Wednesday, September 5, 2007

บทความที่ ๒๕๘. การต่อสู้ทางชนชั้น ตอนที่๑

การต่อสู้ทางชนชั้น

“การต่อสู้การชนชั้น” ได้มีมาในประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับแต่ก่อกำเนิดชนชั้นขึ้นมา คือนับตั้งแต่มีระบบทาสในช่วงยุคสมัยอนารยชนนั้นทีเดียว

การเสื่อมสลายของชุมชนบุพกาล พร้อมกับการก่อกำเนิดของระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกชน จากการผลิตเพื่อความจำเป็นในการดำรงชีพกลายเป็นการผลิตเพื่อเป็นการค้า ทุกๆ ด้านของการผลิตได้เพิ่มปริมาณขึ้น เช่น การเลี้ยงสัตว์ การกสิกรรม การหัตถกรรม และจากการขยายตัวของการผลิตนี้เอง ทำให้สมาชิกแต่ละชาติวงศ์หรือต้องเพิ่มปริมาณของงานมากขึ้น จึงเป็นการขวนขวายแสวงหาแรงงานมาเพิ่มเติมในการผลิตที่มากขึ้น เพื่อให้ปริมาณการผลิตสูงขึ้น เพื่อความมั่งคั่งสมบูรณ์ของเจ้าของผลิตผล

เราจึงเห็นได้ว่า โดยการทวีขึ้นของผลิตภาพแห่งแรงงาน อันได้แก่การทวีโภคทรัพย์และการขยายขอบเขตแห่งการผลิตให้กว้างขวางออกไป จึงทำให้บังเกิดการแบ่งแยกอันสำคัญของสังคมออกเป็นสองชนชั้น คือชนชั้นที่เป็นนาย กับชนชั้นที่เป็นทาส หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ตราบแต่นั้นที่มีการแบ่งสังคมออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเบียดเบียนและฝ่ายถูกเบียดเบียน หรือฝ่ายกดขี่ขูดรีดกับฝ่ายถูกกดขี่ขูดรีด การต่อสู้ทางชนชั้นก็ถือกำเนิดขึ้นมา

เมื่อสังคมเข้าสู่ระบบทาส-นายทาสเพราะเหตุแห่งยึดถือในกรรมสิทธิ์ปัจเจกชนอันนำไปสู่การแสวงหาแรงงานมาผลิตผลิตผลให้มากๆขึ้น เพื่อความมั่งคั่ง แรงงานที่ได้มาอย่างแรงคือแรงงานจากพวกทาสที่ได้มาจากฝ่ายชาติวงศ์ที่พ่ายแพ้แต่อีกชาติวงศ์หนึ่งในการสงครามแย่งชิงกรรมสิทธิ์ ในอาณาเขตอยู่อาศัย แม้ว่าทาสจะเป็นมนุษย์ที่มีอาการ ๓๒ ประการ มีความรู้สึกเย็น ร้อน เกลียด กลัว รัก และชัง เช่นเดียวกับมนุษย์ที่เรียกตนว่าเป็นนายทาส แต่พวกทาสก็ถูกปฏิบัติเสมือนหนึ่งสัตว์เลี้ยง

เมื่อนายทาสเร่งปริมาณในการผลิตเพื่อสะสมความมั่งคั่ง พวกทาสจึงถูกต้อนไปสู่โรงงานและสู่ทุ่งนาเป็นฝูงๆ เช่นเดียวกับฝูงสัตว์ ติดตามมาด้วยการเฆี่ยนตีหรือทรมานอย่างทารุณโหดร้าย ดังนั้นการต่อสู้ทางชนชั้นก็ถือกำเนิดขึ้น

การต่อสู้ทางชนชั้น คือรูปแบบของการดิ้นรนต่อสู้ระหว่างชนชั้นหนึ่งกับอีกชนชั้นหนึ่ง และแสดงให้เห็นผลประโยชน์ของชนชั้นที่อริต่อกันอย่างไม่มีวันจะปรองดองกันได้ ประวัติศาสตร์สังคมก็คือประวัติศาสตร์แห่งการดิ้นรนต่อสู้ทางชนชั้นนั่นเอง

การต่อสู้ดิ้นรนทางชนชั้นนี้เองได้เป็นกำลังผลักดันวิวัฒนการของสังคมอย่างสำคัญ เท่าที่เราได้มายืน ณ บัดนี้ ก็เพราะแรงของการผลักดันจากผลของการดิ้นรนต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้ทางชนชั้นแต่ละยุคสมัย บ้างก็เป็นไปด้วยความอ่อนแอและยืดเยื้อ แต่บางกาละก็เป็นไปด้วยความแข็งแกร่งและรวดเร็ว แต่ทว่าจนบัดนี้ยังไม่มีการหยุดยั้งเลยตราบเท่าที่อุบัติชนชั้นขึ้นมาจนกระทั่งบัดนี้ ! และจะมีต่อไปจนกว่าชนชั้นจะสลายไปจากสังคม และการต่อสู้ทางชนชั้นอาจเป็นการต่อสู้ทางสันติ หรือถ้าวิธีต่อสู้ทางสันติไม่อาจเป็นไปได้ ก็อาจมีการต่อสู้ที่รุนแรงไม่สันติเกิดขึ้น การต่อสู้นั้นย่อมกระทบถึงทุกๆ คนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทุกๆ คนไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการถูกกระทบกระเทือนจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ถ้าไม่ถูกกระทบโดยตรงก็อาจถูกกระทบโดยปริยาย

การต่อสู้ระหว่างชนชั้นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน เป็นกำลังผลักดันสำคัญในการคลี่คลายขยายตัวของสังคมมนุษย์ และพร้อมกันไปกับการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนั้น ก็ได้มีการเจริญเติบโตของวิทยาการแขนงต่างๆ ติดตามมาด้วย ความเติบโตจำเริญแห่งอำนาจของมนุษย์ที่มีเหนือธรรมชาติและอำนาจของมนุษย์ในอันที่จะผลิตสิ่งของตามที่ตนต้องการ

การค้นพบเครื่องจักรที่ทำงานได้โดยอาศัยแรงกำลังต่างๆ เป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญแก่ผลิตกรรม แต่การค้นพบเครื่องจักรในยุคแรกนี้มันไม่ได้นำมาแต่ความก้าวหน้าในการผลิตเท่านั้น แต่มันนำมาซึ่งการทำลายกิจกรรมของผู้ผลิตที่มีเครื่องปั่นและเครื่องทอผ้าของตนเอง ทั้งนี้เพราะเครื่องหัตถกรรมแรงงานธรรมดาๆ ไม่อาจจะแข่งขันกับเครื่องจักรที่คนงานคนหนึ่งสามารถคุมเครื่องจักรให้ผลิตผ้าได้ปริมาณมากว่าที่แรงงานของคนหนึ่งคนจะทำได้ทั้งสัปดาห์

ดังนั้นแล้วเจ้าของเครื่องมือการผลิตด้วยแรงงานคนไม่มากนัก จึงต้องหลีกทางให้แก่คนสองจำพวก จำพวกหนึ่งได้แก่ชนชั้นนายทุนที่มีเครื่องจักรการผลิตแต่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรด้วยตนเอง และอีกพวกหนึ่งคือพวกชนชั้นคนงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีเครื่องมือในการผลิต แต่ทำงานแลกกับค่าจ้างจากเจ้าของเครื่องจักร คือนายทุน เจ้าสมบัติ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมานี้บังเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้ใดจะได้สำนึก และโดยที่ไม่มีผู้ใดกะการไว้ล่วงหน้าเลย การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลโดยตรงของความรู้ใหม่ที่คนไม่กี่คนได้ประสบมา และนำมาใช้เพื่อการผลิตเพื่อความมากมูนพูนผลของเขาเอง โดยไม่ได้คาดถึงผลภายหน้าหรือปรารถนาจะได้เห็นผลความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันจะติดตามมาในภายหลัง นี้เป็นความจริงแก่การเปลี่ยนแปลงทั้งมวลในสังคมมนุษย์

กล่าวคือ มนุษย์ได้รับความรู้เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ และได้นำความรู้ใหม่ที่ได้ออกใช้ในการผลิต และโดยการกระทำเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงทางสังคม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหล่านี้ ได้นำไปสู่การขัดกันในระหว่างชนชั้น ซึ่งได้บังเกิดขึ้นในรูปขัดกันในเรื่องความคิด หรือเรื่องสถาบัน ได้แก่การขัดกันในเรื่องศาสนา ในเรื่องรัฐสภา ในเรื่องความยุติธรรมและเรื่องอื่นๆ การขัดแย้งกันแสดงออกมาในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวนั้น ก็เพราะว่าความคิดและสถาบันที่ปรากฏในเวลานั้น ได้ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นมาจากแบบการผลิตและความสัมพันธ์ของชนชั้นที่มีอยู่เดิม

No comments: