Friday, September 14, 2007

บทความที่๒๙๓.ชีวิตที่ผันผวนและ ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์

บทที่ ๑ การเดินทางออกจากประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีน

-๑-
โดยทั่วๆ ไป การที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวประวัติส่วนตัว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม มักจะเล่าเหตุการณ์เหล่านี้เรียงตามลำดับกาลเวลา สำหรับข้าพเจ้าจะไม่ยึดหลักดังกล่าว

เพื่อนคนไทย และเพื่อนต่างชาติของข้าพเจ้าหลายคนได้มาเยี่ยมเยียนข้าพเจ้า นับแต่ข้าพเจ้าได้มาถึงกรุงปารีสในปี พ.ศ.๒๕๑๓ นั้น ในระยะแรกๆ ต่างพากันสนใจว่าข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เดินทางออกมาจากดินแดนของจีน และมาพำนักยังประเทศฝรั่งเศสได้อย่างไร เนื่องจากบรรดาเพื่อนๆ เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของประเทศที่ได้สมญานามว่า “ม่านเหล็ก” อันหมายถึงสหภาพโซเวียต และ “ม่านไม้ไผ่” อันหมายถึงประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีน มาว่า ประเทศทั้งสอง รวมทั้งประเทศที่มีระบบปกครองแบบสังคมนิยมนั้น จะไม่อนุญาตให้คนชาติของตนออกจากประเทศของตน นอกเสียจากว่า จะมีภารกิจทางการที่จะต้องไปปฏิบัติในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงพากันคิดว่า มาตรการดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้กับคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีนด้วย โดยเฉพาะคนต่างชาติที่มิได้เป็นนักท่องเที่ยวหรือแขกของทางการ ทั้งนี้เพราะมีคนต่างชาติจำนวนมากรวมทั้งลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่มาพำนักในประเทศนี้ได้เล่าถึงข้อยุ่งยากมากมายที่พวกตนประสบ เมื่อครั้งที่พวกเขาได้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน เพื่อขออนุญาตออกจากแผ่นดินจีน

-๒-
สำหรับคนที่สนใจว่า ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ออกมาจากแผ่นดินจีนได้อย่างไรนั้น ข้าพเจ้าขอย้ำเสียแต่แรกว่า ข้าพเจ้ามิได้ถูกรัฐบาลจีนกักตัว ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศนั้นมานานกว่า ๒๐ ปีในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และรัฐบาลจีนเองปรารถนาที่จะรับรองข้าพเจ้าและครอบครัวอย่างแขกของรัฐ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ก่อตั้งสาธารณรัฐราษฎรจีนในการปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกข่มเหงรังแกในแผ่นดินของตน จากการที่ตนได้ “กระทำการอันเป็นการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยและต่อสู้เพื่อสันติภาพของโลก”

ข้าพเจ้าต้องอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีนเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี ด้วยเหตุผลเพียงเพราะข้าพเจ้าได้กลายเป็นแพะรับบาปของการใส่ร้ายป้ายสีนานัปการ โดยเฉพาะข้าพเจ้าถูกกล่าวหาหลายครั้งหลายคราว่า เป็นอาชญากรหรือก่อกบฏอย่างร้ายแรง ข้าพเจ้ากลายเป็นบุคคลมิพึงปรารถนาในสายตาของรัฐบาลต่างประเทศหลายประเทศ ทั้งๆที่ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่นั้น รัฐบาลเหล่านี้เคยกล่าวว่า เขาเป็นมิตรกับข้าพเจ้าแต่กลับ “หันหลัง” ให้ข้าพเจ้าอย่างง่ายดาย เพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อนเก่าของข้าพเจ้าคนหนึ่ง คือท่านเอกอัครราชทูต กีโยม จอร์จ-ปิโกต์ (M.Guillaume GEORGES-PICOT เป็นเพื่อนเก่าที่ข้าพเจ้ารู้จักตั้งแต่ครั้งที่เขาเป็นเลขานุการและต่อมาเป็นอุปทูตฝรั่งเศส นายจอร์จ-ปิโกต์ เป็นผู้แทนของประเทศฝรั่งเศสในการเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างฝรั่งเศสและสยาม ในครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การเจรจาประสบผล และได้มีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพระหว่าง ๒ ฝ่ายตามหลักการที่เสมอภาค และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และอภิสิทธิอื่นๆ ทุกประการ- หมายเหตุของผู้เขียน)ได้แวะมาเยี่ยมเยียนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้ทราบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายพลเดอโกล (General de GAULLE) มิได้มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อข้าพเจ้าเลย

ในส่วนที่เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลจีนนั้น ข้าพเจ้าได้เข้าพบประธานเหมา เจ๋อตุงครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ท่านได้แสดงความเห็นอกเห็นใจข้าพเจ้า ทั้งยังเข้าใจดีถึงภาวะที่ข้าพเจ้ารู้สึกคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน นอกจากนี้ประธานเหมาเจ๋อตุงได้เปรียบเทียบความรู้สึกดังกล่าวของข้าพเจ้ากับความรู้สึกของท่าน เมื่อครั้งได้ไปเยือนสหภาพโซเวียตเป็นเวลา ๓ เดือน ต่อมาข้าพเจ้าได้พบนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลในวาระครบรอบ ๒๐ ปีแห่งการตั้งสาธารณรัฐราษฎรจีนในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ข้าพเจ้าได้รับเชิญมาร่วมงานด้วยไมตรียิ่ง

นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหลได้แสดงความเข้าใจเป็นอันดีเช่นกันต่อความรู้สึกคิดถึงบ้านเกิดของข้าพเจ้า หลังจากทีได้มาอยู่ประเทศจีนเป็นเวลานาน ท่านนายกได้ไต่ถามข้าพเจ้าอยากไปเที่ยวเยี่ยมเยียนประเทศอื่นบ้างหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงได้ตอบไปว่า ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะไปกรุงปารีสเพื่อพบกับครอบครัวและเพื่อนๆของข้าพเจ้า ในวาระที่ข้าพเจ้าจะมีอายุครบ ๗๐ ปีในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ข้าพเจ้าได้กล่าวเสริมอีกด้วยว่า หนังสือเดินทางสยามที่ข้าพเจ้าถือมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๑ นั้นหมดอายุไปนานแล้ว และข้าพเจ้าได้ขอให้รัฐบาลจีนออก “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างชาติ” ให้ข้าพเจ้า ท่านนายกฯ ตอบรับ ข้าพเจ้าจึงส่งโทรเลขถึงบุตรชายของข้าพเจ้า ๒ คน ซึ่งเวลานั้นกำลังศึกษาและทำงานอยู่ที่กรุงปารีส บอกให้ทั้งสองติดต่อกับท่านทูตกีโยม จอร์จ-ปีโกต์ ขอให้ดำเนินการขอวีซ่าเข้าประเทศฝรั่งเศส จากกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสให้ข้าพเจ้า ต่อมาแผนกกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีนได้ออก “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างชาติ” พร้อมทั้ง “วีซ่าทางการทูตสำหรับคนเดินทางออกนอกประเทศ” หลังจากนั้นสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงปักกิ่งได้ออกวีซ่าทางการทูตสำหรับผ่านเข้าฝรั่งเศสให้ข้าพเจ้าเช่นกัน

No comments: