Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๐๒. พูนศุข พนมยงค์ ตอนที่๒

อภิวัฒน์ ๒๔๗๕

“ชะตากรรม (destiny) ของพูนศุขภายหลังสมรสแล้วนั้น จึงพลอยเป็นไปตามชะตากรรมของปรีดี ส่วนชะตากรรมของปรีดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมแห่งการงานทาง ‘อภิวัฒน์’ ที่รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทย เพื่อที่จะก้าวหน้าไปตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพของมนุษย์ให้พ้นจากการถูกเบียดเบียน และเพื่อให้ชาติไทยมีเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์”
ปรีดี พนมยงค์

ภายหลังออกเรือนมาเป็นแม่บ้าน พูนศุขได้ใช้เวลาว่างไปเรียนภาษาฝรั่งเศส และช่วยงานตรวจปรู๊ฟหนังสือในโรงพิมพ์นิติสาส์นของนายปรีดี ที่ตั้งขึ้นมาพิมพ์ตำรากฎหมายเป็นรายได้ทางหนึ่ง

“เราแต่งงานตั้งปีครึ่งถึงมีลูก ฉันมีเวลาก็ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร เพื่อนร่วมชั้นที่เรียนด้วยกันที่สมาคมฝรั่งเศสมีอยู่หลายคน เท่าที่จำได้ก็มีคุณจำกัด พลางกูร คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ บางคนมาจากเทพศิรินทร์ บางคนมาจากอัสสัมชัญ”

จนกระทั่งก่อนหน้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายปรีดีได้บอกภรรยาว่าจะไปอยุธยา แต่ความจริงตัวเขากำลังจะเข้าร่วมก่อการครั้งสำคัญสะเทือนประวัติศาสตร์สยาม พูนศุขเล่าไว้ว่า

“ตอนนั้นอายุ ๒๐ ไม่รู้เรื่องว่าจะเกิดอะไร ก่อนหน้านี้นายปรีดีเคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดีบอกว่าวันที่ ๒๓ จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมลูกตัวเล็ก ๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ นั่นคือเหตุการณ์วันที่ ๒๓ พอตกกลางคืน ลูกคนที่ ๒ ร้องไห้ เวลานั้นมีลูกสองคน คือลลิตาและปาล ลูกปาลส่งเสียงร้องไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ท่านก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดคืนใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่

“จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ ๒๔ มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกปรอย ๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูก ๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบหกเดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย”

ย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรอันประกอบด้วยทหารและพลเรือน ๑๑๕ นาย มากกว่าครึ่งอายุน้อยกว่า ๓๐ ปี โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะราษฎร และนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างสายฟ้าแลบ ด้วยการลวงทหารจากกรมกองต่าง ๆ ให้มาชุมนุมพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และถือโอกาสประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองทันที และกำลังอีกส่วนหนึ่งไปเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์มาเป็นตัวประกัน รวมถึงทูลกระหม่อมชาย หรือสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครแทนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จแปรพระราชฐานอยู่ที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เช้าวันนั้นนายปรีดีจำเป็นต้องพูดปดกับภรรยาเพื่อรักษาความลับ เขาไม่ได้ไปอยุธยา แต่ไปลอยเรืออยู่ในคลองโอ่งอ่าง แจกแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎร” ที่พิมพ์จากโรงพิมพ์นิติสาส์นของตัวเอง พูนศุขเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ฟังว่า

“มีรถทหารและทหารหลายคนมาอยู่ที่หน้าโรงพิมพ์ ฉันชักจะกลัว พอสักครู่คนที่โรงพิมพ์ก็วิ่งหน้าตื่นมาบอกว่า ทหารมาให้พิมพ์ใบปลิว จึงสั่งว่าทหารจะให้พิมพ์อะไรก็ทำให้หมด ตอนหลังจึงรู้ว่ามีการเรียงพิมพ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะทหารมาถึงก็พิมพ์เลย ตอนบ่าย คุณพ่อกับเจ้าคุณที่ไปสืบกลับมา ได้ความว่ามีหัวหน้าชื่อพระยาพหลฯ ทำการจับเจ้านาย แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไร

“คืนนั้นนายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับแต่วันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งนายปรีดีที่พระที่นั่งอนันต์ฯ จนกระทั่งวันที่ ๓ กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าให้ฟังเดี๋ยวก็จะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อยกลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเคยเจ้านายหลายวัง”

ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของปรีดีมีความว่า

“การที่ทำอะไรไปทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเป็นส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก...ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มาก ๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีส เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วและจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว”

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อธิบดีศาลอุทธรณ์ขณะนั้น ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า สมุดปกเหลือง ซึ่งเป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น นายปรีดีได้ร่างเค้าโครงฯ แบบสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังมีนโยบายจัดเก็บภาษีมรดกและหลักการประกันสังคมในชื่อร่าง พ.ร.บ. “ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”

“ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาล ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็กหรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ”

แต่แล้วได้มีกระแสต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจก้าวหน้าฉบับนี้โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง เพราะกลัวว่าจะมีการยึดทรัพย์คนรวย และไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเจ้าและขุนนางยังกุมอำนาจอยู่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์ฯ ได้ร่วมมือกับทหารบางกลุ่มสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และได้ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยกล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศทันที พร้อมกับภรรยาที่ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิต ไม่อาจคาดการณ์ว่า เมื่อใดจึงจะกลับมาอยู่พร้อมหน้า... ข้าพเจ้าฝากลลิตา (อายุ ๓ ขวบ) กับ ปาล (อายุขวบเศษ) ให้อยู่ในความดูแลของคุณแม่ หัวใจของข้าพเจ้าแทบสลายด้วยความเป็นห่วงลูก ข้าพเจ้าจูบลาลูกทั้งสองที่หน้าตึกบ้านป้อมเพชร์”

หกสิบปีต่อมา พ.ร.บ. ประกันสังคมจึงเกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะที่กฎหมายมรดกและนโยบายปฏิรูปที่ดิน ยังห่างไกลความเป็นจริง

หลายสิบปีต่อมา ปรีดี พนมยงค์ ได้ปรารภถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจแก่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความมุ่งมาดจะทำลายลัทธิคนมีเงิน สิ่งที่ข้าพเจ้าพึงปรารถนาก็คือ เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของราษฎรเท่านั้น... ลัทธิคอมมิวนิสต์ในกรุงสยามมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะกล่าวตามความปรารถนาของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีจุดมุ่งไปในทางเดียวกับพรรคเลเบอร์ (พรรคกรรมกร) ในอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง”

No comments: