Tuesday, September 18, 2007

บทความที่๓๐๖.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๙

บทที่ ๓
การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต

-๑-
ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๑๙ จนถึง พ.ศ.๒๔๘๒ นั้น ประเทศสยามเป็นเอกราชแต่เพียงในนามเท่านั้น แท้จริงแล้ว ประเทศสยามเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของมหาอำนาจซึ่งมีอภิสิทธิ์ และได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการทำสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคบางฉบับ ศาลไทยไม่มีอำนาจเหนือบุคคลในบังคับของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น ตามข้อตกลงในสนธิสัญญา ศาลกงสุลของต่างประเทศหรือศาลต่างประเทศมีเอกสิทธิ์ทางการศาลเหนือประเทศสยาม ประเทศสยามไม่มีสิทธิ์กำหนดอัตราภาษีอากรบางประการสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสนธิที่ไม่เสมอภาคนี้ และภาษีอากรที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจบางฉบับนั้น ก็สิ้นสภาพไปในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนธิสัญญาที่ทำไว้กับ :

จักรวรรดิเยอรมัน และ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เนื่องจากประเทศสยามได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นสงครามระหว่าง ๒ อาณาจักรนี้กับประเทศสัมพันธมิตร โดยอาศัยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาใดๆ ก็ตามที่ทำไว้กับประเทศที่มีสงครามจะสิ้นสภาพไปทันที

สนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้กับประเทศรัสเซียสมัยพระเจ้าซาร์เป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อเกิดการอภิวัฒน์ขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๐

ในระหว่างการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น ยังคงมีสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับ ๑๓ ประเทศ ในบรรดาประเทศทั้ง ๑๓ นี้ มี ๕ ประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นว่า เป็นประเทศมหาอำนาจได้แก่ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิตาลี และอีก ๘ ประเทศเป็นประเทศทุนนิยมในยุโรปตะวันตก

ปี พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแล้ว รัฐบาลในสยาม “คณะราษฎร” เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะหาทางเลิกสนธิสัญญา ที่ไม่เสมอภาค ที่รัฐบาลภายใต้ระบอบการปกครองแบบเก่าได้ถูกบังคับให้ลงนามไว้ ตลอดจนหาทางลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินที่รัฐบาลเก่าได้ทำสัญญาไว้กับธนาคารอังกฤษแห่งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้มอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้าไปพบผู้นำประเทศมหาอำนาจต่างๆในยุโรป อเมริกา และเอเชีย เพื่อเจรจาอย่างสันติกับประเทศเหล่านี้ การที่เราคิดเจรจากับประเทศมหาอำนาจ ดังเช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี อเมริกา และญี่ปุ่นก่อน เพราะเห็นว่า ถ้าประเทศดังกล่าวมีท่าทียินยอม ประเทศอื่นๆ ก็จะทำตามอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเริ่มออกเดินทางรอบโลก (โดยทางเรือ สมัยนั้นยังไม่มีเส้นทางการคมนาคมทางอากาศทั่วโลก) เพื่อไปพบกับมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล(ผู้นำรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น) ฮจาล์มาร์ ชาคท์ เซอร์ซามวล ฮอร์(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น) คอร์เดล ฮัลล์(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น) จักรพรรดิฮิโรฮิโต นอกจากนั้นยังได้พบปะกับบุคคลสำคัญๆอื่นๆ ของแต่ละประเทศ

รัฐบาลสยามได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าไปประเทศเยอมันด้วย เพื่อสังเกตความเป็นไปในระยะเวลา ๓ ปีภายหลังที่เกิดลัทธินาซีขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อศึกษาหาความรู้เรื่องระบบเศรษฐกิจแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่รัฐบาลมิได้ให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังสหภาพโซเวียต เพราะเรายังไม่รับรองรัฐบาลใหม่ของโซเวียตจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๒ จึงได้มีข้อตกลงระหว่างสยามกับโซเวียตเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และเพื่อให้ทั้งสองประเทศมีผู้แทนของแต่ละฝ่ายประจำในแต่ละประเทศ การดำเนินตามข้อตกลงดังกล่าว ได้หยุดชะงักลงเมื่อเกิดสงครามระหว่างสหภาพโซเวียตและเยอรมัน จนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยและสหภาพโซเวียตจึงได้สถาปนาควาสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง สำหรับประเทศจีนนั้น แม้ว่าผู้แทนทางการทูตของรัฐบาลจีนที่กรุงโตเกียวจะได้เชื้อเชิญข้าพเจ้าให้ไปเยือนนานกิง (เมืองหลวงของประเทศจีนในสมัยนั้น) ก็ตาม ข้าพเจ้าไม่อาจรับคำเชิญได้ เพราะในระหว่างนั้น ประเทศจีนมีสงครามกลางเมือง ทั้งยังทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นอีกด้วย

No comments: