Thursday, September 6, 2007

บทความที่ ๒๖๕. ความคิดทางชนชั้น ตอนที่๑

ความคิดทางชนชั้น
พร้อมกับการเติบโตของการผลิตแบบทุนนิยม การขัดกันในทางสัมพันธ์แบบศักดินาก็ได้อุบัติขึ้น กล่าวคือในการผลิตแบบใหม่นั้น ทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในทางปฏิบัติ ซึ่งในระบบเศรษฐกิจศักดินามิได้ถือเช่นนั้นตามที่เราได้เห็นมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเกิดปะทะกันระหว่างความคิดต่างๆ ที่กำเนิดขึ้นมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่รับนับถือความคิดแบบขลังในเรื่องเทวสิทธิ์ของกษัตริย์อีกต่อไป แต่ถือว่า “จะเก็บภาษีจากราษฎรโดยราษฎรไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้” ความคิดแบบใหม่ต้องการสิทธิ์ในการค้าขายอย่างเสรี และต้องการจินตภาพทางศาสนาอันใหม่ ซึ่งเทิดทูนสิทธิ์ของเอกชนยิ่งขึ้น และลดอำนาจควบคุมของส่วนกลางลงมา

อย่างไรก็ดีพฤติการณ์ที่แสดงออกประหนึ่งว่าพวกอิสระชนได้ต่อสู้อย่างยอมพลีชีพ เพื่อสิทธิและแบบทางศาสนาอันเป็นเรื่องนามธรรมนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการต่อสู้ของระบบเศรษฐกิจสองรูปแบบ คือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เติบโตขึ้นมา กับระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาที่กำลังวอดวายไป ส่วนการปะทะกันในทางความคิดนั้นเป็นแต่เหตุขั้นรองลงมา

ด้วยเหตุผลดังประจักษ์อยู่นี้ นักวิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์จึงไม่กำหนดหลักการจำพวกที่เป็นนามธรรมเพื่อจัดระเบียบสังคม ดุจที่พวกนักเขียนฝ่ายอุดมคิตกระทำกัน วิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์พิจารณาว่า บรรดา “หลัก” จำพวกนั้นและดังที่ได้ปรากฏขึ้นในความคิดของมนุษย์นั้น เพียงแต่เป็นเงาสะท้อนออกมาจากการจัดระเบียบสังคม ที่เป็นอยู่ในสมัยหนึ่งและในสถานที่หนึ่งเท่านั้น

และ “หลักการ” เช่นกล่าวมานั้นจะไม่อาจอำนวยผลดีให้เสมอไปและในที่ทั่วไป ยิ่งกว่านั้น ความคิดบางอันซึ่งดูเหมือนว่าเป็นความคิดสากล เช่นความคิดในเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์นั้น ในความเป็นจริงแล้วก็มิได้หมายความอย่างเดียวกัน ในสังคมที่ต่างยุคสมัยกัน เช่น ในยุคนครรัฐของกรีก ความคิดในเรื่องสิทธิเสมอภาคของมนุษย์ หาได้คลุมไปถึงพวกทาสไม่ และคำขวัญ เสรีภาพ สมภาพ และภารดรภาพ ของการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสอันเกรียงไกรนั้น ก็หมายถึงแต่เพียงว่า เสรีภาพที่จะค้าขายได้โดยเสรีของชนชั้นนายทุนที่เติบใหญ่ขึ้นมา หมายถึงความเสมอภาคของชนชั้นนายทุนที่เพิ่งแตกหน่อ และหมายถึงภราดรภาพของชนชั้นที่ร่วมอยู่ในชั้นนายทุนด้วยกัน คือการร่วมมือช่วยเหลือกันต่อต้านการกดขี่และการกำจัดสิทธิ ซึ่งชนชั้นเจ้าขุนมูลนายศักดินาบีบบังคับพวกเขา

ด้วยประการฉะนี้ เราจึงอาจเห็นได้ว่า ความคิดส่วนมาก เฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดระเบียบสังคมนั้น เป็นความคิดทางชนชั้น คือเป็นความคิดของชนชั้นที่มีอำนาจครอบงำสังคม ซึ่งชนชั้นที่มีอำนาจได้นำออกใช้บังคับแก่ชนชั้นอื่นๆ ในสังคมนั้น โดยอาศัยเครื่องมือทางโฆษณาที่ชนชั้นนั้นได้ครอบครองอยู่ อาศัยการควบคุมการศึกษา และอาศัยอำนาจที่จะลงทัณฑ์แก่การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับของตนโดยทางศาล โดยการปลดเสียจากตำแหน่งและโดยวิธีการอื่นๆ ทำนองเดียวกันนั้น

การปฏิบัติดังกล่าวนี้มิได้หมายความว่า ชนชั้นที่มีอำนาจครอบงำสังคมอยู่นั้น จะรำพันกับตัวเขาเองว่า “ความคิดที่เรานำออกใช้นี้ แท้จริงนั้นหาประกอบด้วยสัจจะไม่ แต่เราจะบังคับให้คนทั้งหลายเชื่อถือ หรืออย่างน้อยก็จะต้องไม่แสดงปฏิเสธโต้แย้งออกมาอย่างเปิดเผย”

ความจริงการณ์ก็จะกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าความจริงแล้วชนชั้นที่มีอำนาจอยู่นั้น หาได้เป็นผู้ประดิษฐ์ความคิดเหล่านั้นขึ้นมาไม่ หากความคิดเหล่านั้นได้อุบัติขึ้นมาเองตามแบบแผนการปกครองที่เป็นอยู่ในเวลานั้น เช่น แบบแผนที่กำหนดอำนาจให้แก่นักอุตสาหกรรมผู้มั่งคั่ง ซึ่งได้รับสถาปนาขึ้นเป็นขุนนาง นั่นแหละเป็นมูลฐานให้เกิดความคิดที่ว่าพวกผู้ดีแปดสาแหรกย่อมมีความยิ่งใหญ่กว่าคนทั้งหลายโดยธรรมชาติ ครั้นความคิดเช่นนั้นได้อุบัติขึ้นมาและยืนยงอยู่แล้ว พวกชนชั้นที่มีอำนาจอยู่ในเวลานั้นก็จะถือเป็นกิจสำคัญที่ตนจะต้องแน่ใจว่า คนทั้งหลายยอมรับนับถือความคิดดังกล่าวนี้

เพราะว่าถ้าคนทั้งหลายไม่ยอมรับนับถือความคิดดังว่านี้ ก็จะหมายถึงว่า คนเหล่านั้นจะไม่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับความคิดที่เป็นอยู่ เป็นต้นว่า ประชาชนก็แสดงอหังการต่อเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ ชนชั้นที่มีอำนาจไม่ว่าในยุคสมัยใดและในประเทศใด ย่อมกระทำการทุกอย่างเท่าที่จะกระทำได้ ในอันที่จะป้องกันมิให้ “ความคิดที่เป็นภัย” แพร่หลายไปในหมู่ชน

อาจจะมีผู้ถามขึ้นว่า ถ้าความคิดเป็นแต่ข้อเท็จจริงขั้นรอง และถ้าข้อเท็จจริงขั้นแรกและขั้นสำคัญจะต้องเป็นการเปลี่ยแปลงทางวัตถุในแบบการผลิตเสมอไปแล้ว “ความคิดที่เป็นภัย” จะอุบัติขึ้นมาได้อย่างไรเล่า หรือกล่าวอย่างสั้นๆ ว่า ประชาชนจะคิดถึงแบบการผลิตใหม่ก่อนที่มันจะอุบัติขึ้นมาอย่างไรเล่า

ต่อข้อสงสัยนี้ มาร์กซ์ ปราชญ์แห่งสำนักวิทยาศาสตร์สังคมได้ชี้แจงว่า ประชาชนไม่อาจคิดถึงมันก่อนหน้าที่ภาวการณ์อันแสดงถึงความเป็นอยู่ของมันจะได้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างออกมา แต่ประชาชนจะถูกปลุกปล้ำให้คิดถึงมันเอง เมื่อภาวการณ์ดังกล่าวได้ปรากฏโฉมออกมา โดยปะทะกันระหว่างภาวการณ์เก่าและกำลังใหม่ในการผลิตนั่นเอง
จากหนังสือ "ปทานานุกรม การเมืองฉบับ ชาวบ้าน" สุพจน์ ด่านตระกูล

No comments: