Thursday, October 11, 2007

บทความที่ ๓๓๕. ตุลาแดงรำลึก (๙)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๙-
รัฐบาลนายพจน์ สารสิน ที่สฤษดิ์ฯ สนับสนุนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก่การรับรองรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและนานาประเทศ หลังจากจัดการให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ หลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลนายพจน์ สารสินก็ได้ลาออกไปในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๐ สภาเสียงข้างมากซึ่งเป็นเสียงของคณะรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ มีมติเลือก พลโท ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พลโท ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลโท ถนอม กิตติขจรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๑

พลโท ถนอม กิตติขจร ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๘ มีนาคม ๒๔๙๔ ตั้งแต่ ๑ มกราคม ถึง ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ จึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ นั้นเอง เวลาบ่าย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่ในค่ำคืนนั้นเองเวลา ๒๑.๐๐ น. เสียงห้าวๆ ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ออกอากาศประกาศยึดอำนาจปกครองแผ่นดินอีกครั้งหนึ่งในนามของ “คณะปฏิวัติ” มีสาระสำคัญดังนี้

๑.คณะปฏิวัติได้กระทำการปฏิวัติโดยความยินยอมและสนับสนุนของรัฐบาลชุดที่ลาออกไป

๒.ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๙๕

๓.จะดำเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ เทอดทูนพระมหากษัตริย์เสมอ และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียใหม่ให้เหมาะสม

๔.ให้สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

๕.ศาลทั้งหมดคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิจารณาอรรถคดีให้เป็นไปตามบทกฎหมายเช่นเดิมทุกประการ

๖.คณะปฏิวัติจะได้รับภาระบริหารประเทศโดยมีกองบัญชาการปฏิวัติซึ่งมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด รักษาสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้จนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

๗.ให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงรักษาการในหน้าที่และบรรดาอำนาจที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า เป็นอำนาจของรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจของปลัดกระทรวง การปฏิบัติงานให้ขึ้นต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติ..

๘.ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และยุบพรรคการเมือง

จึงเป็นจุดจบรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๘ มีนาคม ๒๔๙๕ เพียงแค่นี้ และต่อไปด้วยรัฐธรรมนูญเผด็จการของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพล สฤษดิ์ฯ ปกครองประเทศเยี่ยงอนารยชนภายใต้คำประกาศ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” เป็นเวลา ๙๙ วัน จนถึงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ที่คณะปฏิวัติสร้างขึ้น เรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปกครองประเทศตั้งแต่ทำรัฐประหาร ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ และสืบต่อมาตามรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ฉบับ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ จนถึงวันตายเมื่อ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ รวมเวลาหลายปี

ในหลายปีที่จอมพลสฤษดิ์ฯ ครองเมือง นอกจากคนบริสุทธิ์จำนวนหนึ่ง เช่น รวม วงศ์พันธุ์ ครอง จันดาวงศ์ และคนอื่นๆ อีกหลายคนถูกฆ่าตาย โดยประกาศิตของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์แล้ว ยังมีอีกจำนวนมากมายรวมทั้งพวกที่เคยไชโยโห่ร้องอยากจะให้จอมพลสฤษดิ์ฯ เป็นนัสเซอร์แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนพระยามัจจุราชต้องเข้ามาจัดการกับจอมพลสฤษดิ์ฯ สถานการณ์จึงค่อยคลี่คลายขึ้นบ้าง

รายละเอียดในพฤติกรรมของผู้นี้ ได้มีบันทึกไว้แล้วในเอกสารต่างๆ รวมทั้งเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง และนี่คือคนที่กษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ และโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา แต่กลับทำความเสื่อมเสียให้กับสถานบันกษัตริย์ และยิ่งกว่านั้นอนุสาวรีย์ของเขาในเครื่องแบบยศจอมพล ยังได้ถูกสร้างขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นอย่างน่าอัปยศยิ่ง.

บทความที่ ๓๓๔. ตุลาแดงรำลึก (๘)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๘-
ภายใต้รัฐบาลพจน์ สารสิน ซึ่งมีสมญานามว่า ลูกบุญธรรมของจอห์น ฟอสเตอร์ดัลเลส อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ผู้บ้าคลั่งในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้บัญญัติหลัก ๑๐ ประการในการต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ในขณะนั้น ซึ่งยังผลมาถึงประเทศไทยด้วย จนถึงปัจจุบันนี้ และเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงขอนำรายละเอียดมาแฉ ณ ที่นี้ คือ

๑. ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างล่อลวงและทำลายเยาวชนของพวกเขาอย่างสุดความสามารถ ปลุกปั่นพวกเขาให้ดูหมิ่นเหยียดหยาม และก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง ถึงขั้นคัดค้านความคิดและการศึกษาที่พวกเขาได้รับมาแต่เดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราลิทธิคอมมิวนิสม์ ช่วยพวกเขา(หมายถึงเยาวชนจีน-ผู้เขียน)สร้างอารมณ์และโอกาสแห่งการปล่อยตัวปล่อยใจทางกามราคะ ยั่วยุพวกเขาให้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง มีสัมพันธ์สำส่อน ให้พวกเขาไม่รู้สึกละอายต่อความเบาปัญญา ฟุ้งเฟ้อ จะต้องทำลายล้างจิตใจ มานะบากบั่นทรหดอดทนที่พวกเขาเคยมีให้สิ้น

๒. จะต้องทำงานการโฆษณาทุกอย่างเท่าที่จะทำได้อย่างสุดความสามารถ รวมทั้งภาพยนตร์ หนังสือ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และการเผยแพร่ศาสนาในรูปแบบใหม่ ขอแต่เพียงให้พวกเขาใฝ่ฝันในรูปแบบเสื้อผ้า อาหาร การอยู่อาศัย การสัญจร ความบันเทิงและการศึกษาของเรา (แบบสังคมทุนนิยม-ผู้เขียน) ก็ถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว

๓. จะต้องชักนำความสนใจของเยาวชนของเขา ให้หันเหไปจากการถือรัฐบาลของพวกเขาเป็นจุดศูนย์รวมที่สืบทอดกันมา (ตามระบบพรรค-ผู้เขียน) ให้ความคิดความอ่านของพวกเขาไปรวมศูนย์อยู่ที่การแสดง การกีฬา หนังสือกามตัณหา การแสวงหาความสุข การละเล่น ภาพยนตร์ อาชญากรรม และความเชื่องมงายในศาสนา(แบบไสยศาสตร์-ผู้เขียน)

๔.จะต้องก่อให้เกิดกระแสคลื่นกวนน้ำให้ขุ่นอยู่เสมอ แม้จะไม่มีเหตุการณ์อะไรก็ตาม ให้ประชาชนของพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเปิดเผย ดังนี้ ก็จะปลูกฝังพืชแห่งความแตกแยกอยู่ในจิตใต้สำนึกของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องหาโอกาสดีในชนชาติส่วนน้อยของพวกเขา สร้างความอาฆาตใหม่ เป่าความแค้นเก่าให้ลุกโพลน เรื่องนี้เป็นนโยบายที่จะมองข้ามไปมิได้โดยสิ้นเชิง (เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ของเราในขณะนี้-ผู้เขียน)

๕. เราจะต้องสร้างข่าวขึ้นมาไม่ขาดระยะ สร้างความอัปลักษณ์แก่ผู้นำของพวกเขา ผู้สื่อข่าวของเราควรจะฉวยโอกาสเข้าสัมภาษณ์พวกเขา หลังจากนั้นก็จัดเรียงถ้อยคำของพวกเขาไปโจมตีพวกเขาเองในสถานที่นานาชาติ การถ่ายรูปจะต้องสนใจเป็นพิเศษ มันเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างความอัปลักษณ์ให้แก่พวกเขา เราจะต้องอาศัยความเป็นไปได้ทุกอย่าง ให้ประชาชนของพวกเขาค้นพบโดยมิได้ตั้งใจว่า ผู้นำของพวกเขามีแต่ความอัปลักษณ์ พิกลพิการ ต่ำช้าและโสโครก (อย่างที่กลุ่มสนธิ-ประสงค์ ทำกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร-ผู้เขียน)
๖.ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สภาวะใด เราจะต้องป่าวร้องประชาธิปไตย เมื่อมีโอกาสก็จะต้องรีบปลุกระดมการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในทันที โดยไม่ต้องไปคำนึงว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จะมีรูปแบบหรือไม่มีรูปแบบก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในกาละเทศะใด ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด เราล้วนแต่จะต้องเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาลของพวกเขาไม่ขาดสาย (อย่างที่กลุ่มสนธิ-ประสงค์ เรียกร้องต่ออดีตรัฐบาลทักษิณ-ผู้เขียน) ขอแต่พวกเราทุกคนพูดอย่างเดียวกันไม่ได้ขาด ประชาชนของพวกเขาก็จะต้องเชื่อว่า สิ่งที่เราพูดเป็นความจริง(แม้จะพูดโกหก-ผู้เขียน)อย่างแน่นอน เราได้มาคนหนึ่ง ก็นับว่าได้มาหนึ่ง เราครองพื้นที่ได้มาหนึ่งก็ถือว่าครองได้หนึ่งพื้นที่ จะต้องทำทุกอย่างโดยไม่ต้องเลือกว่าจะเป็นวิธีการอย่างไร องค์กรและเจ้าหน้าที่ทางการค้าของเรา ล้วนต้องไม่ถือการครอบครองตลาดการค้าเป็นเป้าหมายสุดท้ายเป็นอันขาด เพราะตลาดการค้าในพริบตาเดียวก็อาจสูญเสียไปได้ ถ้าแม้ว่าเรายังไม่ได้ยึดครองตลาดการเมืองเอาไว้

๗.เราจะต้องยุยงส่งเสริมให้รัฐบาลของพวกเขาสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่งเสริมพวกเขาให้กู้หนี้ยืมสินจากพวกเรา ดังนี้เราก็จะมีความมั่นใจเต็มที่ในการทำลายล้างเครดิตของพวกเขาได้ เราให้เงินตราของพวกเขาราคาถูก เกิดภาวะเงินเฟ้อ ขอแต่พวกเขาเสียการควบคุมราคาสินค้าไปแล้ว ในจิตใจของประชาชน พวกเขาก็ต้องพังทลายโดยสิ้นเชิง

๘. เราจะต้องใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและทางเทคโนโลยี โจมตีอุตสาหกรรมของพวกเขาทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น เพียงแต่อุตสาหกรรมของพวกเขาเป็นอัมพาตไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราก็สามารถที่จะปลุกระดมความปั่นป่วนของสังคมขึ้นมาได้ แต่ทว่าโดยภายนอกแล้วเราจะต้องแสดงว่าได้ช่วยเหลือเกื้อหนุนพวกเขาด้วยความเมตตากรุณาอย่างเต็มที่ ดังนี้(รัฐบาล)พวกเขาก็จะอ่อนปวกเปียกอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลที่อ่อนปวกเปียกก็จะนำมาซึ่งความปั่นป่วนที่ใหญ่ยิ่งขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น

๙. เราจะต้องใช้ทรัพยากรบรรดามี แม้กระทั่งการยกมือยกเท้าพูดจา ยิ้มหัว ก็ล้วนแต่สามารถจะทำลายค่านิยมที่สืบทอดกันมาได้ เราจะต้องใช้ทุกสิ่งทุกอย่างไปทำลายจิตใจแห่งศีลธรรมตามวิสัยของพวกเขาให้พินาศ ทำลายหัวกุญแจแห่งความภาคภูมิใจและความเชื่อมั่นในตัวเองให้สิ้นไป ซึ่งก็คือโจมตีจิตใจมานะ บากบั่น ทรหดอดทนของพวกเขาอย่างสุดความสามารถ

๑๐. ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างลับๆ ให้กับผู้ที่เป็นศัตรูของพวกเขา และผู้ที่อาจจะกลายเป็นศัตรูของพวกเขาทั้งหมด (อย่างที่กำลังกระทำอยู่ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ขณะนี้-ผู้เขียน)

บัญญัติ ๑๐ ประการนี้ นายจอห์นฟอสเตอร์ดัลเลส อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้กำหนดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๕๑ /พ.ศ.๒๔๙๔) และได้เพิ่มเติมปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมา เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การแปรเปลี่ยนโดยสันติต่อจีน ให้ระบบสังคมนิยมของจีนที่เพิ่งเริ่มต้นพังพินาศลง เป็นการทำสงครามที่ปราศจากควันปืนกับจีน ดังเช่นที่ได้ทำให้สหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกล่มสลายมาแล้ว (คัดจากหนังสือเผยโฉมหน้าฝ่าหลุนกง ของ บุญศักดิ์ แสงระวี ที่ถ่ายทอดมาจากหนังสือพิมพ์ เซี่ยงกั่งซางเป้า ของฮ่องกงประจำวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๐๐๐)

บทความที่ ๓๓๓. ตุลาแดงรำลึก (๗)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๗-
ต่อมาในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๐ ได้มีการประกาศยกเลิกตำแหน่ง”ผู้บัญชาการฝ่ายทหาร” และวันที่ ๑๔ ต่อมาได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และต่อมาอีก ๕ เดือนหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารจำนวนหนึ่ง ได้มีหนังสือขอให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๐ แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ยอมลาออก กลับเข้าเฝ้าเพื่ออพระราชทานพระบรมราชโองการปลดจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในตอนเช้าวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ แต่ไม่ทรงโปรด

ในเช้าคืนวันนั้นเอง ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในนามของ “คณะทหาร” ได้ทำการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามและนับแต่บัดนั้นอำนาจการปกครองแผ่นดินอยู่ในกำมือของ “คณะทหาร” (ดูรายละเอียดได้จาก “พลิกแผ่นดิน” ของประจวบ อัมพเศวต ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ)และฐานะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยิ่งมั่นคงยิ่งขึ้นเมื่อได้มีพระบรมราชโองการเป็นส่วนพระองค์ ในคืนรัฐประหารนั้นเอง (เพราะไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ) แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้ใช้กำลังอาวุธล้มล้างรัฐบาลเยี่ยงอนารยชน เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ดังสำเนาพระบรมราชโองการต่อไปนี้

ฉบับพิเศษ หน้า ๑
เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๗๖ ราชกิจจานุเบกษา ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐

ประกาศพระบรมราชโองการ
ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

เนื่องด้วยปรากฏว่า รัฐบาลอันมี จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๐


หมายเหตุ ประกาศพระบรมราชโองการฉบับนี้ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงเป็นผู้รับผิดชอบด้วยพระองค์เอง เช่นเดียวกับกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งถือเป็นโมฆะตามมาตรา ๗ ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ อันเป็นเสมือนสัญญาประชาคมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับราษฎรไทย

โดยที่การทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้งนี้ไม่ได้ประกาศฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ หากให้คงใช้ต่อไป โดยมีเงื่อนไขตามพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๐ ดังนี้

“..(ก) ให้สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกประเภทที่ ๑ และสมาชิกประเภทที่ ๒ สิ้นสุดลงในวันประกาศพระบรมราชโองการนี้

(ข)ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ภายในเก้าสิบวัน นับตั้งแต่วันประกาศพระบรมราชโองการนี้

(ค)จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ จากบุคคลซึ่งทรงเห็นสมควร มีจำนวนไม่เกิน ๑๒๓ คน ในวันและภายหลังวันประกาศพระบรมราชโองการนี้

ในระหว่างที่สมาชิกประเภทที่ ๑ ยังไม่ได้รับหน้าที่ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ ๒ ไปพลางก่อน

(ง)ก่อนที่จะได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นหน้าที่ของผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ...

พระบรมราชโองการฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และต่อมาได้แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๐ จากบุคคลที่เห็นสมควร โดยเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระทัย จึงทรงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ จำนวน ๑๒๑ นาย ในจำนวนนี้ เป็นทหารบก ๗๓ นาย เป็นทหารเรือ ๑๕ นาย เป็นทหารอากาศ ๑๖ นาย เป็นตำรวจ ๓ นาย นอกนั้นเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ และคหบดี ๑๔ นาย และบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเหล่านี้เป็นบุคคลชนิดไหน ? อย่างไร ? ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้แล้ว เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และจอมพลต้นตระกูลชุณหะวัณ (ผิน)

หลังจากตั้งผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นสมาชิกประเภทที่ ๒ จำนวน ๑๒๑ คนแล้ว ก็เริ่มทำหน้าที่ตามเงื่อนไข (ค) คือสภาผู้แทนราษฎรและเปิดประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๐ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดย

พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
พลโท ปรุง รังสิยานนท์ เป็นรองประธานคนที่ ๑
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรองประธานคนที่ ๒

และในวันเดียวกันนั้น ประธานสภาฯ ได้เชิญสมาชิกสภาฯ ไปประชุมหารือเป็นการภายใน ณ หอประชุมกองทัพบก เพื่อเฟ้นหาตัวบุคคลที่สมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ตามคำชี้แนะให้นายพจน์ สารสินเป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๐๐ ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีโดย พลเอก สุทธิ์ สุทธิสรรณกร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันเดียวกันนั้นเองได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

บทความที่ ๓๓๒. ตุลาแดงรำลึก (๖)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๖-
ด้วยความขัดแย้งสามประการที่สำคัญ และรวมอีกหนึ่งคือปัญหาถือครองที่ดิน ซึ่งถือเสมือนความขัดแย้งหลักที่ก่อให้เกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ รวมทั้งการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ อันนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชน คัดค้านการเลือกตั้งในเวลาต่อมา และเหตุการณ์เคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนในครั้งนี้เองที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะขวัญใจประชาชนและโดยเฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่ง(ที่ผมใช้คำว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่งเพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นมติของพรรค-สุพจน์)หวังที่จะสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ให้เป็นนัสเซอร์ (ผู้นำอียิปต์)แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยที่ภายหลังการเลือกตั้งที่เรียกว่า เลือกตั้งสกปรกเมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ได้มีการคัดค้านการเลือกตั้งที่นำโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางรัฐบาลก็ได้เตรียมการปราบปรามอย่างเต็มที่ โดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารห มีอำนาจสั่งใช้กำลังทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ได้แต่ผู้เดียว

ต่อมาในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๐ ขบวนการนักศึกษาทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การนำของ คุณสุวิช เผดิมชิต ประธานนักศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินขบวนไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับไฟเขียวจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงไม่ได้รับการขัดขวางจากทหารและตำรวจ มีทหารบกมีชื่อขึ้นมาในวันนั้นคนหนึ่งมีหน้าที่คุมกำลังทหารอยู่ที่สะพานมัฆวาน เพื่อขัดขวางการบุกทำเนียบของขบวนการนักศึกษา แต่เมื่อเผชิญหน้ากันกับขบวนการนักศึกษา ท่านกลับเปิดทางให้ขบวนการนักศึกษาเดินไปสู่เป้าหมายโดยปลอดภัย ทหารท่านนี้ชื่อ ร.อ.อาทิตย์ กำลังเอก หรือต่อมาก็คือ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สั่งปลดกลางอากาศนั้นเอง

การเดินขบวนบุกทำเนียบของรัฐบาลครั้งนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคู่กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนั้น พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ออกมารับคำร้องของนักศึกษาอ้างว่าจอมพล ป.พิบูลสงครามอยู่ที่ทำเนียบ นักศึกษาจึงได้เบนเข็มมุ่งไปที่ทำเนียบรัฐบาล

นักเรียกร้องของนักศึกษา จอมพล ป.พิบูลสงครามไม่อาจให้คำตอบในทันที โดยอ้างว่าจะต้องปรึกษากับฝ่ายต่างๆ ก่อน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับขบวนการนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แต่เพื่อสยบปฏิกิริยาของนักศึกษา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ได้ประกาศขึ้นว่า

“ข้าพเจ้าจะเป็นตัวแทนของพี่น้องกระตุ้นรัฐบาลในเรื่องนี้ บัดนี้ได้เวลาแล้ว ขอให้พี่น้องแยกย้ายกันกลับได้แล้ว รอฟังคำตอบจากรัฐบาลต่อไป”

ทันทีที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พูดจบ เสียงโห่ร้อง ก็ดังขึ้น “ไชโย ! ไชโย ! จอมพลสฤษดิ์ จงเจริญ”

บทความที่ ๓๓๑. ตุลาแดงรำลึก (๕)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๕-
ทั้งสฤษดิ์ ธนะรัชต์และเผ่าศรียานนท์ ต่างก็หวังที่จะเป็นทายาททางการเมืองสืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฐานะของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเวลานั้นจึงเสมือนขี่เสือสองตัว จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เสือตัวหนึ่งตัวใดกัดกิน

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งของการเกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งส่วนตัวในผลประโยชน์ระหว่างสฤษดิ์-เผ่า

ประการต่อมา หลังจากจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ออกทัศนาจรรอบโลกในปี ๒๔๙๘ เพื่อเป็นการแสดงสันถวไมตรีแด่ประมุข รัฐบาลและประชาชนแห่งประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย อเมริกา ยุโรปและอาฟริกา รวม ๑๗ ประเทศตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๙๘ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ศกเดียวกัน จากการเดินทางครั้งนี้ทำให้จอมพล ป.พิบูลสงครามมีทัศนะเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนดีขึ้น และดีขึ้นจนถึงกับส่งตัวแทนส่วนตัวไปพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนเพื่อเตรียมลู่ทางสถาปนาสัมพันธไมตรีกันต่อไป

และในอีกด้านหนึ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งท่านวรรณ หรือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมประเทศเอเชีย-อาฟริกาที่บันดง ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๔ เมษายน ๒๔๙๘ และพระองค์ท่านได้มีโอกาสพบปะกันเป็นพิเศษกับโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นการขัดกับสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างบ้าคลั่ง และการส่งตัวแทนไปพบปะกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน การพบปะกันเป็นพิเศษระหว่างท่านวรรณ กับ โจวเอินไหลที่บันดง อินโดนีเซีย ไม่เป็นความลับสำหรับ ซีไอเอ ที่ได้ชื่อว่า รัฐบาลจำบัง

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งของการเกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ อันเนื่องมาจากความไม่พอใจของสหรัฐอเมริกาต่อท่าทีของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงสนับสนุนให้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาแทนจอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับสนับสนุนเหงียนวันเทียวเข้ามาแทนที่โงดินเดียมในเวียตนามใต้ในเวลาต่อมา

ประการต่อมาและเป็นประการชี้ขาด คือกรณีที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำริจะริ้อฟื้นคดีสวรรคตที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้ประหารชีวิตคุณเฉลียว ปทุมรส คุณชิต สิงหเสนี และคุณบุศย์ ปัทมศริน เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ และกระทรวงมหาดไทยโดยกรมราชทัณฑ์ ก็ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นคือประหารชีวิตบุคคลทั้ง ๓ คนเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ และก่อนที่จะถูกประหารชีวิตทั้ง ๓ คน ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระเมตตาอภัยโทษ แต่ก็ให้ยกฎีกานั้นเสีย และก่อนที่จะเข้าหลักประหาร นายชิต นายบุศย์ มหาดเล็กห้องพระบรรทมของในหลวงอานันท์ฯ และในเช้าวันเกิดเหตุ ทั้งสองคนก็นั่งอยู่ที่หน้าประตูห้องแต่งพระองค์ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่เข้าถึงห้องพระบรรทม (และได้ให้การต่อศาล เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า ก่อนเสียงปืนดังขึ้น ไม่มีใครล่วงล้ำเข้าไปในห้องพระบรรทมเลย แม้ในหลวงองค์ปัจจุบัน ถึงแม้พระพี่เลี้ยงเนื่องจะให้การตอบอัยการโจทก์ว่า “ถ้าพระองค์หนึ่งองค์ใดตื่นบรรทมก่อนแล้วก็จะต้องเข้าไปกระเซ้าเหย้าแหย่ให้อีกพระองค์หนึ่งตื่นขึ้น แล้วจึงประจ๋อประแจ๋ต่อกัน” แต่ในวันนั้นทั้งสองคนให้การตรงกันว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันไปยืนอยู่แค่ประตู ถามไถ่พระอาการของในหลวงอานันท์ฯ แล้วบ่ายพระพักตร์กลับ) ได้มีโอกาสพบปะกับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหาดไทยซึ่งไปเป็นสักขีพยานในการประหารชีวิต ๓ คนนั้นด้วย การพบปะกับ ๓ คนในวันนั้นจะพูดจากันประการใดไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้มีบันทึกไว้ และได้เสนอจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ต่อประเด็นนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ไว้ ดังต่อไปนี้


“รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งตัวแทนไปพบผมในประเทศจีน แจ้งว่าได้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคมและผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ด้วยความเป็นธรรม (ตามกฎหมายไทยเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอันยุติ ดังนั้นในการจะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่จึงทำไม่ได้ นอกจากจะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเตรียมจะเสนอกฎหมายตอ่สภาผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายอนุญาตให้รื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่โจทก์-จำเลยได้พบหลักฐานใหม่-ผู้เขียน)ครั้นแล้วก็มีผู้ยุยงให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวก ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม”

นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการเกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ อันเนื่องมาจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกลงโทษประหารชีวิตไปแล้วทั้ง ๓ คน รวมทั้งท่านปรีดีฯ และเรือเอกวัชรชัยฯ และก็แน่ละ เมื่อผู้บริสุทธิ์ที่ถูกประหารชีวิตไปทั้ง ๓ คน รวมทั้งท่านท่านปรีดีฯ และเรือเอกวัชรชัยฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางแผนและมือปืนได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วใครล่ะเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์และมือปืนตัวจริง ????


ผู้ไม่บริสุทธิ์และมือปืนตัวจริงจึงยังคงปิดลับอยู่จนถึงวันนี้ แต่เราทุกคนเชื่อในคำโบราณไม่ใช่หรือที่ว่า ความลับไม่มีในโลก

เมื่อท่านปรีดีฯ ถูกถามในประเด็นนี้ในเวลาต่อมา ท่านตอบว่า “...ประวัติศาสตร์ในอนาคตจะตอบเอง”

ด้วยเหตุผลทั้ง ๓ ประการดังกล่าวข้างต้น คือผลประโยชน์ส่วนตัวระหว่างสฤษดิ์ กับเผ่าขัดกันประการหนึ่ง ผลประโยชน์ของชาติ (คือเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน)ระหว่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับสหรัฐอเมริกา(ที่ขัดขวางความสัมพันธ์ของไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน) ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งคือสกัดกั้นไมให้นำคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่

แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งแทรกซ้อนเข้ามา ซึ่งแลดูผิวเผินก็ดูเหมือนกับไม่สำคัญ

แต่ถ้าจับเอาโครงสร้างของสังคมเป็นหลักแล้ว จะเห็นว่าประเด็นนี้เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือประเด็นปฏิรูปที่ดินทำกินของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยออกพระราชบัญญัติกำหนดที่ดินทำกินครัวเรือนละไม่เกิน ๕๐ ไร่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้พวกเจ้าที่ดินที่ไม่รู้จักพอเพียง มีที่ดินนับพันไร่หมื่นไร่ ซึ่งตกทอดกันมาจากระบบทาสศักดินาและระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงสนับสนุนการทำรัฐประหารของสฤษดิ์ฯอย่างถึงที่สุดและภายหลังที่สฤษดิ์ฯ ได้อำนาจแล้วก็ได้ยกเลิกกฎหมายปฏิรูปที่ดินฉบับนั้น ปล่อยให้เจ้าที่ดินมีที่ดินได้อย่างเสรีไม่จำกัดความพอเพียง ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ อันเป็นผลพวงของรัฐประหารในครั้งนั้น

รัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายๆ ประเด็นดังที่กล่าวมา แต่ก็ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้งในทันทีทันใด หากอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับนั้นสร้างฐานที่มั่นคงมาชั่วระยะหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขบางประการดังจะได้กล่าวต่อไป.

บทความที่ ๓๓๐. ตุลาแดงรำลึก (๔)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๔-
หลังจากขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ประสบกับความล้มเหลวในการปราบขบถคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กลับถูกฝ่ายขบถปราบปรามพ่ายแพ้ไป แต่ความรักชาติรักประชาธิปไตยและความพยายามที่จะกู้สถานการณ์ประชาธิปไตยกลับคืนมายังคงมีอยู่ จึงในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ขบวนการรักชาติรักประชาธิปไตยภายใต้นามว่า “คณะกู้ชาติ” นำโดยทหารเรือกลุ่มหนึ่งเข้าจับตัวนายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะมาเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดลอกสันดอนที่ชื่อว่า “แมนฮัตตัน” จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำพิธีรับมอบกันที่ท่าราชวรดิษฐ์ อันเป็นพื้นที่ของทหารเรือ เพื่อบังคับให้ลาออก แต่ก็ประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกับขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒

หลังจากที่มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในระยะหนึ่ง คณะขบถรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นหุ่นเชิด จึงคงสืบอำนาจรัฐต่อภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒

โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ ที่สืบพันธุ์จากรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ของคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น)และคณะที่ปฏิกิริยาและเผด็จการ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นอำมาตยาธิปไตย ที่อาศัยพระบารมีสถาบันกษัตริย์เป็นธงนำในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบไทย-ไทย และยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังรับเอาอำมาตยสภาที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มเข้ามาไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สืบต่อไป

โดยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยฉบับนี้ แทนนายควง อภัยวงศ์ ที่ถูกคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ บังคับให้ลาออกไป (๘ เมษายน ๒๔๙๑) ก็เป็นไปได้ระยะหนึ่งในขณะที่ผลประโยชน์ยังไม่ขัดกันอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก ดังคำพูดที่ว่า “ผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย”

คณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยการสมยอมกับรัฐบาลใช้นามคณะว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศทางวิทยุกระจายเสียง (ไม่ต้องใช้รถถังและเคลื่อนย้ายกำลังทหาร) ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ และให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ (รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม)กลับเข้ามาใช้..

รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ๘ มีนาคม ๒๔๙๕ ก็เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ คือมีพระราชปรารภเป็นเบื้องต้น และก็เป็นพระราชปรารภที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้นมา โดยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “..จำเดิมแต่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราชพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ สถาปนาการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย..”
ความจริงการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยคือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ตามสัญญาประชาคมที่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ไว้กับราษฎรไทยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา ๑ ของธรรมนูญฉบับนั้นว่า

“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งก็หมายถึงระบอบประชาธิปไตยนั้นเอง แต่การยินยอมของพระองค์ครั้งนั้นเนื่องมาจากแต่การยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินของคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยจับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ไว้เป็นตัวประกัน พระปกเกล้าฯจึงจำยอมลงพระปรมาภิไธย มอบอำนาจที่พระองค์มีอยู่ตามระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลับคืนให้ราษฎรเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ที่เป็นผู้ไถหว่านและเก็บเกี่ยว ซึ่งยังความเสื่อมพระเกียรติให้กับสถาบันกษัตริย์จึงได้มีความพยายามที่จะลบเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ออกจากหน้าประวัติศาสตร์ด้วยวิธีนานาประการ

แต่ความก็จริงก็คือความจริง ความเท็จก็คือความเท็จ ไม่มีใครสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ก็เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ขอให้เชื่อเถอะ สักวันหนึ่งในอนาคต วันที่ ๒๔ มิถุนายน จะต้องกลับมาเป็นวันชาติอย่างแน่นอน

ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงมีสภาเพียงสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท จำนวนเท่ากันคือ ประเภทที่ ๑ มาจากการเลือกตั้งของราษฎร และประเภทที่ ๒ มาจากการแต่งตั้ง

ต่อมาได้ปรากฏว่ามีความแตกแยกเกิดขึ้นในคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งกันในผลประโยชน์และอำนาจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างซอยราชครูกับบ้านสี่เสา

ซอยราชครู หมายถึง จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ที่มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์(ลูกเขย)เป็นเสาเอก กับเขยอื่นๆ

บ้านสี่เสา (เทเวศน์)หมายถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

การปกครองบ้านเมืองในเวลานั้นอยู่ในอุ้งมือของสองกลุ่มนี้ โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธยุทธภัณฑ์จากสหรัฐอเมริกา มหามิตรมาด้วยกัน หน่วยแจสแม็กให้การสนับสนุนกองทัพบกที่มี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ บริษัทซีซัพพลาย ซึ่งเป็นบริษัทขายอาวุธที่อยู่ภายใต้ ซีไอเอ ให้การสนับสนุนกรมตำรวจที่มีกำลังเสมอด้วยกองทัพ โดยเฉพาะกองกำลังสำหรับยึดอำนาจในเมือง เช่น ตำรวจรถถัง เป็นต้น

Monday, October 8, 2007

บทความที่ ๓๒๙. วันชาติที่หายไป

ในการขึ้นครองราชบัลลังก์ของกษัตริย์แห่งสยาม การกำจัดพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นๆเสียแล้วขึ้นนั่งเมืองแทน เป็นเรื่องธรรมดาที่ดำเนินมาเนิ่นนานจนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนอกจากจะมีต้นเหตุมาจากกษัตริย์ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม กดขี่ข่มเหงประชาราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นเนืองนิตย์แล้ว ยังมีต้นเหตุอันเนื่องมาจากความมักใหญ่ใฝ่สูงและความอาฆาตแค้น หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ รวมอยู่ด้วย จึงทำให้กษัตริย์ถูกปลงพระชนม์มาแล้วทั้งในระหว่างเครือญาติและต่างวงศ์ถึง ๑๓ พระองค์ในสมัยอยุธยาและ ๑ พระองค์ในสมัยกรุงธนบุรี รวมเป็น ๑๔ พระองค์

ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ สวรรคตเพราะถูกพระแสงปืนเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพระองค์ที่ ๑๕ นั้น จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ และใครเป็นผู้ทำให้พระแสงปืนลั่นจะโดยเจตนาหรืออุปัทวเหตุ ในวันนี้ยังไม่มีคำตอบ นอกจากเสียงซุบซิบ (ดู ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต โดยสุพจน์ ด่านตระกูล) แม้ศาลจะพิพากษาลงโทษประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปแล้วถึง ๓ คนคือคุณเฉลียว ปทุมรส คุณชิต สิงหเสนี คุณบุศย์ ปัทมศริน และทำให้ ๒ คนต้องมัวหมอง คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ และเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช์

แต่ก็เป็นที่เปิดเผยกันทั่วไปแล้วว่า ทั้ง ๕ คนนั้นเป็นเหยื่อทางการเมืองที่สกปรกของบางกลุ่มการเมืองปฏิกิริยาที่ล้าหลัง จึงเป็นภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ในอนาคตที่จะให้คำตอบว่ากรณีสวรรคตของในหลวงอานันทฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

คงจะไม่นานเกินรอ

ถึงแม้ว่า หลังจากได้รับข้อมูลใหม่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้เคยพยายามหาหนทางที่จะนำกรณีนี้ขึ้นศาลเพื่อพิจารณาใหม่ให้ความเป็นทำแก่ผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๕ คน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกขัดขวางด้วยรัฐประหารที่ปฏิกิริยาของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (เมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐)ที่ได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดินิยมอเมริกาและซากเดนศักดินาก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจใดที่จะลบล้างข้อเท็จจริงออกจากหน้าประวัติศาสตร์ได้ชั่วนิรันดร์ ดังเช่นหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาในหน้าประวัติศาสตร์ที่ได้ถูกเปิดเผยความจริงออกมาในวันนี้

การใช้พระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศแต่ผู้เดียวของกษัตริย์ที่สืบต่อมาจากสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ นับเป็นเวลาหลายร้อยปี ได้มาสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยระบอบใหม่ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” คือ อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ จึงเป็นวันที่สำคัญยิ่งของราษฎรไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยยุคใหม่ เพื่อให้สมกับความสำคัญยิ่ง รัฐบาลภายใต้ระบอบใหม่ในเวลาต่อมาจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติ แบบเดียวกับนานาอารยประเทศที่ต่างก็มีวันสำคัญของชาติหรือวันชาติ

แต่ต่อมาก็ได้ถูกยุบเลิกไปโดยระบอบเผด็จการทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ความว่า เรื่องให้ยกเลิกวันชาติ ซึ่งเคยถือว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเสีย ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติต่อไป

นับเป็นความพยายามของซากเดนศักดินาที่จะลบล้างการเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ออกจากหน้าประวัติศาสตร์ โดยผ่านบทบาทของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งขณะนั้นเป็นปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ที่มีสมญานามว่า “อ้ายม้ามแตก” เป็นผู้ลงนาม จึงทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีวันชาติ ต่างจากนานาอารยประเทศที่เขามีกัน.


เรียบเรียงจาก ประวัติรัฐธรรมนูญ- สุพจน์ ด่านตระกูล

บทความที่ ๓๒๘. สัจจะที่ถูกบิดเบือน

พระที่นั่งอนันตสมาคม

วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจเป็นต้น ไว้เป็นประกัน

ถ้าหากคณะราษฎรถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่คุมไว้เป็นการตอบแทน

คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน ๑ ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรจะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขขึ้นเป็นกษัตริย์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
อ.พ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์



ด้วยคำขอร้อง หรือพูดตามภาษาชาวบ้านว่ายื่นคำขาดดังกล่าวข้างต้นนี้ พระองค์จึงเสด็จเข้าสู่พระนคร (ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน) ในตอนเย็นของวันที่ ๒๕ มิถุนายน ศกเดียวกัน และถึงพระนครในตอนดึกของวันนั้นเอง และในตอนเช้าวันที่ ๒๖ มิถุนายน ผู้แทนของคณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ณ วังสุโขทัย พร้อมกฎหมาย ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งคือพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะราษฎรที่กระทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และอีกฉบับหนึ่งคือธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕

พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในวันนั้นเอง โดยไม่มีผู้ใดต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะขณะนั้นพระองค์ยังครองสิทธิ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระองค์ทรงขอไว้ดูก่อนสักหนึ่งคืน รุ่งขึ้นวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระองค์จึงได้ลงพระปรมาภิไธย ยอมมอบพระราชอำนาจที่พระองค์มีอยู่อย่างล้นพ้นตามระบอบเผด็จสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลับคืนให้แก่ราษฎรเจ้าของอำนาจโดยธรรม ซึ่งเป็นผู้ออกแรงงาน ไถหว่านเก็บเกี่ยวและก่อสร้างเลี้ยงสังคมมา ที่ถูกปล้นอำนาจปกครองไปตั้งแต่เผด็จการยุคทาส และสืบต่อมาถึงเผด็จการยุคศักดินา นับเป็นเวลาหลายพันปี

รัฐธรรมฉบับนี้ จึงถือเสมือนสัญญาประชาคมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับราษฎร โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์อยู่ในขณะนั้น เป็นผู้ทรงลงพระปรมาภิไธย ด้วยทรงยอมรับสัจจะแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑ ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” โดยราษฎรทั้งหลายยอมรับให้พระองค์ทรงเป็นพระประมุขตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ ต่อมาว่า “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ที่ระบุไว้ว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”

คำดังกล่าวนี้ คือข้อตกลงหรือสัญญาประชาคมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับราษฎรทั้งหลาย อันมีคณะราษฎรเป็นตัวแทนอยู่ในขณะนั้น และเรียกสัญญาประชาคมนี้ว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ แต่พระองค์ทรงขอต่อรองให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” เข้าไว้ด้วย ดังที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕”

พระองค์ให้เหตุผลในการเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ในเอกสารสละราชสมบัติเมื่อ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ว่าดังนี้

“..ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นไปกรุงเทพฯ แล้ว และได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์ (ปรีดี พนมยงค์)ได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการฯ กับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว...”

หลักการของผู้ก่อการฯ (เปลี่ยนแปลงการปกครอง) คืออะไร ? ก็ดังที่ปรากฏชัดเจนอยู่แล้วในมาตรา ๑ ของรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พูดถึงที่ระบุว่า

“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จำต้องทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยตามหนังสือกราบบังคมทูล หรือพูดภาษาชาวบ้านว่าหนังสือยื่นคำขาดของ ๓ พันเอกพระยาดังกล่าวข้างต้น พระองค์จึงขอเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ด้วยหวังว่าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พระองค์จะได้มีส่วนด้วย และด้วยความปรารถนาดีอย่างบริสุทธิ์ใจที่มีต่อราษฎรทั้งหลายของคณะผู้ก่อการฯ หรือคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ จึงยินยอมให้พระองค์เติมคำว่า ชั่วคราว ลงไป และพระองค์ก็ไม่ผิดหวัง ดังถ้อยแถลงของประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญครั้งที่ ๓๔ วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มีความตอนหนึ่งดังนี้

“..อนึ่ง ข้าพเจ้าขอเสนอด้วยว่า ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมกันทำข้อตกลงในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายและทรงเห็นชอบด้วยทุกประการ และที่กล่าวว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่ทางเห็นชอบด้วยอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก..”

ดังถ้อยแถลงของประธานอนุกรรมการยกร่างดังกล่าวข้างต้นว่า ได้ร่วมกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ หลักการสำคัญในมาตรา ๑ ขอรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ได้เปลี่ยนมาเป็นมาตรา ๒ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

โดยเปลี่ยนคำภาษาไทย “อำนาจสูงสุดของประเทศ” เป็นภาษาบาลีว่า “อำนาจอธิปไตย” และเปลี่ยนหลักการประชาธิปไตยที่ยืนยันอำนาจสูงสุดนั้นว่า “เป็นของราษฎรทั้งหลาย” มาเป็น “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม”

ข้าวเป็นของชาวนา ที่เก็บอยู่ในยุ้งฉาง ย่อมแตกต่างจากข้าว “มาจาก” ชาวนา ที่เก็บไว้ในโกดังของเถ้าแก่ ฉันใด อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ย่อมแตกต่างจากอำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม ฉันนั้น

นี่เป็นบาทก้าวแรกของพลังเก่าที่ล้าหลัง ที่อาศัยความเก๋าเบียดขับพลังใหม่ที่ก้าวหน้าในเชิงภาษาอย่างลุ่มลึก อันเป็นช่องทางก้าวต่อไปในการสถาปนาอำมาตยาธิปไตยในรูปแบบใหม่ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย ที่สอดรับกับผลประโยชน์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยอาศัยพระบารมีอ้างความจงรักภักดีและผูกขาดความจงรักภักดี เป็นอาวุธทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอย่างน่าอัปยศดังที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้ (๒๕๕๐)

บาทก้าวที่สำคัญที่สุดในการรุกคืบหน้าของอำมาตยาธิปไตย คือ รัฐธรรมนูญ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่มีฉายาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” หรือ “รัฐธรรมนูญตุ่มแดง” อันเป็นผลผลิตของรัฐประหารปฏิกิริยา ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ (ที่มีหัวหน้าชื่อ พลโท ผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการ ผู้เป็นบิดาของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชายฯ ซึ่งมีนายไกรศักดิ์ฯ เป็นหลานปู่) ที่ไปขุดเอาส่วนหนึ่งของระบบบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ที่ตั้งสภาขึ้นเป็นที่ปรึกษาในพระองค์ เดิมมีชื่อว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” คู่กับสภาอื่นอีก ๒ สภา คือ เสนาบดีสภา กับ เคาน์ซิลออฟสเตด (รัฐมนตรีสภา)

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกคณะปรีวีเคาน์ซิลว่า องคมนตรีสภา และทรงยกเลิกรัฐมนตรีที่ร้างรามาแล้วแต่ปลายรัชกาลก่อน จึงคงเหลืออยู่ ๒ สภาคือ องคมนตรีสภา กับ เสนาบดีสภา อีกคณะหนึ่ง

มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งเพิ่มขึ้นอีกสภาหนึ่งเรียกว่า อภิรัฐมนตรีสภารวมเป็น ๓ สภา คือ อภิรัฐมนตรีสภา, เสนาบดีสภา, และองคมนตรีสภา ซึ่งมีหน้าที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและส่วนพระองค์

สภาต่างๆ ดังที่กล่าวมาโดยย่นย่อนี้ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและส่วนพระองค์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยหลักการ หรือระบอบอำมาตยาธิปไตยโดยเนื้อหา ซึ่งมีความจำเป็นในยุคสมัยที่อำนาจสูงสุดของประเทศอยู่ที่พระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านจึงจำเป็นต้องทรงมีสภาต่างๆ ไว้แบ่งเบาพระราชภาระ

แต่ระบอบดังกล่าวได้ลงจากเวทีประวัติศาสตร์ไปแล้วตามกฏวิวัฒนการของสังคม(ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้) ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พร้อมกับการก้าวเข้ามาแทนที่ของระบอบใหม่ที่ก้าวหน้ากว่า นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎร มีคณะรัฐมนตรี เข้ามารับพระราชภาระในการบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ พระองค์จึงเป็นพระมิ่งขวัญของเมือง เป็นที่เคารพสักการะของราษฎรทั้งหลาย ไม่ต้องมีพระราชภาระในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังคำในระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษว่า เดอะคิงแคนดูโนรอง เพราะไม่ต้องพระราชภาระในการบริหารราชการแผ่นดินนั่นเอง จึง “แคนดูโนรอง” จึงไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะรื้อฟื้นองคมนตรีขึ้นมาอีกให้เป็นมัวหมองแก่พระองค์ ทั้งๆที่พระองค์ไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไปสู่ความสมบูรณ์ นั่นคือ “สังคมประชาธิปไตย”

ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อภิรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มขุดขึ้นมาเป็นประเดิม และได้เปลี่ยนเป็น องคมนตรี ในรัฐธรรมนูญ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ (ที่สืบต่อมาจากรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม) จึงเป็นบาทก้าวต่อมาที่สำคัญในการรุกคืบหน้าของระบอบอำมาตยาธิปไตยในการเบียดขับระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้ก่อตั้งขึ้น โดยอ้างความจงรักภักดีเป็นโล่กำบัง นับแต่รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นต้นมา จนถึงฉบับที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ.๒๕๕๐) ดังปรากฏเป็นพยานหลักฐานอยู่ในคำขึ้นต้นหรือพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่กล่าวนั้น (ฉบับใต้ตุ่มถึงฉบับกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้)ซึ่งต่างเหยียบย่ำพระบรมเดชานุภาพขึ้นมาเป็นบันได

กล่าวโดยสรุป ประวัติรัฐธรรมนูญไทยเท่าที่เป็นมาแล้วจึงมีอยู่เพียง ๒ ฉบับเท่านั้น โดยเนื้อหา คือ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยหลักการ(ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ฉบับ ๑๐ มีนาคม ๒๔๗๕ ฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙)ที่มีเป้าหมายสู่สังคมประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ อันเป็นสังคมที่ประกันความสุขสมบูรณ์ของประชาชนตั้งแต่จากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน รวมทั้งการมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคถ้วนหน้า
กับอีกฉบับหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย โดยหลักการที่มีคณะองคมนตรีเป็นสัญลักษณ์ (โดยไม่ต้องพิจารณามาตราต่างๆให้เสียเวลา).

เรียบเรียงจาก ประวัติรัฐธรรมนูญ – สุพจน์ ด่านตระกูล

Sunday, October 7, 2007

บทความที่ ๓๒๗. ตุลาแดงรำลึก (๓)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๓-
ในกรณี ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ หลายฝ่ายที่ไม่เข้าใจเรียกว่า ขบถวังหลวง บ้าง ขบถ ๒๖ กุมภาพันธ์ บ้าง แต่อาจารย์ปรีดีฯ เรียกว่า ขบวนการ ๒๖ กุมภา อันเป็นขบวนการที่ชอบธรรมที่จะปราบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นขบถ/และรัฐบาลที่เป็นผลพวงต่อมาจาก ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ก็ย่อมตกอยู่ในฐานะขบถเช่นกัน เช่นเดียวกับขมายที่สืบต่อมาจากขโมย

เพราะว่าอำนาจสูงสุดของประเทศที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อำนาจอธิปไตย ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจดังกล่าวนี้แต่ภายหลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ต่อมาอีก ๓ วันคือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มอบอำนาจสูงสุดของประเทศที่พระองค์ทรงมีอยู่โดยชอบตามระบอบราชาธิปไตย คืนให้กับราษฎร ดังปรากฏอยู่ในมาตรา ๑ ของธรรมนูญการปกครองฉบับนั้น ที่ระบุไว้ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาประชาคมระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร และนับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ อำนาจสูงสุดของประเทศจึงเป็นของราษฎรทั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย(ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม)และชอบโดยธรรม

รัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ถูกโค่นโดยรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณและคณะนั้น เป็นรัฐบาลที่ถืออำนาจสูงสุดของประเทศ โดยการมอบหมายของราษฎรจึงเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยธรรม ตามวิถีทางประชาธิปไตย

การโค่นล้มรัฐบาลถวัลย์ฯ โดยคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณและคณะจึงเป็นขบถ และแม้ว่ารัฐบาลควง อภัยวงศ์จะได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๐ แก่ผู้กระทำรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ไปแล้วก็ตาม

แต่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารที่เป็นขบถนั้นเอง และรวมทั้งวุฒิสภาที่ผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ออกมา ก็เป็นวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่เป็นขบถเช่นกั และแม้คณะอภิรัฐมนตรีในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เป็นผู้ลงพระนามและลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช อนุมัติพระราชบัญบัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ ก็เป็นคณะบุคคลที่คณะรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ที่เป็นขบถตั้งขึ้นมาเช่นเดียวกัน

โดยสรุป พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๐ แก่ผู้กระทำการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายนจึงเป็นโมฆะ ความผิดของคณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ จึงยังอยู่และรัฐบาลที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ ที่เป็นขบถ จึงเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยธรรม

จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยธรรมที่ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ดำเนินการทางทหารช่วงชิงอำนาจรัฐคืนมาจากฝ่ายขบถ คือรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่สืบต่ออำนาจจากรัฐบาลควง อภัยวงศ์ แต่เป็นโชคร้ายของประชาชนไทยที่ฝ่ายขบถหรือฝ่ายอธรรมเอาชนะฝ่ายธรรมและได้สืบต่ออำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยธรรมต่อๆ กันมาจนบัดนี้ บ้านเมืองของเราจึงวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเผด็จการจนบัดนี้นับแต่รัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ เป็นต้นมา

ระหว่างเผด็จการทหารอำมาตยาธิปไตยและเผด็จการทุนอำมาตยาธิปไตยอันเป็นธรรมดาของช่วงระยะเวลาของการต่อสู้ระหว่างพลังใหม่ที่ก้าวหน้ากับพลังเก่าที่ล้าหลังที่ย่อมผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ในที่สุดพลังใหม่ที่ก้าวหน้าจะต้องชนะพลังเก่าเสมอไป นี่คือกฎธรรมชาติ

ดังตัวอย่างการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยนายทุนหรือประชาธิปไตยเจ้าสมบัติ อันเป็นพลังใหม่ที่ก้าวหน้าในประเทศฝรั่งเศส ที่เริ่มแต่ปี ค.ศ.๑๗๘๙ การต่อสู้ระหว่างพลังใหม่ที่ก้าวหน้ากับพลังเก่าที่ล้าหลัง ดำเนินมาถึงปี ค.ศ.๑๘๗๑ ในระหว่างการต่อสู้ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๗๘๙ ถึงปี ค.ศ.๑๘๗๑ เป็นเวลาถึง ๘๒ ปี ต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ในที่สุดพลังใหม่ที่ก้าวหน้าประชาธิปไตยนายทุนเจ้าสมบัติก็ชนะพลังเก่าที่ล้าหลังศักดินาอำมาตยาธิปไตยอย่างเด็ดขาด

สำหรับในบ้านเมืองของเรา การปฏิวัติประชาธิปไตยเจ้าสมบัติหรือนายทุนเริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ จนบัดนี้ (๒๕๕๐) ก็เป็นเวลา ๗๕ ปีแล้ว อีก ๗ ปีจึงจะถึง ๘๒ ปีอย่างฝรั่งเศส และจะต้องประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกับฝรั่งเศสอย่างแน่นอน เพราะพลังใหม่ที่ก้าวหน้าย่อมชนะพลังเก่าที่ล้าหลังเสมอไป

แต่ก่อนเวลา ๘๒ ปีหลังหลัง ๘๒ ปีนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แต่ก็ต้องชนะแน่ๆ ในที่สุด เพราะนี่คือกฎธรรมชาติ

บทความที่ ๓๒๖. ตุลาแดงรำลึก (๒)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๒-
ทำไมพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ จึงพูดความจริงปนความเท็จ จะให้เข้าใจอย่างไร ? นอกจากจะเข้าใจว่า เพราะต้องการจะลบวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาติที่เรียกว่า วันชาติ ออกจากหน้าประวัติศาสตร์ (ซึ่งต่อมาในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ยกเลิกวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นวันชาติ)พร้อมกับโฆษณาชวนเชื่อว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นพระราชดำริมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโน้นแล้ว จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕

หลังจากที่รัฐธรรมฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๒ ต่อมาจึงได้นำเสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อลงพระนามและลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ โดยคณะอภิรัฐมนตรีในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชทานแทนพระองค์เป็นผู้ลงพระนามและลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานวุฒิสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยสรุป รัฐธรรมฉบับนี้สำเร็จขึ้นมาด้วยความร่วมมือระหว่างเผด็จการทหารกับกลุ่มเจ้าเศษเดนศักดินา

เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลังจากได้รับความเห็นชอบผ่านรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๒ แต่มาประกาศบังคับใช้เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ อันเป็นระยะเวลาห่างกันร่วม ๒ เดือน ทั้งนี้เกิดจากฝ่ายเผด็จการทหาร (คณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐) ที่เห็นการรุกคืบหน้าของฝ่ายศักดินาจากการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกรัฐสภาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเกิดความลังเลว่าจะเป็นการยื่นดาบกลับคืนสู่พลังเก่า แต่ก็มีเหตุการณ์เข้ามาช่วยการตัดสินใจฝ่ายทหารให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเวลาต่อมา

นั่นคือเหตุการณ์ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ หรือที่ท่านปรีดีฯ เรียกว่า “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” ที่มีท่านปรีดีฯ เป็นหัวหน้าขบวน นำกำลังเข้ายึดวังหลวงเป็นกองบัญชาการ เคลื่อนกำลังซึ่งประกอบด้วยทหารเรือและประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ส่งปลดรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ซึ่งขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) และตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี หนังสือ “รัฐสภาไทย ในรอบสี่สิบสองปี” (๒๔๗๕-๒๔๑๗)ซึ่งคุณประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้จัดทำ ได้บันทึกเหตุการณ์ ๒๖ กุมภาพันธ์ ไว้ดังนี้

“เกิดปฏิวัติ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ ๒๐ น.เศษ ได้มีการประกาศข่าวพิเศษทางวิทยุกระจายเสียงว่า ได้มีพระบรมราชโองการให้รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้นายดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะอีกหลายคน และยังแต่งตั้งผู้มีหน้าที่สำคัญๆ อีกหลายตำแหน่ง

บุคคลนี้ ได้ยึดพระบรมมหาราชวังเป็นที่บัญชาการ โดยมีผู้แต่งกายเป็นทหารเรือร่วมด้วย มีผู้กล่าวว่าหัวหน้าผู้ก่อการครั้งนี้ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการปราบปรามโดยเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และเข้าต่อต้านผู้ปฏิวัติ ส่วนหนึ่งเข้ายึดเขตสี่แยกราชประสงค์ (ทหารเรือจากกองสัญญาณ-ผู้เขียน)มีการยิงต่อสู้กันด้วย ในที่สุดฝ่ายปฏิวัติได้หลบหนีไป (เพราะกำลังทหารเรือส่วนใหญ่จากสัตหีบมาไม่ทันและยังมีข่าวว่าผู้บัญชาการชั้นสูงบางคนทรยศ-ผู้เขียน)คงจับผู้ที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมมือครั้งนี้ได้หลายคน ซึ่งมีอดีตรัฐมนตรี (ในรัฐบาลธวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ที่ถูกรัฐประหารเมื่อ ๘ พ.ย. ๒๔๙๐-ผู้เขียน)รวมอยู่ด้วยหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดลและนายจำลอง ดาวเรือง ต่อมาก็ได้จับกุมนายทองเปลว ชลภูมิได้อีกผู้หนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไว้เพื่อทำการสอบสวน

วันที่ ๓ มีนาคม ศกเดียวกัน เวลากลางคืน ทางตำรวจได้สั่งย้ายผู้ต้องหาซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีทั้ง ๔ คน เพื่อจะนำไปฝากขัง ณ สถานีตำรวจบางเขน การย้ายนี้ได้กระทำเวลาค่ำคืน โดยรถยนต์ของตำรวจ มีนายตำรวจชั้นนายพลเป็นหัวหน้าควบคุม เมื่อนำผู้ต้องหาไประหว่างทางถนนพหลโยธิน ประมาณ กม.๑๓ ใกล้ถึงสถานีตำรวจว่า มีโจรจีนมลายูแย่งผู้ต้องหา ได้มีการต่อสู้กันขึ้น ผู้ต้องหาทั้ง ๔ คน จึงถูกอาวุธปืนถึงแก่กรรม” (ข้อเท็จจริงคือตำรวจเอาไปยิ้งทิ้ง และตำรวจผู้รับผิดชอบถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในเวลาต่อมา-ผู้เขียน)

บทความที่ ๓๒๕. ตุลาแดงรำลึก (๑)

ตุลาแดงรำลึก

เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล


-๑-
ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ที่ก่อขึ้นโดยความร่วมของกลุ่มทหารเผด็จการ กลุ่มนักการเมืองศักดินา และจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา โค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของหลวงธวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ลงและนำไปสู่การเริ่มต้นแห่งการไล่ล่าปิดฉากนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าที่ยืนอยู่ในฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มความคิดซากเดนศักดินาและกลุ่มทหารเผด็จการ

๒ ปีถัดมาได้มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใต้ความเห็นชอบของนักการเมืองกลุ่มความคิดอนุรักษ์นิยมล้าหลังซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในสภากว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ รัฐธรรมนูญได้ถูกประกาศใช้ในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ โดยมีพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายประการ อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและหลอกลวงประชาชน และโดยประการสำคัญ เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่น่าละอาย ดังข้อความบางตอนในพระราชปรารภที่เป็นเท็จ มีดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศความพระราชปรารภว่า จำเดิมแต่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราชพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้วนั้น...”

ข้อความตัวเน้น เป็นข้อความที่เรียกว่าจริงปนเท็จ คือ

จริง คือ ข้อความที่ว่า “โปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕”

เท็จ คือ ข้อความที่ระบุว่า (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) “สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย”

ความจริงที่เป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ในสมัยที่เรียกชื่อประเทศนี้ว่า “สยาม” โดยคณะราษฎร เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระมหากษัตริย์ให้มอบอำนาจจากการปกครองแผ่นดินกลับคืนให้กับประชาชน ซึ่งพระมหากษัตริย์จำต้องยอม (เพราะในขณะนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และใกล้ชิดหลายพระองค์ถูกจับไว้เป็นตัวประกัน)และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นหลักฐาน ดังปรากฏอยู่ใน “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕” ซึ่งถือเสมือนสัญญาประชาคม ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร ที่ได้ระบุไว้ในมาตรา ๑ ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และตอกย้ำด้วยมาตรา ๗ ว่า การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งก็หมายถึงระบอบประชาธิปไตยได้ถูกสถาปนาขึ้นแล้วนับแต่บัดนั้น

บทความที่ ๓๒๔.ชีวิตผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๗

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๖ การเข้าพบประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค
รองประธานาธิบดีหลี่จุงเหริน
ประธานาธิบดีโรฮัส ประธานาธิบดีทูรแทน
พระเจ้ายอร์ชที่ ๖ ประธานาธิบดีเลออง บลุม ฯลฯ
-๗-
จากนิวยอร์คเราได้ลงเรือ “ควีนเอลิซาเบท” เพื่อเดินทางไปยังอังกฤษ

นายกรัฐมนตรีแอทลี (Atlee) รัฐบาลอังกฤษ และลอร์ดเมาน์ทแบทเตนได้ต้อนรับเราด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ที่ลอนดอนเราได้พบสมาชิก “กองกำลังพิเศษ” ชาวอังกฤษ ที่เคยร่วมทำงานกับเราระหว่างต่อต้านญี่ปุ่น รัฐบาลได้จัดงานรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้า พระเจ้ายอร์ชที่ ๖ และพระราชินีเอลิซาเบทได้เชิญข้าพเจ้าและภรรยาไปรับประทานอาหารกลางวันที่พระราชวังบักกิงแฮม บุคคลที่เข้าร่วมโต๊ะเสวยประกอบด้วยเจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบท(ซึ่งต่อมาเป็นควีนเอลิซาเบทที่ ๒)พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหญิงมากาเรต พระขนิษฐาของเจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบท และลอร์ดและเลดี้เมาน์ทแบทเตน

ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้น ขอให้รัฐบาลอังกฤษจ่ายราคาข้าวที่สั่งซื้อไว้ให้สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก รัฐบาลอังกฤษยินยอมตามนั้น

-๘-
จากลอนดอน ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปยังปารีสตามคำเชิญของประธานาธิบดีเลออง บลุม ซึ่งได้ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่นและได้จัดเลี้ยงรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเพื่อเป็นเกียรติแก่เราเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๐

-๙-
จากปารีส เราเดินทางเข้าสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช และสมเด็จพระราชชนนี

ออกจากสวิตเซอร์แลนด์ เราเดินทางไปกรุงเฮก โคเปฮาเกน สต็อคโฮล์ม และออสโล ซึ่งข้าพเจ้าและภรรยาได้รับการต้อนรับจากประมุขของประเทศเหล่านั้น

พระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ (Gustave VI) ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ “ลา กรองด์-ครัวส์ เดอ วาสา” (La Grande-Croix de Vasa) แก่ข้าพเจ้า เพื่อยืนยันมิตรภาพระหว่างสวีเดนกับสยาม

-๑๐-
หลังจากเสร็จสิ้นการเยือนยุโรปแล้ว เราก็เดินทางกลับประเทศสยามผ่านกัลกัตตา ซึ่งขณะนั้นอินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ที่กัลกัตตา ตัวแทนจาก “สถาบันสมิธโซเนียน” ซึ่งเดินทางมาจากสหรัฐเป็นการพิเศษ ได้มอบเอกสารของสถาบันชุดหนึ่งแก่ข้าพเจ้า เอกสารชุดนี้บรรยายเกี่ยวกับนกชนิดหนึ่ง ซึ่งเพิ่งค้นพบก่อนหน้านั้นไม่นาน โดยตั้งชื่อว่า “Chloropsis Aurifrons Pridi” เพื่อเป็นเกียรติแก่ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) หัวหน้าขบวนการเสรีไทย

Thursday, October 4, 2007

บทความที่ ๓๒๓.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๖

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๖ การเข้าพบประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค
รองประธานาธิบดีหลี่จุงเหริน
ประธานาธิบดีโรฮัส ประธานาธิบดีทูรแทน
พระเจ้ายอร์ชที่ ๖ ประธานาธิบดีเลออง บลุม ฯลฯ
-๕-
จากปักกิ่งข้าพเจ้าเดินทางไปถึงเซี่ยงไฮ้ แล้วต่อเครื่องบินต่อไปยังมานิลา เมืองหลวงของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีโรฮัสและรอประธานาธิบดีควีรีโนได้ต้อนรับอย่างฉันมิตรและจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่เรา จากมานิลาเราขึ้นเครื่องไปยังสหรัฐอเมริกา

-๖-
เมื่อเราเดินทางมาถึงลอสแองเจลิส ตัวแทนของรัฐบาลอเมริกันได้ให้การต้อนรับ และจัดให้พำนักในโรงแรม “เบเวอรี่ฮิลล์” และที่โรงแรมนี้เอง ภรรยาข้าพเจ้าถูกโจรกรรมเครื่องประดับ

จากลอสแองเจลิส เราได้ข้ามไปหลายภูมิภาคก่อนเดินทางมาถึงวอชิงตัน เราได้หยุดแวะบางแห่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้พบผู้ที่เคยร่วมงานกับเราในระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ที่วอชิงตัน รัฐบาลอเมริกันจัดให้เราพักที่แบลร์เฮาส์(ที่พักซึ่งสำรองไว้สำหรับแขกของทางราชการ)ซึ่งตั้งอยูใกล้ทำเนียบขาว ที่นั่นข้าพเจ้าได้เข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศและข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศบางคนที่เคยช่วยเหลือในระหว่างสงคราม ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนั้นแสดงความขอบคุณ

ในบรรดาข้าราชการเหล่านี้มีบางคนที่ถูกปลดโดยอิทธิพลทางการเมืองของ โจ แมคคาร์ธี (Joe Mac Carthy) ด้วยข้อหาดำเนินการที่ไม่ใช่อเมริกัน (Non-American Activities) รัฐบาลอเมริกันได้มอบเหรียญเสรีภาพชั้นหนึ่ง (Medal of Freedom (Golden Plam) ) แก่ข้าพเจ้าในฐานะที่มีคุณูปการต่อฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ต่อจากนั้นประธานาธิบดีทรูแมนก็ได้ให้การต้อนรับข้าพเจ้า ระหว่างการสนทนาท่านก็ได้ให้สัญญากับข้าพเจ้าว่าจะสนับสนุนสยามให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ

จากวอชิงตัน เราได้เดินทางต่อไปยังนิวยอร์ค ผู้แทนของรัฐบาลสยามที่นั่นได้พยายามติดต่อกับผู้แทนสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ยอมรับประเทศสยามเข้าเป็นสมาชิกขององค์การนี้ ผู้แทนโซเวียตลังเลที่จะสนับสนุนข้อเสนอของเรา เนื่องจากสาธารณรัฐราษฎรมองโกเลียซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ได้ขอเข้าสมัครเป็นสมาชิกองค์การนี้ด้วย (แต่สมาชิกสหประชาชาติเห็นว่า มองโกเลียมิใช่ประเทศที่มีเอกราชสมบูรณ์หากอยู่ในอาณัติของสหภาพโซเวียต จึงไม่ยอมรับเข้าเป็นสมาชิก-ผู้เรียบเรียง)แต่ในที่สุดที่ปรึกษาของโซเวียตก็ยินยอมสนับสนุนข้อเสนอของเรา

แม้ว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะมองว่าประเทศสยามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่สยามก็ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์จากสภาความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ ให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ขณะเดียวกันจีนก็ได้วีโต้คัดค้านการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสาธารณรัฐราษฎรมองโกเลีย (อีก ๑๐ ปีต่อมามองโกเลียจึงได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ)

บทความที่๓๒๒.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๕

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๖ การเข้าพบประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค
รองประธานาธิบดีหลี่จุงเหรินประธานาธิบดีโรฮัส
ประธานาธิบดีทูรแทน พระเจ้ายอร์ชที่ ๖
ประธานาธิบดีเลออง บลุม ฯลฯ
-๓-
ประธานาธิบดีเจียงไคเช็คและมาดามเจียงได้ต้อนรับเราอย่างฉันมิตร ระหว่างการสนทนา ด.ร.ที.วี.ซุง (T.V.SUNG) พี่ชายมาดามเจียง และรักษาการในตำแหน่งประธานสภาบริหารขณะนั้น(เทียบเท่านายกรัฐมนตรี)ก็ได้ร่วมสนทนาด้วย ประธานสภาบริหารของจีนได้สัญญากับข้าพเจ้าว่า จะสนับสนุนการเข้าขอเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของประเทศสยาม เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ประเทศสยามไม่ได้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น คณะผู้แทนจีนในองค์การสหประชาชาติจะได้รับแจ้งมติดังกล่าวของรัฐบาลจีน

ประธานาธิบดีเจียงไคเช็คได้ขอกับข้าพเจ้าว่าให้เจ้าหน้าที่ทูตสยามทุกคนพำนักอยู่ที่นานกิงซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลจีน ไม่ให้พำนักที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งขณะนั้นเป็นที่พำนักของเอกอัครราชทูตอื่นๆ โดยเอกอัครราชทูตเหล่านั้น ส่งเพียงแค่เลขานุการที่รับผิดชอบกิจการของสถานทูตคนหนึ่งไปประจำที่นานกิง

ในสมัยนั้นเราจะเห็นขอทานมากมายที่นานกิงและทั่วประเทศจีน ซึ่งขณะนั้นประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ถึงขนาดที่ว่าเวลาไปจ่ายตลาดแต่ละครั้งกระเป๋าสตางค์จะไม่พอใส่ธนบัตรสำหรับซื้อของที่จำเป็นเลย

-๔-
เราได้ขึ้นเครื่องบินที่รัฐบาลจีนส่งมาอำนวยความสะดวก เพื่อเดินทางไปเยือนปักกิ่ง นครปักกิ่งได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เป่ยผิง” หลังจากที่รัฐบาลย้ายที่ตั้งไปอยู่นานกิง หรี่จุงเหรินรองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น บุคคลผู้นี้รับผิดชอบในการป้องกัน “นครเป่ยผิง” และภูมิภาคด้านเหนือจากการรุกคืบหน้าของคอมมิวนิสต์ เขาได้รับการช่วยเหลือจากที่ปรึกษาของฝ่ายพลเรือนของจีน (ที่ปรึกษาการเมือง)ที่ใกล้ชิดกับอเมริกา

ข้าพเจ้าจำได้ว่าบริเวณหน้าทางเข้าทำเนียบรัฐบาลด้านจตุรัส “เทียน อันเหมิน” ซึ่งเป็นสถานที่แขวนรูปของประธานเหมาฯ ในปัจจุบันนี้นั้น เมื่อก่อนเคยที่เป็นที่แขวนรูปของเจียงไคเช็ค กองบัญชาการของหรี่จุงเหรินตั้งอยู่ในพระราชวังจงหนานไห่ ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน

ขณะนั้นทั้งข้าพเจ้าและหรี่จุงเหรินไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าอีก ๑๙ ปีต่อมา คือในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๘ เราจะได้พบกันอีกครั้งหนึ่งที่ “ประตูเทียน อันเหมิน” อันมีชื่อเสียงนี้ เพื่อร่วมงานฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนครบรอบ ๑๖ ปี ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศสยามและความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ซึ่งนำโดยข้าพเจ้าเอง ทำให้ตัวข้าพเจ้าต้องขอลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลราษฎรจีน ส่วนหรี่จุงเหรินนั้นหลังจากข้าพเจ้าได้เข้าเยี่ยมที่ปักกิ่งในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ไม่กี่เดือน เขาก็ได้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนคณะชาติและดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเดียวกัน ซึ่งย้ายมาอยู่ที่กวางตุ้ง

เมื่อกองทัพราษฎรซึ่งนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยาตราเข้ามาใกล้เมืองกวางตุ้ง หรี่จุงเหรินก็ได้เดินทางออกจากจีนไปสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากการทดสอบระเบิดปรมาณูในจีนได้ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก หรี่จุงเหรินได้เดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาอย่างลับๆ และกลับเข้ามาในจีน โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประธานเหมาฯ และนายกโจวเอินไหล ในฐานะผู้รักชาติชาวจีน เขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามทำให้ประเทศจีนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เท่าที่ตนจะสามารถทำได้

ยังมีข้อเท็จจริงบางประการที่ควรสังเกต คือ “ผู้สังเกตการณ์เกี่ยวกับจีน” ย่อมรู้ดีว่า มาดามเจียงไคเช็คเป็นน้องสาวคนสุดท้องของมาดามซุนยัดเซ็น (ดร.ซุนยัดเซ็นเป็นนักอภิวัฒน์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งนำการอภิวัฒน์เจ้าสมบัติของจีนในปี พ.ศ.๒๔๕๔)มาดามซุนยัดเซ็นยังคงดำเนินนโยบายของ ดร.ซุนยัดเซ็น ในส่วนที่เกี่ยวกับการร่วมมือกับคอมมิวนิสต์

มาดามซุนยัดเซ็นได้เป็นรองประธานาธิบดีคนหนึ่งของรัฐบาลราษฎรจีนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ และต่อจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน(ปีที่ท่านปรีดี พนมยงค์เขียนเรื่องนี้-แด่บรรพชนฯ)ส่วนมาดามเจียงและเจียงไคเช็คก็ยังให้ความนับถือ ดร.ซุนยัดเซ็น เสมอมา

พี่สาวคนโตซึ่งเป็นภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีจีนและน้องสาวอีก ๒ คน ต่างก็มีความเข้าใจกันดีแล้วในช่วงสงครามต่อสู้กับญี่ปุ่นซึ่งเป็นศํตรูร่วมกัน

ด้วยข้อเท็จจริงอันนี้ จึงน่าคิดว่าพี่น้อง ๓ คนนี้จะสามารถร่วมมือกันในอนาคต เพื่อการรวมชาติอย่างสันติของจีนหรือไม่

โจวเอินไหล และเจียงไคเช็คเคยร่วมมือกันที่สถาบันการทหารแห่งกวางตุ้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ตอนนั้นเจียงไคเช็คมียศพันตรี และโจวเอินไหลเป็นอาจารย์วิชาการเมือง โจวเอินไหลเป็นผู้ดำเนินการให้ปล่อยตัวเจียงไคเช็คเมื่อคราวถูกนายพลจางโซเหลียงจับกุมในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ต่อมาอีกหลายสิบปี เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โจวเอินไหลได้ให้สัมภาษณ์นายเจมส์ เรสตัน (Jame Reston) นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นรองประธานหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ข้าพเจ้าของอ้างข้อความในจุลสารที่ตีพิมพ์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นรายงานของนักหนังสือพิมพ์อเมริกันผู้นี้เกี่ยวกับความคิดของโจวเอินไหลที่มีต่อเจียงไคเช็ค ดังนี้

โจวเอินไหลกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้จักเจียงไคเช็ค และที่แน่นอนอย่างหนึ่ง แม้ในสายตาของอเมริกันก็คือ เจียงไคเช็คเป็นคนที่ต่อต้านความกดดันจากอเมริกัน ไม่เหมือนกับ เหงียนวันเทียวที่ไซ่ง่อน เจียงไคเช็คเป็นคนรักชาติ และคนรอบข้างไม่เป็นเช่นนั้น ...” โจวเอินไหลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ซี.ไอ.เอ.ก็รู้เรื่องนี้ดี”

Wednesday, October 3, 2007

บทความที่๓๒๑.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๔

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๖ การเข้าพบประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค
รองประธานาธิบดีหลี่จุงเหรินประธานาธิบดีโรฮัส
ประธานาธิบดีทูรแทน พระเจ้ายอร์ชที่ ๖
ประธานาธิบดีเลออง บลุม ฯลฯ

-๑-
เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๙ เอกอัครราชทูตจีนได้นำหนังสือเชิญจากประธานาธิบดีเจียงไคเช็คมาให้ข้าพเจ้าเพื่อเชิญให้ไปเยือนประเทศจีน ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็ได้รับคำเชิญทำนองเดียวกันนี้อีกจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส และบางประเทศในยุโรป

รัฐบาลไทยได้เสนอให้ข้าพเจ้าตอบรับคำเชิญเหล่านั้น เพื่อเป็นการถือโอกาสขอร้องให้สมาชิกถาวรที่สำคัญๆ ของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสนับสนุนประเทศสยามให้ได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การ และเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของเรากับประเทศที่ข้าพเจ้าจะต้องไปเยือน

-๒-
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยภรรยาและคณะออกเดินทางโดยสายการบิน P.O.A.S ซึ่งมาบริการให้พวกเราในเที่ยวบินทดลองระหว่างกรุงเทพฯกับนานกิง เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ (นานกิงเป็นเมืองหลวงของจีนอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงคราม)เรามาถึงนานกิงในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงระยะการหยุดยิงระหว่างฝ่ายจีนคณะชาติกับจีนคอมมิวนิสต์

การเจรจาปรึกษาที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลจีนคณะชาติ ซึ่งมีโจวเอินไหลเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกทั้งผู้รักชาติประชาธิปไตยคนอื่นๆ เข้าร่วมด้วยนั้นเพิ่งเสร็จสิ้น การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จะใช้ปกครองจีนทั้งประเทศ และการรวบรวมเหล่าทัพต่างๆ ให้เป็นกองทัพแห่งชาติภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนคณะชาติ

นอกจากประชุมครั้งนี้แล้ว ได้มีการเจรจาเฉพาะระหว่างรัฐบาลจีนคณะชาติกับตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย ประธานาธิบดีทรูแมนได้ส่งนายพลยอร์ช มาร์แชล ไปร่วมประชุมเพื่อพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนยอมตกลงกับฝ่ายจีนคณะชาติ การเจรจาไม่ก่อให้เกิดผลแต่ประการใด ที่จริงหลังจากคณะของเรามาเยือนนานกิง ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ได้ไม่กี่วัน ก็ได้ทราบข่าวความล้มเหลวการเจรจา เพื่อคืนดีกันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนกับฝ่ายจีนคณะชาติ โจวเอินไหลและคณะผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินทางกลับไปยังเยนอาน ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

บทความที่ ๓๒๐. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๓

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๕. สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์
-๓-
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้ยึดครองทั่วเอเชียอาคเนย์ ญี่ปุ่นหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศอาณานิคมเหล่านี้ จึงได้ช่วยบรรดาผู้รักชาติจัดตั้งรัฐบาลที่ตนเองเรียกว่า “รัฐบาลเอกราช” เช่น รัฐบาลเอกราชพม่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบามอ (Ba Maw) รัฐบาลเอกราชอินโดนีเซียนำโดย ซูการ์โน (Soekarno) รัฐบาลเอกราชฟิลิปปินส์นำโดยลอเรล (Laurel) ต่อจากนั้นญี่ปุ่นก็ได้สนับสนุนจักรพรรดิเวียดนาม กษัตริย์กัมพูชา กษัตริย์ลาว เพื่อประกาศอิสรภาพ ผู้รักชาติส่วนใหญ่รู้ดีว่า การกระทำของญี่ปุ่นมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนเจ้าอาณานิคมเก่าไปเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่ โดยมีญี่ปุ่นเป็นนาย เพราะทุกประเทศที่ถือว่าเพิ่งได้รับเอกราชใหม่ จะต้องเข้าไปเป็นอาณานิคมแบบใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักกันในนาม “การร่วมวงศ์ไพบูลย์แห่งเอเชียบูรพา” ได้มีการตั้งกระทรวง “กิจการมหาเอเชียบูรพา” ขึ้นเป็นกระทรวงใหม่ของญี่ปุ่นเพื่อรับผิดชอบกิจการที่เกี่ยวกับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และรัฐบาลหุ่นเชิดแมนจูกัวรัฐวังจิงไวของจีนและรัฐสยาม ส่วนสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่มีเอกราชแท้จริงนั้น จะมีสัมพันธภาพทางการทูตกันตามปกติ

จอมพลพิบูลฯ ได้ส่งการให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวประท้วงรัฐบาลญี่ปุ่นต่อการปฏิบัติที่ประหลาดนี้ ซึ่งเป็นการลดสถานภาพของสถานเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งเมื่อก่อนมีสภาพการเช่นเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตยุโรปอื่นๆ ที่ยังมีสัมพันธภาพทางการทูตกับญี่ปุ่น ได้แก่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน อิตาลี และอื่นๆ

นายพลโตโจนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ได้ถูกศาลฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินประหารชีวิตในข้อหาอาชญากรสงคราม) ได้อธิบายให้เอกอัครราชทูตของรัฐบาลไทยขณะนั้นฟังว่า “เนื่องจากหน้าตาของคนไทยเหมือนกับคนญี่ปุ่น จนไม่สามารถแยกได้ว่าคนใดเป็นคนญี่ปุ่น คนใดเป็นคนไทย ดังนั้นคนทั้งสองชาติจึงเป็นพี่น้องกัน ถ้า “น้อง” ปรารถนาจะพูดกับ “พี่” ก็ไม่ต้องเป็นต้องมีระเบียบพิธีการทูต เพียงแต่ไปพบ “พี่” เมื่อไรก็ได้ และแทนที่จะเข้าทางประตูหน้าบ้าน “น้อง”ก็อาจเข้าไปทางหลังบ้านได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการดีสำหรับสถานเอกอัครราชทูตไทย และประเทศอื่นที่ร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่นที่จะมีสัมพันธภาพโดยตรงกับรัฐมนตรีกิจการมหาเอเชียบูรพา โดยปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศที่ติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่มิได้เป็นพี่น้องกับญี่ปุ่นและไทย”

ส่วนผู้รักชาติคนอื่นๆในประเทศเอเชียอาคเนย์ที่พำนักอยู่ในสยามนั้น มีจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น พวกเข้าได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในการทำสงครามพลพรรค และบางคนได้รับความรู้จากนายทหารอเมริกันและอังกฤษเอง ซึ่งในเวลานั้นถือว่าชัยชนะต่อญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม หลังจากญี่ปุ่นยอมจำนนแล้ว นักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกกลุ่มเก่าก็มายึดเอาอาณานิคมเดิมของตน แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านของผู้รักชาติในประเทศนั้นๆ ผู้รักชาติจำนวนหนึ่งก็ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อขอความช่วยเหลือจากเรา

จากการที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับผู้รักชาติเหล่านี้ เราได้ลงความเห็นกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์จะได้รับเอกราช อันเป็นผลมาจากความพยายามของพวกเขาเอง แต่เราจะต้องเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่สองประเทศ ได้แก่จีนคณะชาติซึ่งโดดเด่นขึ้นมาหลังชัยชนะต่อญี่ปุ่น อีกประเทศหนึ่งคืออินเดียที่ได้เอกราชจากอังกฤษ ฉะนั้น หากพวกเราแต่ละประเทศต่างคนต่างอยู่ ภายหลังทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับเอกราชแล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะป้องกันตนเองในกรณีที่ยักษ์ใหญ่สองประเทศรุกรานเรา

ด้วยเหตุนี้เราจึงก่อตั้งสมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการป้องกันประเทศ องค์การนี้มิได้เป็นสหภาพหรือสมาพันธรัฐ เนื่องจากแต่ละประเทศมีอิสระทั้งในกิจการภายในและกิจการต่างประเทศของตนเองอย่างสมบูรณ์ องค์การนี้เป็นเพียง “ความเข้าใจกันอย่างฉันมิตร” ระหว่างรัฐสมาชิกดัวยกันเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ยอมรับสมาคมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเริ่มก่อตั้งสมาคมให้เป็นองค์การของประชาชน เนื่องจากประเทศสยามตั้งอยู่ในใจกลางภูมิภาคนี้ ข้าพเจ้าจึงรับที่จะให้กรุงเทพฯเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางแห่งแรกขององค์การ ด้วยการให้สร้างที่ทำการและจัดสรรเงินช่วยเหลือตามความจำเป็น

ผู้รักชาติในประเทศเอเชียอาคเนย์จำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมสมาคมนี้ นักล่าอาณานิคมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้กล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้นำขบถในการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม และเป็นศูนย์กลางของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อเอาใจบรรดานักล่าอาณานิคม ได้ยุบสมาคมดังกล่าวและแยกสลายบรรดาสมาชิก

สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์มิได้เป็นสันนิบาตคอมมิวนิสต์ เพราะสมาชิกประกอบด้วยผู้รักชาติทุกแนวทาง รวมทั้งเจ้าเพชราชอดีตมหาอุปราชลาวด้วย จากการสนทนากับเจ้าเพชราชเกี่ยวกับผู้รักชาติบางคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระองค์ได้ตอบด้วยการตั้งคำถามว่า “คนที่กำลังจะจมน้ำนั้น จะมีเวลาพอหรือที่จะดูว่ามือที่ยื่นมานั้นมีสีขาวหรือสีแดง”

Tuesday, October 2, 2007

บทความที่ ๓๑๙. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๒

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๕. สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์

-๑-
บรรดาเพื่อเก่าแก่ของข้าพเจ้าจากเอเชียอาคเนย์ซึ่งมาเยี่ยมเยียนหลังจากที่ข้าพเจ้าได้มาพำนักอยู่ที่ปารีส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ บางคนก็ได้รำลึกถึงสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ที่เราได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ และต่อมาถูกยุบเลิกโดยปริยาย หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.๒๔๙๐

คำกล่าวหาต่างๆของบรรดาปรปักษ์ทางการเมืองของข้าพเจ้าขัดแย้งกันเองเมื่อพูดถึงองค์การนี้ บ้างก็ว่า องค์การนี้เป็นสันนิบาตของคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ บ้างก็นำเอาองค์การนี้มาปะปนกับมหาอาณาจักรไทย (PAN-THAI) ที่จอมพลพิบูลฯ ริเริ่มดำเนินการ เพื่อรวบรวมคนเชื้อชาติ ”ไทย” ที่อยู่ในจีน อินเดีย และในเอเชียอาคเนย์ ทั้งนี้ เพื่อก่อตั้งมหาอาณาจักรไทยภายใต้เผด็จการของจอมพลพิบูลฯ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศบางคน ซึ่งประจำในสยามหลังจากข้าพเจ้าเดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและเชื่อในคำบอกเล่านี้ ก็ได้เลยเถิดไปกันใหญ่โดยการเอาข้าพเจ้ามาแทนที่จอมพลพิบูลฯ ในการฝันเฟื่องเรื่องนี้ เช่นกรณีผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำกรุงเทพฯ ที่ข้าพเจ้าพูดถึงในคำนำของหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลักษณะขององค์การที่ยุบเลิกไปแล้วนี้ และเกิดความสับสนระหว่างองค์การของเรากับสมาคมใหม่ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งระหว่างประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามชื่อที่เรียกกันว่า “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เรียกสั้นๆว่า “อาเซียน” นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างที่จะเล่าประวัติของสมาคมของเราพอสังเขป

-๒-

ขอให้นึกถึงว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศสยามเป็นประเทศเดียวในบรรดาประเทศเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเอกราชและเป็นสมาชิกดั้งเดิมของสันนิบาตชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขณะนั้นเวียดนาม กัมพูชา และลาว เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พม่า มลายู และสิงคโปร์เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อินโดนีเซียเป็นเมืองขึ้นของเนเธอแลนด์ ส่วนฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา

ผู้รักชาติจำนวนหนึ่งในบรรดาประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีแนวความคิดทางการเมืองและอุดมการณ์ต่างกัน ก็ได้ลี้ภัยหลบซ่อนเข้ามาอยู่ในสยาม ในบรรดาผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เหงียน ไอ ก๊อก เป็นผู้หนึ่งที่เข้ามาเป็นครั้งคราว ชื่อของเขามีความหมายว่า “เหงียนผู้รักชาติ” เขาเป็นผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม โดยใช้นามแฝงหลายชื่อก่อนใช้ชื่อ “โฮจิมินห์” ในที่สุด เขาได้ลี้ภัยเข้ามาในสยาม ๒ ครั้ง และพำนักอยู่ระยะหนึ่งโดยใช้ชื่ออีกหลายชื่อ

ข้าพเจ้ามีความเห็นใจผู้รักชาติลี้ภัยทุกคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดยไม่แบ่งแยกอุดมการณ์ เพราะแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกทางของตน

บทความที่ ๓๑๘. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๑

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๑๑-
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงบรรลุนิติภาวะ ข้าพเจ้าได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์เสด็จนิวัติสู่สยาม พระองค์เสด็จถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘ หน้าที่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของข้าพเจ้าจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในทันที พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐบุรุษอาวุโส อันเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ซึ่งจะไม่มีอำนาจในการบริหารแผ่นดิน เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้พักผ่อน ซึ่งข้าพเจ้ามีความปรารถนาอยู่แล้วหลังจากที่ข้าพเจ้าทำงานมาอย่างลำบากและเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลาช่วงที่มีสงครามและหลังสงครามอีก ๓ เดือน

ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว มีรัฐบาลใหม่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางคนเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ความขัดแย้งในรัฐสภาระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลต้องลาออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าจัดตั้งรัฐบาล โดยข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายข้างมาก ซึ่งเป็นฝ่ายก้าวหน้าในสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๘๙ รัฐสภาจะประกอบด้วยพฤตสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาทั้งสองมาจากการเลือกตั้ง

ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงไป แต่กลับเพิ่มมากขึ้น เมื่อศาลฎีกาตัดสินปล่อยตัวจอมพลพิบูลฯ โดยประกาศว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม (ซึ่งร่างขึ้นและประกาศใช้หลังสงคราม)ไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังได้

เมื่อจอมพลพิบูลฯ ได้รับการปล่อยตัว ก็ได้กลับคืนสู่เวทีการเมืองเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม

-๑๒-

๒-๓ เดือนถัดมา ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยต้องพระแสงปืนที่พระเศียรในห้องพระบรรทมมหาราชวัง จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและโดยคำแนะนำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ทางรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ประกาศว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตโดยอุปัทวเหตุ โดยกระสุนจากพระแสงปืนของพระองค์เอง

ในวันนั้นเอง ข้าพเจ้าในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เสนอรัฐสภาให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชสมบัติแทนพระเชษฐานที่เสด็จสวรรคต เนื่องจากพระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นประธาน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าตั้งคณะรัฐบาลขึ้นใหม่

หลังจากเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยไม่มีผู้สมัครแข่งขัน ข้าพเจ้าสมัครใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็คงประกอบด้วยรัฐมนตรีฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายประชาธิปไตย แต่พวกอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่ารัฐบาลใหม่อยู่ภายใต้อาณัติของข้าพเจ้า ด้วยเหตุนี้พวกอนุรักษ์นิยมจึงเริ่มโจมตีข้าพเจ้าเป็นการส่วนตัว โดยใส่ร้ายข้าพเจ้าต่างๆ นานา เช่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ได้เสด็จสวรรคตโดยอุปัทวเหตุ แต่ถูกลอบปลงพระชนม์โดยอดีตราชเลขานุการส่วนพระองค์ และมหาดเล็กของพระองค์เอง โดยมีข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

การเผยแพร่ข่าวให้ร้ายแก่ข้าพเจ้าเช่นนี้ เป็นแผนการทำให้ประชาชนสับสน เพื่ออ้างเป็นเหตุให้คณะทหารก่อการรัฐประหารปฏิกิริยา ซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวต่อไปในบทที่ ๗

บทความที่๓๑๗.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๐

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๘-
ฝ่ายรัฐบาลจีนเมื่อยอมรับรองความเป็นเอกราชของรัฐบาลสยามแล้ว ก็ได้ส่งอัครราชทูตมาประจำกรุงสยาม เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

ส่วนกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่คลั่งชาติที่คิดว่ากองกำลังทหารจีนจะเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศสยามนั้น พากันแปลกใจที่กลายเป็นกองทหารอังกฤษ ฉะนั้น จึงก่อการจลาจลโดยใช้ปืนยาวปืนสั้น ยิ่งเข้าใส่ฝูงชนอย่างบ้าคลั่งในใจกลางพระนคร

ชาวไทยได้โต้ตอบทันที สภาพการจลาจลเกิดขึ้นในชุมชนหลายแห่ง รัฐบาลจำต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม เพื่อให้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด การจลาจลครั้งนี้เรียกว่า “เลียะพะ” (ภาษาแต้จิ๋ว)ที่เรียกเช่นนี้ เพราะได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้กับกบฏของนักมวยจีน ซึ่งต่อต้านกองกำลังอำนาจต่างชาติในปี พ.ศ.๒๔๔๓

ในปัจจุบันนี้ยังมีคนกล่าวถึงเหตุการณ์เลียะพะครั้งนั้นอยู่ โดยมักจะเป็นพวกที่ไม่ยอมรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีนและยกเอาเหตุการณ์นี้มาข่มขวัญผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ โดยอธิบายอย่างไม่มีเหตุผลว่า เมื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐราษฎรจีนแล้ว เหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดซ้ำขึ้นอีกโดยพวกชาวจีนโพ้นทะเลจะเป็นผู้ก่อขึ้นด้วยความสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตสาธารรัฐราษฎรจีน อันที่จริง ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบนี้ พวกคอมมิวนิสต์จีนที่ลี้ภัยเข้ามาในสยาม เพราะถูกรัฐบาลจีนคณะชาติตามล่านั้น กลับต่อต้านเหตุการณ์เลียะพะครั้งนี้

-๙-
รัฐบาลโซเวียตกำลังวุ่นวายอยู่กับปัญหาภายในประเทศ จึงไม่พร้อมที่จะเข้ามาแทรกแซงในกิจการของเอเชียอาคเนย์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ได้แสดงความเคารพความเป็นเอกราชของสยามโดยปริยาย โดยการมอบอำนาจให้ผู้แทนทางการทูตที่กรุงสต็อคโฮล์มเข้าร่วมในงานเลี้ยงรับรองที่จัดขึ้นโดยสถานอัครราชทูตสยาม ทั้งในระหว่างและหลังสงคราม

-๑๐-
ส่วนทางฝ่ายรัฐบาลกู้ชาติฝรั่งเศส (Comite francais de Liberation antionale) ซึ่งต่อมาได้ตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ลงความเห็นว่า รัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น และฝรั่งเศสกับประเทศไทยถือว่า เป็นศัตรูกันนับตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ อันเป็นวันที่กองทัพอากาศไทย (สมัยรัฐบาลจอมพลพิบูลฯ)ได้ทิ้งระเบิดบนดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส รัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเห็นว่า คำประกาศของข้าพเจ้าในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ยกเลิกการยึดครองดินแดนที่รัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ยึดครองนั้น ครอบคลุมถึงดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสด้วย ดังนั้น เราจึงได้ทำความตกลงร่วมกันกับรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสให้นำเรื่องนี้สู่อนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสิน ทั้งนี้ เพราะทางฝ่ายเราเห็นว่า ดินแดนที่เป็นปัญหาอยู่นั้น เป็นของประเทศสยามมาก่อนปี พ.ศ.๒๔๕๐ แล้ว นับแต่นั้นมาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่าง ๒ ประเทศก็กลับคืนสู่ภาพปกติ