากผู้ชายชาวลาวและชนเผ่าต่างๆ ผู้มีอายุระหว่าง ๑๘ ถึง ๖๐ ปี อย่างเข้มงวด โดยชาวลาวต้องเสียภาษีรายปีเป็นมูลค่าจำนวน ๕ เหรียญเปียสต้า (๕ Gold Francs) และทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอีก ๑๐-๒๐ วัน หรืออาจเปลี่ยนเป็นจ่ายเงินแทนอีก ๕ เหรียญเปียสต้า (ภาษีที่เก็บจากความเป็นประชากร โดยใช้แรงงานแทนการจ่ายภาษีนี้ ในสยามเรียกว่า ภาษีรัชชูปกร ที่กดขี่เอากับประชาชนชาวสยามมานับร้อยๆปี จนท่านปรีดี พนมยงค์เมื่อได้นำคณะราษฎรอภิวัฒน์การปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตยแล้ว ท่านก็ยกเลิกภาษีรัชชูปกรนี้)

ฝรั่งเศสได้ตอบโต้การต่อสู้ของประชาชนลาว โดยการใช้ยุทธวิธีให้คนลาวฆ่าคนลาว โดยตั้งกองกำลังติดอาวุธและให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บรรดาชาวลาวที่ยินยอมเป็นพวกเดียวกับฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นทหารบ้าน (garde indigene) คอยควบคุมดูแลและปราบปรามฝ่ายต่อต้าน

เนื่องจากฝิ่นเป็นสินค้าสำคัญที่สุด นำมาซึ่งรายได้หลักของรัฐบาลสหภาพฝรั่งเศสที่ปกครองดินแดนอินโดจีนทั้งหมด ช่วยให้มีรายได้จากการส่งออกฝิ่นไปยังประเทศในยุโรปปีละมหาศาล เพื่อให้สามารถคงรายได้ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และทวีมูลค่าการส่งออกฝิ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฝรั่งเศสได้เข้าไปควบคุมการผลิต การซื้อขาย และการขนส่งฝิ่น พร้อมกันนี้ก็มีมาตรการจัดเก็บภาษีอย่างเข้มงวด

มาตรการดังกล่าวได้นำไปสู่การลุกฮือจับอาวุธต่อต้านอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสของบรรดาชาวม้งในภาคเหนือ ภายใต้การนำของเจ้าฟ้าปาใจ (หรือปัดใจ)การต่อต้านดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันถึง ๕ ปี คือในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๕

ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ก็ได้มีการลุกฮือของประชาชนต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสในกรุงเวียงจันทน์ ภายใต้การนำของนายคูคำ

บทความที่๓๘๒.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติในลาว(๓)

ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส
โดยในอีกด้านหนึ่ง ม.ปาวี ได้ใช่เล่ห์เพทุบายให้เจ้าชีวิตลาวเห็นด้วยว่า สยามประเทศไม่อาจจะให้ความคุ้มครองและยังความเจริญก้าวหน้าให้กับราชอาณาจักรลาวได้ ซึ่งเจ้าชีวิตลาวเห็นด้วย และเมื่อฝรั่งเศสเสนอตัวเข้าเป็นประเทศผู้อารักขาแทนสยาม เจ้าชีวิตลาวก็เห็นดีเห็นงามโดยไม่ลังเล เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกให้ลาวรู้ว่า นอกจากราชอาณาจักรสยามไม่อาจยังความเจริญก้าวหน้าให้กับราชอาณาจักรลาวแล้ว ราชอาณาจักรสยามยังรังแกข่มเหงผู้รักชาติ รักปิตุภูมิของลาว อย่างกรณีเจ้าอนุวงศ์เป็นต้น

เจ้าชีวิตลาวโดยเจ้าอุปราชอุ่นคำลงนามมอบประเทศลาวให้อยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส ผลงานสำคัญสำคัญในการปกครองดินแดนอาณานิคมลาวช่วยให้ ม.ปาวีได้รับการยกย่องจากฝรั่งเศสว่าเป็น “ผู้พิชิตใจ” (Congueror of the hearts)

ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ ๘๐ ปีที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองดินแดนอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้ามาครอบครองดินแดนลาว กล่าวได้ว่า แนวทางหลักที่นำมาใช้ในการปกครองเป็นกลวิธีที่ออกุส ปาวี ได้ค้นคิดและนำมาใช้ปฏิบัติแทบทั้งสิ้น

ตัวอย่างผลงานของ ออกุส ปาวี ช่วงทำหน้าที่เป็นกงสุลอยู่ในหลวงพระบาง ศูนย์กลางอำนาจของลาว ก็คือการแก้ปัญหาเขตพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการลงนามในสนธิสัญญาเขตแดนระหว่าง ลาว-จีน ลาว-พม่า และ ลาว-สยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนธิสัญญาเขตแดน ลาว-สยาม ที่รัฐบาลฝรั่งเศสใช้อำนาจทางการทหารคือ “นโยบายการทูตเรือปืน” บังคับกดดันให้รัฐบาลสยามยินยอมลงนามให้ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖

การกำหนดเนื้อหาของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว ฝรั่งเศสดำเนินการตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจว่า ฝ่ายไทยรวมทั้งประชาชนลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะมีความคิดเห็นเป็นประการใด

สนธิสัญญาลาว-สยามและอนุสัญญาฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นคู่กัน ๒ ฉบับ ผู้มีอำนาจเต็มแต่ละฝ่ายที่ได้ลงนามและประทับตราไว้ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ คือ เลมีเด วินลีเอ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

การกดดันให้ลงนามในสนธิสัญญาของฝรั่งเศสดังกล่าว สร้างความเคียดแค้นให้แก่ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสาระสำคัญในสนธิสัญญาดังกล่าว กำหนดให้ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดน ทำให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดตกอยู่ใต้อาณัติของอาณานิคมฝรั่งเศส แบ่งแยกญาติมิตรพี่น้องออกจากกัน อีกทั้งยังสร้างความเป็นศัตรูให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่คนละฝั่งฝากแม่น้ำโขง

ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจเข้าไปถือครองเหนือดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าหัวพันทั้งหก มาแล้ว (ขณะนั้นสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าหัวพันทั้งหก ขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรสยาม)ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๙ อังกฤษและฝรั่งเศสที่แข่งขันกันครอบครองดินแดนมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ลงนามแบ่งเขตพื้นที่อิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้ ในลักษณะไม่ต่างอะไรกับการแบ่งเค้ก โดยกำหนดให้ไทยเป็นรัฐกันชน

หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็ได้แผ่ขยายอำนาจเข้าครอบคลุมในดินแดนลาวอย่างเป็นระบบ โดยมีประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสประจำลาวในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๒

แนวทางการปกครองอาณานิคมอินโดจีน ฝรั่งเศสได้ใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครองโดยออกประกาศในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ให้ผนวกลาวเป็นแคว้นที่ ๕ ของสหพันธ์ฝรั่งเศส นอกเหนือจากแคว้นตังเกี๋ย (เวียดนามภาคเหนือ)แคว้นอันนัม (เวียดนามภาคกลาง)แคว้นโคชินไชน่า(เวียดนามภาคใต้)และแคว้นกัมพูชา โดยให้อยู่ภายใต้ระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบเงินตราของสหพันธ์ฝรั่งเศส

การเข้าครอบครองดินแดนลาวใช่ว่าจะราบรื่นเสียทีเดียว หลังยึดครองได้เพียง ๘ ปี ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการลุกฮือขึ้นต่อต้าน ทั้งจากคนลาวและคนกลุ่มน้อย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๔ คนลาวทั้งจากฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงได้รวมตัวกันในรูปของ “ขบวนผู้มีบุญ” จับอาวุธต่อต้านอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส โดยเริ่มที่เมืองสองคอนและเมืองเขมลาด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ฝรั่งเศสก็ได้เข้าครอบครองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ

บทความที่๓๘๑.ท่านปรีดีฯกับขบวนกู้ชาติในลาว (๒)

ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการแข่งขันกันครอบครองดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติของมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ระหว่างฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักร ในการนี้ฝรั่งเศสได้ยึดตอนใต้ของเวียดนาม คือแคว้นโคชินไชน่าเป็นอาณานิคม แล้วขยายขึ้นมายังแคว้นตังเกี๋ยในเวียดนามตอนเหนือ แล้วเข้ายึดกัมพูชา และลาวเป็นอันดับต่อมา ส่วนสหราชอาณาจักรนั้นยึดครองมาลายู อินเดียและพม่า ทั้งนี้โดยมีราชอาณาจักรสยามหรือไทย เป็นรัฐกันชน

ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงในอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาว ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็ก แม้จะไม่มีพรมแดนติดทะเลแต่ก็มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาในด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเห็นว่า ลาวมีพรมแดนเชื่อมต่อทั้งกับ จีน พม่า ไทย เวียดนามและกัมพูชา ด้วยเหตุนี้ดินแดนลาวจึงเป็นที่สนใจของฝรั่งเศส ซึ่งกำลังแผ่ขยายอาณานิคมอยู่ในภูมิภาคแถบนี้เป็นอย่างมาก

ปัญหาในอดีตของลาวก็คือ ถูกขนาบข้างไว้ด้วยประเทศใหญ่ที่มีอำนาจเหนือกว่าคือ เวียดนามและไทย จึงต้องรักษาไว้ซึ่งดุลอำนาจของทั้งสองฝ่าย เมื่อใดก็ตามที่ไม่อาจรักษาดุลอำนาจไว้ได้ ก็อาจถูกโน้มน้าวตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำหรือตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ของลาวระบุไว้ว่า ลาวเคยตกอยู่ใต้อำนาจหรือเป็นเมืองขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ เวียดนาม ไทย และพม่า แล้วแต่อำนาจทางการทหารของอาณาจักรใดจะมีความเข้มแข็งกว่ากัน

กระนั้นก็ไม่เลวร้ายเท่าในช่วงยุคสมัยการล่าอาณานิคม ที่ลาวต้องตกอยู่ใต้อำนาจอันเข้มงวดของฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ในฐานะแคว้นหนึ่งของสหภาพฝรั่งเศสในดินแดนอาณานิคมอินโดจีน อันนำไปสู่การรวมตัวกันของประชาชนลาวรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาติม้งและและชนชาติที่กระจายอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ต่อสู้กับกองทหารฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้มาซึ่งเอกราช เสมอภาค ภราดรภาพ อธิปไตย และประชาธิปไตย

เมื่อมองถึงประวัติศาสตร์ของดินแดนอินโดจีน มีนักสำรวจชาวฝรั่งเศสหลายคนเดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนแถบนี้ ในบรรดานักสำรวจชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ ออกุส ปาวี (Auguste Pavie) ผู้เข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในกองทหารฝรั่งเศสประจำอินโดจีน การเป็นผู้มีนิสัยใคร่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ช่วยให้ปาวีสามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาในดินแดนอินโดจีนได้ทุกภาษา ๑๑ ปีในเขมรและ ๕ ปีในเวียดนามช่วยให้เขาใช้ภาษาเขมรและเวียดนามได้คล่องแคล่ว รวมทั้งภาษาลาวและไทย ที่สำคัญคือ ปาวีมีความรอบรู้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภาษาและวัฒนธรรมของดินแดนอินโดจีนเป็นอย่างดี

ในเวลานั้น สหภาพฝรั่งเศส (Union Francaise)ใช้ฮานอยเป็นเมืองศูนย์กลางในการปกครองอินโดจีนทั้งหมด การที่ลาวแบ่งออกเป็น ๓ อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง๑ อาณาจักรเวียงจันทน์ ๑ อาณาจักรสะหวันนะเขด ๑ ฝรั่งเศสจึงคานอำนาจของทั้งสามอาณาจักรโดยการติดอาวุธให้ชนพื้นเมืองที่สนับสนุนและมีการติดต่อสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายตน

ออกุส ปาวี ได้รับการปรับเปลี่ยนสถานภาพจากการเป็นนักสำรวจก้าวขึ้นเป็นกงสุลประจำเมืองหลวงพระบาง (ในเวลานั้นหลวงพระบางขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรสยาม)และดำรงตำแหน่งดังกล่าวยืนยาวถึง ๒๐ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๙ – ๒๔๔๘

แนวความคิดของปาวี สอดรับกับนโยบายแผ่ขยายอาณานิคมของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่มีนายคาร์โนท์เป็นประธานาธิบดีและได้ส่งนายลาเซนังนักการเมืองที่เขียนหนังสือสนับสนุนให้มีการขยายดินแดนอาณานิคม มาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และต่อมาลาเซนังได้แต่งตั้งให้ปาวีเป็นทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ในพ.ศ.๒๔๓๖ กระทั่งนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งครั้งสำคัญ คือ ปาวีขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งเรือลูแตงมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส และยิงปืนใหญ่ข่มขู่ไทยในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๖ โดยบังคับให้สยามยกดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของสยามที่เรียกว่า “เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒”

และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ – ๒๔๔๖ (ค.ศ.๑๙๐๒-๑๙๐๓) ฝรั่งเศสนักล่าเมืองขึ้นโดย ม.ปาวี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นทูตฝรั่งเศสประจำกรุงสยาม ได้บีบบังคับให้ไทยยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากเซและฝั่งตรงข้ามนครหลวงพระบางให้อีก ดินแดนลาวที่เคยอยู่ภายใต้อธิปไตยของศักดินาสยามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสนับแต่บัดนั้น แต่เรียกชื่ออย่างหลอกลวงว่า “รัฐในอารักขา”

บทความที่๓๘๐.ท่านปรีดีกับขบวนกู้ชาติในลาว (๑)

ปรีดี พนมยงค์กับขบวนการกู้เอกราชในลาว

"สมาคมสหชาติเอเซียอาคเนย์" เป็นความพยายามของรัฐบรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในการดำเนินภารกิจปลดปล่อยประชาชาติในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากภารกิจกอบกู้เอกราชชาติไทยของขบวนการเสรีไทยได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง นอกจากไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ยังตกเป็นเมืองในอารักขาของมหาอำนาจตะวันตก เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พม่าและแหลมมลายูยังอยู่ในความครอบครองของอังกฤษ อินโดนีเซียยังอยู่ในอาณัติของเนเธอแลนด์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็กลายเป็นรัฐที่ ๕๒ ของสหรัฐอเมริกา

บรรดาผู้นำรักชาติในภูมิภาคนี้ได้เคลื่อนไหวต่อสู้อย่างทรหด เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของประชาชาติเหล่านี้ ซึ่งหลายคนเคยเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนอุดมการณ์กันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนฝรั่งเศสเมื่อสองทศวรรษก่อน ท่านปรีดีเห็นว่า เป็นความชอบธรรมที่ประชาชาติเล็กๆ ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์จะรวมตัวกันเพื่อสร้างแนวร่วมกู้ชาติขึ้น

ท่านปรีดีได้ริ่เริ่มก่อตั้ง "สมาคมสหชาติเอเซียอาคเนย์" ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยได้รับการสนับสนุนเห็นชอบจากเพื่อนผู้นำรักชาติในอินโดจีนหลายท่านได้แก่ ท่านอูอองซานแห่งพม่า ท่านโฮจิมินห์แห่งเวียดนาม รวมทั้งผู้นำกู้ชาติลาวทุกฝ่ายตั้งแต่ฝ่ายซ้าย ฝ่ายกลาง จนถึงฝ่ายขวา

จุดมุ่งหมายของสมาคมสหชาติฯ ก็เพื่อเคลื่อนไหวให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ได้ตัดสินชะตากรรมของชาติตนโดยไม่มีจักรวรรดินิยมทั้งเก่าและใหม่เข้ามาแทรกแซง เมื่อแรกเริ่มก่อตั้ง ผู้แทนจากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมฯ ซึ่งก็คือ นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้นำเสรีไทยคนสำคัญในสายอีสาน และเป็นนักการเมืองคนสำคัญของพรรคสหชีพ

อย่างไรก็ตาม การต่อตั้งสมาคมสหชาติฯ ตกอยู่ในการเฝ้ามองอย่างระแวดระวังของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งกลายมาเป็นตำรวจโลก หลังมหาสงครามอเมริการวมทั้งชาติพันธมิตรอื่นๆ หวาดระแวงว่า สมาคมดังกล่าวจะกลายเป็นองค์การจัดตั้งของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ามาครอบงำภูมิภาคนี้ แม้ท่านปรีดีจะมิได้เป็นประธานสมาคมสหชาติฯ แต่อเมริกาก็รู้ว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสของไทยผู้นี้เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนกิจการของสมาคมสหชาติฯ อย่างแข็งขัน

ประเด็นที่มหาอำนาจตะวันตกเข้าใจผิดเกี่ยวกับท่านปรีดี หรือ "รู้ธ" หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ผู้เคยร่วมกอบกู้สันติภาพกับสัมพันธมิตร ก็คือคิดว่า ท่านปรีดีเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ทั้งที่อุดมการณ์แห่งชาติในทางการเมืองนั้น ท่านปรีดียึดถือระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เห็นได้จากในคราวที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งเปิดให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้งยังให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพฤฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

โดยที่ก่อนหน้านี้ ท่านปรีดีได้เคยแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยเสนอให้ฝรั่งเศสร่วมกับไทยเป็นผู้อุปถัมภ์สหภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในระยะแรกจะประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่อยู่ในสหภาพฝรั่งเศส ได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา แต่ฝรั่งเศสกลับปฏิเสธแผนการสร้างสรรค์สันติภาพในภูมิภาคนี้อย่างไม่มีเยื่อใย

โดยจุดยืนแล้ว ท่านปรีดีมิได้มุ่งหมายจะให้สมาคมสหชาติฯ เป็นเวทีของคอมมิวนิสต์แม้แต่น้อย หากแต่ต้องการให้บรรดาผู้นำผู้รักชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่ว่าฝ่ายกลาง ฝ่ายขวา หรือฝ่ายซ้ายใช้เวทีนี้สร้างแนวร่วมระดับภูมิภาคเพื่อต่อรองกับมหาอำนาจที่ครอบงำภูมิภาคนี้อยู่

แต่องค์การทางการเมืองระหว่างประเทศนี้ตั้งอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็ต้องมีอันสิ้นสุดลง หลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และการที่การรัฐประหารของกลุ่มทหารเผด็จการประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น ก็เพราะได้รับการรับรองจากมหาอำนาจตะวันตกที่ต้องการกีดกันรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ออกจากวงการเมืองระหว่างประเทศ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ของพวกตน

น่าเสียดาย หาก "สมาคมสหชาติเอเซียอาคเนย์" ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ตามแนวทางที่วางเอาไว้ โดยที่มหาอำนาจตะวันตกเปิดโอกาสหรือสนับสนุนให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ตกลงแก้ไขปัญหาตามความต้องการของตนเอง ปัญหาอินโดจีนคงจะยุติด้วยวิถีทางที่สันติและเสียเลือดเนื้อน้อยกว่าที่ได้เป็นไปแล้วในสงครามเวียดนาม สงครามในลาว และสงครามในกัมพูชา

จากคำนำ หนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับ ขบวนการกู้เอกราชในลาว

บทความที่๓๗๙.ภารกิจเสรีไทย (๗)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์ (ชัยสงค์)
ในที่สุด เขาก็พาข้าพเจ้าออกจากบ้านสีลมและบึ่งตรงไปยังทำเนียบผู้สำเร็จราชการที่ท่าช้าง นั่นคือที่พักของ “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” เขาพาข้าพเจ้าตรงไปทางด้านหลังเลาะไปยังท่าน้ำอย่างคล่องแคล่ว สมกับที่เขาเคยเข้าออกมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ท่านปรีดี พนมยงค์ มองเห็นเราทั้งสองแต่ไกล ท่านจึงลุกขึ้นจากเก้าอี้แล้วยิ้มรับเราอย่างอารมณ์ดีเอ่ยกับเราว่า

“มาทางนี้เลย..”

พร้อมกับกวักมือเรียกให้ไปที่ศาลาท่าน้ำนั้นอย่างกันเอง เชื้อ สุวรรณศร หัวเราะแหะๆ ไปตามอัธยาศัยของเขา แต่เมื่อข้าพเจ้าไปถึงที่แล้วก็กล่าวขึ้นว่า

“ผมจะต้องกลับไปก่อน มีธุระครับ...”

แล้วก็หันมากล่าวกับข้าพเจ้าว่า

“ลื้อสงสัยอะไรก็ถามได้อย่างเต็มที่ อั๊วจะไปคอยอยู่ที่บ้านมะลิวัลย์ พอลื้อเสร็จจากนี่ก็ไปหาอั๊วที่บ้านมะลิวัลย์ก็แล้วกัน จะได้รู้จักนายเชื้อ หุ่นจำลอง แล้วก็จะได้ตกลงอะไรกันเสียเลย”

ข้าพเจ้าพยักหน้าแทนคำตอบและรู้ดีว่าเขาต้องการให้ข้าพเจ้าซักถามเรื่องราวโดยอิสระซึ่งไม่มีเขาร่วมอยู่ด้วย เมื่อเขาเดินออกไปแล้วข้าพเจ้าก็เริ่มต้นทีเดียว

“ผมยังไม่เข้าใจรูปงานเลยครับ...”

ท่านปรีดี พนมยงค์ เปิดฝากระป๋องบุหรี่ดึงมันออกมามวนหนึ่ง นั่งลงที่เก้าอี้ตัวที่ชิดข้าพเจ้าที่สุด แล้วก็เริ่มอธิบาย

“ขบวนการนี้เป็นขบวนการเสรีไทยที่ต่อสู้จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นซึ่งรุกรานประเทศของเรา เราได้พยายามรวบรวมคนไทยที่รักชาติหลายฝ่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศและร่วมมือกับสัมพันธมิตร ไม่ใช่ว่าเราต่อสู้โดดเดี่ยวประเทศเดียว นักเรียนไทยที่ไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ได้ลอบเข้ามาในประเทศเพื่อร่วมงานมากมายแล้ว สำหรับหน่วยของคุณนั้นเป็นหน่วยอเมริกัน บางหน่วยก็เป็นของอังกฤษ คนเคาะวิทยุของคุณเป็นนักเรียนไทยจากอเมริกา ขอให้คุณได้ทำหน้าที่ในการสืบสวนแล้วรายงานข่าวไปตามที่สัมพันธมิตรจะถามมา แล้วก็ให้ตั้งหน่วยต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นเป็นหน่วยใต้ดิน..”

“แล้วจะรบเมื่อไหร่ล่ะครับ?” ข้าพเจ้าถามขึ้นอย่างร้อนรนก่อนที่ท่านจะพูดจบ

“ผมจะสั่งการไปภายหลังเมื่อทุกหน่วยทั่วราชอาณาจักรของเราพร้อมแล้ว และสอดคล้องกับสภาพทางการเมืองนอกประเทศและเหตุการณ์ทางยุทธศาสตร์บางอย่าง” ท่านตอบสั้นๆ

ข้าพเจ้าได้ถามขึ้นอย่างงงๆ ว่า

“ผมยังไม่เข้าใจวิธีการจัดการหน่วยใต้ดิน นั้นว่าควรจะทำกันอย่างใด?”

ท่านเคาะขี้บุหรี่ลงในที่เขี่ยแล้ว ก็เริ่มอธิบาย

“ควรจะจัดการตั้งเป็นค่ายขึ้นในภูมิประเทศที่เร้นลับเพื่อให้เป็นฐานทัพของเรา หากเป็นสภาพในเมืองก็ต้องจัดการหาสมาชิกโดยการเลือกเฟ้นเป็นพิเศษเพื่อรักษาความลับ บางหน่วยเขาทำเป็นค่ายได้อย่างงดงามมาก เช่นที่เมืองกาญจน์โดยการร่วมมือกับข้าหลวงประจำจังหวัดได้ละก้อดีแน่ เราจะสามารถเอาพวกนักโทษออกจากคุกไปตั้งค่ายอยู่ในป่า ทำเป็นว่าเราตั้งนิคมให้พวกนักโทษอยู่ ปลูกเผือกปลูกมันทำไร่ไถนาไป แล้วเราก็พลอยผสมเอานักโทษเข้าร่วมมือ เพราะนักโทษนั้นเราสามารถบังคับบัญชาได้ และจะหลบหนีไปไหนไม่ได้ ทำให้รักษาความลับได้ดี ถัดจากนั้นเราก็ส่งพลพรรคที่คัดเลือกแล้วเข้าไปฝึกอาวุธเป็นรุ่นๆ สำหรับสถานที่ก็ควรหาสถานที่ซึ่งห่างไกลจากญี่ปุ่นหรือพวกชาวบ้าน เมื่อฝึกอาวุธเรียบร้อยแล้วก็ส่งออกมาประจำท้องถิ่นที่เราจะมอบหมายให้ทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธนั้น สัมพันธมิตรจะเอามาส่งให้ทางอากาศโดยทิ้งร่มชูชีพลงมา วิธีการเตรียมตัวรับของนั้นจะต้องมีการนัดหมาย ขอให้คุณสอบถามได้จากคนเคาะวิทยุซึ่งเขาได้ฝึกมาเรียบร้อยแล้ว ถ้าเหมาะสมเขาก็อาจส่งทางเครื่องบินทะเลโดยร่อนลงตามสถานที่นัดหมาย วิธีการนี้เราอาจส่งคนไปฝึกอาวุธนอกประเทศได้ หรือฝึกเสร็จแล้วก็เอากลับมาส่งคืนให้ก็ได้ หรือไม่เขาก็อาจจะส่งอาวุธและคนมาทางเรือดำน้ำดั่งทางด้านจังหวัดระนอง

ผมขอกำชับเรื่องการฝึกอาวุธให้สามารถทำการรบได้นั้นมีความสำคัญมาก จำเป็นจะต้องทำให้ที่ลับหูลับตาญี่ปุ่นหรือสายลับของมัน เสียงของปืนหรือเสียงของการระเบิดของลูกระเบิดมือที่ฝึกซ้อมประจำวันอาจจะดังออกไปจนทำให้คนที่อยู่ในบริเวณข้างเคียงนั้นรู้ได้ เรื่องก็จะรั่วไหล อย่างชุมพรของคุณอาจจะลำบากมากเพราะบริเวณมันแคบ แต่ก็ขอให้พยายาม คุณจะพอดำเนินการได้ไหม?”ท่านหันมาซักข้าพเจ้า

“ผมจะพยายามจนเต็มความสามารถ”

ท่านปรีดี พนมยงค์ ยิ้มรับคำตอบของข้าพเจ้าอย่างมั่นใจ

“เห็นเชื้อเขามารับรองว่าคุณจะสามารถทำได้ในสภาพที่ลำบากเช่นจังหวัดชุมพรนี้ผมก็รู้สึกยินดีมาก..”

“เมื่อจะลงมือรบ ผมจะเอาตำรวจใต้บังคับบัญชาเข้าทำการรบด้วยจะได้ไหมครับ?”

“ได้ ไม่มีการขัดข้องอะไร ยิ่งเป็นการดีที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้ เราต้องการความร่วมมือจากคนไทยทุกคน นอกจากนั้นถ้าเราสามารถดึงทหารทุกหน่วยให้เข้าทำการรบด้วยการรวมกำลังกัน ก็ยิ่งเป็นการดีอย่างยิ่ง...เราต้องการความสามัคคีแห่งชาติ..”

ท่านหยุดไปสักประเดี๋ยวหนึ่งก็กล่าวต่อไปอีกว่า

“คุณรู้ไหมว่าข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรนั้นเป็นใคร ?”

“ผมไม่ทราบเลยครับ”

“อยากจะให้คุณเข้าร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัด แล้วงานของเราจะได้กว้างขวางออกไปทุกอำเภอ ลงไปสู่กำนันผู้ใหญ่บ้านสะดวกเข้า”

“ครับ”

“ถ้ามีเหตุขัดข้องประการใด หรือสงสัยอะไรก็ขอให้ถามผมได้ทางวิทยุ”

“ครับ”

ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นในการที่ข้าพเจ้าจะต้องมีความรับผิดชอบเข้ารับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองในการเข้าต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดินิยม และรู้สึกว่ามันมีอะไร หนักๆอยู่ในจิตใจของข้าพเจ้าอย่างที่ไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาแต่ก่อนเลย มันไม่มีอะไรอื่นนอกจาก “ความรับผิดชอบ” ที่ข้าพเจ้าจะต้องดำเนินการและระมัดระวังตนอย่างเข้มงวดกวดขันอยู่ท่ามกลางศัตรูผู้รุกรานสยาม.

Thursday, March 27, 2008

บทความที่๓๗๘.การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในภูฎาน

การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในภูฎาน

ภูฎาน อาณาจักรที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางเทือกเขาระหว่างยักษ์ใหญ่อินเดียและจีน ด้วยภูมิประเทศเช่นนี้ทำให้ภูฎานถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งด้านภูมิศาสตร์และด้วยนโยบายแห่งรัฐ

ภูฎานดำเนินวิถีชีวิตอยู่ในโลกที่ปิดกั้น จนกระทั่งเข้าสู่ปี ค.ศ.๑๙๖๐ จึงมีการพัฒนาสร้างถนน ไฟฟ้า โทรศัพท์และบริการไปรษณีย์ มีบางคนยกให้ ภูฎาน เป็น “แชงกรีลา” เมืองลี้ลับในบทประพันธ์ของ เจมส์ ฮิลตัน เมื่อปี ๑๙๓๓ เรื่อง Lost Horizon

เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ.๑๙๗๒ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ชิงเก วังชุกเสด็จขึ้นครองราชย์ ภูฎานในเวลานั้นตัวเลขอัตราความยากจน การไม่รู้หนังสือ และอัตราการเสียชีวิตของทารกอยู่ในกลุ่มประเทศที่สูงที่สุด อันเป็นผลมาจากนโยบายปิดประเทศจากโลกภายนอก ซึ่งแม้ว่าพระราชบิดาของพระองค์จะได้ทรงริเริ่มเปิดประเทศเพื่อพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่างๆในปี ๑๙๖๐ บ้างแล้วก็ตาม

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ชิงเก วังชุก จึงพยายามจะก้าวไปให้ไกลกว่าพระราชบิดาของพระองค์ โดยใช้นโยบายการเปิดประเทศที่มีการควบคุม พระองค์ได้ให้นิยามใหม่ของคำว่าพัฒนา คือคำว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness : GNH)

ด้วยนโยบายนี้ภูฎานจึงพยายามลากตัวเองออกจากประเทศที่มีฐานยากจนข้นแค้น แต่ก็จะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ภูฎานยังคงมีพื้นทีป่าไม้อยู่มากเกือบ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ อัตราการตายของทารก และการไม่รู้หนังสือก็ลดลง

กาลเวลาก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนเข้าสู่เดือนธันวาคมปี ๒๐๐๖ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ชิงเก วังชุก ได้ทรงสละราชบัลลังก์เพื่อมอบอำนาจคืนให้แก่ประชาชน และพระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯให้จัดงานใหญ่ขึ้นพร้อมกันในปี ๒๐๐๘ ซึ่งจะเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกให้พระราชโอรสคือ เจ้าชายจิกมี เคชาร์ นัมเกล วังชุก วัย ๒๘ ชันษาให้เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่และจะเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งในปี ๒๐๐๘ ยังเป็นปีที่ฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีของพระราชวงศ์ และจะเป็นปีแรกที่ภูฎานจะมีรัฐบาลแรกในระบอบประชาธิปไตย

การที่สมเด็จพระราชาธิบดีผู้ครองราชสมบัติมายาวนานถึง ๓๔ ปี ได้ทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรสและยกเลิกการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของตนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ ทำให้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดฝันของประชาชนชาวภูฎาน ที่ยังไม่ต้องการประชาธิปไตย บางคนถึงกับกล่าวว่า

“ผมไม่ต้องการประชาธิปไตย เพราะทำให้เกิดความวุ่นวายเหมือนในเนปาลหรืออินเดีย แต่ว่าไม่ว่าพระองค์จะทรงบัญชาอย่างไร เราก็ต้องน้อมรับ...”

ช่างน่าแปลกที่เสียงเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองที่แข็งขันที่สุดกลับมาจากสมเด็จพระราชาธิบดีเอง พระองค์ทรงแย้งว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากภูฎานตกอยู่ในมือของคนชั่วหรือผู้นำที่ไร้ความสามารถ

ผู้นำคนใหม่ของภูฎานจึงต้องทำให้ประชาชนมีความสุข หากต้องการอยู่รอดในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย และในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังก้าวไปสู่ความทันสมัย ความอยู่รอดอาจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก ซึ่งภูฎานผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศเพียง ๒๑ ประเทศเท่านั้น และในจำนวนนั้นไม่มีประเทศมหาอำนาจทั้งหลายรวมถึง สหรัฐอเมริกา (มหามิตรที่แสนประเสริฐของประเทศไทยนับแต่ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ จนถึงบัดนี้)

Wednesday, March 26, 2008

บทความที่๓๗๗.ภารกิจเสรีไทย (๖)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์ (ชัยสงค์)
เมื่อรุ่งอรุณแห่งวันใหม่ ข้าพเจ้ารีบไปที่บ้านของ “เชื้อ” ที่สีลมแต่เช้า เมื่อเมื่อคืนนี้นอนคิดอยู่จนดึกว่า “หัวหน้าใหญ่” นั้นจะเป็นใคร และรู้สึกว่าอะไรมันก็ช่างลึกลับซับซ้อนไปเสียทุกอย่าง แม้แต่ ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร ซึ่งเป็นเพื่อนรักกันขนาด “เพื่อนตาย” ก็ไม่เคยแย้มพรายอะไรแก่ข้าพเจ้ามาแต่ก่อนเลย พอเริ่มแย้มพรายก็เป็นกิจลักษณะขึ้นมาทีเดียว และไม่สามารถจะเดาเรื่องราวอะไรได้ทั้งสิ้นแม้แต่เงาของมันก็รู้สึกว่าสลัวและซับซ้อนเกิดกว่าที่จะเดา

เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปในกำแพงบ้านของเขานั้น เพื่อนของข้าพเจ้ากำลังจะลงมืออาหารเช้า เพราะเพิ่งจะพ้น ๗.๐๐ น.ไปหยกๆนี่เอง เขาทักทายข้าพเจ้าอย่างดุๆว่า

“แหม แหกตามาแต่เช้าทีเดียว”

ข้าพเจ้าไม่ตอบอะไรในปัญหาที่เขาเอ่ย ได้แต่ทำไถลไปว่า

“มากินข้าวด้วย”

พร้อมทั้งคำพูด ข้าพเจ้าเอื้อมไปดึงจานข้าวต้มหมูของเขาที่กำลังตักใส่จานใหม่ๆ และไม่ฟังเสียงอะไร นอกจากทำหน้าที่กินทันที เขาหัวเราะเมื่อเห็นอาการทำไถล เขาหันไปตักข้าวต้มจานใหม่แล้วก็เอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋ากางเกง ควักเอาธนบัตรปึกหนึ่งส่งให้ข้าพเจ้าแล้วก็กล่าวว่า

“เอ้า นี่เงินราชการลับเป็นค่าใช้จ่ายของลื้อและชม ท่านอธิบดีสั่งจ่ายให้ลื้อ ๑,๖๐๐ บาท และให้ชม ๖๐๐ บาท แล้วก็ลงชื่อรับเงินเสียด้วย”

พร้อมกันเขาส่งใบเสร็จรับเงินราชการลับมาให้ข้าพเจ้าลงนาม เมื่อได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งใบเสร็จนั้นกลับคืนไปและไม่ลืมเอาเงินนั้นใส่กระเป๋าเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงเอ่ยถามขึ้นอย่างเบาๆ ว่า

“ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้เงินพิเศษแล้วจะเบิกได้ไหม?”

“เรื่องเงินนั้นไม่มีปัญหาอะไร ลื้อก็เคาะวิทยุรายงานเข้ามากรุงเทพฯ ว่าต้องการอะไร จะเอาไปใช้เรื่องอะไร เท่านั้นก็จะมีคนเอาเงินส่งไปถึงปากลื้อ” แล้วเขาก็หัวเราะแหะๆ

“อ้าว วิทยุนั่นไม่ได้เคาะไปเมืองนอกหรือ?”

“เซ่อไปได้ มันส่งไปได้ทั้งนั้นไม่ว่าในประเทศหรือนอกประเทศ” เขาอธิบายทำให้ข้าพเจ้าต้องครางออกมาเบาๆว่า

“ยังงั้นเรอะ ไม่รู้นี่หว่า”

เขาหัวเราะอย่างชื่นใจหลังจากที่ข้าพเจ้าได้รับสารภาพถึงความเซ่อแล้ว เขาก็หันมาตักข้าวต้มหมูทรงเครื่องให้อีก เราได้คุยกันในเรื่องเบ็ดเตล็ดปลีกย่อยอีกไม่น้อย ซึ่งมองเห็นเค้าของการทำงาน ในที่สุดเขาก็เย้าข้าพเจ้าว่า

“ถ้าอ้ายยุ่นมันจับได้ ลื้อจะทำอย่างไร?”

ข้าพเจ้าหัวเราะร่วนบ้างและคุยสำทับลงไปทีเดียวว่า

“อ้ายยุ่นจะไม่มีวันจับอั๊วได้อย่างเด็ดขาด ขอให้ลื้อจงไว้ใจไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าจับได้ต้องไม่ใช่อั๊ว..”

เขาตัดคำที่ทรนงของข้าพเจ้าอย่างเร็วว่า
“...ลื้อต้องระวังให้มาก เพราะที่ชุมพรนั้นมีทหารญี่ปุ่นอยู่หนึ่งกองพลใหญ่ มีกำลัง ๑๐,๐๐๐ คน วางกำลังเรียงรายไปตามถนนสายชุมพร กระบุรี ซึ่งเป็นคอคอดกระส่วนที่แคบที่สุดราว ๖๐ ไมล์เท่านั้น ลื้อจะต้องตกไปอยู่ท่ามกลางญี่ปุ่น ๑๐,๐๐๐ คนนี้ จงทำงานด้วยความรอบคอบ หากพลาดนิดเดียวเท่านั้นเป็นจบเลย โดยเฉพาะกองพลนี้มีฉายาว่า “กองพลทหารเสือ” เพราะเป็นกองพลของ “ยามาชิตะ” ซึ่งโจมตีและยึดสิงคโปร์ได้ เมื่อเขามีชัยที่สิงคโปร์แล้วก็ถอนตัวมาอยู่ที่คอคอดกระนี้ เพราะที่นั่นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากที่สุดในการยกพลขึ้นบก ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการยกพลขึ้นบกที่นี่เพราะจะได้ตัดกำลังของญี่ปุ่นให้ขาดออกไปเป็นสองส่วน แล้วเขาก็จะได้ขยี้ทีละส่วน”

ข้าพเจ้าฟังเพื่อนรักสาธยายเหตุการณ์ที่ชุมพรอย่างเคร่าๆ ด้วยอาการที่รู้สึกว่าคึกคักกว่าทุกวัน เพราะบัดนี้ข้าพเจ้ากำลังจะก้าวไปสู่เวทีแห่งการต่อสู้แล้ว จริงอย่างที่เพื่อนรักของข้าพเจ้ากล่าวอย่างแน่นอน หากว่าข้าพเจ้าปฏิบัติงานพลาดไปนิดเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าจะต้องตกอยู่ในสภาพที่ “แย่” จริงๆ เขาแสดงอาการขึงขังอย่างไม่สร่างซา ฟังเขาเล่าต่อไป

“ด้วยเหตุนี้อั๊วจึงเสนอความเห็นว่า จะต้องเอาลื้อไปที่ชุมพร ให้คนอื่นไปอาจจะพลาดพลั้งได้ เรื่องที่สำคัญก็คือว่า มีหน่วย “แคมเป้” (เคมเปไต)ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ชุมพร หัวหน้าหน่วยคือนายร้อยเอก เมลี่... ระวังให้ดีหน่อยเพราะที่นี่มันมีเครื่องจับวิทยุเถื่อนด้วย...”

“ว้า.. ..” ข้าพเจ้าร้องลั่น

เขาหันมามองข้าพเจ้าอย่างพรั่นพรึงเมื่อกล่าวถึงว่ามีเครื่องจับวิทยุเถื่อนด้วย ข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกว่าการต่อสู้ของข้าพเจ้าที่จะเริ่มต้นในอนาคตอันสั้นข้างหน้านี้ จำเป็นจะต้องเข้มแข็งเสียแล้ว แววตาของเพื่อนรักมีประกายแห่งความห่วงใยและวิตกกังวล ข้าพเจ้าจึงได้กลบความวิตกกังวลนั้นการคุยเขื่องของข้าพเจ้าขึ้นว่า

“ลื้อเคยเห็นอั๊วทำงานที่ไหนพลาดมาแล้วมีบ้างไหม?”

เขาไม่ตอบได้แต่ยิ้มเล็กน้อยในคำอ้างเป็นทำนองโม้ของข้าพเจ้า จึงได้สำทับต่อไปว่า

“ขอให้ลื้อมีความมั่นใจในการทำงานของอั๊ว ยิ่งอันตรายมากเท่าใดก็ยิ่งสนุกมากเท่านั้น ม่ายงั้นงานของเราก็ไม่มีรสชาติอะไร”

อาการของเขาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นห่วงข้าพเจ้า เพราะสภาพงานของข้าพเจ้านั้นล่อแหลมยิ่งไปกว่าของใครๆ เขารวบช้อนส้อมทั้งๆที่เขากินข้าวต้มไปไม่ถึงครึ่งชาม แล้วก็ดื่มกาแฟร้อนตามไปอีกถ้วยหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ารวบช้อนบ้าง เขาก็ลุกขึ้นยืนแล้วกล่าวว่า

“ไปกันดีกว่า.. ..”

“ไปไหน?”

“ท่าช้าง”

“ก็ไหนว่าวันนี้จะพาไปหา ‘หัวหน้าใหญ่’ ไงล่ะ”

“ก็พาไปน่ะซิ อยู่ที่ท่าช้างไงล่ะ...”

“ใคร?”

เขาหันมายิ้มกับข้าพเจ้าอย่างระรื่นก่อนตอบว่า

“ท่านปรีดี พนมยงค์”

ข้าพเจ้าเบิกตาลุกโพลง และขัดขึ้นทันทีว่า

“เอ๊ะ ก็ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี่นะ แล้วก็ไม่ได้เป็นทหารด้วย จะเป็นหัวหน้ารบญี่ปุ่นได้ยังไง?”

“เซ่ออีกแล้ว เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วสั่งรบไม่ได้ยังงั้นรึ..? เป็นพลเรือนรบไม่เป็นยังงั้นรึ?” ท่านเป็นหัวหน้าก็เป็นผู้วางนโยบายทางการเมือง และวางแผนทางยุทธศาสตร์ ส่วนทางเทคนิคของการรบนั้นท่านไม่ใช่เป็นคนจับปืนเหนี่ยวไกเอง อ้ายพวกรบนั้นมีเยอะแยะไป อย่างอั๊วอย่างลื้อใช้ได้ทั้งนั้น พวกที่ไปอบรมจากต่างประเทศก็กลับมาเยอะแยะแล้ว ทหารก็เข้ามาร่วม เสนาธิการก็มี ก็วางแผนในทางยุทธวิธีไปไม่ต้องห่วงอะไร ขอให้ลื้อเป็นห่วงในงานของลื้อเองก็แล้วกัน”

บทความที่๓๗๖.จันทกุมารชาดกเรื่องที่ต้องอ่าน

จันทกุมาร

ในครั้งโบราณ เมืองพารานสี มีชื่อว่า บุปผวดี มีกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าเอกราชา พระราชบุตรองค์ใหญ่ พระนามว่า จันทกุมาร ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราช และ พราหมณ์ชื่อกัณฑหาล เป็นปุโรหิตในราชสำนัก กัณฑหาล มีหน้าที่ตัดสินคดีความอีกตำแหน่ง

กัณฑหาลเป็นคน ไม่ยุติธรรม ไม่ซื่อสัตย์ มักจะรับสินบนจากคู่ความอยู่เสมอ ข้างไหนให้สินบนมาก ก็จะตัดสินความเข้าข้างนั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้ที่ได้รับความอยุติธรรมร้องโพนทนา โทษของกัณฑหาล ได้ยินไปถึงพระจันทกุมาร จึงตรัสถาม ว่าเกิดเรื่องอะไร บุคคลนั้นจึงทูลว่า "กัณฑหาลปุโรหิต มิได้เป็นผู้ทรงความยุติธรรม หากแต่รับสินบน ก่อความ อยุติธรรมให้เกิดขึ้นเนืองๆ"

พระจันทกุมารตรัสว่า "อย่า กลัวไปเลย เราจะเป็นผู้ให้ ความยุติธรรมแก่เจ้า" แล้ว พระจันทกุมารก็ทรงพิจารณาความอีกครั้ง ตัดสินไปโดย ยุติธรรม เป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชนทั้งหลาย ฝูงชนจึง แซ่ซ้องสดุดีความยุติธรรมของพระจันทกุมาร พระเจ้าเอกราชาทรงได้ยินเสียงแซ่ซ้อง จึงตรัสถาม ครั้นทรงทราบจึงมีโองการว่า

"ต่อไปนี้ ให้จันทกุมาร แต่ผู้เดียวทำหน้าที่ตัดสินคดีความทั้งปวงให้ยุติธรรม" กัณฑหาลเมื่อถูกถอดออกจากตำแหน่งหน้าที่ ก็เกิด ความเคียดแค้นพระจันทกุมาร ว่าทำให้ตนขาดผล ประโยชน์ และได้รับความอับอายขายหน้าประชาชน จึงผูกใจพยาบาทแต่นั้นมา

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าเอกราช ทรงฝันเห็นสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ เห็นความผาสุกสวยงาม ความรื่นรมย์ ต่างๆ นานา ในสรวงสวรรค์ เมื่อตื่นจากฝัน พระองค์ ยังทรงอาลัยอาวรณ์อยู่ และปรารถนาจะได้ไปสู่ ดินแดนอันเป็นสุขนั้น จึงตรัสถามบรรดาผู้ที่พระองค์ คิดว่าจะสามารถบอกทางไปสู่เทวโลกให้แก่พระองค์ได้ กัณฑหาลได้โอกาส จึงกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระราชา ผู้ที่ประสงค์จะไปสู่สวรรค์ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นคือ ทำบุญให้ทาน และฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า"

พระราชาตรัส ถามว่า "ฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า หมายความว่าอย่างไร"

กัณฑหาลทูลตอบว่า "พระองค์จะต้องการกระทำการ บูชายัญด้วยพระราชบุตร พระมเหสี ประชาชนหญิงชาย เศรษฐี และช้างแก้ว ม้าแก้ว จำนวนอย่างละสี่ จึงจะไป สู่สวรรค์ได้"

ด้วยความที่อยากจะไปเสวยสุขในสวรรค์ พระเจ้าเอกราชาก็ทรงเห็นดีที่จะทำบูชายัญตามที่กัณฑหาล ผู้มี จิตริษยาพยาบาททูลแนะ พระองค์ทรงระบุชื่อ พระราช บุตรพระมเหสี เศรษฐี ประชาชน และช้างแก้ว ม้าแก้ว ที่จะ บูชายัญด้วยพระองค์เอง อันที่จริงกัณฑหาลประสงค์ร้าย กับพระจันทกุมารองค์เดียวเท่านั้น แต่ครั้นจะให้บูชายัญ พระจันทกุมารแต่ลำพัง ก็เกรงว่าผู้คนจะสงสัย จึงต้องให้ บูชายัญเป็นจำนวนสี่ พระจันทกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ ก็ทรงอยู่ในจำนวนชื่อที่พระเจ้าเอกราชาโปรดให้นำมาทำ พิธีด้วย จึงสมเจตนาของกัณฑหาล

เมื่อช้าง ม้า และบุคคล ที่ถูกระบุชื่อ ถูกนำมาเตรียมเข้าพิธี ก็เกิดความโกลาหล วุ่นวาย มีแต่เสียงผู้คน ร้องไห้คร่ำครวญไปทั่ว พระจันทกุมารนั้น เมื่อราชบุรุษไปกราบทูลก็ทรงถามว่า ใครเป็นผู้ทูลให้พระราชาประกอบพิธีบูชายัญ ราชบุรุษ ทูลว่ากัณฑหาล ก็ทรงทราบว่าเป็นเพราะความ ริษยาพยาบาทที่ กัณฑหาลมีต่อพระองค์เป็นสาเหตุ ในเวลาที่ราชบุรุษไปจับเศรษฐีทั้งสี่มาเข้าพิธีนั้น บรรดาญาติพี่น้องต่างพยายามทูลวิงวอนขอชีวิตต่อ พระราชา แต่พระราชาก็ไม่ทรงยินยอม เพราะมี พระทัยลุ่มหลงในภาพเทวโลก และเชื่องมงายในสิ่งที่ กัณฑหาลทูล

ต่อมาเมื่อพระบิดาพระมารดาของ พระราชาเอง ทรงทราบก็รีบเสด็จมาทรงห้ามปรามว่า

"ลูกเอ๋ยทางไปสวรรค์ที่ต้องฆ่าบุตรภรรยา ต้องเบียด เบียนผู้อื่นนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร การให้ทาน การงดเว้นการเบียดเบียนต่างหาก เป็นทางสู่สวรรค์" พระราชาก็มิได้ทรงฟังคำห้ามปรามของพระบิดา พระมารดา พระจันทกุมารทรงเห็นว่าเป็นเพราะ พระองค์เองที่ไปขัดขวางหนทางของคนพาลคือ กัณฑหาล ทำให้เกิดเหตุใหญ่ จึงทรงอ้อนวอนพระบิดา ว่า

"ขอพระองค์โปรดประทานชีวิต ข้าพเจ้าทั้งปวงเถิด แม้จะจองจำเอาไว้ก็ยังได้ใช้ประโยชน์ จะให้เป็น ทาส เลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า หรือขับไล่ไปเสียจากเมืองก็ย่อมได้ ขอประทานชีวิตไว้เถิด"

พระราชาได้ฟังพระราชบุตร ก็ทรงสังเวชพระทัยจน น้ำพระเนตรไหล ตรัสให้ปล่อย พระราชบุตร พระมเหสี และทุกสิ่งทุกคนที่จับมาทำพิธี ครั้นกัณฑหาลทราบ เข้าขณะเตรียมพิธีก็รีบมาทูบคัดค้าน และ ล่อลวงให้ พระราชาคล้อยตามด้วยความหลงใหลในสวรรค์อีก พระราชาก็ทรงเห็นดีไปตามที่กัณฑหาล ชักจูง

พระจันทกุมารจึงทูลพระบิดาว่า

"เมื่อข้าพเจ้ายังเล็กๆ อยู่ พระองค์โปรดให้พี่เลี้ยง นางนม ทะนุ บำรุงรักษา ครั้นโตขึ้นจะกลับมาฆ่าเสียทำไม ข้าพเจ้าย่อมกระทำ ประโยชน์แก่พระองค์ได้ พระองค์จะ ให้ฆ่าลูกเสีย แล้วจะอยู่กับคนอื่นที่มิใช่ลูกจะเป็นไปได้อย่างไร ในที่สุดเขาก็คงจะฆ่าพระองค์เสียด้วย พราหมณ์ที่สังหาร ราชตระกูล จะถือว่าเป็นผู้มีคุณประโยชน์ได้อย่างไร พราหมณ์นั้นคือผู้เนรคุณ"

พระราชาได้ฟัง ก็สลดพระทัย สั่งให้ปล่อยทุกชีวิต ไปอีกครั้ง แต่ครั้นพราหมณ์กัณฑหาลเข้ามากราบทูล ก็ทรงเชื่ออีก พระจันทกุมารก็กราบทูลพระบิดาว่า

"ข้าแต่พระบิดา หากคนเราจะไปสวรรค์ ได้เพราะ การกระทำบูชายัญ เหตุใดพราหมณ์จึงมิทำบูชายัญ บุตรภรรยาของตนเองเล่า เหตุใดจึงได้ชักชวนให้คน อื่นกระทำ ในเมื่อพราหมณ์ก็ได้ทูลว่า คนผู้ใดทำ บูชายัญเองก็ดี คนผู้นั้นย่อมไปสู่สวรรค์ เช่นนั้นควรให้ พราหมณ์กระทำบูชายัญด้วยบุตรภรรยาตนเองเถิด"

ไม่ว่าพระจันทกุมารจะกราบทูลอย่างไร พระราชา ก็ไม่ทรงฟัง บุคคลอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง พระวสุลกุมารผู้เป็นราชบุตรของพระจันทกุมาร มาทูลอ้อนวอน พระเจ้าเอกราชาก็ไม่ทรงยินยอมฟัง ฝ่ายกัณฑหาลเกรงว่าจะมีคนมาทูลชักจูงพระราชาอีก จึงสั่งให้ปิดประตูวัง และทูลเชิญพระราชาให้ไป อยู่ในที่อันคนอื่นเข้าไปเฝ้ามิได้ เมื่อถึงเวลาทำพิธี มีแต่เสียงคร่ำครวญของราชตระกูล และฝูงชนที่ญาติ พี่น้องถูกนำมาเข้าพิธี

ในที่สุด นางจันทาเทวีผู้เป็นชายา ของพระจันกุมาร ซึ่งได้พยายามทูลอ้อนวอนพระราชา สักเท่าไรก็ไม่เป็นผล ก็ได้ ติดตามพระจันทกุมารไป สู่หลุมยัญด้วย เมื่อกัณฑหาลนำถาดทองมาวางรอไว้ และเตรียมพระขรรค์จะบั่นคอพระจันทกุมาร พระนางจันทาเทวีก็เสด็จไปสู่หลุมยัญ ประนมหัตถ์บูชา และกล่าวสัจจวาจาขึ้นว่า

"กัณฑหาลพราหมณ์เป็น คนชั่วเป็นผู้มีปัญญาทราม มีจิตมุ่งร้ายพยาบาท ด้วยเหตุแห่งวาจาสัตย์นี้ เทวดา ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง จงช่วยเหลือเรา ผู้ไร้ที่พึ่ง ผู้แสวงหาที่พึ่ง ขอให้เราได้อยู่ร่วมกับสามีด้วยความสวัสดีเถิด ขอให้พระเป็นเจ้า ทั้งหลายจงช่วยสามีเรา ให้เป็นผู้ที่ศัตรูทำร้ายมิได้เถิด"

เมื่อพระนางกระทำสัจจกริยา พระอินทร์ได้สดับ ถ้อยคำนั้น จึงเสด็จมาจากเทวโลก ทรงถือค้อนเหล็กมี ไฟลุกโชติช่วง ตรงมายังพระราชา กล่าวว่า

"อย่าให้เรา ถึงกับต้องใช้ค้อนนี้ประหารเศียรของท่านเลย มีใครที่ ไหนบ้าง ที่ฆ่าบุตร ภรรยา และเศรษฐีคหบดีผู้ไม่มีความ ผิดเพื่อที่ตนเองจะได้ไปสวรรค์ จงปล่อยบุคคลผู้ปราศ จากความผิดทั้งปวงเสียเดี๋ยวนี้" พระราชาตกพระทัยสุดขีด สั่งให้คนปลดปล่อยคน ทั้งหมดจากเครื่องจองจำ

ในทันใดนั้นประชาชนที่รุม ล้อมอยู่ก็ช่วยกันเอาก้อนหิน ก้อนดินและท่อนไม้ เข้าขว้างปาทุบตีกัณฑหาลพราหมณ์จนสิ้นชีวิตอยู่ ณ ที่นั้น แล้วหันมาจะฆ่าพระราชา แต่พระจันทกุมารตรงเข้ากอด พระบิดาไว้ ผู้คนทั้งหลายก็ไม่กล้าทำร้าย ด้วยเกรง พระจันทกุมารจะพลอยบาดเจ็บ ในที่สุดจึงประกาศว่า

"พวกเราจะไว้ชีวิตแก่พระราชาผู้โฉดเขลา แต่พวกเราจะให้ครองแผ่นดิน มิได้" เราถอดพระยศพระราชาเสียให้เป็นคนจัณฑาล แล้วไล่ออกจากพระนครไป จากนั้นมหาชนก็กระทำพิธีอภิเษกพระจันทกุมารขึ้น เป็นพระราชา ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรม เมื่องทรงทราบว่าพระบิดาตกระกำลำบากอยู่นอกเมือง ก็ทรงให้ความช่วยเหลือพอที่พระบิดาจะดำรงชีพอยู่ได้ พระจันทกุมารปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ตลอดมาจนถึงที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ ก็ได้เสด็จไปเสวยสุข ในเทวโลก ด้วยเหตุที่ทรงเป็น ผู้ปกครองที่ดี ที่ทรงไว้ซึ่ง ความยุติธรรม ไม่หลงเชื่อ วาจาคนโดยง่าย และ ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อตรง


ฟังธรรมบรรยายเรื่องจันทกุมารชาดกได้ที่ http://www.whitemedia.org/wma/content/view/874/6/

Tuesday, March 25, 2008

บทความที่๓๗๕.ภารกิจเสรีไทย (๕)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์(ชัยสงค์)
ข้าพเจ้าออกจากวังปารุสกวัน มิได้กลับไปบ้านพักแต่ตรงไป ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร อีกครั้งหนึ่ง พอโผล่หน้าเข้าไปให้เห็นเท่านั้น เขาก็หัวเราะเสียงดังเป็นการทักทายข้าพเจ้าเช่นเคย และกระแหนะกระแหนเอากับข้าพเจ้าว่า

“อั๊วโกหกหรือเปล่าเล่า?”

ข้าพเจ้าไม่ตอบคำถามของเขาเพราะรู้อยู่ว่าเขากำลังจะตอแย จึงตัดบทเสียว่า

“ได้ไปพบอธิบดีมาแล้ว”

“เออๆ ท่านว่าอย่างไรบ้าง?” เขาถามอย่างเร็ว

“ท่านบอกให้มาถามรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ลื้อ แล้วก็ให้พาอั๊วไปหา นายเชื้อ หุ่นจำลอง พนักงานเคาะวิทยุที่บ้านมะลิวัลย์ แล้วก็ให้เตรียมตัวเดินทาง พอคำสั่งย้ายออกก็ให้เดินทางไปโดยด่วน..”

เขาตัดบทขึ้นโดยข้าพเจ้ายังกล่าวไม่ทันจบว่า

“เรื่องงานนั้นอั๊วไม่รู้รายละเอียดนี่หว่า ต้องไปถามหัวหน้าใหญ่จึงจะรู้ อั๊วรู้นิดหน่อยเท่านั้น เดี๋ยวบอกผิดไปก็จะเสียการ”

ข้าพเจ้างงน้อยๆ ในคำว่า “หัวหน้าใหญ่” เพราะข้าพเจ้าไปพบนายพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส มาแล้วเขาก็ยังกล่าวว่ามี “ใหญ่” กว่านั้นอีก จึงได้ซักว่า

“อ้าว,แล้วก็ท่านอธิบดีนั้นไม่ได้เป็นหัวหน้าใหญ่หรือ ?”

เขาหัวเราะอย่างกวนประสาทก่อนตอบว่า

“ใหญ่นั้นก็ใหญ่เหมือนกัน แต่หญ่ายกว่านั้นยังมีอีก” แล้วเขาก็ทำยานคางให้ข้าพเจ้าเกิดโทสะแกมกระหายที่อยากจะทราบว่าผู้นั้นเป็นใคร จึงเร่งรัดว่า

“ใครเป็นหัวหน้าใหญ่ที่ลื้อว่า ?”

เขาไม่ตอบข้าพเจ้าราวกับว่ามันเป็นความลับลี้อย่างที่สุดค่อยๆ ป้องปากบอกกับข้าพเจ้าว่า

“พรุ่งนี้ ๙.๐๐ น. อั๊วจะพาลื้อไปพบดีกว่า ยังไม่ต้องรู้วันนี้ เพราะมันไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องรู้วันนี้ พรุ่งนี้ ๙.๐๐ น. ลื้อไปพบอั๊วที่บ้านแล้วจะพาลื้อไปเลย ค่ำวันนี้อั๊วจะไปเรียนท่านล่วงหน้าเสียก่อน ส่วนคนเคาะวิทยุนั้นค่อยไปพบทีหลัง”

คำพูดของเขายิ่งเพิ่มความอึดอัดใจให้ข้าพเจ้ายิ่งขึ้น ดูอะไรมันเป็นความลับไปเสียหมด วิธีการของเขาทำให้ข้าพเจ้าหัวเสียเพราะอะไรๆ ข้าพเจ้าก็เข้าร่วมมือแล้ว แต่ก็ยังปิดบังอยู่แม้แต่ระยะเวลาเพียงคืนเดียวก็เอาดี ดูราวกับว่าเขาไม่ไว้วางใจข้าพเจ้า เมื่อรุกเร้าหนักเข้าเขาก็พาลทำเป็นหัวเราะเสียงหลงราวกับขบขันเสียเต็มประดาในที่สุดเขาก็กล่าวขึ้นว่า

“เรากำลังขยายงานออกไปทุกจังหวัด ของลื้อนั่นมันชุมพร ของรัตน์เขาอยู่ที่สุราษฎร์ ของประสาธ์นพังงา ของเชาว์กระบี่ นอกจากนั้นเราก็มีไปทุกจังหวัด ที่บอกให้ลื้อรู้ไว้นี่ก็เพราะเห็นว่าเป็นจังหวัดใกล้เคียงจะได้ติดต่อกัน”

ข้าพเจ้าค่อยๆสว่างออกเป็นลางๆว่า ร.ต.อ.รัตน์ วัฒนมหาตม์ นั้นจะต้องรับผิดชอบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร.ต.อ.ประสาธน์ สุวรรณสมบูรณ์ นั้นรับผิดชอบจังหวัดพังงา และ ร.ต.อ.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ นั้นจะต้องรับผิดชอบจังหวัดกระบี่ แต่ยังไม่กระจ่างพอ ข้าพเจ้าจึงได้ซักไซร้อีกว่า

“แล้วก็จังหวัดระนองล่ะเป็นจังหวัดข้างเคียงเหมือนกัน เป็นใครไม่เห็นบอก?”

เขานิ่งไปสักอึดใจ แล้วก็กลับตะคอกเอาว่า

“เอ, อ้ายนี่อยากรู้มากจริงแฮะ จังหวัดระนองไม่ใช่ตำรวจ อั๊วบอกไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นการเกินเลยไป เขามีอยู่แล้วทุกจังหวัดไม่ต้องถามก็ได้”

“แล้วก็จังหวัดประจวบฯ ล่ะ?”

ข้าพเจ้าซักอีกเพราะถือว่าเป็นจังหวัดข้างเคียง ข้าพเจ้าทำตาเขียวเอาบ้างเขาก็เลยหัวเราะแหะๆ ออกมา พูดเสียงอ่อยๆว่า

“ที่ประจวบนั่นไม่มี มันมีที่หัวหิน แต่ก็เป็นเขตจังหวัดประจวบเหมือนกัน”

“อ้อ! ก็แล้วใครเป็นหัวหน้าล่ะ?”

“ลื้อไม่ต้องรู้เวลานี้ ต่อไปก็รู้เองบอกได้ว่าไม่ใช่ตำรวจเรา”

ข้าพเจ้าไม่ได้โต้เถียงอะไรเขาเพราะรู้ว่าเขามีความระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอย่างสูง เท่าที่เขาชี้แจงต่อหน้าข้าพเจ้านั้นก็มากพอสมควรอยู่แล้ว หากเป็นคนอื่นแล้ว ข้าพเจ้าก็จะไม่กล้าซักถามเขาถึงขนาดนี้ เพราะเป็นการเสียมารยาทที่จะเอื้อมไปรู้ถึงความลับในด้านอื่นซี่งตนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่ก็เพราะข้าพเจ้าไม่มีเรื่อง “มารยาท” เฉพาะเพื่อนคนนี้ ข้าพเจ้าจึงบังอาจพอที่จะซักเขาบ้างพอสมควร ลงท้ายเขาก็เย้าข้าพเจ้าว่า

“เป็นเรื่องของความลับโว้ย ลื้อไม่ได้เป็นผู้บัญชาการ ลื้อไม่ต้องรู้อะไรให้มาก รู้ไว้เฉพาะงานในหน้าที่ของลื้อก็แล้วกัน”

ปากของข้าพเจ้าคันขึ้นมาทันทีที่เขากล่าวเช่นนั้น จึงได้ย้อนถามไปว่า

“ก็ลื้อเป็นผู้บัญชาการเมื่อไหร่ล่ะ แต่ก็เสือกรู้ไปเสียหมด”

เขาหัวเราะเสียงหลงไปพักใหญ่ก็ตอบข้าพเจ้าว่า

“ก็อั๊วเป็น “เบ๊” นี่โว้ย ไม่รู้ได้หรือวะ...”

คำตอบของเขาทำให้ข้าพเจ้ายิ้มออกมาได้ เพราะคำว่า “เบ๊” ของเขานั้นมีความหมายว่าเขาทำหน้าที่เป็น “ม้าใช้” เที่ยวติดต่อคนโน้นคนนี้จึงได้ทราบเรื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่อยากจะซักอะไรเขาอีก และเป็นที่เชื่อเขาได้ว่า เรื่องการต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นนี้ เขามิได้ปดข้าพเจ้าเหมือนเรื่องอื่นอย่างแน่นอน

Monday, March 24, 2008

บทความที่๓๗๔.ภารกิจเสรีไทย (๔)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์(ชัยสงค์)

เย็นวันนั้นข้าพเจ้าก้าวเข้าสู่วังปารุสกวัน เมื่อข้ามสะพานเล็กๆ ก็พบกับตำรวจอารักขาของข้าพเจ้า ๒-๓ คน เขาชะโงกหน้ามาถามข้าพเจ้าว่า

“ผู้กองมาพบท่านอธิบดีหรือครับ ?”

ข้าพเจ้าพยักหน้าแทนคำตอบ

นายสิบโทแห่งแผนกอารักขายิ้มย่องและบอกให้ข้าพเจ้ารออยู่ก่อน ตัวเขาเองได้เข้าไปรายงานต่อท่านอธิบดีเพื่อขอรับอนุมัติ ก่อนชั่วเวลาไม่ถึง ๕ นาที เขาก็กลับมาบอกข้าพเจ้าว่า

“ท่านอธิบดีบอกว่าเชิญครับ”

ข้าพเจ้าดึงชายเสื้อให้เครื่องแบบตึงเป๊ะ สายคันชีพของข้าพเจ้าถูกจัดให้ตรงแหล่ง ลูกกระดุมทุกเม็ดถูกสำรวจว่าได้เข้าไปอยู่ในรังดุมเรียบร้อยแล้วหรือ ตลอดจนขอคอจะต้องไม่หลุด หัวเกือกของข้าพเจ้าจะต้องมันวาวไม่มีผงอะไรมาทำให้เลอะเทอะ เหล่านี้ข้าพเจ้าจะต้องสำรวจอีกเป็นครั้งที่สองถัดจากครั้งแรกที่ได้สำรวจแล้วที่หน้าวังปารุสกวัน ข้าพเจ้าทราบดีว่าท่านอธิบดีผู้นี้ชอบในสิ่งที่เป็นระเบียบงดงาม..ทุกอย่างด้วยวินัย

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็ก้าวตรงไปยังตึกสองชั้นเล็กๆ ด้วยอาการอกตั้งมองเห็นนายตำรวจ เอก อดุล อดุลเดชจรัสนั่งทำงานอยู่ที่ห้องชั้นล่าง วันนั้นสวมเสื้อเชิร์ตแขนยาวสีขาวอย่างเรียบร้อย สวมกางเกงสีกากีขายาว ส่วนเสื้อเครื่องแบบนั้นแขวนไว้ที่พนักเก้าอี้ตัวที่ท่านนั่งอยู่นั้นเอง เมื่อเข้าไปในห้องซึ่งระเกะระกะด้วยสมุดประวัติและเอกสารมากมายนั้น ข้าพเจ้าได้ถอดหมวกและถือมันไว้ในมือซ้ายตามระเบียบ ก้าวเข้าไปชิดเท้าที่หน้าโต๊ธทำงานของท่านและโค้งตัวลง พลันท่านก็เงยหน้าขึ้นและสายตาของข้าพเจ้าก็เผชิญกับดวงตาสีเหล็กอันแข็งกร้าว แววตานั้นเต็มไปด้วยกังวลแห่งกิจการงาน ข้าพเจ้าจึงรายงานว่า

“กระผมนายร้อยตำรวจเอก เฉียบ ชัยสงค์ สารวัตรประจำแผนก ๒ กองกำกับการ ๔ ตำรวจสันติบาล นายร้อยตำรวจเอกเชื้อ สุวรรณศร บอกกับผมว่าท่านอธิบดีต้องการพบผม”

“คุณเฉียบเรอะ..”

ท่านอธิบดีทักชื่อข้าพเจ้าก่อนที่ข้าพเจ้าจะรายงานจบ เหมือนกับว่าท่านมิได้สนใจกับถ้อยคำที่ข้าพเจ้ารายงานนั้น พร้อมกันได้ชี้มือไปที่เก้าอี้ตัวหนึ่งหน้าโต๊ะทำงานของท่านและพูดว่า

“นั่งลงๆ...”
ข้าพเจ้านั่งลงที่เก้าอี้ตัวนั้นอย่างว่าง่ายและระมัดระวังอิริยาบททุกอย่างมิให้มีการผิดพลาดลงได้ สำรวมตนจนได้ยินเสียงหายใจของตนเอง ไม่ช้านักท่านก็กล่าวขึ้นว่า

“ผมจะให้คุณไปทำงานที่จังหวัดชุมพร เชื้อเขาบอกแล้วไม่ใช่หรือ?”

“ครับ”

“หน่วยนี้เป็นหน่วยอเมริกัน”

“ครับ”

“คนเคาะวิทยุของคุณชื่อนายเชื้อ หุ่นจำลอง เวลานี้พักอยู่ที่บ้านมะลิวัลย์ ให้คุณไปบอกเชื้อให้เขาพาไปพบ เมื่อพบแล้วให้เตรียมตัวเดินทางได้ แล้วก็ขอให้ระมัดระวังในการปฏิบัติงานอย่าประมาท และให้รักษาความลับอย่างยิ่งยวด..”

หยุดไปอึดใจหนึ่งท่านอธิบดีก็กล่าวขึ้นอีกว่า

“อ้อ,ผมจะต้องออกคำสั่งย้ายคุณก่อน ให้คุณไปดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ แล้วคุณก็จะต้องเลือกเอานายที่ไว้ใจได้ไปคนหนึ่งท ลองคิดดูซิเขาเป็นใคร ผมจะได้ออกคำสั่งย้ายไปพร้อมกันเลยทีเดียว”

ข้าพเจ้าไม่ต้องตรึกตรองให้มากความ ได้ตอบไปทันทีว่า

“นายสิบตำรวจโท ชม แสงเงินครับ เดี๋ยวนี้ประจำอยู่แผนก ๒ ร่วมกันกับผม”

เสียงว่า “งั้นเรอะ” ข้าพเจ้าส่งสายตากวาดไปที่โต๊ะทำงานของท่านก็เห็นท่านจดชื่อนายสิบของข้าพเจ้าลงบนเศษกระดาษที่วางไว้ตรงหน้านั้น

ข้าพเจ้ายังงงอยู่ว่า ข้าพเจ้าจะไปทำงานอะไร และมีวิธีการอย่างไร ก็ยังไม่ที่แจ่มแจ้งจึงได้ถามขึ้นอีกว่า

“แล้วท่านอธิบดีจะให้ผมดำเนินงานอย่างไรล่ะครับ..?”

“อ้าว, ยังไม่รู้เรอะ รายละเอียดไปถามเชื้อเขาดูก็แล้วกัน” ท่านตัดบทสั้นๆ แล้วก็หันมาถามข้าพเจ้าเป็นประโยคสุดท้ายว่า

“เข้าใจไหม?”

“เข้าใจครับ” ข้าพเจ้าตอบออกไปทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจอะไรอีกหลายอย่าง ขณะที่กำลังงงๆ อยู่นั้นก็ได้ยินเสียงสั่งการต่อไปอีกว่า
“ถ้างั้นก็รีบไปดำเนินการได้”

ข้าพเจ้าถอยออกมาก้าวหนึ่ง ไม่ลืมคำนับเสียก่อนที่จะออกจากห้องนั้นไป บัดนี้ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นน้อยๆ ที่กำลังจะได้ทำงาน “พิเศษ” แต่ยังไม่ทราบว่างาน “พิเศษ” นั้นคืองานอะไรแน่ รู้แต่เพียงว่าจะเข้าต่อสู้กับ “อ้ายยุ่น” เท่านั้นเอง และรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นอีกหน่อย เมื่อท่านอธิบดีบอกว่าข้าพเจ้ามีคนเคาะวิทยุ เสียด้วย รำพึงอยู่ภายในจิตใจว่าจะเคาะส่งภายในประเทศหรือว่าจะเคาะส่งไปต่างประเทศ หากส่งไปต่างประเทศก็หมายความว่าสงครามที่เราจะดำเนินการนี้จะต้องร่วมมือกับต่างประเทศแล้วก็หวนไปคิดถึงคำของ ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร ที่ว่า อาวุธของเราจะสามารถส่งมาจากเมืองฝรั่งได้ ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ครามครันว่าจะส่งเข้ามาได้อย่างไร มันออกจะเป็นเรื่องที่น่าพิศวงอยู่ไม่น้อย

บทความที่๓๗๓.ภารกิจเสรีไทย (๓)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์(ชัยสงค์)
บทบาททางการเมืองของข้าพเจ้าในการต่อสู้จักรวรรดินิยมได้เริ่มขึ้นในตอนเช้าวันหนึ่ง วันนั้นข้าพเจ้ากำลังเข้าเวรเป็น “ผู้บังคับกองรักษาการณ์ภายใน” อยู่ภายในกองสันติบาล ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร เพื่อนรักร่วมชั้นเรียนครั้งในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเข้ามาหาข้าพเจ้า เขาส่งยิ้มมองเห็นเขี้ยวทั้งสองที่งอกขึ้นมาแต่ไกล

เมื่อใกล้เข้ามาก็หัวเราะแฮะๆ ร่วนไปมาโดยไม่เห็นมีเรื่องอะไรเป็นที่น่าขบขันเลยแม้แต่น้อย ทำเอาข้าพเจ้าก็ต้องพลอยหัวเราะไปกับเขาด้วย คือเป็นการหัวเราะขบขันในการที่เพื่อนของข้าพเจ้าหัวเราะโดยไม่มีการขบขันนั่นเอง นี่แหละคือนิสัยของเขา เมื่อพบหน้าก็หัวเราะร่วมเป็นการประจำโดยไม่ต้องมีการขบขันใดๆ

ในที่สุดเขาเข้ามายืนตรงหน้าข้าพเจ้า แล้วก็ตั้งคำถามเอาดื้อๆ ว่า-

“เฮ้ย, ลื้อเกลียดอ้ายยุ่นไหมวะ?”

คำว่า ‘อ้ายยุ่น’ นั้นข้าพเจ้าเข้าใจมานานแล้วว่ามีความหมายถึง ‘ยุ่นปี่’ คือทหารญี่ปุ่นที่มีอยู่เกลื่อนถนนในเวลานี้ ข้าพเจ้ามิพักต้องตรึกตรองแม้แต่น้อย ได้ตอบเขาไปอย่างทันควันที่สุดว่า-

“อ้ายห่า ไม่ต้องถาม เรื่องอ้ายยุ่นนี้ อั๊วอยากลากไส้มันเหลือเกิน...”

พูดยังไม่ทันจะขาดคำ เขาก็ยื่นปากของเขาที่มีเขี้ยวนั้นมาใกล้หูข้าพเจ้าแล้วก็พูดเบาๆว่า

“เมื่อลื้อเกลียดมันแล้วลื้อจะร่วมมือกับอั๊วไหม?... นี่ลับนะโว้ย อย่าเอะอะไป”

“ร่วมอย่างไรไม่เข้าใจ?” ข้าพเจ้าถามอย่างเร็ว

“รบมันนะซี”

ข้าพเจ้าตะลึงที่เพื่อนรักตอบโพล่งออกมาอย่างตรงๆ ชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ยอะไร ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะเชื่อถือเขานัก เพราะเขาเป็นผู้มีนิสัยชอบคุยเล่น เอาแต่สนุกสนานและรู้สึกอยู่ภายในจิตใจว่าไม่ว่าจะเป็นเช่นนั้นได้เพราะประเทศของเรายากจน อีกทั้งก็เป็นประเทศเล็กๆ และไม่มีอาวุธพอที่จะเข้าต่อกรกับมหาประเทศเช่นนั้นได้ จึงได้กล่าวขึ้นว่า

“พูดจริงหรือพูดเล่น? อาวุธก็ไม่มีพอที่จะรบ อ้ายห่าพูดอย่างนี้ได้ตายโหงกันบ้าง...”

เขาหัวเราะเสียงดังกลบคำพูดตอนท้ายของข้าพเจ้าไปเสียหมด เขางอหายไปไม่น้อยกว่า ๑๐ วินาทีจึงได้เริ่มอธิบายว่า

“เรื่องอาวุธนั้นลื้อไม่ต้องตกใจ เรามีทุกอย่างครบครัน ไม่พอก็ส่งมาจากเมืองฝรั่งได้ สำคัญมันอยู่ที่ว่าลื้อจะเอาไหมเท่านั้นเอง?”

ข้าพเจ้าทำตาโตก่อนถามเขาว่า

“ก็อ้ายยุ่นมันคุมหมดประเทศอย่างนี้แล้วจะขนถ่ายอาวุธที่ท่าเรือได้อย่างไร..?”

“อ้ายห่ามัวแต่เซ่อนอนกอดเมียอยู่นั่นแหละ ไม่รู้หรือว่าอาวุธเขาส่งเข้ามาเยอะแยะแล้ว บ้านเมืองก็จะลุกเป็นไฟอยู่แล้ว”

ข้าพเจ้าเคืองขึ้นมาหน่อยๆ ที่เขาหาว่า ข้าพเจ้ามัวแต่นอนกอดเมีย เมื่อเห็นอาการข้าพเจ้าชักไม่พอใจ เขาก็หัวเราะขึ้นมาอย่างขบขัน ครั้งนี้เป็นการหัวเราะนานกว่าครั้งใดๆ และมีลูกคอผสมด้วย เพราะสามารถแหย่เส้นเข้าแล้ว ข้าพเจ้าก็ตอบไปอย่างไม่ค่อยพอใจนักว่า

“ก็อั๊วเข้าเวรเป็น ‘ไทยยาม’ อยู่ยังงี้จะไปรู้เรื่องอะไรวะ..ไม่เหมือนลื้อนี่โว้ยเที่ยวซอกแซก อยู่สอบสวนกลางควบคุมคดีทั่วราชอาณาจักร..”

เขาหัวเราะแหะๆ อีกครั้งแล้วก็หันมาพูดกับข้าพเจ้าทำท่วงท่าอย่างฝืนๆ ทำเป็นเอาการเอางานว่า

“นี่ อั๊วขอรู้แต่เพียงว่าจะเอาหรือไม่เอาเท่านั้น ?”

“เอาอะไร?”

“รบอ้ายยุ่นน่ะซิ” เขากระแทรกเสียง

ข้าพเจ้านึกเคืองออกมานิดๆ เพราะคำถามนี้ได้ตอบไปแล้ว จึงกระแทกเข้าให้ว่า “อ้ายห่า อั๊วก็บอกแล้วว่า ‘เอา’ แล้วจะยังมาถามอะไรอีกรำคาญจริง”

เขาหัวเราะอย่างชอบใจอีกครั้งหนึ่งก่อนกล่าวว่า

“เรื่องพรรค์นี้ ก็ต้องถามให้มันชัดๆ หน่อยซิโว้ย เรื่องรบกันนะโว้ย ไม่ใช่ขี้ไก่..”

ข้าพเจ้าเอาศอกกระทุ้งเข้าที่ชายโครงเบาๆ แล้วบอกว่า

“นี่ เบาๆ หน่อย ไหนว่าเป็นความลับ แหกปากพูดไปได้ ได้ยินไปทั้งกองรักษาการณ์แล้ว”

“เออจริง” เขาตอบแล้วก็ทำท่าทางเอามือป้องปากพูด กระซิบกระซาบ ทำเอาข้าพเจ้าหมั่นไส้จึงถามเขาเบาๆ ว่า

“ลื้อจะวางโปรแกรมให้อั๊วไปรบที่ไหน?”

“ชุมพร” เขาตอบข้าพเจ้าแล้ววางหน้าตาเฉย

“งั้นอั๊วก็ต้องย้ายไป..”

“เออ”

“วะ ลื้อก็เป็นอธิบดีกรมตำรวจน่ะซิ จึงได้สั่งย้ายอั๊วไปได้ตามชอบใจ” ข้าพเจ้าขัดอย่างดูถูกเขาอย่างเต็มที่ว่า เขาจะไม่สามารถย้ายข้าพเจ้าไปได้

“เชื้อ สุวรรณศร หัวเราะงอหายอีกครั้งจนเหงือกแห้ง ริมฝีปากของเขาค่อยๆ ครูดลงมากับเขี้ยวทั้งสองข้างอันเป็นสัญลักษณ์ของเขาแล้วก็หลิ่วตาเอ่ยขึ้นว่า

“ก็อั๊วรู้ซิวะว่าลื้อจะต้องสู้อ้ายยุ่น อั๊วก็เลยบอกท่านอธิบดีไปโดยไม่ต้องมาถามลื้อว่า อั๊วเอาลื้อได้อีกคนหนึ่ง-อ้าวฟัง อั๊วจะออกคำสั่งให้ลื้อไปหาอธิบดีได้ที่วังปารุสนี้ แล้วลื้อก็จะรู้รายละเอียด”

ข้าพเจ้างงเหมือนได้ดูการแสดงของนักแสดงกล บัดนี้เป็นกลฉากหนึ่งของเพื่อนรักของข้าพเจ้าที่มาแสดงตลกแกมจริง อดอยู่ไม่ได้จึงซักฟอกว่า

“อ้ายห่า-พูดเล่นหรือพูดจริง หน่อยท่านไม่ได้เรียก อั๊วเสือกเข้าไปก็จะถูกตะเพิดวิ่งออกมาไม่ทัน..”

ข้าพเจ้าพูดยังไม่ทันจะขาดคำเขาก็ตัดคำพูดของข้าพเจ้าโดยใช้คำขึ้นหน้านามข้าพเจ้าใหม่ ดักขึ้นว่า

“เฮ้ย..นี่อ้ายเฉียบ, อั๊วพูดแล้วไม่โกหก อั๊วบอกลื้อให้ไปหาท่านอธิบดีวันนี้ ถ้าลื้อไม่ไป งานใหญ่มันจะเสียโว้ย เข้าใจไหมวะ ?”

“จริงๆ รึ ? ไม่โกหกแน่นะ” ข้าพเจ้าย้ำ

“พุธโธ่..ลื้อเห็นอั๊วเป็นนักโทษไปได้.. เมื่อก่อนน่ะโกหกจริง แต่วันนี้ไม่ได้โกหก พูดจริงๆ”

แล้วเขาก็ตีหน้ากับข้าพเจ้าราวกับว่าเขาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และทำท่าทางไม่เหมือนก่อน มีการสำรวมการหัวเราะของเขาลง พยายามแสดงอาการขึงขังให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่เขากล่าวนั้นเป็นความจริง เพราะเครดิตของเขาเฉพาะกับข้าพเจ้าเสื่อมไปหมดแล้ว เนื่องจากเขาชอบพูดเล่นกับข้าพเจ้าเสียจนไม่เป็นมื้อเป็นยาม ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตกลงกับเขาว่า

“ถ้างั้นออกเวรเที่ยงวันนี้แล้ว ตอนเย็นอั๊วจะไปหาท่านอธิบดีตามลื้อว่านะ”

“เออ ยางงั้นซีวะ..”

เขายานคางด้วยสายตาอันแจ่มใสด้วยอาการสิ้นกังวล แล้วเขาก็ทำวันทยาหัตถ์ด้วยอาการล้อเลียนข้าพเจ้าทั้งๆที่เขาแต่งพลเรือนและสวมหมวกกะโล่ แล้วหมุนตัวออกไปจากห้อง “ผู้บังคับกองรักษาการณ์ภายใน”

ข้าพเจ้ามองตามหลังเขาไปตามถนนโรยกรวดเล็กๆ ซึ่งตรงไปยังตึกสอบสวนกลาง นึกขบขันในท่าทีของเพื่อนคนนี้ เพราะเขาเป็นเพื่อนของข้าพเจ้ามานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว ตั้งแต่เราเรียนอยู่ในโรงเรียนนายร้อยทหารบกด้วยกัน เขาเป็นผู้มีนิสัยร่าเริงอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะพบเขา ณ ที่แห่งใด สิ่งที่นำหน้าออกมาแทนคำพูดของเขา คือ อาการ “หัวเราะ” ของเขา ทั้งๆที่เขาไม่มีเรื่องอะไรเป็นที่ขบขันให้หัวเราะเลย ลงท้ายเราก็ต้องหัวเราะไปกับเขาด้วยโดยไม่มีเหตุผล บัดนี้ก็ถึงงานชิ้นใหม่ ซึ่งเขาเป็นตัวการมาชักชวนให้แนวชีวิตของข้าพเจ้าต้อง “ตามวิถีการเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์” อันเป็นปฐมเหตุที่ฉุดให้ข้าพเจ้ามุ่งไปสู่ “การเมือง” ในเบื้องต้น.

Friday, March 21, 2008

บทความที่๓๗๒.ภารกิจเสรีไทย (๒)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์(ชัยสงค์)
ตอนที่ ๒ : กลับสู่กองสันติบาล อารักขาบุคคลสำคัญ
นายทหารชั้นสัญญาบัตรนายหนึ่งในสังกัดมณฑลทหารบกที่ ๓ ภายใต้การปกครองของพลโท ผิน ชุณหะวัน ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ ๓ นครราชสีมา ได้มาเกณฑ์ทหารที่อำเภอนี้ เมื่อเมาเข้าก็สั่งการแก่กำนันให้นำนางงามประจำอำเภอจัตุรัสซึ่งประกวดชนะเลิศในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เพิ่งแล้วไปหยกๆนี้ให้เขาได้ชมโฉม ท่านกำนันของข้าพเจ้าก็ลนลานเพราะมีความเกรงกลัวเป็นต้นทุน ได้พาขวัญใจของอำเภอจัตุรัสพร้อมด้วยน้องสาวและบิดามารดาของเธอมากราบไหว้ด้วยความเคารพอย่างสูง เพราะเป็น “เจ้านาย” มาจากเมืองโคราชอันเป็นเมืองชั้นเอกในสมัยโบราณ เมื่อนักรบของเราได้ยลโฉมยอดพธูแห่งอำเภอนี้แล้วจะถึงกับเคลิบเคลิ้มในความงามไปหรือว่าแก่ฤทธิ์แอลกอฮอล์ก็เหลือเดา เขาได้ลุกขึ้นทำการต้อนรับด้วยการทำอนาจารต่อหน้าธารกำนันเอาดื้อๆ ข้าพเจ้าได้ตักเตือนนายทหารผู้นั้นผ่านคนกลางไปแล้วว่าควรจะให้ค่าเสีย “ผี” ตามธรรมเนียมเขาเสียสัก ๑๒ บาท เรื่องก็อาจจะจบได้ไม่ถึงพนักงานสอบสวน แต่เขากลับเห็นว่าเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” หากว่าเขากระทำตามคำแนะนำของข้าพเจ้าแล้วก็เป็นเรื่องเสื่อมเสีย “เกียรติศักดิ์” ของนายทหารแห่งกองทัพบก เขาอาจจะมีความคิดดูถูกชาวอีสานว่าเป็นราษฎรที่โง่เง่า เพราะใครๆก็อาจหาเมียเบ็ดเตล็ดอย่างใดก็ได้ เพียงแต่เสียค่าแต่งงานรายละ ๔ บาท เมื่อเอามาเป็นเมียสัก ๒-๓ คืนจนคุ้ม หรือจนได้กำไรหรือว่าเบื่อแล้วก็บอกเลิกได้ ถัดจากนั้นก็ไปทำแก่หญิงรายอื่นอีกต่อไปรายแล้วก็รายเล่าโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ใยเล่าที่เขาจะมาเอาใจใส่ในการที่จะต้องเสียเงินตั้ง ๑๒ บาท นี่คือการดูถูกชาวอีสาน ข้าพเจ้าไม่พอใจวิธีการทำนองนี้ของชาวภาคกลางมานานแล้ว เพราะมันเป็นการทำลายศีลธรรมอันดีของสังคม

บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังเผชิญกับปัญหาอันนี้เข้าอีก ซึ่งก่อให้เกิดขึ้นด้วยฝีมือของนายทหารสัญญาบัตรแห่งกองทัพบก ซึ่งทรนงในตัวเองว่าตนเป็นผู้มีอำนาจและอยู่เหนือราษฎร มีทัศนะว่าจะเอาหญิงเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความสำราญ เป็นเครื่องส้องเสพย์แสวงหาความสุขตามอารมณ์ ชอบดูหมิ่นชาวอีสานว่าต่ำต้อยและพร้อมที่ย่ำยีได้ทุกขณะ

ข้าพเจ้าลุกขึ้นทำการป้องกันเกียรติแห่งราษฎรของนางงามประจำอำเภอจัตุรัส เมื่อได้เห็นน้ำตาของบุรพการีของเธอหลั่งนองหน้า มันมิได้มีความหมายแต่เพียงว่าเป็นการป้องกันเกียรติของฝ่ายเจ้าทุกข์เท่านั้น แต่วิญญาณอันแท้จริงของมันเป็นการป้องกันเกียรติแห่งราษฎรอีสานทั้งมวล

เมื่อข้าพเจ้าจรดปากกาลงกับแผ่นกระดาษทำการสอบสวนเป็นรูปคดีขึ้น ข้าพเจ้าก็ต้องปะทะเข้ากับข้าหลวงประจำจังหวัด ข้าพเจ้าได้ต่อสู้แล้ว “เพื่ออุดมการณ์แห่งความเป็นธรรม” เมื่อสำนวนนี้ได้สอบสวนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ส่งตรงไปยังอัยการศาลทหารประจำมณฑลทหารบกที่ ๓ แต่แล้วก็เงียบหาย ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับแจ้งผลจากพนักงานอัยการเลยว่าผลที่สุดแห่งคดีเป็นอย่างใดเพียงแต่ได้รับข่าวแว่วๆเป็นส่วนตัวว่าได้จัดการลงโทษทางวินัยแล้ว นี่แหละช่างตรงกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “วโส อิสุสริยํ โลเก” ซึ่งแปลว่า “อำนาจเป็นใหญ่ในโลก”

นายพลตำรวจเอก อดุล อดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้นได้ให้ความเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างดี จากสาเหตุที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ข้าพเจ้าถูกสั่งย้ายกลับกรุงเทพฯ ให้ประจำอยู่ ณ กองตำรวจสันติบาลกอง ๔ แผนก ๒ ซึ่งเป็นแผนกที่มีความรับผิดชอบในการอารักขาให้ความปลอดภัยแก่คณะรัฐบาล ตลอดจนบุคคลสำคัญแห่งชาติและสถานที่สำคัญทางการเมือง ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อข้าพเจ้าได้เดินทางมาถึงกองตำรวจสันติบาลแล้ว ก็เข้ารายงานตนต่อ พ.ต.ท.หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท ผู้บังคับการสันติบาลในวันแรกที่มาถึงทีเดียว และข้าพเจ้าก็พบกับโอวาทอันแปลกประหลาดว่า

“ขอให้คุณจงทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะตำรวจกองสันติบาลนี้เป็นตำรวจกองการเมือง คุณจะต้องระมัดระวังในเรื่องกาละและเทศะให้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งตำรวจเรานั้นเป็นได้ทั้งทหารและพลเรือน ข้างบนสวมเครื่องแบบ ข้างล่างนุ่งผ้าม่วง เราทำงานก็ต้องรู้จักยืดรู้จักหด..”

ข้าพเจ้ายิ้มในโอวาทของท่านผู้บังคับการที่หวังดีต่อข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ใส่ใจต่อโอวาทนั้น เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าคร่ำครึและล้าสมัยไปเสียแล้ว จึงปล่อยให้โอวาทของท่านค่อยๆ หลุดออกมาจากฝีปากท่านซึ่งอมหมากและเคี้ยวเอื้องอยู่แจ๊บๆ เป็นเวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง ความจริงท่านตั้งใจสั่งสอนให้โอวาทอย่างจริงจัง แต่ข้าพเจ้าไม่สนใจเสีย เพราะพอเห็นผู้บังคับการของข้าพเจ้ากินหมากเข้าเท่านั้นก็ชักไม่เกิดศรัทธาเสียแล้ว โดยเข้าใจว่าท่านเป็นคนโบราณไม่ทันสมัย

พ.ต.ท.เนื่อง อาชุบุตร เป็นผู้กำกับการของข้าพเจ้า ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่สนิทสนมกับท่านนายกรัฐมนตรีมาก จนได้รับเข็ม “ไก่” ทองคำลงยา เพราะเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลอย่างยิ่งในหน้าที่ “รักษาความปลอดภัย” แต่ก็มีคนมาตั้งฉายากอง ๔ แผนก ๒ นี้ว่าเป็นกอง “ไทยยาม” เพราะมีแต่เรื่อง “เข้ายาม” อย่างเดียว ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นจริงด้วยว่าการเข้ามาประจำอยู่แผนกนี้ไม่มีความหมายในเรื่องที่จะได้รับความรู้เพิ่มเติมเพราะไม่มีหน้าที่ทำการสอบสวนคดีเอาเสียเลย ข้าพเจ้าก็ “ยืนยาม” ทำหน้าที่เป็น “ผู้บังคับกองรักษาการณ์” ณ ทำเนียบสามัคคีชัย, วังสวนกุหลาบ,ค่ายชนชาติศัตรู,สถานทูตอังกฤษ,สถานทูตอเมริกันและสถานทูตฮอลันดา สับเปลี่ยนกันไป นี่คืองานประจำของข้าพเจ้า เพราะในยามนั้นเป็นยามที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามกับประเทศบริเตนใหญ่และอเมริกา จึงได้เข้าพิทักษ์บรรดาสถานทูตต่างๆที่เป็นปรปักษ์ด้วย และได้มีการจับกุม “ชนชาติศัตรู” ที่ประเทศของเราได้ประกาศสงครามด้วย ไปรวมกันไว้ที่ “ค่ายชนชาติศัตรู” ณ ท่าพระจันทร์

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็น “นายตำรวจอารักขา” ซึ่งเคยรักษาความปลอดภัยแก่รัฐบุรุษหลายท่านมาแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องกล่าวถึงนิสัยส่วนตัวของรัฐบุรุษที่สำคัญบางท่านใน “บางแง่” ที่ควรแก่กาละที่จะกล่าวได้ โดยเฉพาะท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น เป็นผู้ที่มีมารยาทส่วนตัวอ่อนโยน แต่หัวใจนั้นแข็งกร้าวเป็นพิเศษ ข้าพเจ้ายังจำได้อยู่จนกระทั่งบัดนี้ว่า ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าติดตามจอมพล ป.พิบูลสงครามไปทอดกฐินที่วัดพระศรีมหาธาตุ ข้าพเจ้านั่งรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ติดตามดมฝุ่นรถของนายกรัฐมนตรีไปตลอดทาง ท่านได้ชะโงกกระจกรถยนต์ด้านหลังหันมายิ้มกับข้าพเจ้าอย่างเห็นใจ ที่ข้าพเจ้าได้สูดขี้ฝุ่นรถของท่านเข้าไปอย่างเต็มเปา เมื่อถึงวัดพระศรีมหาธาตุแล้ว ก็ได้แจกหนังสือที่ท่านได้ประพันธ์ไว้เป็นของชำร่วย เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปรับหนังสือเล่มนั้นก็ได้รับการทักทายอย่างชื่นใจว่า “อารักขานี่แย่หน่อยนะ” ข้าพเจ้าพอใจแล้วที่ผู้ใหญ่มีความเห็นอกเห็นใจ รู้ถึงความทุกข์ยากของผู้น้อย เมื่อกลับถึงทำเนียบสามัคคีชัยแล้ว ข้าพเจ้าก็รีบลงจากจักรยานยนต์พ่วงข้าง ยืนขึ้นทำความเคารพ จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับยกมือขึ้นทำวันทยาหัตถ์ให้แก่ข้าพเจ้าก่อนเสียซ้ำ แล้วก็หันไปทำวันทยาหัตถ์ตอบนายตำรวจอีกสองคน แต่ละคนได้รับการส่งยิ้มเป็นอย่างดี ก่อนที่ท่านจะเดินขึ้นตึกไป ก็ยังอุตส่าห์หันมาสั่งการแก่พวกเสนาที่อยู่ใกล้ๆนั้นว่า ให้จัดหาอาหารให้บรรดานายตำรวจและตำรวจขับรถกินเสียก่อนที่จะกลับไป

นี่คืออาการที่แสดงออกถึงการรู้จักเอาใจชั้นผู้น้อยโดยเฉพาะเป็นผู้ที่ไม่เคยหวงลายเซ็นในการแต่งตั้งพวกพ้องในเรื่องตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์ แม้จนกระทั่งเรื่องเหรียญตราหรือสายสะพาย ผิดกับท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไม่ค่อยยอมเซ็นแต่งตั้งใครง่ายๆ ซึ่งทำให้ผู้อยู่ใกล้ชิดมักจะเข้าทำนองที่ว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” แม้พระยาพหลพลพยุหเสนาก็เหมือนกัน จะไม่ยอมสนับสนุนใครง่ายๆ

เช่นครั้งหนึ่งขณะที่ ร.ต.ต.หอม นายตำรวจอารักขากำลังทำหน้าที่ “นวด” เจ้าคุณพหลฯ อยู่ชั้นบนในตึกวังปารุสนั้น น้องภรรยาของท่านคนหนึ่งเห็นว่าท่านกำลังอารมณ์ดีจึงค่อยๆคลานเข้าไป เพื่อขอให้ท่านสนับสนุนให้ตนเองได้เลื่อนขั้นเป็น “ชั้นตรี” เท่านั้นเองก็เกิดฟ้าผ่าโครมลงมา โดยท่านเชษฐบุรุษลุกขึ้นคว้ากระโถนปากแครเหวี่ยงโครมเข้าให้ ทำให้น้ำหมาก น้ำลายในกระโถนนั้นกระจายออกมาราวกับเป็นลูกระเบิดปรมาณู น้องภรรยาของท่านต้องรีบหนีลงบันไดแทบไม่ทัน เนื้อตัวของท่านก็สั่นเทิ้มด้วยอาการอันโกรธจัด ปากก็กล่าวว่า

“กูทำการปฏิวัติก็เพราะกูเกลียดพวกเจ้าที่มันเอาแต่พวกพ้อง บัดนี้มึงจะมาทำเหมือนพวกเจ้าอีกแล้ว มึงจะทำให้กูต้องเสียหาย ถ้ามึงทำงานดีทำไมนายมึงถึงจะไม่เลื่อนให้..”

พร้อมกันท่านก็หลุดคำผรุสวาทออกมาทั้งๆที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียบร้อยและอ่อนโยนมาแต่ก่อน นี่แหละเป็นบุคคลิกลักษณะของรัฐบุรุษเมืองไทยที่มีลักษณะบางแง่แตกต่างกัน ซึ่งข้าพเจ้ามีหน้าที่ให้ความอารักขารัฐบุรุษต่างๆ ซึ่งโดยมากเป็น “ผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนา” ทั้งสิ้นและก็เป็นเวรหมุนเวียนเปลี่ยนไป.

Thursday, March 20, 2008

บทความที่๓๗๑.ภารกิจเสรีไทย (๑)

ภารกิจเสรีไทย
จากบันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันทน์(ชัยสงค์)


ปี พ.ศ.๒๔๘๔
ข้าพเจ้ากำโทรเลขไว้ในมือจนรู้สึกว่าเหงื่อมือนั้นซึมออกมาเปียกกระดาษโทรเลขนั้นไปเสียแล้ว หัวใจข้าพเจ้าเต้นระทึกอยู่ไปมาด้วยดีใจแล้วก็คลี่โทรเลขนั้นออกอ่านซ้ำแล้วก็ซ้ำเล่า เพราะข้อความสั้นๆในโทรเลขนั้นตรึงใจข้าพเจ้ายิ่งนัก จะไม่ให้ตรึงใจข้าพเจ้าได้อย่างไรเล่า เพราะมันเป็นข้อความที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความเป็นธรรมในกระดาษแบบพิมพ์โทรเลขนั้นมีข้อความว่า


“เมื่อทำงานตามหน้าที่แล้วไม่พึงต้องวิตกอะไร”
อดุล.


ข้าพเจ้ายิ้มกับโทรเลขฉบับนั้นอย่างสดชื่นราวกับว่ามันเป็นโอสถทิพย์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ชะโลมกำลังใจของข้าพเจ้าเพราเหตุใดเล่าข้าพเจ้าจึงมีความคิดเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะไม่คิดได้อย่างไรเมื่อชีวิตของข้าพเจ้าเป็นชีวิตแห่งการต่อสู้ตลอดมาเพื่ออุดมการณ์แห่งความเป็นธรรม และบัดนี้ก็เป็นจังหวะหนึ่งในการต่อสู้ที่ข้าพเจ้าจะได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของข้าพเจ้าแล้ว นั่นคือโทรเลขจาก ‘อดุล อดุลย์เดชจรัส’ อธิบดีของข้าพเจ้าในยุคนั้น

ข้าพเจ้ามียศเป็นเพียง “นายร้อยตำรวจตรี” และมีอายุราชการเพียงสองปีเท่านั้นก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิแห่งภาคอิสาน มีความรับผิดชอบให้ความปลอดภัยต่อราษฎรทั้งอำเภออันกว้างใหญ่และก็รับผิดชอบตลอดมาเป็นเวลาสองปีเต็มๆ แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้พบเข้ากับ “การต่อสู้” ที่ไม่มีใครอยากเข้าปะทะ เพราะมันเป็นการปะทะที่เต็มไปด้วยอันตราย นั่นคือการปะทะเข้ากับผู้ใหญ่ที่สูงที่สุดแห่งจังหวัดคือ-ข้าหลวงประจำจังหวัด

ข้าพเจ้าเป็น “พระภูมิเจ้าที่” ในท้องที่ทุรกันดารอย่างยิ่ง จะไม่มีถนนสักสายเดียวที่รถยนต์จะสามารถแล่นผ่านไปได้ ราษฎรแห่งอำเภอนี้จะไม่เคยเห็นรถไฟว่ารูปร่างหน้าตาของมันเป็นอย่างใด จะเห็นจำเจอยู่ก็คือเกวียนอ้ายทุยและพาหนะม้าที่มีฝีเท้าอันรวดเร็ว หรือมิฉะนั้นก็เป็นม้าต่างที่บรรทุกน้ำแข็งจากจังหวัดมาให้เรากิน แต่เมื่อมาถึงแล้วจากก้อนโตมหึมาก็จะเหลือก้อนเท่ากำปั้น ทางเกวียนที่คดเคี้ยว ทางคนเดินในป่าซึ่งม้าสามารถใช้อาศัยได้นั้นจะมีอยู่ทั่วไป

หนทางเหล่านี้จะผ่านแอ่งน้ำที่เต็มไปด้วยโคลนตม ผ่านลำธารที่เชี่ยวโกรก, ผ่านตอไม้และขอนไม้ที่ล้มขวางทางอยู่ มันจะเลี้ยวลัดเข้าไปในป่าซึ่งลึกพอที่จะพบกับรอยเท้าของเสือโคร่งเข้าบ่อยๆ เมื่อข้าพเจ้าจะควบม้าเข้าสู่ตัวจังหวัดซึ่งอยู่ห่าง ๑,๐๐๐ เส้นนั้น จะต้องเตรียมมะนาวใส่กระเป๋าเสื้อไปด้วย เพราะบ่อยครั้งที่ม้าคู่ชีพของข้าพเจ้าไม่ยอมวิ่งต่อไป มันจะถอยหลังกรูดมีกิริยาแห่งความกลัวและลนลานจนผิดสังเกต ไม่ใช่อื่นไกลเพราะเหตุว่ามันได้กลิ่นสาปของเสือ ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องบีบผิวมะนาวนั้นลงที่ปลายจมูกของมัน นั่นแหละจึงจะสามารถแก้ไขทำให้มันวิ่งห้อเหยียดออกจากแห่งนั้นได้

ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ย้ายมาจากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๘๓ และเข้ารับโอนงานสอบสวนจากอำเภอ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ตำรวจเป็นฝ่ายรับผิดชอบในการสอบสวนคดีอาญาทั้งมวล ณ สถานีตำรวจอำเภอจัตุรัสนั้น ก็ไม่เคยมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรมาแต่ก่อนเลยนับตั้งแต่มีแผ่นดินผืนนี้

ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้บังคับกองอำเภอ” จัตุรัสด้วยการถูกเพ่งเล็งจากบรรดาข้าราชการฝ่ายอำเภอและตลอดจนราษฎรทั่วไปว่า นายตำรวจหนุ่มอย่างข้าพเจ้านี้จะสามารถปฏิบัติงานได้หรือ เพราะเมื่อก่อนโน้นก็พบแต่ว่าเป็นหน้าที่ของนายอำเภอและปลัดอำเภอที่สูงอายุเป็นท่านขุนหลวงกันทั้งนั้น

ข้าพเจ้าได้ปกครองอำเภอนี้ด้วยความเที่ยงธรรมที่สุดที่จะพึงทำได้ ข้าพเจ้าได้วางหลักการปกครองว่าจะต้องกระทำไปด้วย “อุดมการแห่งความเป็นธรรม” ได้ต่อต้านการกดขี่ทุกสถาน. ปลดเปลื้องการกดขี่ที่ราษฎรได้รับอยู่เท่าที่ข้าพเจ้ามีอำนาจอยู่จะดำเนินการได้ ข้าพเจ้าไม่เคยนึกหวาดกลัวอิทธิพลใด ยิ่งเป็นผู้มี “เงิน” ชอบใช้เงินขว้างหัวคนอื่นหรือเป็น “นักเลงโต” แล้ว ข้าพเจ้าก็ยินดียิ่งนักที่อยากจะทดลองดูว่าหนังของเขาจะเหนียวสักปานใด ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดเหยียบลงบนหัวของราษฎรอย่างเด็ดขาด แม้แต่นายถนอม..เศรษฐีแห่งอำเภอนี้ซึ่งเขาเป็นเจ้าของที่ดินใหญ่ที่มีที่ดินอย่างมหาศาลร่ำรวยจนเลืองลือ ข้าพเจ้าก็อัญเชิญเขาเข้าไปสงบสติอารมณ์อยู่ในคุกเพราะเขาเที่ยวหลอกให้คนอื่นลงนามในกระดาษเปล่าแล้วจะไปกรอกข้อความเอาเองสุดแต่ว่าจะบรรดาลให้เป็นสัญญากู้เงินหรือให้เป็นนิติกรรมใดๆ ก็ได้ทั้งสิ้น และเป็นการแน่นอนว่าสิ่งที่เขาทำขึ้นนั้นจะต้องนำความวิบัติมาสู่เจ้าของลายเซ็นนั้น

ข้าพเจ้าต่อสู้ทุกคนที่ไม่ช่วยกันรักษาความยุติธรรม แม้แต่ขุนศรีฯ อดีตปลัดอำเภอที่เรืองนามว่าเป็นนักกฎหมายและเรืองด้วยอิทธิพล ข้าพเจ้าก็ส่งขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดของเขาและในที่สุดข้าพเจ้าก็เข้า “ต่อสู้” กับข้าหลวงประจำจังหวัด นี่และเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าพลุ่งเข้าสู่กองตำรวจสันติบาล

ข้าพเจ้าไม่อยากที่จะเอ่ยนามท่านข้าหลวงประจำจังหวัดคนนั้น เพราะมันเป็นความหลังที่ข้าพเจ้าได้อโหสิให้แล้วเมื่อครั้งข้าพเจ้าได้ก้าวเข้าสู่พุทธอาณาจักรเมื่อปีที่แล้ว (เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐)ปัจจุบันนี้ท่านก็เป็นหลานเขยของรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่ประชาชนเบือนหน้าหนี แม้กระนั้นเขาก็กล้าสมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร และในที่สุดคะแนนในการเลือกตั้งของพณฯก็มาอย่างสูงลิบ เป็นที่แปลกประหลาดจากหน่วยลงคะแนนที่อำเภอดุสิต

ข้าพเจ้าได้เข้าเผชิญหน้าท่านข้าหลวงประจำจังหวัดอย่างถึงใจเพราะท่านชอบสอดแทรกเข้ามาไกล่เกลี่ยรูปคดีที่นายทหารเป็นผู้ต้องหาทั้งๆที่มันเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ซึ่งจะยอมความกันไม่ได้ การกระทำของข้าหลวงประจำจังหวัดนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการประจบประแจงและเอาใจ “ทหาร” เนื่องจากเห็นว่าทหารนั้นเป็นผู้ทรงด้วยอำนาจ แม้ว่านายทหารนั้นจะมียศเพียง “ร้อยโท” ก็ตาม แต่ก็เป็นลูกศิษย์ของผู้ที่ยิ่งใหญ่อาจจะบรรดาลให้คุณและให้โทษได้

ข้าพเจ้าได้ทำการขัดขวางการกระทำที่ไม่ชอบของข้าหลวงประจำจังหวัดโดยเอาตำแหน่งของข้าพเจ้าเป็นเดิมพัน ซึ่งพร้อมแล้วที่จะออกจากราชการ ทั้งนี้เพื่อเกียรติของราษฎรชาวอีสานและต่อต้านการกดขี่อันไม่เป็นธรรมนั้น

บทความที่๓๗๐.ตีนหนาหน้าบาง

ตีนหนาหน้าบาง

ในสมัยที่เกิดมีรัฐประหารขึ้น เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ใหม่ๆ คณะรัฐประหารผู้ยึดอำนาจ นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับพลโทผิน ชุณหะวัน (ยศขณะนั้น) ได้มอบหมายให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคจัดตั้งรัฐบาลโดยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรคเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

สันนิษฐานว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คงจะภาคภูมิใจในการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลครั้งนี้ ถึงขนาดเขียนบทความทางการเมืองลงในหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตยรายวัน เรื่องเบื้องหลังประวัติศาสตร์ โดยใช้นามปากกาว่า “แมลงหวี่” โดยประกาศข้อความทำนองว่า ยุคใหม่ได้มาถึงแล้ว หลังจากที่ได้ “ปล่อยให้พวกไพร่ตีนโตๆครองเมืองกันมานานแล้ว”

นับแต่นั้นมา ก็เกิดแสลงใหม่ขึ้นในวงการเมืองไทย เป็นคำแสลงที่ใช้เฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการเรียกพรรคการเมืองนี้ว่า “พรรคตีนเล็ก” ตลอดทศวรรษที่ ๒๔๙๑ ถึง ๒๕๐๐ คำว่า ตีนเล็ก เป็นที่รู้จักดีว่าหมายความถึงนักการเมืองคนสำคัญๆของพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาก็มีนิยายสั้นชื่อ “ตีนหนาหน้าบาง” เขียนโดย “กรัสนัย โปรชาติ” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามสมัย ถือได้ว่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้นักการเมือง “ตีนเล็ก” ซึ่งกรัสนัย ระบุว่า “แต่หน้าหนา” ตรงข้ามกับพรรค “ตีนหนา” แต่ “หน้าบาง”

บทความที่๓๖๙.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์ (จบ)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์


โดยปกตินอกจากฤดูหนาวแล้ว ข้าพเจ้ากับคุณเฉียบฯ ได้ไปเยือนชาวนาชาวไร่ในบริเวณใกล้กำแพงเมืองปักกิ่งเสมอ เพื่อไปศึกษาวิธีทำนาทำไร่ของคนจีน ซึ่งทำให้เกิดความรู้ทางปฏิบัติหลายอย่าง และทำตนเป็นมิตรกับชาวนาชาวไร่ พึ่งพวกเขาก็ได้ให้การต้อนรับแก่เราเป็นอย่างดี นอกจากมีล่ามติดตามไปด้วยเพื่อช่วยแปลแล้ว หลายครั้งข้าพเจ้ากับคุณเฉียบฯ ก็ไปกับผู้อารักขาโดยไม่มีล่าม ในการนั้นก็ได้อาศัยคุณเฉียบเป็นล่าม เพราะแม้ว่าคุณเฉียบฯไม่รู้หนังสือจีนแต่ก็เป็นผู้ที่พูดภาษาจีนกลางพอเข้าใจกับกรรมกรและชาวนาได้ คือ คุณเฉียบฯใช้วิธีทำพจนานุกรมโดยสอบถามทหารและผู้อารักขาว่าวัตถุนั้นและอาการกิริยาเช่นนั้น คนจีนออกสำเนียงว่ากระไรก็จดจำสำเนียงของคำนั้นไว้ด้วยอักขรวิธีไทย

ใน พ.ศ.๒๔๙๙ ใกล้กับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ คุณเฉียบฯกับชมฯปรารถนากลับสู่ประเทศไทยเพื่อเตรียมตัวอุปสมบทในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษนั้น จึงได้ส่งจดหมายลงทะเบียนตรงไปยังนายกรัฐมนตรีจีนขออนุญาตเดินทางกลับประเทศไทยอย่างเปิดเผย ทางจีนก็ได้ช่วยเหลือคุณเฉียบฯกับชมฯ เดินทางจากปักกิ่งไปถึงฮ่องกงแล้วขึ้นเครื่องบินจากฮ่องกงไปลงสนามบินดอนเมือง ณ ที่นั้นฝ่ายตำรวจไทยได้มาคอยต้อนรับอยู่แล้ว นำตัวคุณเฉียบฯ กับชมฯ ไปขังไว้ที่กองตำรวจสันติบาล โดยแจ้งข้อหามากมายหลายกระทงรวมทั้งข้อหาขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร

ตำรวจได้ทำการสอบสวนและขออนุญาตฝากขังต่อไปหลายครั้ง แล้วได้ส่งสำนวนไปยังกรมอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล กรมอัยการได้พิจารณาแล้วว่าเห็นว่าหลักฐานที่ตำรวจส่งมานั้นไม่เป็นการเพียงพอที่จะฟ้องร้องคุณเฉียบฯกับชมฯ เป็นจำเลยต่อศาลได้ จึงได้ส่งสำนวนมาให้กรมตำรวจสอบสวนต่อไปอีก แต่กรมตำรวจก็ไม่สามารถสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติม จึงไม่คัดค้านความเห็นของอัยการ คุณเฉียบฯกับคุณชมฯ จึงได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระพ้นจากข้อหาทุกสำนวน

ครั้นแล้วคุณเฉียบฯ กับชมฯ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดสุทัศน์ เมื่อออกพรรษาแล้วลาสิกขาบทเป็นฆราวาสต่อไป คุณเฉียบฯจึงได้เตรียมก่อตั้งพรรคศรีอาริยเมตไตรยขึ้น

มีผู้เขียนกระแหนะกระแหนคุณเฉียบฯ แม้ไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าก็ได้เห็นบางบทความที่มีผู้กระแหนะกระแหนคุณเฉียบฯที่เปลี่ยนนามสกุลจาก ‘ชัยสงค์’ มาเป็น ‘อัมพุนันทน์’ และการที่คุณเฉียบฯ ได้ขอพระราชทานเวนคืนยศนายร้อยตำรวจเอก โดยผู้กระแหนะกระแหนเขม่นคุณเฉียบฯ ที่ทำการล้ำหน้าหลายเรื่อง

เหตุที่คุณเฉียบฯขอเปลี่ยนการใช้นามสกุล เพราะคุณเฉียบฯเห็นว่า ในการที่ตนยอมเสียสละทำภารกิจทางการเมืองเพื่อรับใช้ชาติและราษฎร อาจกระทบถึงผู้ใช้นามสกุล ‘ชัยสงค์’ อันเป็นนามสกุลของบิดามารดาบุญธรรมของคุณเฉียบ ฉะนั้นจึงเปลี่ยนจากนามสกุลนั้นมาใช้นามสกุล ‘อัมพุนันทน์’ อันเป็นนามสกุลโดยกำเนิดของคุณเฉียบ ส่วนการที่ขอพระราชทานเวนคืนยศนายร้อยตำรวจเอกนั้น ก็มีมูลสืบมาจากคุณเฉียบ ทราบว่าในการประชุมกรรมกรสากลที่ปักกิ่ง ใน ค.ศ.๑๙๔๙ นั้น องค์การกรรมกรหนึ่งแห่งประเทศไทยได้ส่งนายร้อยตำรวจตรี วาศ สุนทรจามร ไปเป็นผู้แทนกรรมกรไทย เมื่อสำนักเลขาธิการกรรมกรสากลทราบว่านายร้อยตำรวจมาเป็นผู้แทนกรรมกรไทย ก็เกิดฉงนขึ้นมาว่า นายตำรวจกับกรรมกรนั้นไปด้วยกันไม่ได้ แต่ภายหลังเขาทราบว่านายร้อยตำรวจตรีวาศฯ นั้น ได้ลาออกจากตำรวจนานแล้วและได้ยืนหยัดในกรรมกรจริง เขาจึงไม่ขัดข้องให้คุณวาศฯ เป็นตัวแทนกรรมกรไทยในที่ประชุม

คุณเฉียบฯจึงเห็นว่า เมื่อตนยืนหยัดในชนชั้นวรรณะกรรมกรแล้วก็ไม่เสียดายยศนายตำรวจ และไม่ต้องการให้รัฐบาลบรรจุตนเข้าประจำการเป็นตำรวจตามสิทธิที่ควรมี ฉะนั้นจึงพระราชทานเวนคืนยศนายร้อยตำรวจเอกซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตามความประสงค์ของคุณเฉียบ

คุณเฉียบได้ดำเนินจัดตั้งพรรคสหภาพแรงงานหลายอาชีพ ภายใต้การนำของพรรคศรีอารยเมตไตรย ตนเองกับคณะได้แต่งกายอย่างกรรมกร คือ ใช้กางเกงผ้าและเสื้อเชิรต์สีน้ำเงินแก่ กรรมกรหลายคนก็นิยมชมชอบ แต่บุคคลในชนชั้นวรรณะอื่นก็ไม่ชอบ บางคนก็เขม่นว่าคุณเฉียบทำล้ำหน้าเกินไป

คุณเฉียบดำเนินงานเพื่อกรรมกรอยู่ได้จนถึง พ.ศ.๒๕๐๑ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ฯ ทำรัฐประหารที่เรียกเองว่า ‘ปฏิวัติ’ แล้วจับคุณเฉียบฯ ไปคุมขังไว้ที่เรือนจำลาดยาว ชนิด ‘ขังทิ้ง’ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

มรณกรรมของคุณเฉียบฯทำให้ครอบครัวญาติมิตร รวมทั้งข้าพเจ้ากับภรรยามีความเสียใจและอาลัยเป็นอันมาก คุณเฉียบฯเป็นมิตรคนหนึ่งที่ซื่อสัตย์ของข้าพเจ้ากับภรรยาตลอดมา ยิ่งในคราวที่เราตกทุกข์ได้ยาก คุณเฉียบฯก็มิได้ท้อถอยในอุดมคติและความรักกับความนับถือที่มีต่อเราทั้งสอง

โอกาสนี้ ข้าพเจ้าและภรรยาขอตั้งจิตอธิษฐานให้ผลานิสงส์แห่งกุศลกรรมซึ่งคุณเฉียบ อัมพุนันทน์ ได้อุทิศตนรับใช้ชาติและราษฎรทั้งปวง โปรดบันดาลให้เกียรติประวัติของคุณเฉียบฯ ดำรงคงอยู่ชั่วกาลนาน และขอให้คุณเฉียบฯสู่สัมปรายภพด้วยสุคติทุกประการเทอญ

ชานกรุงปารีส
๑๐ พ.ค. ๒๕๑๗

Wednesday, March 19, 2008

บทความที่๓๖๘.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๖)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์


เมื่อคุณเฉียบฯ ได้เป็นอิสระแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ยอมให้ลี้ภัยอยู่ที่สิงคโปร์เพราะเกรงว่าจะทำให้รัฐบาลไทยไม่พอใจ เนื่องจากเวลานั้นสิงคโปร์ต้องการข้าวสารที่กำลังขาดแคลนอยู่จากรัฐบาลไทย คุณเฉียบฯ กับ ส.ต.ท.ชมฯ จึงเดินทางไปอาศัยอยู่ที่เกาะหนึ่งของอินโดนีเซีย ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลันดา คุณเฉียบฯ กับ ส.ต.ท.ชมฯ ได้รับความลำบากมาก ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการช่วยชาวประมงทำการจับปลา

ส่วนข้าพเจ้ากับผู้ติดตามบางคน ได้ออกเดินทางจากสิงคโปร์ไปประเทศจีน ขณะที่รัฐบาลเจียงไคเช็คยังอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของจีน ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศจีนประมาณ ๗ เดือนเศษก็เล็ดลอดกลับมาประเทศไทย เพื่ออำนวยการขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เมื่อข้าพเจ้ากับขบวนการนั้นพ่ายแพ้แล้ว ข้าพเจ้าได้หลบอยู่ในประเทศไทยประมาณ ๖ เดือน แล้วเดินทางออกจากประเทศไปยังฮ่องกง เปลี่ยนเรือจากฮ่องกงไปยังเมืองชิงเตา ซึ่งอยู่ในเขตยึดครองของกองทหารปลดแอกจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และได้รับการต้อนรับจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และได้เชิญข้าพเจ้าไปร่วมในงานสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยของราษฎรจีนในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒

ฝ่ายคุณเฉียบฯกับชม ได้อาศัยเรือใบหาปลาของคนจีนจากเกาะแห่งหนึ่งของอินโดนีเซียไปยังเกาะไหหลำ ขณะนั้นฝ่ายก๊กมินตั๋งยังยึดครองอยู่ คุณเฉียบฯกับชมพักอยู่ที่เกาะไหหลำ แล้วมาฮ่องกง ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีนเพื่อขอลี้ภัยไปอยู่กับข้าพเจ้าในสาธารณรัฐราษฎรจีน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วคุณเฉียบฯกับคณะก็ได้เดินทางไปอยู่กับข้าพเจ้าที่ปักกิ่ง เป็นเวลาประมาณ ๗ ปี แล้วคุณเฉียบฯกับชมฯ จึงเดินทางกลับประเทศไทย

ในระหว่างอยู่กับข้าพเจ้าที่ปักกิ่งนั้น คุณเฉียบฯเป็นผู้มีความอุตสาหะขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ในวิทยาศาสตร์สังคมและในการปฏิบัติเพื่อปรับปรุงตนเองแก้ไขซากความคิดเก่า โดยปรารถนาให้เกิดจิตสำนึกยืนหยัดในชนชั้นวรรณะ กรรมกรและชาวนาที่เป็นพันธมิตรสำคัญของกรรมกร

ในการศึกษาทางทฤษฎีนั้น เนื่องจากคุณเฉียบฯไม่มีความรู้ภาษาจีนเพียงพอ ฉะนั้นนอกจากอาศัยบทความบางเรื่อง ซึ่งล่ามได้ช่วยแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ได้อาศัยตำราที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยที่คุณเฉียบฯได้เคยศึกษาภาษาอังกฤษจนสำเร็จชั้นมัธยม ๘ แห่งโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งสมัยนั้นมีอาจารย์ที่เป็นคนอังกฤษสอนภาษาอังกฤษอยู่ และคุณเฉียบฯเป็นผู้สอบไล่ได้เป็นที่ ๑ จึงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานอยู่ เมื่อได้มาอยู่ในประเทศจีนก็ได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมประกอบกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคม โดยเริ่มจากการแปลบทความทางทฤษฎีจากง่ายไปสู่ยากเป็นลำดับ แล้วส่งให้ข้าพเจ้าช่วยตรวจแก้

ต่อมาอีก ๓-๔ ปี คุณเฉียบฯก็สามารถแปลตำราวิทยาศาสตร์สังคมจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้หลายเรื่อง โดยที่คุณเฉียบฯมีความจำแม่นยำ ฉะนั้นบางครั้งข้าพเจ้าลืมว่าเรื่องใดมีกล่าวไว้ในหนังสือหน้าใด คุณเฉียบฯก็ได้ช่วยข้าพเจ้าพลิกหน้านั้นมาให้ข้าพเจ้าดูได้

คุณเฉียบฯ ได้ปรารภว่า ตนเองเคยเป็นนายตำรวจซึ่งอยู่ในชนชั้นปกครอง ฉะนั้นจึงจำต้องพยายามแก้ไขความเคยชินเดิมของตนโดยให้เกิดจิตสำนึกในชนชั้นวรรณะกรรมกรและชาวนาที่เป็นพันธมิตรสำคัญ ทั้งในทางทฤษฎีและสมานกับการปฏิบัติ เพราะผู้ที่ศึกษาแต่ทางทฤษฎีอย่างเดียวโดยไม่มีการปฏิบัติที่สมานด้วย ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะก่อเกิดจิตสำนึกในชนชั้นวรรณะกรรมกรและชาวนาได้ คือ จะเป็นแต่เพียงรู้ทฤษฎีแต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ ดังนั้น คุณเฉียบฯจึงได้ขอร้องทางการจีนเพื่อไปเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมจีน แต่ทางจีนเห็นว่าให้รอไปเมื่อมีโอกาสเหมาะสมแล้วจะพิจารณาช่วยเหลือได้

เมื่อคุณเฉียบฯได้รอคอยมาระยะหนึ่ง ยังมิได้ทำงานเป็นกรรมกร จึงได้ขออนุญาตทางจีนให้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการรับรอง ซึ่งได้จีนได้รับรองข้าพเจ้ากับผู้ติดตามในฐานะแขกพิเศษมีอาหารรับประทานอุดมสมบูรณ์นั้น โดยคุณเฉียบฯ ขอรับประทานอาหารเหมือนพลทหารและเจ้าหน้าที่ผู้อารักขา คือมีกับข้าวอย่างเดียว ทางจีนก็อนุญาตให้คุณเฉียบฯรับประทานอาหารเหมือนพลทหารและเจ้าหน้าที่ผู้อารักขาได้เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น ส่วนวันอื่นๆขอให้รับประทานอย่างแขกพิเศษตามเดิม

บทความที่๓๖๗.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๕)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์


ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวถึงคุณเฉียบฯ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นแล้ว ว่ากรมตำรวจได้เปลี่ยนอธิบดีคนใหม่ ซึ่งได้สั่งย้ายคุณเฉียบฯจากตำแหน่งผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพรมาเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คุณเฉียบฯจึงได้มาหาข้าพเจ้าปรารภว่าการที่ไปเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพรนั้น ก็เพื่อปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ฉะนั้นจึงขอให้ข้าพเจ้าช่วยให้ได้กลับมาประจำในกองตำรวจสันติบาลตามสังกัดเดิม ข้าพเจ้าจึงได้ขอร้องอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ให้พิจารณาตามความเป็นธรรมที่เหมาะสม อธิบดีกรมตำรวจพิจารณาแล้วจึงได้สั่งย้ายคุณเฉียบฯมาประจำกองตำรวจสันติบาล

ขณะนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๙ ซึ่งให้เสรีภาพบริบูรณ์แก่ปวงชนชาวไทยในการเลือกถือลัทธินิยมใดๆ ในสมาคมและในการตั้งพรรคการเมือง ฯลฯ ฉะนั้นฝ่ายกรรมกรจึงมีสิทธิเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้อธิบดีกรมตำรวจมอบหมายการงานพิเศษให้แก่คุณเฉียบฯ เพื่อช่วยเหลือกรรมกรที่เรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการจากนายจ้างซึ่งเป็นธรรมดาที่นายจ้างก็ไม่ยอมตกลงง่ายๆ ฉะนั้น คุณเฉียบฯจึงได้ไปช่วยกรรมกรเจรจากับนายจ้างเป็นผลสำเร็จหลายราย อาทิ กรรมกรโรงงานเบียร์ของบริษัทบุญรอด, กรรมกรโรงเลื่อยไม้ ฯลฯ และช่วยเหลือกรรมกรในงานชุมนุมใหญ่ แห่งวันกรรมกรสากล (๑ พฤษภาคม ๒๔๙๐) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย คุณเฉียบฯได้เปลี่ยนจิตสำนึกจากการเป็นนายตำรวจของฝ่ายนายทุน มาเป็นนายตำรวจของฝ่ายกรรมกร และได้ทำการต่อต้านพวกที่มีซากทัศนะทาสกับทัศนะศักดินา ซึ่งพยายามที่จะฟื้นฟูระบบถอยหลังเข้าคลองขึ้นมาอีก ฉะนั้นเมื่อพวกปฏิกิริยาทำรัฐประหารขึ้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ จึงในบรรดาคำสั่งของคณะนั้นได้มีคำสั่งฉบับหนึ่งปลดคุณเฉียบออกจากตำแหน่งประจำการ คุณเฉียบพร้อมด้วยผู้เคยอยู่ใต้บังคับบัญชา บางคน อาทิ คุณเทพวิฑูรย์ นุชเกษม ส.ต.ท.ชม แสงเงิน ฯลฯ จึงได้ไปขอลี้ภัยอยู่กับข้าพเจ้าที่บ้านพักของกรมนาวิกโยธินสัตตหีบโดย พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ได้กรุณาต้อนรับข้าพเจ้าและผู้ติดตามให้พักอาศัยเพื่อลี้ภัยรัฐประหารนั้น

(โปรดอ่านบทความที่ ๑๑๘ จนถึง ๑๒๔ และ ๑๒๖ เรื่อง บันทึกของคุณเฉียบ อัมพุนันทน์ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/04/blog-post_27.html)


ต่อมาข้าพเจ้าได้ออกจากสัตตหีบเพื่อไปลี้ภัยที่สิงคโปร์โดยความช่วยเหลือของนาวาเอกการ์เดส นำเรือเร็วไปส่งข้าพเจ้าขึ้นเรือบรรทุกน้ำมันอังกฤษที่อ่าวสยาม เพื่อเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ แต่คุณเฉียบกับผู้ติดตามยังคงพักอาศัยอยู่ที่สัตตหีบชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ครั้นแล้วคุณเฉียบกับผู้ติดตามก็ได้เดินทางไปสิงคโปร์ เมื่อถึงสิงคโปร์แล้ว คุณเฉียบได้รายงานตัวต่อตำรวจสิงคโปร์ ขอลี้ภัยการเมือง ในชั้นแรกนายตำรวจสิงคโปร์ได้มาพบข้าพเจ้าแจ้งว่า เขามีความยินดีมากที่จะขอให้คุณเฉียบทำงานเป็นนายตำรวจที่สิงคโปร์ แต่อีกไม่กี่วันต่อมาตำรวจสิงคโปร์ก็ได้จับตัวคุณเฉียบกับ ส.ต.ท.ชม แสงเงิน โดยอ้างว่ารัฐบาลไทย (รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์)ได้ขอให้ส่งตัวคุณเฉียบกับ ส.ต.ท.ชม กลับประเทศไทยในข้อหาว่าเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย แต่ความจริงนั้น ตำรวจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องการจะเอาตัวบุคคลทั้งสองไปเป็นผู้ต้องหาว่าลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ ดังที่ปรากฏในบันทึกพระยาศรยุทธเสนีย์ว่า ขณะนั้นพระพินิจชนคดี และหลวงแผ้วพาลชน นายตำรวจทั้งสองกำลังเกลี้ยกล่อมที่จะให้พระยาศรยุทธเสนีย์ให้การปรักปรำบุคคลซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นปรปักษ์ของเขา เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ฯลฯ อันเป็นการแก้แค้นทางการเมือง โดยอาศัยกรณีสวรรคตมาเป็นเครื่องบังหน้า

คุณเฉียบ และ ส.ต.ท.ชมฯ ต้องถูกขังอยู่หลายวันที่กองตำรวจสิงคโปร์ เพราะฝ่ายรัฐบาลไทยของผลัดเวลาส่งหลักฐานมา เมื่อตำรวจสิงคโปร์ได้เอกสารที่ฝ่ายรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นหลักฐานแท้จริงตามข้อหานั้นส่งมายังตำรวจสิงคโปร์แล้ว ตำรวจสิงคโปร์ก็ได้นำตัวคุณเฉียบฯ กับ ส.ต.ท.ชมขึ้นศาลสิงคโปร์ให้พิจารณา

ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ศาลสิงคโปร์จึงเป็นศาลของอังกฤษซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นคนอังกฤษ ในวันพิจารณา ตำรวจสิงคโปร์ได้นำกงสุลไทยประจำสิงคโปร์เป็นพยานให้การรับรองว่าเอกสารที่ตำรวจยื่นต่อศาลนั้นเป็นเอกสารของรัฐบาลไทย ครั้นแล้วผู้พิพากษาอังกฤษจึงได้หยิบสำนวนชูชึ้นกล่าวว่า

“Nothing, so discharge these two persons”

แปลว่า “ไม่มีอะไรเลย,ดังนั้นจึงปล่อยบุคคลทั้งสองให้พ้นข้อหาไป”

บทความที่๓๖๖.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๔)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดยปรีดี พนมยงค์



นอกจากปัญหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ชนรุ่นหลังที่ต้องการศึกษาถึงแนวทางการปฏิบัติขององค์การที่อยู่นอกขบวนการเสรีไทยและแนวทางของขบวนการเสรีไทยก็ควรสอบถามผู้อ้างว่าองค์การนั้นๆ มีแนวทางอย่างไรที่จะนำไปสู่ปัญหาสำคัญ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่ารัฐบาลไทยภายใต้จอมพลพิบูลฯได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาและได้ก่อสถานะสงครามกับประเทศจีน โดยส่งกองทหารไปขับไล่ทหารจีนในรัฐฉาน กับส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในมณฑลยุนนานใต้ อีกทั้งได้รับรองรัฐบาลมานจูกัวะ กับรับรองรัฐบาลจีนภายใต้หวังจิงไว

ในการนั้นรัฐบาลได้ประกาศเปิดเผยถึงสถานะสงครามเกิดขึ้นระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย ยิ่งกว่านั้นคณะกรรมการฝรั่งเศสเสรี ได้แถลงไม่รับรองการที่รัฐบาลของจอมพลเปแตง ได้ตกลงโอนดินแดนพระตะบองให้แก่ไทยโดยญี่ปุ่นเป็นผู้บีบบังคับและถือว่าสถานะสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับไทยยังคงมีอยู่ นับตั้งแต่รัฐบาลโซเวียตถือว่าเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา,อังกฤษ,จีน

การนำมวลราษฎรไทยต่อสู้ญี่ปุ่นนั้น องค์การนำจะต้องนึกถึงความรับผิดชอบต่อมวลราษฎรว่า ถ้ามิได้จัดตั้งเป็นขบวนการให้สัมพันธมิตรรับรองแล้ว เพียงแต่การทำวินาศกรรมอย่างเดียวจะเป็นการทำให้สัมพันธมิตรยอมเลิกสถานะสงครามและรับรองความเป็นเอกราชของประเทศไทยหรือไม่ ชนรุ่นหลังที่ใช้สติปัญญาตามสามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชาติ ก็ย่อมเห็นได้ว่า การนำมวลราษฎรต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานนั้นมิใช่จะทำเพียงลอบยิงทหารญี่ปุ่นเหมือนการเล่นล่าสัตว์ ขบวนการเสรีไทยจึงมีแนวทางการเมืองโดยทำการตกลงกับรัฐบาลอังกฤษ,สหรัฐอเมริกาและจีน ให้รับรองขบวนการเสรีไทยว่าเป็นองค์การแทนปวงชนไทย และให้สัมพันธมิตรรับรองความเป็นเอกราชของประเทศไทย มิฉะนั้นสัมพันธมิตรชาติใดจะยอมเลิกสถานะสงครามกับไทย โดยมีองค์การนำมวลราษฎรที่สัมพันธมิตรไม่รับรอง

ประการที่ ๒ เกี่ยวกับวินัยในการทำสงครามร่วมกันกับสัมพันธมิตรนั้น ชนรุ่นหลังที่ใช้สามัญสำนึกก็อาจเข้าใจได้ว่า สัมพันธมิตรย่อมมีแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน กองบัญชาการสูงสุดแต่ละเขตก็ต้องดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ใหญ่เพื่อให้การรบสมานกันโดยมิใช่ต่างเขตต่างทำการเป็นอิสระ เพราะถ้ากองบัญชาการแห่งหนึ่งทำการรบสุดแท้แต่ตนเห็นสมควรแล้ว ก็อาจทำการล้ำหน้าหรือล่าช้ากว่าที่แผนยุทธศาสตร์กำหนดไว้ ซึ่งจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ได้

เมื่อกองบัญชาการแต่ละเขตรับแผนยุทธศาสตร์ใหญ่มาแล้ว ก็สามารถวางแผนยุทธศาสตร์ย่อยของแต่ละเขตและภายในเขตก็มอบหมายการงานให้หน่วยต่างๆ เป็นรายๆไป ซึ่งแต่ละหน่วยก็ต้องอยู่ในวินัยที่จะไม่ทำการใดๆที่ล้ำหน้าหรือล้าหลัง แม้ข้าพเจ้าได้แจ้งไปยังกองบัญชาการสัมพันธมิตรว่า ขบวนการเสรีไทยพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยแล้ว แต่สัมพันธมิตรก็ได้ทัดทานไว้ว่า ให้รอเมื่อถึงโอกาสที่จะแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบเช่นหน่วยเสรีไทยที่ชุมพรและคอคอดกระ ที่รับมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวแล้วนั้น ถ้าฝืนลงมือทำการต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยก่อนถึงโอกาสที่สัมพันธมิตรแจ้งมาแล้ว ก็จะทำให้แผนการของสัมพันธมิตรที่จะยกพลขึ้นที่ชายฝั่งไทยตอนใต้ต้องเสียหมด

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าองค์ใดที่อยู่นอกขบวนการเสรีไทยได้รับคำสั่งจากสัมพันธมิตรอื่นใดที่ไม่รักษาวินัย ซึ่งตกลงระหว่างสัมพันธมิตรด้วยกัน ชนรุ่นหลังย่อมเห็นว่า ไม่มีสัมพันธมิตรชาติใดที่จะละเมิดวินัยเพียงขั้นต่ำดังกล่าวมานี้

บทความที่๓๖๕.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๓)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์
อนึ่ง ข้าพเจ้าขอนำคำแปลบันทึกสำหรับประธานาธิบดีรุซเวลส์ เพื่อใช้ในการเจรจากับ เชอร์ชิลล์,สตาลิน,เจียงไคเช็ค (ในฐานะแทนรัฐบาลรวมจีน) ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๘๘ ที่ นครยัลตา อันเกี่ยวกับปัญหาประเทศไทยนั้น มาลงพิมพ์ไว้ดั่งต่อไปนี้


คำแปลบันทึกของกรมกิจการปาซิฟิคภาคตะวันออกเฉียงใต้
๘๙๒.๐๑/๑-๑๓๔๕
กรุงวอชิงตัน ๑๓ มกราคม ๒๔๘๘

บันทึกเพื่อประธานาธิบดี
(เพื่ออาจใช้ในการเจรจากับ มร.เชอร์ชิลล์ และ จอมพลสตาลิน)

เรื่อง ฐานะอนาคตของประเทศไทย

นโยบายของอังกฤษต่อประเทศไทยแตกต่างกับของเรา อังกฤษถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู นั่นเป็นทรรศนะของเขา
.........................................
ประวัติศาสตร์การบีบคั้นของยุโรปต่อประเทศไทยและประวัติศาสตร์ยุโรปในเรื่องการยึดเอาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ย่อมยังอยู่ในความทรงจำอย่างกระจ่างแจ้งของชาวเอเชีย รัฐบาลนี้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบไม่ว่าวิธีไหนที่จะสืบเนื่องแนวนโยบายจักรววรดินิยมสมัยก่อนสงครามแก่ประเทศไทยไม่ว่าจะปรากฏในรูปลักษณะใดก็ตาม

ภายในประเทศไทยนั้น องค์การปกครองที่เริ่มแรกได้ยอมจำนนญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ร่วมมือ(กับญี่ปุ่น) อย่างเปิดเผยนั้นได้เข้าแทนที่โดยองค์การปกครอง (รัฐบาลนายควงฯ)ที่ส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของประดิษฐ์ฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปัจจุบัน เป็นผู้ซึ่งได้รับความนับถือมากที่สุดในบรรดาผู้นำไทย และได้เป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่เริ่มแรก การติดต่อของฝ่ายอเมริกันได้สถาปนาขึ้นกับประดิษฐ์ฯ ผู้ซึ่งให้ความช่วยเหลืออย่างจริงใจแก่งานลับของสัมพันธมิตรและเป็นผู้ซึ่งได้แสดงความปรารถนาให้ประเทศไทยเข้าสงครามต่อสู้ญี่ปุ่น และประสงค์ให้กองทัพไทยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับฝ่ายสัมพันธมิตร
.........................................

บันทึกสังเขปเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประดิษฐ์ฯ นั้นได้แนบมา ณ ที่นี้ด้วย
(ข้าพเจ้าไม่ขอแปลบันทึกสังเขปนี้ เพราะจะเป็นการสดุดีตนเองมากเกินไป)


เอกสารหลักฐานฝ่ายสัมพันธมิตรที่ได้พิมพ์เปิดเผยแล้วยังมีอีกมาก ซึ่งข้าพเจ้าจะได้นำลงพิมพ์ในหนังสือที่ข้าพเจ้าได้รวบรวม จะพิมพ์ขึ้นโดยให้ชื่อว่า ‘โมฆะสงคราม’ แต่การที่ข้าพเจ้าอ้างบันทึกนครยัลต้านั้น ก็เพื่อแสดงให้ผู้นับถือผู้นำสัมพันธมิตรทุกฝ่ายรวมทั้งนับถือสตาลินเข้าใจว่า ผู้นำแห่งมหาประเทศสัมพันธมิตรสมัยนั้นก็ได้รับรองบทบาทของขบวนการเสรีไทยทั้งๆ ที่ขบวนการนั้นมิได้อวดอ้างว่าเป็นผู้นำราษฎรไทยต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน อนึ่ง ควรสังเกตไว้ด้วยว่าถ้าหากจีนและสตาลินไม่รับรองขบวนการเสรีไทยแล้ว ก็คงจะคัดค้านการสมัครของประเทศไทยเพื่อเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เมื่อ ค.ศ.๑๙๔๗ จนถึงที่สุด เพราะอีกหลายประเทศก็ถูกคัดค้านและต้องรอคอยมาอีก ๑๐ กว่าปี จึงได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ

บทความที่๓๖๔.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๒)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์
เรื่องงานเสรีไทยบริเวณชุมพรนั้นได้มีข่าวกระเส็นกระสายในระหว่างที่คุณเฉียบลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน คือ คุณเฉียบฯ เมื่อได้กลับมาประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๙ แล้วได้เขียนจดหมายแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่าได้มีบุคคลคณะหนึ่งอ้างว่าเป็นผู้นำราษฎรชุมพรต่อสู้ทหารญี่ปุ่นระหว่างสงคราม คุณเฉียบฯจึงถามข้าพเจ้าว่าความจริงเป็นอย่างไร และข้าพเจ้ามีโอกาสก็ขอให้ช่วยถามผู้นำจีนด้วย ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าได้กล่าวสุนทรพจน์ไว้เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วว่า ขบวนการเสรีไทยถือว่าคนไทยผู้รักชาติทุกคนมีส่วนรับใช้ชาติโดยตรงหรือโดยปริยายในการต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานในสุนทรพจน์ของข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า เราไม่ต้องการทวงบุญคุณเอากับชาติ หากเราถือว่าชาติมีบุญคุณสูงสุดแก่เรา ฉะนั้นขบวนการเสรีไทยจึงมิได้อวดอ้างตนเองว่าเป็นผู้นำราษฎรไทยต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน

ข้าพเจ้าคิดว่าข่าวที่กระเส็นกระสาย ตามที่คุณเฉียบฯ แจ้งไปยังข้าพเจ้าจะหมดสิ้นไปแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีนักสังคมนิยมชาวยุโรปผู้หนึ่งได้เข้าไปในประเทศไทย พบกับบุคคลหนึ่งที่แจ้งว่า คณะของเขาเป็นผู้นำราษฎรไทยทำการต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงครามและได้แพร่คำอ้างเช่นนั้นให้ชนรุ่นหลังได้เข้าใจตามนี้

ข้าพเจ้าจะไม่ข้องใจ ถ้าผู้อ้างเช่นนั้นได้ชี้แจงเป็นเอกสารชัดแจ้งในประเทศไทยแทนที่จะกล่าวทางปากเปล่า เพื่อให้คนไทยรู้ทั่วกันถึงการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ว่าคณะของตนได้นำราษฎรไทยในท้องที่ใดทำการต่อสู้ญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อชนรุ่นหลังในท้องที่นั้นๆ จะได้สอบถามบรรพบุรุษของตนซึ่งทำการต่อสู้ญี่ปุ่นว่า ตนอยู่ภายใต้การนำของคณะนั้นหรือขบวนการใด และเพื่อเสรีไทยทั้งหลายจะได้รับรู้ไว้ด้วยว่า นอกจากขบวนการเสรีไทยซึ่งมหาประเทศสัมพันธมิตรสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้ความร่วมมือแล้ว ยังมีคณะอื่นที่เป็นผู้นำมวลราษฎรไทย เพราะสหภาพโซเวียต,สหรัฐอเมริกา,อังกฤษ และจีน ซึ่งขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ร่วมกับพรรคกัวะมินตั๋ง ถือว่าจีนมีรัฐบาลถูกต้องเพียงรัฐบาลเดียว ซึ่งตั้งอยู่ที่ นครจุงกิง (โจวเอินไหล เข้าร่วมในตำแหน่ง ร.ม.ต.ช่วยว่าการต่างประเทศ และกองทัพแดงของคอมมิวนิสต์เปลี่ยนเป็นกองทัพที่ ๘ ของจีนที่ร่วมกันนั้น)ได้ตกลงกันตั้งกองบัญชาการสูงสุดขึ้นหลายเขต โดยเฉพาะย่านเอเชียอาคเนย์นั้น มอบให้ลอร์ดเมาแบทเทน เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดตามข้อตกลงระหว่างกองบัญชาการสัมพันธมิตรกับข้าพเจ้ามีว่า บรรดานายทหารสัมพันธมิตรที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบก่อน จึงถูกตำรวจและพนักงานท้องที่ยิงตายบ้าง จับกุมบ้าง ภายหลังจึงแจ้งและขอความช่วยเหลือข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงให้หน่วยเสรีไทยรับรองความปลอดภัย เช่น ที่บริเวณอุทัยธานี

เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขบวนการเสรีไทยได้มีการชุมนุมใหญ่ และมีการเดินขบวนสวนสนามในกรุงเทพมหานคร ในการนั้นข้าพเจ้าได้จัดให้หน่วยเสรีไทยทั่วราชอาณาจักรส่งพลพรรคจำนวนหนึ่งของแต่ละหน่วยมาเข้าร่วม และมิได้เลือกเจาะจงเฉพาะหน่วยที่ขึ้นตรงกับขบวนการเสรีไทยเท่านั้น คือแม้หน่วยอื่นที่จัดตั้งกันต่อสู้กับญี่ปุ่น เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ภายหลังก็ได้ให้เข้าร่วมชุมนุมและสวนสนามด้วย เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติรับใช้ชาติเช่นกัน เช่น หน่วยของคุณบุญผ่องฯ ที่ได้ช่วยเหลือเชลยซึ่งเป็นคนสัญชาติสัมพันธมิตรฯลฯ ฉะนั้น ถ้าหากมีคณะใดซึ่งทำการนำมวลราษฎรไทยต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว ก็ต้องเป็นการปฏิบัติกว้างขวางใหญ่โตยิ่งกว่าหน่วยของคุณบุญผ่องฯ ที่บริเวณนครปฐมกับกาญจนบุรี ข้าพเจ้าจึงจะต้องมีความบกพร่องมาก ที่มิได้เชิญคณะนั้นเข้าร่วมชุมนุมและสวนสนามด้วย แต่ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจกีดกันคณะใดเลย คือ ถ้าหากมีผู้ใดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบในสมัยนั้น ข้าพเจ้าก็จะเชิญเข้าร่วมชุมนุมและสวนสนามด้วย เพื่อเชิดชูเกียรติคุณให้ประจักษ์ตั้งแต่ครั้งกระนั้นอันจะเป็นหลักฐานดีกว่าที่อ้างแก่ชนรุ่นหลังและแก่นักสังคมนิยมชาวยุโรปบางคน ดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง เมื่อค.ศ.๑๙๖๒ ข้าพเจ้าได้เห็นข้อความในสารานุกรมภาษาจีนเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเกี่ยวกับประเทศไทยได้กล่าวไว้ว่า คณะหนึ่งเป็นผู้นำ ‘ไท่โกวะเหรินมิน’ ต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยมิได้กล่าวถึงขบวนการเสรีไทย ข้าพเจ้าจะไม่ข้องใจถ้าหากผู้เขียนคนนั้นกล่าวเฉพาะเจาะจงเป็นรูปธรรมว่าคณะของตนนำราษฎรในท้องที่ใดต่อสู้ญี่ปุ่น แต่ผู้เขียนใช้คำว่า ‘ไท่โกวะเหรินมิน’ คำว่า ‘เหรินมิน’ เป็นสมุหนาม (Collective Noun) ซึ่งตรงกับ People ฉะนั้น ‘ไท่โกวะเหรินมิน’ จึงหมายถึง ‘มวลราษฎรไทย’ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าถ้านิ่งไว้ก็จะทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่ชั้นสูงคนหนึ่งแห่งสำนักนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐราษฎรจีน ช่วยสอบถามผู้ใหญ่ฝ่ายจีนว่ามีความเห็นอย่างไรต่อการที่มีผู้เขียนอวดอ้างเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ชั้นสูงคนนั้นได้นำเรื่องไปเสนอผู้ใหญ่ฝ่ายจีน และตอบให้ข้าพเจ้าทราบว่า ผู้ใหญ่ฝ่ายจีนไม่ได้รู้เห็นด้วยกับการมีผู้เขียนข้อความผิดผลาดนั้น เพราะผู้ใหญ่ผ่ายจีนทราบดีว่า ขบวนการเสรีไทย เป็นผู้นำ ‘ไท่โกวะเหรินมิน’ คือนำมวลราษฎรไทยต่อสู้ญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

ต่อมาผู้เขียนเรื่องนั้นได้มาหาข้าพเจ้า ขออภัยที่ได้ลงเรื่องผิดพลาดไปแล้ว และรับปากว่าจะได้แก้ไขให้ถูกต้องในการพิมพ์ต่อไป แต่เรื่องนี้ก็ยังมีผู้อ้างต่อนักสังคมนิยมชาวยุโรปคนนั้น อันทำให้ชนรุ่นหลังบางคนเข้าใจผิดอยู่อีก ในฐานะเพื่อน ข้าพเจ้าจะพยายามให้ผู้เขียนคนนั้นรีบเขียนแก้ตามที่รับปากกับข้าพเจ้าไว้นั้น

บทความที่๓๖๓.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๑)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์

ด้วย คุณมหิทธิพล(เสือ) อัมพุนันทน์ อดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน ได้แจ้งมายังข้าพเจ้าว่า จะได้ร่วมกับพี่น้องจัดการปลงศพบิดามารดา คือ นายเฉียบ อัมพุนันทน์ อดีตหัวหน้าพรรคศรีอารยเมตไตรย และนางสุคนธ์ อัมพุนันทน์

คุณมหิทธิพล ขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำรำลึก ถึง คุณเฉียบ อัมพุนันทน์ ซึ่งคุณมหิทธิพลจะได้นำไปลงพิมพ์ไว้ในหนังสือที่จะได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คุณเฉียบฯ คือหนังสือ มนุษย์สังคมปรัชญาเบื้องต้น(ตอนที่๑) และบางเรื่องในนิตยสาร ‘สังคมสามัคคี’ จัดเสนอผู้อ่านเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๑ โดยนายเฉียบ อัมพุนันทน์ อดีตหัวหน้าพรรคศรีอารยเมตไตรย คุณเฉียบเป็นผู้อำนวยการนิตยสาร ‘สังคมสามัคคี’ ซึ่งได้ตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ แล้วต่อมาอีกไม่กี่สัปดาห์ รัฐบาลสฤษดิ์ฯ จับตัวคุณเฉียบฯ ไปคุมขังไว้ที่เรือนจำลาดยาวชนิด ‘ขังทิ้ง’ เป็นเวลากว่า ๕ ปี โดยไม่นำตัวขึ้นฟ้องต่อศาลยุติธรรม จนกระทั่งคุณเฉียบฯ ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลตำรวจระหว่างเป็นผู้ต้องหา

คุณมหิทธิพลเห็นว่าแม้บทความบางเรื่องในนิตยสารนั้นได้พิมพ์เป็นครั้งแรกเป็นเวลากว่า ๑๖ ปีมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังทันสมัยและมีข้อเท็จจริงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นจึงสมควรจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คุณเฉียบฯ โดยขออนุญาตลิขสิทธิ์หนังสือของข้าพเจ้าเรื่อง ‘มนุษย์สังคมปรัชญาเบื้องต้น (ตอนที่๑)’ ไปลงพิมพ์ไว้ด้วยพร้อมกับบทความอื่นๆ ซึ่งคุณเฉียบเป็นผู้เขียนและนำเสนอ

ข้าพเจ้ารู้จักคุณเฉียบฯ เป็นครั้งแรกโดยการแนะนำของ ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ ขณะนั้นคุณเฉียบมียศเป็นนายร้อยตำรวจเอก เหตุที่ ร.ต.อ.เชื้อฯนำคุณเฉียบมาพบข้าพเจ้านั้น ก็เนื่องจาก ร.ต.อ.เชื้อเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ขบวนการนั้นหลายประการ ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับ ร.ต.อ.เชื้อว่า จะมีนายตำรวจคนใดที่ไว้ใจได้ เพื่อข้าพเจ้าจะได้ขอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ อดุลย์เดชจรัส อธิบดีตำรวจสั่งย้ายไปเป็นผู้บังคับการกองตำรวจ จ.ชุมพร เพื่อจัดตั้งราษฎรเป็นกองกำลังเสรีไทยในการต่อต้านบั่นทอนกำลังทหารญี่ปุ่นซึ่งยึดพื้นที่บริเวณจังหวัดนั้น อีกทั้งเพื่อร่วมกับหน่วยเสรีไทยซึ่งบางครั้งมีความจำเป็นต้องให้เครื่องบินทะเลของสัมพันธมิตรลงมาในอ่าวสยาม บริเวณชายฝั่ง จ.ชุมพร เพื่อขนส่งอาวุธให้เสรีไทยภายในประเทศและรับเพื่อรับส่งสมาชิกขบวนการเสรีไทย

ร.ต.อ.เชื้อ รับไปพิจารณาแล้วแจ้งว่า ร.ต.อ.เฉียบ ขณะนั้นใช้นามสกุล ‘ชัยสงค์’ เป็นเพื่อนสนิทเพราะเคยศึกษาวิชานายร้อยตำรวจจากกรมยุทธศึกษาทหารบกมาด้วยกันกับ ร.ต.อ.เชื้อฯ และได้ทาบทามแล้ว ร.ต.อ.เฉียบมีความยินดีและเต็มใจพร้อมสละชีพเพื่อชาติ ในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งขบวนการเสรีไทยมอบหมายให้ด้วยความระมัดระวังและรักษาเป็นความลับจนกว่าจะได้รับคำสั่งให้ลุกขึ้นต่อสู้กองทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้ ร.ต.อ.เชื้อ นำ ร.ต.อ.เฉียบ มาพบข้าพเจ้าเพื่อสอบถามความสมัครใจอีกครั้งหนึ่ง แล้วข้าพเจ้าได้ขอให้พล.ต.อ.อดุลย์ฯ สั่งย้าย ร.ต.อ.เฉียบฯจากกองตำรวจสันติบาลไปเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพร การทำงานที่รับมอบหมายมี ๒ ส่วนคือ

(๑) ส่วนจัดตั้งกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่น ในการนื้ให้ถือกองตำรวจเป็นกำลังหลัก ให้ร่วมมือกับฝ่ายปกครองท้องที่ปลุกราษฎรให้เกิดจิตสำนึกที่จะต้องสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน ให้ร่วมมือกับพัศดีเรือนจำคัดเลือกนักโทษที่มีความประพฤติที่จะแก้ไขความผิดเดิมของตนให้เป็นพลเมืองดีต่อไปนั้น รับการฝึกฝนวิชาพลทหารเกียกกาย เพื่อว่าเมื่อถึงคราวต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยแล้ว กองตำรวจประจำการและตำรวจกองหนุนที่จะระดมเข้าประจำการจะได้ทำการรบแนวหน้า ส่วนนักโทษที่ประพฤติดีและได้รับการฝึกฝน เป็นพลทหารเกียกกายแล้ว จะได้รับการอภัยโทษเข้าทำหน้าที่เป็นพลาธิการให้แก่กองตำรวจ ส่วนราษฎรสามัญที่สมัครเข้าขบวนเสรีไทยก็จะได้แยกออกเป็นหน่วยต่างๆ ทำการรบแบบพลพรรค

(๒)ส่วนต้อนรับเครื่องบินทะเลและรับส่งอาวุธและสมาชิกเสรีไทยนั้น ให้เตรียมเรือยนต์และเตรียมบ้านพักบนบกไว้

ร.ต.อ.เฉียบฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายครบถ้วนเป็นอย่างดีทุกประการ หน่วยเสรีไทยชุมพรนี้เป็นหน่วยหนึ่งซึ่งกองบัญชาการสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ได้กำหนดจะให้ทำการวินาศกรรมสะพานและทางคมนาคม เพื่อป้องกันมิให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายลงไปทางใต้ได้สะดวก ในกรณีสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งปักษ์ใต้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จำนนต่อสัมพันธมิตรก่อนที่สัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นชายฝั่ง

แต่กองทัพญี่ปุ่นบริเวณชุมพรและคอคอดกระยังไม่ยอมวางอาวุธ กองบัญชาการสัมพันธมิตรจึงส่งพันตรีแอนดรูกิลคริสต์กับคณะมาทางเครื่องบินทะเลลงที่บริเวณชายฝั่งชุมพร โดยการต้อนรับของหน่วยเสรีไทย ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉียบฯเป็นหัวหน้า เพื่อสัมพันธมิตรจัดการป้องกันความปลอดภัยของเชลยที่ญี่ปุ่นจับมาทำงาน

ต่อมา พันตรีแอนดรูกิลคริสต์ปลดจากประจำการ แล้วกลับเข้ามาทำงานทางการทูตอังกฤษต่อไปตามเดิม แล้วได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ จนได้บรรดาศักดิ์เป็นท่านเซอร์ คือ Sir Andrew Gilchrist ผู้แต่งหนังสือ Bangkok Top Secret (ความลับสุดยอดของบางกอก)

Tuesday, March 18, 2008

บทความที่๓๖๒.พบถิ่นอินเดีย-การมาของพวกอารยัน

บันทึกของเนห์รู
(เรียบเรียงจาก The Discovery of India ของยวาหระลาล เนห์รู , กรุณา กุศลาสัย แปล)
บันทึกในที่คุมขังป้อมอะหะหมัดนคร
การมาของพวกอารยัน

ใครคือประชาชนแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และเขามาจากไหน ? เกี่ยวกับเรื่องนี้เรายังไม่มีทางทราบได้อย่างแน่นอน อาจจะเป็นไปได้และน่าจะเป็นได้ว่าวัฒนธรรมของคนเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองซึ่งมีรกรากและสาขาให้เราเห็นได้ในอินเดียตอนใต้ แม้ในปัจจุบัน นักปราชญ์บางคนได้พบความละม้ายคล้ายคลึงอย่างมีสาระสำคัญระหว่างชนเหล่านี้กับวัฒนธรรมและชนชาติทราวิฑ (Dravidian)แห่งอินเดียตอนใต้ แม้ว่าจะมีผู้คนอพยพไปอยู่ในอินเดียในสมัยโบราณ การอพยพนี้ก็คงจะมีขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนเวลาที่ยกให้ว่าเป็นยุคสมัยของโมหันโช-ทโฑ เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุผลโดยประการทั้งปวงเราจึงพอจะสรุปได้ว่า ประชาชนยุคโมหันโช-ทโฑ เป็นคนพื้นเมืองของอินเดียเอง

อะไรเกิดขึ้นแก่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และมันได้สิ้นสุดลงไปอย่างไร? บางท่านกล่าวว่าอารยธรรมนี้ได้อวสานลงอย่างกะทันหันเนื่องจากภัยพิบัติอันอธิบายไม่ได้ แม่น้ำสินธุมีชื่อเสียงมากในเรื่องน้ำท่วมใหญ่ๆ ซึ่งพังทลายแล้วก็กวาดล้างบ้านเมืองและหมู่บ้านไปเลย หรือดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ อาจจะค่อยๆทำให้พื้นดินเสื่อมคุณภาพลงไป และทะเลทรายอาจจะขยายตัวแผ่คลุมเข้ามาถึงผืนดินอันเป็นที่เพาะปลูกฯลฯ

เศษซากของโมหันโช-ทโฑ เองเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าได้มีดินทรายถูกพัดพามากองทับกันไว้หลายชั้น ทำให้ระดับพื้นดินตรงเมืองนั้นสูงขึ้น และเป็นเหตุบังคับให้ผู้อยู่อาศัยต้องสร้างเคหสถานมีลักษณะเป็นบ้านสองหรือสามชั้น ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผนังบ้านถูกต่อเติมให้สูงขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ระดับกับพื้นดินที่พอกพูนสูงขึ้นเรื่อยๆ แคว้นสินธุเป็นแคว้นที่เราทราบกันว่ารุ่มรวยและอุดมสมบูรณ์ในสมัยโบราณ แต่นับตั้งแต่สมัยกลางเป็นต้นมา ส่วนมากของแคว้นนี้ได้กลายเป็นทะเลทรายไปเสียสิ้น

เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นไปได้ที่ความเปลี่ยนแปลงด้านดินฟ้าอากาศได้ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนถึงประชาชนและการอยู่กินของเขาในเขตเหล่านั้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงด้านดินฟ้าอากาศคงจะไม่ส่งกระทบกระเทือนถึงส่วนใหญ่ของอาณาบริเวณอันกว้างขวางที่อารยธรรมนาครนี้ได้แพร่ไปถึง ซึ่งในปัจจุบันนี้เรามีเหตุผลพอที่จะเชื่อได้ว่าอารยธรรมนาครแห่งนี้ได้แพร่ไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคา และอาจจะเลยไปไกลกว่านี้ก็ได้ ดินทรายที่ถูกพัดพามาท่วมปกคลุมเมืองเก่าๆ เหล่านี้บางเมือง ได้ทำหน้าที่รักษาเมืองไว้ด้วย ในขณะเดียวกัน ตัวเมืองและร่องรอยอื่นๆ ของอารยธรรมเก่าแก่แขนงนี้ก็ค่อยๆ เสื่อมสลายผุผังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปในระยะเวลาหลายยุคหลายสมัย บางทีการขุดค้นทางโบราณคดีในอนาคตจะเผยให้เราทราบถึงห่วงสัมพันธ์ที่อารยธรรมนี้มีต่อเนื่องกับยุคหลังๆได้มากกว่านี้

เชื่อกันว่าการอพยพเข้าไปอยู่ในอินเดียของพวกอารยันได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งพันปีหลังจากยุคลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ในระหว่างกลางนั้น คงไม่เกิดช่องว่างอันยาวนานนัก และคงจะมีนานาเผ่านานาเชื้อชาติอพยพเข้าไปในอินเดียครั้งแล้วครั้งเล่า ดังที่ปรากฏในยุคต่อมา แล้วก็อาจถูกดูดกลืนไว้ในอินเดีย เราอาจกล่าวได้ว่าในระยะนั้นได้เกิดการรวมตัวและผสมผสานกันทางวัฒนธรรมเป็นครั้งแรกและอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างพวกอารยันซึ่งกำลังเข้ามา กับพวกทราวิฑผู้ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ จากการรวมตัวและผสมผสานกันนี้ เชื้อชาติอินเดียและวัฒนธรรมอันเป็นพื้นฐานของอินเดียก็ได้เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วยธาตุมูลอันมีลักษณะที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายอารยันและฝ่ายทราวิฑ

ในยุคติดตามมาภายหลัง ได้มีชนชาติอื่นมากหลายอพยพไปอยู่ในอินเดีย เช่น อิหร่าน กรีก ปาร์เถีย แบคเทรีย ซิทเธีย ฮั่น ตุรกี (ก่อนอิสลาม) คริสเตียนรุ่นแรกเริ่ม ยิว และโซโรอาสตฺร ชนชาติเหล่านี้ต่างก็เข้าไปอยู่ในอินเดีย ได้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น แล้วก็ถูกอินเดียดูดกลืน เป็นเรื่องน่าประหลาดทั้งๆที่มีการถือชั้นวรรณะและกีดกัน แต่อินเดียก็มีสมรรถภาพที่จะดูดกลืนเชื้อชาติและวัฒนธรรมต่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางทีอาจจะเนื่องด้วยสมรรถภาพอันนี้เอง ที่อินเดียสามารถธำรงไว้ได้ซึ่งกำลังวังชาและสามารถชุบตัวเองให้เข็มแข็งได้เป็นระยะๆ ดังนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในอินเดีย พวกมุสลิมจึงได้รับอิทธิพลจากอินเดียไปอย่างมากมาย.

บทความที่๓๖๑.พบถิ่นอินเดีย-ท่องเที่ยวไปในอินเดีย

บันทึกของเนห์รู
(เรียบเรียงจาก The Discovery of India ของยวาหระลาล เนห์รู , กรุณา กุศลาสัย แปล)
บันทึกในที่คุมขังป้อมอะหะหมัดนคร
ท่องเที่ยวไปในอินเดีย

ในตอนปลาย ค.ศ.๑๙๓๖ และตอนต้น ค.ศ.๑๙๓๗ การเดินทางของข้าพเจ้าเริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ ข้าพเจ้าเดินทางไปในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลเหมือนกับพายุคือเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืน เคลื่อนที่อยู่เสมอไม่มีเวลาหยุด ไม่มีเวลาจะพักผ่อนที่ใดเลยก็ว่าได้ เสียงเรียกร้องต้องการให้ข้าพเจ้าไปปรากฏตัวได้ดังมาจากทุกแห่งหน เวลาก็มีจำกัด เพราะการเลือกตั้งทั่วไปกำลังใกล้เข้ามา ข้าพเจ้าได้รับการคาดคะเนให้หาเสียงให้แก่ผู้อื่นด้วย ส่วนใหญ่ข้าพเจ้าเดินทางด้วยรถยนต์ บางโอกาสก็ใช้เครื่องบิน และรถไฟ สำหรับระยะทางสั้นๆ ข้าพเจ้าต้องใช้ช้าง อูฐ ม้า เรือยนต์ เรือพายด้วยเท้า เรือพายด้วยมือ จักรยาน หรือมิฉะนั้นก็เดินเท้า การเดินทางด้วยวิธีแปลกๆ เช่นนี้ บางครั้งก็จำเป็นในเมื่อเข้าสู่ส่วนลึกของประเทศที่ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมธรรมดา

ข้าพเจ้ามีเครื่องขยายเสียงติดตัวไปด้วยสองชุด เพราะไม่มีทางอื่นที่จะพูดคุยกับชุมชนจำนวนมากมายได้ดีไปกว่านี้ อีกทั้งข้าพเจ้าเองก็จะไม่มีเสียงพูดได้ด้วย เครื่องขยายเสียงนี้ได้เดินทางไปยังสถานที่แปลกๆ พร้อมกับข้าพเจ้า ตั้งแต่ชายแดนประเทศธิเบต จนถึงชายแดนประเทศบาลูจิสตาน อันเป็นสถานที่ที่คนทั่วๆไป ไม่เคยได้เห็น หรือรู้จักเครื่องขยายเสียงมาก่อน

ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงค่ำมืดดึกดื่น ข้าพเจ้าต้องเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากมายรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ระหว่างทางในสถานที่หลายแห่ง ก็มีชาวชนบทผู้มีความอดทนยืนรอรับข้าพเจ้าอยู่ การยืนรอรับของชาวชนบทเหล่านี้เป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นโดยมิได้มีการบอกล่วงหน้าก่อน ซึ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนแก่รายการอันกระชั้นชิดของข้าพเจ้า และทำให้การนัดหมายทั้งหลายต้องชักช้าไปด้วย แต่จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะให้ข้าพเจ้ารีบรุดผ่านไป โดยไม่นำพาและสนใจต่อชาวชนบทผู้ต่ำต้อยเหล่านั้น ดังนั้นความชักช้าจึงได้เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก

ยิ่งกว่านั้นตามที่ชุมชนกลางแจ้งข้าพเจ้ายังต้องใช้เวลาหลายนาทีในการตะลุยฝูงชนผ่านเข้าไปกว่าจะถึงข้างนอกอีกเล่า ในภาวการณ์เช่นนี้ทุกๆ นาทีย่อมมีค่า และเมื่อนาทีบวกกันมากเข้าๆ ก็กลายเป็นชั่วโมง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาเย็นก็ปรากฏว่าข้าพเจ้าช้าไปตั้งหลายชั่วโมงเสียแล้ว ถึงกระนั้น กลุ่มชนก็ยังรอคอยข้าพเจ้าอยู่ด้วยความอดทน ทั้งๆที่เป็นฤดูหนาว และเขาเหล่านั้นต้องนั่งสั่นอยู่ในกลางแจ้ง ท่ามกล่างความเหน็บหนาว เพราะขาดแคลนเสื้อผ้าที่จะช่วยให้ความอบอุ่น

มีใครคนหนึ่งได้กรุณารวบรวมหลักฐานไว้ คะเนว่า ในระยะเวลา ๒-๓ เดือนนั้น มีประชาชนประมาณสิบล้านคนเข้าร่วมชุมนุมที่ข้าพเจ้ากล่าวคำปราศรัย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายล้านคนที่ได้มีโอกาสพบปะกับข้าพเจ้าไม่โดยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเดินทางผ่านไปในการชุมนุมใหญ่ๆ จะมีประชาชนเข้าร่วมด้วยประมาณหนึ่งแสนคน ส่วนการชุมนุมขณะที่มีคนเข้าร่วมด้วยประมาณสองหมื่นคนนั้น มีอยู่โดยทั่วไป

บางครั้งขณะที่ผ่านเมืองย่อมๆ ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจเมื่อได้สังเกตว่าเมืองนั้นมีสภาพคล้ายเมืองร้าง บรรดาร้านโรงต่างๆ พากันปิดหมด ครั้นแล้วข้าพเจ้าก็เกิดความเข้าใจในสภาพเช่นนั้น เมื่อได้พบว่าประชาชนแทบทั้งหมดในเมืองนั้นไม่ว่าชายหญิงและแม้แต่เด็กต่างก็พากันไปรวมอยู่ ณ ที่ชุมนุมซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของเมืองและเข้าเหล่านั้นกำลังรอการไปถึงของข้าพเจ้าอยู่อย่างเต็มไปด้วยความอดทน

ข้าพเจ้าสามารถปฏิบัติภารกิจดังพรรณนามานี้ให้ลุล่วงไปได้โดยปราศจากการล้มป่วยลงได้อย่างไร แม้ในขณะที่เขียนนี้ข้าพเจ้าเองก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความอดทนทางร่างกายเป็นอย่างมาก ข้าพเจ้ามักหลับไปในรถยนต์อย่างแทบสิ้นสติประมาณครึ่งชั่วโมง ขณะที่เดินทางอยู่ระหว่างชุมนุมสองแห่ง แล้วก็ไม่อยากจะลุกขึ้นเลย แต่ข้าพเจ้าก็ต้องลุก โดยเฉพาะเมื่อฝูงชนจำนวนมากมายส่งเสียงเซ็งแซ่ต้อนรับ และในที่สุดก็ปลุกให้ข้าพเจ้าตื่นจากภวังค์

ข้าพเจ้าลดปริมาณอาหารที่รับประทานลงให้เหลือน้อยที่สุดและมักจะเลิกรับประทานเสียมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเย็น เพราะทำให้รู้สึกสบายดีแต่สิ่งที่ให้กำลังใจแก่ข้าพเจ้าและทำให้ข้าพเจ้าเปี่ยมไปด้วยพลังทั่วสรรพางค์กายก็คือ ความกระตือรือร้นและความรักอันมหาศาลของฝูงชน ซึ่งห้อมล้อมและคอยต้อนรับข้าพเจ้าอยู่ทั่วทุกแห่งที่ไปถึง ข้าพเจ้าเคยชินกับมัน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะเป็นกันเองกับมันไปได้อย่างสิ้นเชิง เพราะทุกวันใหม่ที่เกิดขึ้น วันใหม่นั้นต่างก็นำความประหลาดใหม่ๆ พ่วงมาด้วยเสมอ