Wednesday, October 3, 2007

บทความที่ ๓๒๐. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๓

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๕. สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์
-๓-
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้ยึดครองทั่วเอเชียอาคเนย์ ญี่ปุ่นหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศอาณานิคมเหล่านี้ จึงได้ช่วยบรรดาผู้รักชาติจัดตั้งรัฐบาลที่ตนเองเรียกว่า “รัฐบาลเอกราช” เช่น รัฐบาลเอกราชพม่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบามอ (Ba Maw) รัฐบาลเอกราชอินโดนีเซียนำโดย ซูการ์โน (Soekarno) รัฐบาลเอกราชฟิลิปปินส์นำโดยลอเรล (Laurel) ต่อจากนั้นญี่ปุ่นก็ได้สนับสนุนจักรพรรดิเวียดนาม กษัตริย์กัมพูชา กษัตริย์ลาว เพื่อประกาศอิสรภาพ ผู้รักชาติส่วนใหญ่รู้ดีว่า การกระทำของญี่ปุ่นมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนเจ้าอาณานิคมเก่าไปเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่ โดยมีญี่ปุ่นเป็นนาย เพราะทุกประเทศที่ถือว่าเพิ่งได้รับเอกราชใหม่ จะต้องเข้าไปเป็นอาณานิคมแบบใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักกันในนาม “การร่วมวงศ์ไพบูลย์แห่งเอเชียบูรพา” ได้มีการตั้งกระทรวง “กิจการมหาเอเชียบูรพา” ขึ้นเป็นกระทรวงใหม่ของญี่ปุ่นเพื่อรับผิดชอบกิจการที่เกี่ยวกับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และรัฐบาลหุ่นเชิดแมนจูกัวรัฐวังจิงไวของจีนและรัฐสยาม ส่วนสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่มีเอกราชแท้จริงนั้น จะมีสัมพันธภาพทางการทูตกันตามปกติ

จอมพลพิบูลฯ ได้ส่งการให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวประท้วงรัฐบาลญี่ปุ่นต่อการปฏิบัติที่ประหลาดนี้ ซึ่งเป็นการลดสถานภาพของสถานเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งเมื่อก่อนมีสภาพการเช่นเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตยุโรปอื่นๆ ที่ยังมีสัมพันธภาพทางการทูตกับญี่ปุ่น ได้แก่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน อิตาลี และอื่นๆ

นายพลโตโจนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ได้ถูกศาลฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินประหารชีวิตในข้อหาอาชญากรสงคราม) ได้อธิบายให้เอกอัครราชทูตของรัฐบาลไทยขณะนั้นฟังว่า “เนื่องจากหน้าตาของคนไทยเหมือนกับคนญี่ปุ่น จนไม่สามารถแยกได้ว่าคนใดเป็นคนญี่ปุ่น คนใดเป็นคนไทย ดังนั้นคนทั้งสองชาติจึงเป็นพี่น้องกัน ถ้า “น้อง” ปรารถนาจะพูดกับ “พี่” ก็ไม่ต้องเป็นต้องมีระเบียบพิธีการทูต เพียงแต่ไปพบ “พี่” เมื่อไรก็ได้ และแทนที่จะเข้าทางประตูหน้าบ้าน “น้อง”ก็อาจเข้าไปทางหลังบ้านได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการดีสำหรับสถานเอกอัครราชทูตไทย และประเทศอื่นที่ร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่นที่จะมีสัมพันธภาพโดยตรงกับรัฐมนตรีกิจการมหาเอเชียบูรพา โดยปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศที่ติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่มิได้เป็นพี่น้องกับญี่ปุ่นและไทย”

ส่วนผู้รักชาติคนอื่นๆในประเทศเอเชียอาคเนย์ที่พำนักอยู่ในสยามนั้น มีจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น พวกเข้าได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในการทำสงครามพลพรรค และบางคนได้รับความรู้จากนายทหารอเมริกันและอังกฤษเอง ซึ่งในเวลานั้นถือว่าชัยชนะต่อญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม หลังจากญี่ปุ่นยอมจำนนแล้ว นักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกกลุ่มเก่าก็มายึดเอาอาณานิคมเดิมของตน แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านของผู้รักชาติในประเทศนั้นๆ ผู้รักชาติจำนวนหนึ่งก็ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อขอความช่วยเหลือจากเรา

จากการที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับผู้รักชาติเหล่านี้ เราได้ลงความเห็นกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์จะได้รับเอกราช อันเป็นผลมาจากความพยายามของพวกเขาเอง แต่เราจะต้องเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่สองประเทศ ได้แก่จีนคณะชาติซึ่งโดดเด่นขึ้นมาหลังชัยชนะต่อญี่ปุ่น อีกประเทศหนึ่งคืออินเดียที่ได้เอกราชจากอังกฤษ ฉะนั้น หากพวกเราแต่ละประเทศต่างคนต่างอยู่ ภายหลังทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับเอกราชแล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะป้องกันตนเองในกรณีที่ยักษ์ใหญ่สองประเทศรุกรานเรา

ด้วยเหตุนี้เราจึงก่อตั้งสมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการป้องกันประเทศ องค์การนี้มิได้เป็นสหภาพหรือสมาพันธรัฐ เนื่องจากแต่ละประเทศมีอิสระทั้งในกิจการภายในและกิจการต่างประเทศของตนเองอย่างสมบูรณ์ องค์การนี้เป็นเพียง “ความเข้าใจกันอย่างฉันมิตร” ระหว่างรัฐสมาชิกดัวยกันเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ยอมรับสมาคมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเริ่มก่อตั้งสมาคมให้เป็นองค์การของประชาชน เนื่องจากประเทศสยามตั้งอยู่ในใจกลางภูมิภาคนี้ ข้าพเจ้าจึงรับที่จะให้กรุงเทพฯเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางแห่งแรกขององค์การ ด้วยการให้สร้างที่ทำการและจัดสรรเงินช่วยเหลือตามความจำเป็น

ผู้รักชาติในประเทศเอเชียอาคเนย์จำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมสมาคมนี้ นักล่าอาณานิคมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้กล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้นำขบถในการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม และเป็นศูนย์กลางของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อเอาใจบรรดานักล่าอาณานิคม ได้ยุบสมาคมดังกล่าวและแยกสลายบรรดาสมาชิก

สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์มิได้เป็นสันนิบาตคอมมิวนิสต์ เพราะสมาชิกประกอบด้วยผู้รักชาติทุกแนวทาง รวมทั้งเจ้าเพชราชอดีตมหาอุปราชลาวด้วย จากการสนทนากับเจ้าเพชราชเกี่ยวกับผู้รักชาติบางคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระองค์ได้ตอบด้วยการตั้งคำถามว่า “คนที่กำลังจะจมน้ำนั้น จะมีเวลาพอหรือที่จะดูว่ามือที่ยื่นมานั้นมีสีขาวหรือสีแดง”

No comments: