Monday, September 17, 2007

บทความที่ ๓๐๒.คุณสุพจน์ ด่านตระกูลปาฐกถาเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทย ๒

คุณสุพจน์ ด่านตระกูลปาฐกถาในการเสวนาวาระครบรอบ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทยความตอนหนึ่งว่า
“ในประเด็นที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของราษฎรทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วก็เอาคำว่า อำนาจสูงสุด เอามาแผลงเป็นอำนาจตามหลักการแยกอำนาจของมองเต็ชคีเออ ที่ว่าแบ่งอำนาจ บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ แต่ความจริงอำนาจสูงสุดของประเทศคืออำนาจที่เป็นโครงสร้างของสังคม ในสังคมไหนก็แล้วแต่โครงสร้างคือเศรษฐกิจ คือการเมือง คือวัฒนธรรม ในสามส่วนนี้ เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างเบื้องล่าง ส่วนการเมืองและวัฒนธรรม (ท่านปรีดีฯ เรียกว่าทัศนะสังคม) เป็นโครงสร้างชั้นบน โครงสร้างเบื้องล่างอยู่ในกำมือของใคร โครงสร้างเบื้องบนก็อยู่ในกำมือของคนนั้น

ในยุคทาส นายทาสเป็นผู้คุมเศรษฐกิจ การเมืองก็เป็นนายทาส ในยุคศักดินา เจ้าศักดินาคุมเศรษฐกิจ การเมืองก็เป็นของเจ้าศักดินา ยุคปัจจุบันนี้เราเห็นอยู่แล้วว่าเป็นยุคทุนนิยม ซึ่งขยายเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ยังเพิ่งแตกหน่ออ่อน เดี๋ยวนี้เต็มแก่แล้ว จนจะจมดิ่งหัวลงแล้ว ยุคทุนนิยม เศรษฐกิจเป็นของนายทุน เพราะฉะนั้นการเมือง วัฒนธรรมก็เป็นของนายทุน ที่เกิดเหตุวุ่นวาย ทักษิณออกไปๆ และทักษิณสู้ๆ ก็เพราะนายทุนสองกลุ่มคือ นายทุนสวมชฎากับนายทุนสวมหมวกมันขัดกัน นายทุนเมืองไทยเป็นนายทุนอิงอำนาจรัฐ ส่วนหนึ่งมันได้อำนาจรัฐเสียเอง ไม่ให้พวกอื่นมาอิง พวกไม่ได้อิงก็อาศัยพวกการเมืองต่างๆ มาโค่นมาโจมตี ด่าว่ารัฐบาลต่างๆ นานา ความจริงทุนต่อทุนมันต่อสู้กัน เรียกว่าทุนที่ก้าวหน้าก็ได้ทุนที่ล้าหลังก็ได้ แต่ก้าวหน้าก็ภายใต้ข้อจำกัดของทุนนั่นเอง ในเมื่อประชาชนยังไม่มีทางเลือก แน่นอนถ้าไม่หลับหูหลับตาก็ต้องเลือกทุนก้าวหน้าไว้ก่อน

ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็คือความพยายามของบางกลุ่มที่มีปัญญาวิปริตดึงสถาบันลงมา จากอภิรัฐมนตรี มาเป็นองคมนตรี องคมนตรีคืออะไร ? องคมนตรีคือสัญลักษณ์ของระบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และองคมนตรีลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร แต่ทำภารกิจได้เยอะแยะ ตรงกันข้ามกับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

เดี๋ยวนี้องคมนตรีเป็นที่ปรึกษาของในหลวงแต่กลับไม่มีความรับผิดชอบอะไรเลย นี่คือสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดยังมีองคมนตรีก็จะมีความพยายามดึงข้างบนลงมาให้เกี่ยวข้องกับการเมืองและผลของมันก็จะเป็นอย่างที่คุณพโยม จุลานนท์ ว่าไว้

ในฝรั่งเศสจาก ค.ศ.๑๗๘๙ ต่อสู้กันมาระหว่างเก่ากับใหม่ จนถึง ค.ศ.๑๘๗๑ เป็นเวลาถึง ๘๒ ปีของเรา ยังต้องคอยดูต่อไปข้างหน้า.

No comments: