Tuesday, September 18, 2007

บทความที่๓๐๕. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๘

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๒ การเริ่มมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า
-๕-
ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้เสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจต่อรัฐบาล โดยหวังที่จะแก้ไขสภาพเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างน่าใจหายในสมัยนั้น สภาพดังกล่าว มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ของประชากร โดยเฉพาะกสิกร ข้าพเจ้าเสนอให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยให้ประจำปีในอัตราที่เป็นธรรม ก่อตั้งสหกรณ์ต่างๆ ขึ้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐโดยให้ราษฎรได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตนเพื่อป้องกันและกำจัดอาชญากรรมในรูปต่างๆ ตลอดจนจัดหางานให้ราษฎรแต่ละคน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่สนับสนุนร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ในคณะรัฐมนตรีมีผู้ที่นิยมการปกครองแบบเก่า รวมทั้งเพื่อนบางคนของข้าพเจ้าที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มนี้ คัดค้านร่างเค้าโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อคนกลุ่มนี้เห็นว่า ในที่สุดแล้วสภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติเห็นชอบกับร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้า และจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมาแทนที่รัฐบาลผสมอย่างแน่นอน พวกเขาจึงได้ขบคิดแผนการร่วมกับกลุ่มสมาชิกฝ่ายทหารในคณะรัฐมนตรี ทหารกลุ่มหนึ่งล้อมที่ทำการสภาผู้แทนราษฎรและที่พักของข้าพเจ้า นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญ และยุบสภา และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อปราบปรามความคิดและกิจกรรมทุกรูปแบบที่มีลักษณะเป็นสังคมนิยม ซึ่งพวกเขาตีความว่า เป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับส่วนตัวข้าพเจ้านั้น พวกเขาบีบบังคับให้ข้าพเจ้าออกจากประเทศ โดยกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา ข้าพเจ้าจึงถูกเนรเทศมาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

-๖-
ประมาณ ๒ เดือนต่อมา พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือ ได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ และกราบบังคมทูลขอให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ นำรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ กลับมาใช้ใหม่ พระองค์ทรงรับคำขอนั้น โดยมีเงื่อนไขให้คงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อตกลงกันตามเงื่อนไขของพระองค์แล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลโดยมีพระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯขอให้ข้าพเจ้ากลับประเทศ โดยมิให้กล่าวถึงร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าเป็นการชั่วคราว

เมื่อข้าพเจ้ากลับจากประเทศฝรั่งเศสได้ ๑ เดือน ได้เกิดกระแสโต้อภิวัฒน์ขึ้น โดยเริ่มตามหัวเมืองต่างจังหวัดก่อน มีผู้นำคือ พระองค์เจ้าบวรเดช ต่อมาได้เกิดการสู้รบขึ้น แต่รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายได้รับชัยชนะ ในที่สุดต่อมา สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งสมาชิกครึ่งหนึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษขึ้น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทั้งของ สยาม อังกฤษ และฝรั่งเศส มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จต่างๆ เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า เพื่อสอบสวนว่า ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่และเพื่อวินิจฉัยร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่จะได้จัดตีพิมพ์ขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการพิเศษ ที่ตัดสินว่า แม้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าบางส่วนจะมีความคล้ายคลึงกับโครงการเศรษฐกิจ ๕ ปีของโซเวียต แต่เนื้อหาสาระในโครงการนั้น เป็นเรื่องการปฏิรูปการเกษตร ซึ่งมิใช่โครงการแบบคอมมิวนิสต์ ต่อจากนั้น โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นข้าพเจ้าอายุได้ ๓๔ ปี นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย

นับแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองควบคู่กับตำแหน่งทางราชการอื่นๆ ตามลำดับดังนี้

พ.ศ.๒๔๗๖-๒๔๗๘ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ
พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๐ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ภายหลังข้าพเจ้าพ้นจากหน้าที่ในรัฐบาล ข้าพเจ้ายังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งระหว่างอยู่ในประเทศจีน ๓ ปีแรกด้วย เนื่องจากรัฐบาลสมัยนั้น ไม่ปรารถนาที่จะสร้างความไม่พอใจในหมู่นักศึกษา จึงได้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนในระหว่างที่ข้าพเจ้าไม่อยู่ จนเมื่อความพยายามก่อการรัฐประหารของนายทหารแห่งกองทัพเรือประสบความพ่ายแพ้ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ รัฐบาลจึงเสนอพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อรัฐสภา การจัดองค์กรมหาวิทยาลัยใหม่ครั้งนี้แยบยลและหลักแหลม เพียงแต่เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น คือจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จะได้ชื่อใหม่นับแต่นั้นมาว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” สั้นๆ

ข้าพเจ้าจึงพ้นจากตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยนั้นโดยปริยาย โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องประกาศปลดอย่างเปิดเผย

No comments: