Thursday, August 16, 2007

บทความที่ ๒๑๗. รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย ตอนที่ ๔

กองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น

ดำริห์ เรืองสุธรรม ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกรรมกรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เล่าเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นของขบวนการแรงงานไทยอย่างน่าสนใจว่า

"๕ วันภายหลังจากกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในกรุงเทพฯ องค์กรนำต่อต้านพรรคใต้ดินก็ได้มีมติชูธง 'ต่อต้านญี่ปุ่น คัดค้านเผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงคราม' และดำเนินการจัดตั้ง 'กองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น' ขึ้น เพื่อเตรียมตัวต่อสู้ด้วยอาวุธเมื่อเงื่อนไขสุกงอม พลพรรคกองอาสาต่อต้านญี่ปุ่นประกอบด้วย นักปฏิวัติรักชาติ รักประชาธิปไตยของชาติต่าง ๆ ในประเทศไทย วัตถุประสงค์หลักของขบวนการนี้ก็คือ การ 'ขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย ฟื้นฟูเอกราชและอิสระเสรีของชาติไทย' "

ภารกิจแรกของกองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่นก็คือการออกใบปลิวออกมาในนาม "คณะไทยอิสสระ" ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๔ ส่งไปยังสื่อมวลชน เรียกร้องให้ประชาชนไทยร่วมใจต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน และได้แจกเครื่องหมายรูปตัว "อ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนคำว่า "อิสสระ" ให้เป็นเครื่องหมายไว้ใช้ร่วมกัน

เนื้อหาในใบปลิว "คณะไทยอิสสระ" มีเนื้อหาโจมตี จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสองโฆษกประจำกรมโฆษณาการ ที่มีส่วนในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลก็คือ นายมั่น ชูชาติ (ชื่อจริงคือสังข์ พัธโนทัย) นายคง รักไทย (ชื่อจริงคือ คงศักดิ์ ขำศิริ) ว่า เป็นเครื่องมือของญี่ปุ่นในการรุกรานเอเชียบูรพา ส่งผลให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม โกรธแค้นเป็นอย่างมาก มีการกวาดจับนักหนังสือพิมพ์ครั้งใหญ่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หนึ่งในผู้ถูกจับในครั้งนั้น ได้บรรยายความรู้สึกไว้ใน ทินกรณ์ของผู้ต้องคุมขังโดยข้อหาว่าเป็นกบฏ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๕ ว่า


"เราต้องข้อหาว่าเป็นกบฏในราชอาณาจักร เราสะเทือนใจเมื่อทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่ตกใจเท่าใดเพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน"

เป็นที่รับทราบกันต่อมาว่า ผู้ที่จัดทำใบปลิวชิ้นนี้ก็คือคณะคอมมิวนิสต์สยาม โดยผู้ที่จัดทำใบปลิวนั้นก็คือ นายเล้ง โบราณวงศ์ ซึ่งถูกจับได้ที่ตึกวรจักร ขณะกำลังจัดทำใบปลิว "คณะไทยอิสสระ" ฉบับที่ ๒

ดังนั้นนอกจากการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศโดยมี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำแล้ว ในขณะนั้นยังมีคณะคอมมิวนิสต์สยาม ซึ่งยังไม่มีการการจัดตั้งองค์กรที่แน่นอน เข้าร่วมด้วยในนาม "กองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น" โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการกอบกู้เอกราชอธิปไตยที่สูญเสียไปเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔

No comments: