Tuesday, September 18, 2007

บทความที่๓๐๘.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๑

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๓การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต
-๓-
จากอิตาลี ข้าพเจ้าเดินทางไปปารีสอีกครั้ง เพื่อพบปิแอร์ ลาวาล นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น นายปิแอร์ ลาวาลได้เปรียบเทียบข้าพเจ้ากับตัวเขาเองว่าเมื่อตอนที่อายุเท่ากับข้าพเจ้านั้น เขาเกือบจะได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของปอล แปงเลอเว (PAUL PAINLEVE) จากพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม (REPUBLICAIN SOCIALISTE) ส่วนเรื่องการขอเปิดการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยามนั้น นายปิแอร์ ลาวาลมิได้สัญญาอย่างแน่นอนลงไป เพียงแต่ย้ำกับข้าพเจ้าว่า จะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

-๔-
จากปารีส ข้าพเจ้าเดินทางไปกรุงปราก เวียนนา วอร์ซอร์ และเบอร์ลิน ที่เบอร์ลินเจ้าหน้าที่ฝ่ายนาซีได้อำนวยความสะดวกต่อข้าพเจ้าในการเข้าเยี่ยมสถาบันต่างๆ ของนาซี เช่น กระทรวงโฆษณาการ ยุวชนนาซี เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ประสานงานได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ฮิตเลอร์เองนั้น อยากต้อนรับข้าพเจ้า แต่เนื่องจากเขาพูดไม่ได้ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส การสนทนาระหว่างเราทั้งสองคนคงจะไม่น่าสนใจแน่ เพราะต้องอาศัยล่าม อันที่จริงแล้ว ไม่มีสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างประเทศสยามกับประเทศเยอรมันอีกแล้ว สิ่งที่เราสนใจคือการสถาปนาความสัมพันธ์ด้านพาณิชย์และการเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ฮิตเลอร์จึงได้มอบหมายงานนี้ให้นายฮจาล์มาร์ ชาคท์ รัฐมนตรีว่าการเศรษฐกิจแห่งชาติ ข้าพเจ้าจึงได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนายฮจาล์มาร์ ชาคท์ ในเรื่องการดำเนินการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางด้านการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่าง ๒ ประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะรัฐบาลนาซีเป็นผู้ควบคุมดูแลการติดต่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ดังกล่าว การสนทนาของเราครั้งนี้ไม่บรรลุผลเท่าใดนัก

จากเบอร์ลิน ข้าพเจ้ากลับมายังปารีส และเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน เพื่อพบปะกับเซอร์ซามวล ฮอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่าทีของเซอร์ซามวล ฮอร์ เหมือนๆ กับท่าทีของปิแอร์ ลาวาล ในเรื่องเกี่ยวกับการขอเปิดการเจรจาเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค

ส่วนการขอลดอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลไทยภายใต้ระบบการปกครองเก่า ได้ลงนามในสนธิสัญญาไว้กับธนาคารอังกฤษนั้น เราสามารถลงนามในข้อตกลงใหม่ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยลง จากร้อยละ ๖ เหลือร้อยละ ๔

No comments: