Wednesday, September 19, 2007

บทความที่๓๑๑.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๔

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน

บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๑-
เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลสยามเพื่อนำทัพญี่ปุ่นผ่านดินแดนสยามในการที่จะไปโจมตีพม่าและมลายูซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ ข้าพเจ้าทราบดีว่า นี่เป็นการเข้ายึดครองสยามนั่นเอง การกระทำเช่นนี้ของญี่ปุ่นขัดกับอุดมคติของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของข้าพเจ้า ในระหว่างที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นในการเดินทัพผ่านดินแดนสยาม ข้าพเจ้าได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เราได้แถลงไว้หลายครั้งหลายหนในอดีต กล่าวคือ เราจะต่อต้านการรุกรานของกองทหารต่างชาติไม่ว่าชาติใด เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ นอกจากนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อเหตุผลอันชอบธรรม เพราะนี่เป็นการต่อต้านการของต่างชาติ ขณะที่ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ขัดจังหวะและห้ามข้าพเจ้าพูดต่อ มีรัฐมนตรีบางคนที่เห็นว่า เพียงอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศสยามนั้นยังไม่พอ หากยังคิดอีกว่า ประเทศสยามน่าจะเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อจะได้ดินแดนที่เคยสูญเสียให้อังกฤษและฝรั่งเศสไปกลับคืนมา แต่ผลที่สุด ความเห็นของข้าพเจ้าก็จัดอยู่ในกลุ่มเสียงข้างน้อย

การที่ข้าพเจ้าคัดค้านการยินยอมของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น ทำให้ญี่ปุ่นโกรธแค้นข้าพเจ้ามาก และได้บีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีย้ายข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปรับตำแหน่งอื่นที่สูงขึ้น แต่ต้องไม่ใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจบริหารราชการ ข้าพเจ้าจึงได้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ว่างอยู่ ๑ ตำแหน่ง ต่อมาภายหลัง ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าข้าพเจ้าจะรู้สึกว่าถูกบังคับก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยอม เพราะคิดว่าตำแหน่งใหม่นี้จะทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม “ขบวนการเสรีไทย”

นอกจากกลุ่มคนไทยผู้รักชาติที่อยู่ในประเทศแล้ว นักเรียนไทยในต่างประเทศ เช่นในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกาก็ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” โดยได้เข้ารวมกับขบวนการที่เราจัดตั้งขึ้นภายในประเทศ กลายเป็นขบวนการเดียวกัน โดยมีข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า

ในระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ นั้นมีผู้สนับสนุน และเข้าร่วมเป็นแนวหน้าของขบวนการเสรีไทยจำนวนประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน และอีก ๕๐๐,๐๐๐ คนพร้อมที่จะเข้าร่วมเมื่อคราวจำเป็น

-๒-
กองทหารญี่ปุ่นได้ชัยชนะในมลายูในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน และรุกรานคืบหน้าอย่างรวดเร็วถึงประเทศพม่า นับเป็นการคุกคามทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์

รัฐบาลไทยสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าอาจจะได้ดินแดนสยามบางส่วนที่สยามเคยสูญเสียและที่ญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองนั้นกลับคืนมา นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้แสดงท่าทีเป็นศัตรูต่อประเทศจีนด้วย การประกาศสงครามนั้น ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและข้าพเจ้าซึ่งอยูในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไม่ได้ลงนาม ถึงกระนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรบางประเทศถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ดังนั้น จึงต้องได้รับผลเช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม

เจ้าหน้าที่หลายคนที่ฝ่ายรัฐบาลสัมพันธมิตรส่งเข้ามาในประเทศสยามอย่างลับๆ เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาในการทำสงครามพลพรรค และเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น เรียกขบวนการของเราว่า “สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน”

No comments: