Friday, September 7, 2007

บทความที่ ๒๖๙. ทุนนิยม ตอนที่ ๒

การปฏิวัติศักดินาในอังกฤษและฝรั่งเศส
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าการปฏิวัติของพวกกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติในประเทศอังกฤษ เป็นการต่อสู้กับกษัตริย์ชาลล์ที่ ๑ ในฐานะที่เป็นกษัตริย์ที่ปกครองอย่างกดขี่ที่เป็นผู้มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมเจ้ากลและฝักใฝ่ในลัทธิศาสนาโรมันคาธอลิค ส่วนครอมเวลล์ผู้นำฝ่ายปฏิวัติซึ่งได้รับการเคารพเป็นอย่างสูงจากฝ่ายนั้น เป็นผู้มีอุดมทรรศน์อันสูงส่งต่ออิสรภาพของชนชาติอังกฤษ เป็นผู้แอนตี้แคธอลิค กล่าวอย่างสั้นๆ การต่อสู้ดังกล่าวนั้นได้ถูกนำเสนอในฐานะเป็นการต่อสู้ทางศาสนาและทางศีลธรรม

อย่างไรก็ดี วิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ได้พิจารณาประวัติศาสตร์ของยุคนั้นลึกลงไปกว่าพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคล และลึกลงไปกว่าการพิจารณถึงคำขวัญที่การต่อสู้ได้ยึดถือเป็นคติ วิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงสารัตถะแห่งการต่อสู้ของยุคนั้นว่า เป็นการต่อสู้ของชนชั้นนายทุนที่ได้เติบโตขึ้นมาในอันที่จะช่วงชิงอำนาจจากชนชั้นปกครองศักดินา

และตามความจริงมันแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นหัวเลี้ยวของประวัติศาสตร์อย่างชัดเจนทีเดียว เพราะว่าภายหลังการปฏิวัติและเมื่อได้เข้าสู่ระยะที่สองในปีค.ศ.๑๖๘๙ ชนชั้นกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติได้ประสบความสำเร็จในการเข้ามีส่วนควบคุมรัฐอยู่ไม่น้อย

ในประเทศอังกฤษ เนื่องด้วยการปฏิวัติของพวกกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติเป็นการปฏิวัติในระยะเริ่มแรก ชัยชนะของพวกกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติจึงยังไม่เป็นชัยชนะเด็ดขาดสิ้นเชิง ผลจากการปฏิวัติครั้งนี้ ถึงแม้ว่าสัมพันธ์รูปศักดินาที่มีมาดั้งเดิมจะได้ถูกทำลายลงเป็นอันมากแล้วก็ดี แต่หากชนชั้นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งชนชั้นที่มั่งคั่ง ที่ย้ายหลักแหล่งไปจากในเมือง ในส่วนใหญ่ยังดำรงฐานะอยู่เช่นเดิม และชนชั้นเจ้าที่ดินนั้นยังได้ขยายตัวออกไปเป็นชนชั้นเจ้าที่ดินนายทุน (Capitalist landlord) ซึ่งได้ปรากฏขึ้นมาพร้อมด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ทางเงินทอง และดำรงฐานะอยู่สืบมาอีกสองชั่วศตวรรษ และได้เข้ามามีส่วนไม่น้อยในการควบคุมรัฐ

แต่ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการขัดแย้งต่อสู้อุบัติขึ้นล่าช้ากว่าประเทศอังกฤษ คือการปฏิวัติเพิ่งจะอุบัติขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๑๗๘๙ และการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันครั้งนั้น ได้บันดาลให้เกิดผลอันลึกซึ้งกว่าที่ได้เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นอันมาก ตามความคิดทางวิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า การปฏิวัติในฝรั่งเศสหาได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่รุสโซ (ฌอง จาร์ค รุสโซ)และนักเขียนอื่นๆ ได้เขียนหนังสือ ประกาศสิทธิมนุษยชนออกมา หรืออยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าได้มีคำขวัญของการปฏิวัติ “เสรีภาพ-สมภาพ-ภราดรภาพ” อันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไม่ เช่นเดียวกับที่สารัตถะของการปฏิวัติของครอมเวลล์อยู่ที่การต่อสู้ระหว่างชนชั้น และมิได้ขึ้นอยู่กับที่คำขวัญในทางศาสนาฉันใด สารัตถะของการปฏิวัติฝรั่งเศสก็อยู่ที่ความสัมพันธ์ในเรื่องชนชั้น และมิได้พักอยู่ที่หลักการต่างๆ แห่งความยุติธรรม ที่เป็นหลักการของนามธรรมอันจารึกไว้ที่ธงปฏิวัตินั้น

No comments: