Friday, September 14, 2007

บทความที่๒๙๔.ชีวิตที่ผันผวนและ ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒

-๓-
อันที่จริงแล้วข้าพเจ้าได้ลาออกจากราชการและได้รับบำนาญจากการที่ได้รับใช้ประเทศชาติของข้าพเจ้ามาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ก่อนการรัฐประหารของกลุ่มปฏิกิริยาในสยามคือก่อนที่ข้าพเจ้าลี้ภัยออกมา

ทว่า หลังจากข้าพเจ้าเดินทางออกนอกประเทศมา รัฐบาลปฏิกิริยาได้กระทำการอันเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย โดยปฏิเสธการจ่ายบำนาญนี้ให้ภรรยาข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้รับมอบฉันทะจากข้าพเจ้า ทั้งนี้เพราะภรรยาข้าพเจ้ายังคงอยู่ในสยามในช่วงที่ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศจีน รัฐบาลดังกล่าวอ้างว่า ไม่มีหลักฐานว่าข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันก็ให้ข้าพเจ้าแสดงใบรับรองอันเป็นหลักฐานว่าข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่และต้องเป็นใบรับรองที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ทางการทูต หรือฝ่ายของกงสุลที่สยามที่ได้รับแต่งตั้งให้ประจำ ณ ประเทศที่ข้าพเจ้าได้มาพำนักอยู่ ทั้งๆที่รัฐบาลก็ทราบแน่ชัดว่าประเทศจีนนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ทั้งทางการทูตหรือทางกงสุลกับสยาม

ด้วยเหตุนี้เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงกรุงปารีสได้ ๒-๓ วัน ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตสยามให้ออกใบรับรองดังกล่าว เพื่อข้าพเจ้าจะได้ใช้ใบรับรองนี้เรียกร้องให้จ่ายเงินบำนาญทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามิได้รับเลยระหว่างพักอยู่ในประเทศจีน ตลอดจนการขอรับบำนาญต่อไปในอนาคตตามสิทธิทางกฎหมาย ท่านเอกอัครราชทูตได้ส่งใบคำร้องของข้าพเจ้ามายังรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับออกคำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตที่กรุงปารีสไม่ให้ออกใบรับรองดังกล่าวให้ข้าพเจ้า

เนื่องจากยังไม่มีศาลปกครองในไทย แต่ข้าพเจ้าจำได้ว่ามีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ร่างตามแบบมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้ “ผู้กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นจำต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” ข้าพเจ้าจึงขอให้ทนายจัดการฟ้องรัฐมนตรีต่างประเทศและเอกอัครราชทูตท่านนั้นต่อศาลแพ่ง ณ กรุงเทพฯ ฐานละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีให้ชดใช้เงินบำนาญทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามิได้รับมากว่า ๒๐ ปี และให้คำรับรองว่า จะจ่ายบำนาญเป็นรายเดือนให้แก่ข้าพเจ้าต่อไป

โดยการไกล่เกลี่ยของศาลแพ่ง เราได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตได้ยอมออกใบรับรองว่า ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่และผลจากใบรับรองนี้ข้าพเจ้าสามารถเรียกร้องเงินบำนาญที่มิได้รับได้ทั้งหมด ทั้งยังเรียกร้องให้คงจ่ายเงินบำนาญให้ข้าพเจ้าต่อไปด้วย

ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ออกหนังสือเดินทางให้ข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าได้ใช้เพื่อเดินทางไปยังประเทศอังกฤษตามคำเชิญของเพื่อนชาวอังกฤษกลุ่ม “Special Force” (องค์การนี้เคยให้ความร่วมมือกับขบวนการต่อต้านของชาวฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่ดินแดนฝรั่งเศสถูกเยอรมันยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และร่วมกับขบวนการเสรีไทยในการต่อต้านรุกรานของญี่ปุ่น)

No comments: