Tuesday, February 26, 2008

บทความที่๓๔๘.การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน (๒)

การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๒-
ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองชิงเต่า ๓ วัน ต่อจากนั้นได้ขึ้นรถไฟไปยังเมืองจี้หนาน (เมืองหลวงของมณฑลชานตุง)พร้อมกับเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ ๑ คน จากจี้หนาน เราได้ขึ้นรถไฟต่อไปกรุงปักกิ่ง


ตามปกติระยะทางจากชิงเต่าถึงจี้หนานโดยทางรถไฟนั้นใช้เวลาประมาณ ๕ ช.ม.เท่านั้น แต่ในยุคนั้นใช้เวลาถึง ๑๘ ช.ม. เพราะทางรถไฟและสะพานต่างๆ ถูกทำลายไปในระหว่างสงครามกลางเมือง จึงต้องซ่อมทางรถไฟและสะพานชั่วคราวขึ้นใหม่ ซึ่งทำให้การเดินทางใช้เวลานานไปอีก

ที่สถานีจี้หนาน สหายหลีกวนอี้ (Li Kuan-Yi) เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งมณฑลชานตุงได้มาต้อนรับเรา และพามาพักยังที่พัก ซึ่งได้จัดไว้สำหรับแขกทางราชการโดยเฉพาะ วันรุ่นขึ้น คั้งเซิ้ง (Kang Sheng) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลชานตุงในขณะนั้น ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นเกียรติแก่เรา คั้งเซิ้งเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับประธานเหมาฯคนหนึ่งในระหว่างสงครามสู้รบกับญี่ปุ่นและสงครามปลดปล่อย เขาเคยศึกษาอยู่ในสหภาพโซเวียต

ระหว่างการอภิวัฒน์วัฒนธรรมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ คั้งเซิ้งได้เลื่อนขึ้นอยู่ในอันดับ ๕ ในคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อจากเหมาเจ๋อตง หลินเปียว โจวเอินไหล และเฉินโป๋ต๋า (Chen Po-ta)

ในระหว่างที่เราสนทนากันนั้น เขาได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่ากว่าจะปลดปล่อยมณฑลชานตุง ได้มีการสู้รบครั้งสำคัญๆหลายครั้งทั่วทั้งมณฑล ยกเว้นที่ชิงเต่า ระหว่างกองทัพราษฎรจีนกับกองทัพจีนคณะชาติ กองทัพจีนคณะชาติได้อาวุธที่ทันสมัยจากสหรัฐอเมริกา แต่กองทัพราษฎรจีนสามารถยึดมาได้ทั้งหมด เมื่อได้ชัยชนะและได้เอาไว้ใช้ในการรณรงค์สู้รบครั้งต่อๆ ไป เขาได้อ้างคำกล่าวของประธานเหมาฯ ว่า “พรรคก๊กมิ่นตั๋ง (พรรคจีนคณะชาติ)เป็นผู้จัดหาอาวุธให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เยี่ยมที่สุด”

เราพักอยู่ที่จี้หนาน ๒ วัน แล้วขึ้นรถไฟต่อไปยังปักกิ่ง เมื่อเรามาถึงสถานีรถไฟ สหายชาวจีนหลายคนได้มาต้อนรับเช่น หลีเค่อหนุง (Li Ke-nung) ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหลียวเฉิงจื้อ (Liao Cheng chi หรือ Liao Cheng-Zhi) เฉียวกวนหัว (Chiao Kuan-hua หรือ Qiao Guan-hua) หลีจี้ซิน (Li Chi-sin หรือ LI Ji-sin) เป็นต้น หลีเค่อหนุงได้รับการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อตั้งรัฐบาลสาธารณราษฎรจีนแล้ว เขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนเหลียวเฉิงจื้อเป็นบุตรชายคนเดียวของเหลียวจงไข่ (Liao Cheng-kai หรือ Liao Zhong-kai) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของซุนยัดเซ็น ผู้นำขบวนการอภิวัฒน์ชนชั้นเจ้าสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๕๔

เหลียวเฉิงจื้อเกิดในประเทศญี่ปุ่น เริ่มศึกษาที่ญี่ปุ่น และได้ไปศึกษาต่อในยุโรปตะวันตก(เยอรมัน ฝรั่งเศส)หลังการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีน เขาได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวกับกิจการต่างๆของชาวจีนโพ้นทะเล สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน องค์การสันติภาพ ฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนเฉียวกวนหัวศึกษาที่ประเทศเยอรมัน ขณะนี้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เคยเป็นผู้แทนของจีนเข้าร่วมประชุมที่สหประชาชาติ ภายหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การโลกนี้แล้ว

และหลีจี้ซิน คอมมิวนิสต์จีนที่ได้ลี้ภัยมายังประเทศสยามก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้กลับประเทศจีน ๓ เดือนก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงปักกิ่ง เขาได้ทำงานในองค์การแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

No comments: