Friday, September 14, 2007

บทความที่ ๒๘๘. ประชาธิปไตยกับลัทธินารอด ๒

นโยบายของซุนยัดเซนทุกประการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และแสดงความเข้าใจอย่างเต็มที่ในความไม่เหมาะสมของการปฏิวัติในทำนองที่เป็นการปฏิวัติทางเชื้อชาติ (RACIAL REVOLUTION) โดยถือว่าการปฏิวัติต้องเป็นไปในทางให้ความสนใจแก่ปัญหาการเมืองให้ความสำคัญแก่เสรีภาพทางการเมือง กับถือว่าอัตตาธิปไตย (AUTOCRACY) เข้ากันไม่ได้กับการปฏิรูปทางรัฐธรรมนูญและทางสังคมของจีน นอกจากนี้ ยังถือว่าประชาธิปไตยต้องเป็นไปในรูปแบบที่สมบูรณ์รวมทั้งต้องมีการจัดตั้งสาธารณรัฐด้วย ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจแก่ปัญหาเกี่ยวกับภาวะของมวลชน และการรณรงค์ของมวลชน โดยแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบรรดาชนผู้ถูกกดขี่และตกระกำลำบาก กับแสดงความเชื่อมั่นในพลังของชนเหล่านี้และเชื่อมั่นในความยุติธรรมแห่งอุดมการณ์ในการต่อสู้ของพวกเขาด้วย

นี่เป็นลัทธินิยมอันยิ่งใหญ่ของประชาชนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สามารถแสดงความสลดใจในภาวะของความเป็นทาสและความใฝ่ฝันในเสรีภาพเสมอภาพมาเป็นเวลานานเป็นยุคเป็นสมัย แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถต่อสู้ผู้กดขี่จีนมานานแล้วเป็นยุคเป็นสมัย จนกระทั่งได้มาซึ่งชัยชนะ

บัดนี้ขอให้เปรียบเทียบประธานาธิบดีเฉพาะกาลของสาธารณรัฐจีน (ซุนยัดเซน) อันได้ชื่อว่าเป็นประเทศล้าหลังทางเอเชียกับประธานาธิบดีของสาธารณรัฐต่างๆ ทางยุโรปและอเมริกา อันได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้วทางวัฒนธรรมดูบ้าง ประธานาธิบดีของประเทศเหล่านั้นเป็นนักธุรกิจทั้งสิ้น เป็นตัวแทนหรือเป็นหุ่นเชิดของชนชั้นเจ้าขุนมูลนายผู้เลวทรามและแปดเปื้อนไปด้วยเลือดของชนชั้นกรรมาชีพผู้ถูกสังหาร โดยอ้างว่าเป็นการสังหารเพื่อความเจริญและอารยธรรม ชนชั้นเจ้าขุนมูลนายในประเทศดังกล่าวมิได้รับรู้ในอุดมการณ์ของชนรุ่นหลังเป็นเวลานานมาแล้ว และได้ขายตัวและวิญญาณให้แก่พวกเศรษฐีมหาเศรษฐีกับพวกขุนศึกสมัยกลาง (FEUDAL) ผู้ได้กลายเป็นชนชั้นเจ้าขุนมูลนายไป

ส่วนในประเทศจีน ประธานาธิบดีเฉพาะกาลของประเทศนั้นเป็นนักประชาธิปไตยปฏิวัติผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและความหาญกล้า อันเป็นคุณสมบัติของชนชั้นใหม่ซึ่งกำลังตื่นตัวขึ้นในประเทศนั้น โดยเป็นชั้นชนผู้ไม่มีความหวาดกลัวในอนาคต แต่กลับเชื่อมั่นในอนาคตและต่อสู้เพื่ออนาคตอย่างไม่เห็นแก่ตนเอง อย่างไม่ปรารถนาจะเกาะอยู่กับอดีตเพื่อรักษาอภิสิทธิใดๆ ไว้ แต่กลับเกลียดชังอดีตและต้องการสลัดความเสื่อมทรามของอดีตออกไปเสีย

เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วหมายความว่า โลกตะวันตกได้ถึงซึ่งความเสื่อมโทรมทางวัตถุอย่างสิ้นหวังจะกลับฟื้นคืนดี และความหวังยังคงฉายแสงอยู่แต่เฉพาะทางโลกตะวันออกเท่านั้น หรืออย่างไร ? ตอบว่ามิใช่เช่นนั้น หากแต่เป็นไปในทำนองตรงกันข้าม กล่าวคือ หมายความว่าโลกตะวันออกได้เลือกเอาการเดินทางไปตามวิถีของโลกตะวันตกอย่างแน่นอนแล้ว และมวลชนทางตะวันออกนับร้อยๆ ล้านคน จะได้เข้าร่วมในการรณรงค์เพื่ออุดมการณ์เช่นเดียวกับมวลชนทางตะวันตกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สิ่งที่เสื่อมโทรมคือชนชั้นเจ้าขุนมูลนายทางตะวันตก ซึ่งต้องประจันหน้ากับผู้ที่จะขุดหลุมฝังศพให้พวกเขาแล้ว คือมวลชนกรรมาชีพ แต่ทว่าทางเอเชียก็ยังมีชนชั้นเจ้าขุนมูลนายผู้สามารถกระทำการเป็นอัศวินเพื่อประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่และจริงใจ สมควรได้รับความยกย่องเท่าเทียมกับผู้นำการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๘ (๑๗๘๙-๑๗๙๔)

ผู้ที่สามารถจะแสดงบทบาทเป็นตัวแทนชั้นนำหรือปรารถนาทางสังคมของชนชั้นเจ้าขุนมูลนายทางเอเชีย ผู้จะสามารถสนับสนุนการรณรงค์เพื่อความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ ได้แก่มวลกสิกรชาวนา แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้นำชนชั้นเจ้าขุนมูลนายซึ่งอ้างตนเองว่าเป็นเสรีนิยมหรือลิเบอรัล อย่าง หยวน ซื่อ ไข่ (หยวน ซื่อ ไข่ เป็นรัฐบุรษชาวจีนผู้ใช้ราชวงศ์แมนจูก่อนเกิดการปฏิวัติในจีนปี ๑๙๑๑ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนในปี ๑๙๑๒ แล้วเขาก็จัดตั้งระบอบเผด็จการต่อต้านการปฏิวัติขึ้น)ที่สามารถทำการทรยศแบบเหยียบเรือสองแคม โดยในวันหนึ่งยอมหมอบราบคาบแก้วต่อจักรพรรดิจีน แต่แล้วต่อมาก็ทรยศต่อจักรพรรดิในเมื่อเห็นว่าฝ่ายประชาธิปไตยปฏิวัติจะมีชัย แล้วต่อมาก็ไปทรยศต่อฝ่ายประชาธิปไตยอีก ถ้าหากเมื่อใดคิดว่าจะทำความตกลงแบบหักหลังได้กับผู้ที่ตั้งตนเป็น “จักรพรรดิ” ขึ้นมาใหม่

No comments: