Wednesday, September 12, 2007

บทความที่ ๒๘๑. ลัทธิจักรวรรดินิยม ตอนที่ ๔

ชาวพื้นเมืองแห่งประเทศอาณานิคมยังคงเหลือแต่สิทธิในการหายใจเข้าและออกเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าประเทศผู้เข้าครองสามารถที่จำกัดสิทธิการหายใจเข้าออกได้แล้ว เขาก็คงจะจำกัดสิทธิดังกล่าวเช่นกัน แต่นี่มันเหลือความสามารถของพวกเขาที่จะไปตามจำกัดสิทธิเช่นนั้นได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องปล่อยให้ชาวพื้นเมืองหายใจเข้าออกได้เช่นเดิม แต่ทว่ากระนั้นก็ดี ชาวพื้นเมืองก็หามีสิทธิที่จะไปหายใจเข้าและออกในทุกสถานที่ในแผ่นดินมาตุภูมิของตัวเองไม่ เช่น สถานตากอากาศบางแห่ง สนามกีฬา สถามโหรสพ สโมสร ภัตตาคาร ซึ่งถูกจัดไว้โดยเฉพาะสำหรับต้อนรับผู้มาเป็นเจ้าเข้าครอง ภัตตาคารบางที่ถึงกับเขียนข้อความติดไว้หน้าร้านว่า “ห้ามนำสุนัขและคนนิโกรเข้าในสถานที่นี้”

เคยปรากฏมาหลายครั้งหลายหนที่ประชาชนบางกลุ่มบางเหล่าของประเทศอาณานิคม ทนต่อการกดขี่ขูดรีดของพวกประเทศเจ้าผู้เข้าครองไม่ไหว จึงได้รวมกันลุกขึ้นต่อต้านการกดขี่รังแก แต่ผลในบั้นสุดท้ายก็จบลงด้วยเลือดของเจ้าของประเทศต้องนองแผ่นดิน ที่ไม่ตายก็ถูกนำไปทรมานอย่างสาหัส บรรดาผู้เข้าครองจะใช้วิธีรุนแรง ทารุณ ทุกอย่างที่มนุษย์จะเคยพบ และทุกครั้งที่ประชาชนผู้รักชาติแห่งประเทศอาณานิคมได้ลุกขึ้นต่อต้าน ผลที่ได้รับก็คือหายนะทุกครั้งไป ทั้งนี้ก็เพราะว่าปัจจัยในการที่จะทำการต่อสู้นั้นยังน้อยกว่าผู้เป็นเจ้าเข้าครอง เช่น

๑ . อาวุธยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในการต่อสู้ด้อยทั้งคุณภาพและปริมาณ
๒. ความรู้ประสบการณ์และความชำนาญในการทำสงครามยังไม่เพียงพอ
๓. องค์การจัดตั้งยังอ่อนในสมรรถภาพ
๔. ทัศนะและแนวทางในทางการเมืองยังไม่แจ่มชัดพอ
๕. การไม่รวมกันเป็นเอกภาพของประชาชนภายในประเทศ

ปัจจัยห้าประการดังกล่าวนี้ ในข้อที่ ๕ เป็นปัจจัยประการสำคัญที่สุดเพราะถึงหากว่าปัจจัยสี่ประการข้างต้นสมบูรณ์ก็ตาม แต่ถ้าหากขาดปัจจัยข้อ ๕ ไปแล้วความสำเร็จจะมีขึ้นไม่ได้เลย และด้วยความสำคัญของปัจจัยข้อที่ ๕ คือ การรวมกันเป็นเอกภาพหรือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้เอง ประเทศผู้เข้าครองจึงพยายามนักหนาในการทำลายความเป็นเอกภาพของประชาชน ด้วยการปั่นหัวให้ประชาชนเป็นศัตรูกัน เพื่อที่จะรวมกันไม่ติด ดังเราจะเห็นได้จากแนวปฏิบัติของประเทศผู้เข้าครองต่อประเทศเมืองขึ้นต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียและอาฟริกา

แต่ถ้าเมื่อใดปัจจัยข้อที่ ๕ สมบูรณ์ คือประชาชนสามารถรวมกันเป็นเอกภาพได้แล้ว ถึงหากว่าปัจจัยสี่ข้อแรกจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม ผลของมันก็ย่อมจะทำความลำบากคับขันให้แก่ผู้เป็นเจ้าเข้าครองอย่างแน่นอน และถ้าปัจจัยทั้งห้าข้อสมบูรณ์เมื่อใดเป็นที่เชื่อได้แน่ว่าเมื่อนั้นแหละ ผู้เป็นเจ้าเข้าครองทั้งหลายจะเดินลอยชายอยู่ในประเทศอาณานิคมในฐานะนักกดขี่ขูดรีดไม่ได้อีกต่อไปอย่างเด็ดขาด

ในขณะที่ลัทธิอาณานิคมหรือลัทธิล่าเมืองขึ้นกำลังอาละวาดอยู่นั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ ซึ่งเรียกว่าอุตสาหกรรมปฏิวัติ ซึ่งได้เริ่มขึ้นภายหลังที่เจมส์ วัตต์ได้ค้นพบเครื่องจักรไอน้ำในปี ค.ศ.๑๗๖๐ จากการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำนี้เองได้เป็นต้นทางนำไปสู่ลัทธิทุนนิยม โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากมายได้ถูกก่อสร้างอย่างรีบเร่ง โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเมื่อก่อนมีหน้าที่ผลิตแต่เพียงเครื่องอุปโภคบริโภคนั้น มาบัดนี้ได้มีหน้าที่ผลิตเครื่องจักรเพิ่มขึ้นไปอีก และจากการที่เครื่องจักรผลิตเครื่องจักรนี้เอง ที่ได้ทำให้งานอุตสาหกรรมขยายออกไปอย่างกว้างขวางเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมนุษย์ไม่เคยพบมาก่อนหน้านั้น

และจากการขยายตัวของงานอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ได้ทำให้ระบบทุนนิยมค่อยปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัด กล่าวคือ ก่อนหน้านี้การค้าขายและการผลิตอุตสาหกรรมได้แข่งขันโดยเสรี แต่ทว่าเนื่องจากงานอุตสาหกรรมในขณะนั้นยังเป็นไปในขั้นต่ำ (ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม)ผลิตภาพยังไม่สูงพอ และพลังผลิตส่วนใหญ่ขณะนั้นก็ได้แก่แรงงานของมนุษย์แทนที่จะเป็นแรงงานของเครื่องจักร ดังนั้นการผลิตทางอุตสาหกรรมถึงแม้ว่าจะแข่งขันกันโดยเสรีก็ตามก็ไม่ทำให้ผู้ผลิตด้วยกันถึงความล่มจม เพราะพลังการผลิตและผลิตภาพอยู่ในระดับเดียวกัน

ดังนั้น จึงพอประคับประคองกันอยู่ได้ แต่ต่อมาเมื่อเครื่องจักรไอน้ำได้เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ เครื่องจักรไอน้ำได้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมและความเจริญก้าวหน้าของเครื่องจักรไอน้ำได้กลายมาเป็นเครื่องจักรไฟฟ้าในเวลาต่อมา และจะก้าวต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้ง

ดังนั้น จึงทำให้การแข่งขันโดยเสรีดำเนินไปอย่างสุดเหวี่ยง และเมื่องานอุตสาหกรรมสาขาใดจำหน่ายขายคล่อง ผู้ดำเนินงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ก็จะแข่งขันกันผลิตในงานอุตสาหกรรมสาขานั้นๆ และจากการแข่งขันการผลิตแบบนี้ได้ทำให้กำไรซึ่งเคยได้มากมายนั้นกลายเป็นกำไรส่วนถัวเฉลี่ยไป และมิหนำซ้ำสินค้ากลับล้นตลาดเสียอีก ทำให้ต้องลดราคาสินค้าลง เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะขายสินค้าไม่ออก และพร้อมกับลดราคาสินค้าลงนั้นก็จะต้องกดราคาค่าแรงของกรรมกรในโรงงานให้ต่ำลงไป เพื่อเป็นการชดเชยกับการลดราคาสินค้า

และจากการแข่งขันในช่วงระยะเวลาอันยาวนี้เอง ในที่สุดก็ทำให้พวกกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติที่เป็นเจ้าของโรงงานเล็กๆ ต้องล้มละลายไป เพราะสู้ทุนของพวกกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติที่มีเงินก้อนมหึมาไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็ถูกโรงงานใหญ่ๆ ดูดเอาไปรวมกิจการเสียเลย จึงทำให้เกิดการรวมตัวของทุนและการรวมศูนย์การผลิตขึ้น และ ณ จุดนี้ที่ลัทธิทุนนิยมหรือบรมธนานุภาพโดยความหมายที่สมบูรณ์ได้อุบัติขึ้น และเป็นผลทำให้พวกกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติบางกลุ่มต้องกลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำ บางกลุ่มก็เป็นนายหน้าพึ่งพาอาศัยนายทุนหากินและบางกลุ่มก็กลายเป็นนายทุนใหญ่ไป

No comments: