Monday, September 10, 2007

บทความที่ ๒๗๕. ปฏิวัติ ตอนที่ ๒ (จบ)

การปฏิวัตินั้นเปรียบเหมือนกับการคลอดบุตร คือเมื่อถึงกำหนดคลอด ไม่มีใครที่จะยับยั้งเอาไว้ได้ นักปฏิวัติเปรียบเหมือนกับผดุงครรภ์ คือพยายามกล่อมครรภ์ไว้ให้ดี และเมื่อถึงเวลาทำการคลอดก็พยายามให้เสียเลือดน้อยที่สุด แต่ก็เป็นธรรมดาของการคลอดที่จะต้องตกเลือดบ้าง และโดยเฉพาะเลือดร้ายจะต้องขับออกไปให้หมดฉันใด การปฏิวัติก็ฉันนั้น

วาทะที่ว่า การปฏิวัติไม่มีอำนาจใดมายับยั้งไว้ได้เช่นเดียวกับการคลอดบุตรนั้นเป็นความจริงแท้ทีเดียว ทั้งนี้โดยนัยการปฏิวัติคือการเปลี่ยนแปลง เราได้ศึกษามาแล้วว่าทุกสิ่งในโลกนี้อยู่ในอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและพระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย นี่ก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง และการเปลี่ยนแปลงหรือความเป็นอนิจจังนั้นไม่มีใครที่จะไปยับยั้งมันไว้ได้ ดังนั้นโดยนัยดังกล่าว การปฏิวัติมันก็ไม่มีใครสามารถจะไปยับยั้งไว้ได้เช่นกัน ก็เช่นเดียวกับการฟักไข่ เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้วเปลือกที่เป็นกำแพงห่อหุ้มก็จะถูกลูกไก่เจาะเปลือกออกมาจนได้ หรือทุเรียน เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้วเปลือกที่เป็นกำแพงห่อหุ้มเม็ดในไว้อย่างแข็งขันก็จะปริแตกออกได้อย่างง่ายดาย

ท่านนักวิทยาศาสตร์สังคมได้กล่าวว่า “การปฏิวัติไม่ใช่สินค้าที่จะส่งออกหรือสั่งเข้า คือ หมายความว่า การปฏิวัติของประเทศหนึ่งประเทศใดนั้น เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนภายในประเทศนั้นๆ เป็นสำคัญ และดังนั้นการปฏิวัติจึงไม่ใช่สินค้าผูกขาดของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ แม้พฤติกรรมของเจ้าสมบัติหรือกฏุมพีที่โค่นล้มระบบศักดินาที่ล้าหลังเป็นลำดับต่อมา แล้วสถาปนาระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้ากว่า ก็ถือว่าเป็นการปฏิวัติ”

สตาลินพูดถึงลักษณะปฏิวัติว่า “ลักษณะการปฏิวัติของขบวนการกู้ชาติภายใต้สภาพการกดขี่จากจักรวรรดินิยมนั้น ไม่จำเป็นต้องถือไว้ก่อนว่าจะต้องมีส่วนประกอบที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพในขบวนการนั้น หรือมีแผนนโยบายปฏิวัติหรือสาธารณรัฐในขบวนการนั้น หรือมีรากฐานประชาธิปไตยในขบวนการนั้น การต่อสู้ของกษัตริย์อาฟกานิสถาน ที่ดำเนินไปเพื่อความเป็นเอกราชของอาฟกานิสถานนั้น เป็นการต่อสู้ที่เป็นปฏิวัติ (Revolutionary Struggle) ทางภาววิสัย แม้ว่ากษัตริย์และพวกร่วมงานจะมีทัศนะทางราชาธิปไตย เพราะการ(ต่อสู้)นั้นทำให้จักรวรรดินิยมอ่อนสลายและเสื่อม -- โดยเหตุอย่างเดียวกับการต่อสู้ของพ่อค้าชาวอียิปต์ที่ดำเนินไปเพื่อความเป็นเอกราชของอียิปต์นั้น เป็นการต่อสู้ที่เป็นปฏิวัติในด้านภาววิสัย แม้ว่า หัวหน้าขบวนการแห่งชาติอียิปต์จะมีกำเนิดและบรรดาศักดิ์เจ้าสมบัติ และแม้เขาเหล่านั้นจะคัดค้านลัทธิสังคมนิยม”

สตาลินกล่าวไว้ว่า การต่อสู้ของประเทศเมืองขึ้นและประเทศอาณานิคมทั้งหลาย ทุกๆ ก้าวในวิถีทางกู้อิสรภาพแห่งชาติเป็นการต่อสู้ทางปฏิวัติ เป็นการก้าวไปข้างหน้าก้าวหนึ่ง ( A Step forward)

ดังนั้นจึงเป็นความเข้าใจผิดของฝ่ายก้าวหน้าบางคน ที่ถือว่าการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการปฏิวัติจะต้องกระทำโดยพรรคที่ก้าวหน้าเท่านั้น (ซึ่งหมาบถึงพรรคคอมมิวนิสต์) เหตุของความเข้าใจผิดเช่นนี้ก็เนื่องมาจากซากทัศนะผูกขาดของระบบทุนนิยมนั้นเอง จึงเป็นความจำเป็นที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ได้อำนาจรัฐแล้ว จะต้องใช้อำนาจเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพในชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อจัดการกับซากทัศนะทุนนิยม หรือความคิดทางชนชั้นที่ยังตกค้างอยู่ให้หมดสิ้นไป

อนึ่ง คำว่าปฏิวัติประกอบขึ้นด้วยคำ ๒ คำ คือ “ปฏิ” แปลว่าตอบ ทวนกลับ กับ” วัติ” แปลว่าการหมุน การเปลี่ยนแปลง เมื่อรวม ๒ คำนี้จึงมีความหมายว่า การหมุนกลับ จึงไม่ตรงกับความหมายของคำ Revolution ในภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายในทางการเมืองว่า “การเปลี่ยนแปลงหลักมูลของระบบการเมืองที่มีลักษณะเป็นการก้าวหน้า” ท่านปรีดี พนมยงค์ จึงเสนอคำ “อภิวัฒน์” เข้ามาใช้แทนคำปฏิวัติ

โดยให้เหตุผลว่า อภิ แปลว่า ยิ่ง วิเศษ เหนือ, วัตน์ แปลว่าคามเจริญ งอกงาม เมื่อรวมกันเข้าเป็น อภิวัฒน์ แปลว่าการเปลี่ยนแปลงในทางเจริญงอกงามที่ยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดี ตามหลักภาษาศาสตร์ ให้ถือว่าคำใดแม้รู้ว่าผิด ไม่ตรงกับความหมายความเข้าใจ แต่ในเมื่อใช้ (ผิดๆ) กันมานานจนประชาชนชินกับคำนั้น ก็ให้ใช้คำนั้นได้ต่อไป

ดังนั้น ในที่นี้จึงใช้คำว่า “ปฏิวัติ” ในความหมายของคำ อภิวัฒน์ หรือในบางแห่งอาจจะใช้ทั้งสองคำในรูปของ ปฏิวัติหรืออภิวัฒน์.

No comments: