Tuesday, January 1, 2008

บทความที่๓๓๖.การลี้ภัยไปสิงคโปร์และจีน (๑)

รัฐประหารปฏิกิริยา
และการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน

ปรีดี พนมยงค์
-๑-
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดและพวกคลั่งชาติ โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า พวกเขาได้บุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะทำลายชีวิตข้าพเจ้ารวมทั้งภรรยาและบุตรเล็กๆ หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคตฯ จอมพลป.ซึ่งถูกปล่อยก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน เพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลังมาใช้บังคับ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทำให้มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามิได้มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมอีกต่อไป แต่จะมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากประมุขแห่งรัฐ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ก่อนรัฐประหารอายุต่ำสุดของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ ๒๓ ปี ซึ่งเท่ากับอายุต่ำสุดของผู้สมัครเป็นวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามมาตรฐานนี้ก็ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาประเทศไทยก็ถูกปกครองโดยรัฐธรรมฟาสซิสต์ กึ่งฟาสซิสต์ และฟาสซิสต์ใหม่ๆ ฯลฯ อีกหลายฉบับ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองหลายประการ

รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาไม่กี่เดือนทหารก็ได้ชี้ให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก และจอมพลพิบูลฯก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าไปพักอยู่กับเพื่อทหารเรือที่ฐานทัพสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รับระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย เพื่อลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ

ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนเดินทางได้ไปพบกันนาวาเอกสแตนท ฟอร์ด เดนนิส (Captain S. DENIS R.N.) ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงครามภายใต้การนำของลอร์ดเมาน์ทแบทเตน และขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับทูตอังกฤษ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าในการเดินทางไปสิงคโปร์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เดนนิสและนาวาเอกการ์เดส (Captain Gardes U.S.N)ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรืออเมริกันได้ร่วมมือกันนำข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึกโดยเรือยนต์ของการ์เดส ซึ่งนำทางโดยการ์เดสเอง พร้อมด้วยภรรยาและน้องภรรยา ต่อมาเราก็ลงเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ำมันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่นและอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง

-๒-
ขณะสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่า สิทธิอันนี้จะมีอยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษรับรองระบอบปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและนานกิง(ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่)ออกหนังสือเดินทางการทูตพร้อมด้วยวีซ่าแก่ข้าพเจ้า เพื่ออนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังประเทศอื่นได้ เอกอัครราชทูตทั้งสองยินดีทำตามที่ข้าพเจ้าขอไป ข้าพเจ้าจึงได้รับวีซ่าทางการทูตจากสถานทูตจีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา ๗ เดือน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการกลับสู่สยาม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่ามิตรของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมตัวก่อการต่อต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างลับๆ ซึ่งต้องซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเดินทางออกสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่นๆ ในระหว่างนั้น

No comments: