Thursday, August 16, 2007

บทความที่ ๒๒๗.รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย ตอนที่๑๔ (จบ)

ไพ่ใบสุดท้าย ขบวนการเสรีไทย

ถึงแม้ความร่วมมือทางการทหารระหว่างขบวนการเสรีไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรจะคืบหน้าไปมาก ด้วยมีภารกิจร่วมกันคือการขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย แต่การดำเนินการทางการเมืองกลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากการส่งนายดิเรก ชัยนาม ไปที่เมืองแคนดี เกาะลังกา เพื่อเจรจาเรื่องสถานภาพทางการเมืองภายหลังสงคราม ปรากฏว่ารัฐบาลอังกฤษแจ้งมาในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ว่า

"การประชุมปรึกษากัน...จะจำกัดเฉพาะในด้านการทหาร จะไม่มีการพูดเรื่องการเมือง"

หรือเมื่อ กนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้เจรจากับตัวแทนสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๘๘ นั้น ก็ได้รับคำตอบเหมือนเช่นอังกฤษ คือ ยังคงสถานะเดิมของการติดต่อ จะไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในดินแดนสัมพันธมิตรแต่อย่างใด

การรอให้มีการเจรจาสถานภาพทางการเมืองภายหลังสงครามนั้น ไทยจะตกเป็นเบี้ยล่างฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรไม่มั่นใจว่า คณะเสรีไทยที่จัดตั้งขึ้นในประเทศ จะมีความสามารถในการต่อต้านญี่ปุ่นจริง

ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายโดยการทำหนังสือส่งไปยังตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตรที่วอชิงตัน ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๘๘ แจ้งให้ทราบว่า

"ขบวนการต่อต้านฝ่ายไทยได้ยึดมั่นอยู่ในคำแนะนำของผู้แทนอเมริกันตลอดเวลา ในการที่จะไม่กระทำการก่อนเวลาในการปฏิบัติทุก ๆ ประการเพื่อต่อต้านข้าศึก แต่ในระยะเวลานี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าความอยากสู้รบของญี่ปุ่นจะถูกทำให้ลดน้อยลง หากขบวนการต่อต้าน (ญี่ปุ่นในประเทศ) จะไม่อยู่ในลักษณะปกปิดอีกต่อไป ญี่ปุ่นจะถูกบังคับให้ยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างปราศจากเงื่อนไขเร็วเข้า เพราะความกลัวของการสิ้นสุดของวงศ์ไพบูลย์"

ภายหลังมีจดหมายตอบจากวอชิงตัน ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ว่า

"ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งในสารที่ท่านได้ส่งให้รัฐมนตรี เราเข้าใจความปรารถนาของท่าน ที่จะให้ประเทศไทยเข้าต่อต้านศัตรูอย่างเข้มแข็งที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าท่านคงตระหนักว่า การต่อต้านทั้งหมดต่อศัตรูร่วมของเรา จะต้องประสานกันกับแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดต่อญี่ปุ่น และจะไม่เป็นการอันดีหากประเทศไทยจะเริ่มต้นปฏิบัติการณ์อย่างเปิดเผยก่อนเวลา"

การตอบจดหมายดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อการเจรจาสถานภาพทางการเมืองของไทยภายหลังสงคราม เพราะจะไม่มีเหตุผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรอ้างได้ว่า ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับญี่ปุ่น เพียงแต่ว่าการลุกขึ้นสู้กองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการชะลอเวลาให้มีการปฏิบัติการพร้อมกัน

ความตึงเครียดครั้งสุดท้าย

"อย่าได้หลงผิดว่าญี่ปุ่นจะถูกขับไล่ออกจากประเทศไทยโดยง่าย เพราะทหารญี่ป่นจะต่อสู้จนคนสุดท้าย"
พล.ท. นากามูระ


แม้ไม่มีหลักฐานชิ้นใดที่จะชี้ชัดไปว่า ญี่ปุ่นรู้หรือไม่ว่าว่ามีขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้น และถ้ารู้ รู้เมื่อไหร่ และรู้อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงปลายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการต่อต้านญี่ปุ่นโดยการพยายามติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรที่จุงกิง ประเทศจีน หรือการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ด้วยเหตุผลที่ให้ในภายหลังว่า เพื่อใช้เป็นฐานยุทธศาสตร์เตรียมรบกับญี่ปุ่นในขั้นสุดท้าย แต่แผนการที่จะยึดประเทศไทยได้ถูกวางไว้แล้วว่าเป็นวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ทว่าแผนดังกล่าวถูกระงับไว้เสียก่อน

ประจักษ์พยานของเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็คือ การที่ทหารญี่ปุ่นซึ่งประจำอยู่ที่วิกตอเรียพอยต์ เขตประเทศพม่า ซึ่งไม่ได้รับคำสั่งยกเลิกปฏิบัติการยึดประเทศไทย ได้ดำเนินการตามแผนการเดิมด้วยการเข้ายึดจังหวัดระนอง เกิดการปะทะกัน ส่งผลให้ จ.ส.อ. สวัสดิ์ ดิษยบุตร เสียชีวิตด้วยคมดาบซามูไร ก่อนที่ทหารญี่ปุ่นกลุ่มนี้จะได้รับคำสั่งยกเลิกปฏิบัติการ แต่หลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็จับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลชุดใหม่ที่มี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกฝีก้าว จนทำให้นายควงต้องยื่นคำขาดกับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นให้เลิกทำตัวเป็นสายลับ โดยขู่ว่าจะลาออก หรือการที่ครั้งหนึ่งเสนาธิการกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองพม่าได้บินมาพบ พล.ท. นากามูระเพื่อขอให้กวาดล้างขบวนการเสรีไทย ถ้าไม่ทำ กองทัพญี่ปุ่นในพม่าจะเข้ามาทำเสียเอง แต่ พล.ท. นากามูระไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

ปรีดา ด่านตระกูล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง นายควงกับแม่ทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญหลังสงครามสงบใหม่ ๆ เล่าว่า การประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่คราวหนึ่งเอ่ยถึง แผนการที่จะจัดการกับประเทศไทยในกรณีที่ไทยเตรียมการจะหักหลังญี่ปุ่น ดังนี้

แผนที่ ๑ ญี่ปุ่นจะแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่า ญี่ปุ่นทราบแผนการลับของเสรีไทยและขอให้ระงับแผนการดังกล่าวเสีย

รัฐบาลนอกจากจะปฏิเสธข้อกล่าวหาของญี่ปุ่นแล้ว ยังได้เสนอร่าง พ.ร.บ. กำหนดวิธีปฏิบัติกับบุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าว อันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทย กับประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ในภาวะสงครามออกมาอีกด้วย นายควงเล่าบรรยากาศในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีเสียงลือกันไปจนเข้าหูญี่ปุ่นว่า ทางไทยจะลุกฮือขับไล่ญี่ปุ่น และฝ่ายไทยก็ได้รับข่าวว่าญี่ปุ่นจะลุกฮือยึดกรุงเทพฯ วันที่ ๒๙ จึงเป็นวันที่อลเวงมาก

แผนสุดท้ายก็คือการเชิญนายกรัฐมนตรีไปเยือนญี่ปุ่น ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ไป ก็หมายความว่ามีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะปลดอาวุธกองทัพไทยได้ แต่นายควงก็ตอบตกลงทันที ต่างจากเมื่อครั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิเสธที่จะไปประชุมนานาชาติมหาเอเชียบูรพา ณ กรุงโตเกียว ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๖ โดยส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นตัวแทนประเทศไทย

ยิ่งนานวันเข้า ก็เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งร่มกลางสนามหลวงในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๘ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นโกรธมาก ค่ำวันนั้นเองได้เชิญนายควงเข้ารับประทานอาหารค่ำ และสอบถามกรณีดังกล่าว นายควงจึงต้องอาศัยไหวพริบในการเอาตัวรอด

"พล.ท. นากามูระเห็นผมก็ทักว่า เอ นายกฯ ทำไมหน้าตาถึงไม่สบายอย่างนี้ ผมก็บอก พุทโธ ปวดศีรษะจะตายไป

ส่วนเอกอัครราชทูตยามาโมโตก็กระแหนะกระแหนว่า ทำไมไม่กินยาที่เขาเอามาทิ้งไว้เมื่อเช้านี้ล่ะ ผมก็ไหวทัน ตอบไปว่าก็ลองกินซี ถ้าเกิดฉันตายไปแล้วท่านจะเอานายกฯ ที่ไหนมาแทนเล่า พวกนั้นก็เลยหัวเราะกัน"

แต่สถานการณ์สงครามกลับตึงเครียดขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อกองทหารไทยทั่วราชอาณาจักร ได้รับคำสั่งให้สร้างป้อม และรังปืนกลภายในเมือง และรอบบริเวณหน่วยที่ตั้งของทหารทุกหน่วย พล.อ. เนตร เขมะโยธิน เล่าบรรยากาศช่วงนั้นผ่านงานใต้ดินของพันเอกโยธินไว้ว่า

"เฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพพระมหานคร ตามสี่แยกต่าง ๆ มีป้อมค่ายของทหารไทยตั้งอยู่ทั่วไป โดยฝ่ายเราให้เหตุผลว่า เราเกรงว่าฝ่ายสัมพันธมิตรส่งพลร่มลงมาปฏิบัติการยึดพระนคร จุดที่ค่ายทหารไทยกับญี่ปุ่นอยู่ใกล้กัน ทำให้ต้องมีการตั้งป้อมเผชิญหน้ากันเลยทีเดียว"

ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าญี่ปุ่นรับรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย แต่ยังไม่ทราบว่าใครบ้างอยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เริ่มมีปัญหาภายใน เนื่องจากกำลังประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิอื่น ๆ โดยเฉพาะการที่ต้องล่าถอยออกจากพม่าตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๔๘๘ ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องรักษาประเทศไทยในฐานะที่มั่นสุดท้ายทางการทหารนอกประเทศไว้ให้ได้ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่สั่งสมมาและกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดนั้น ระเบิดปรมาณูลูกแรกก็ถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา อีกสามวันต่อมาระเบิดปรมาณูลูกที่ ๒ ถูกทิ้งที่เมืองนางาซากิ มีผู้เสียชีวิตทันทีรวมกันมากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ต้องมีพระบรมราชโองการยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘

วันเดียวกันนั้น ลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบตแทน ผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้ส่งสารมาถึง ปรีดี พนมยงค์ แนะนำให้ออกประกาศปฏิเสธการประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกาที่ไทยได้ประกาศในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รวมทั้งยกเลิกการเป็นพันธมิตรและข้อตกลงทั้งปวงกับญี่ปุ่น

๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศว่า การประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกา ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็น "การกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมือง" และคนไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้ร่วมมือกันทุกวิถีทาง ในการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้นจึงขอประกาศว่า "การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย" และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้

แม้จะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ มาได้โดยไม่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ยืนเคียงข้างญี่ปุ่นตลอดเวลา แต่คำอธิบายว่าไทยรอดพ้นจากการเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามมาได้ ด้วยการดำเนินนโยบาย "ตีสองหน้า" โดยด้านหนึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะจอมพล ป. อยู่เคียงข้างฝ่ายอักษะ ขณะอีกด้านขบวนการเสรีไทยอยู่เคียงข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ประเทศไทยก็จะชนะด้วยนั้น คำอธิบายเท่านี้เห็นจะไม่เพียงพอ เพราะแม้ว่าจะดำเนินนโยบายฉลาดเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่ได้มีปฏิบัติการจริงในการต่อต้านญี่ปุ่น และช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร ไทยก็ยากที่จะได้รับการรับรอง อีกทั้งการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษ จะรับรองสถานภาพของขบวนการเสรีไทย ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง การเจรจาสถานภาพหลังสงครามแม้ว่าไทยจะไม่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่อังกฤษก็มีความพยายามที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นอยู่นั่นเอง การที่จะเจรจาผ่านขั้นตอนดังกล่าว ไปได้ก็ต้องอาศัยสถานภาพของขบวนการเสรีไทย ที่มีการดำเนินการทางการทหารทั้งในและนอกประเทศ มีกองกำลังเป็นของตนเอง มีการปฏิบัติจริง พร้อม ๆ กับการดำเนินการทางการเมือง ที่แสดงให้เห็นว่าเสรีไทยพร้อมที่จะสู้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดเวลา

และด้วยการกระทำนี้เองที่ทำให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามมาได้ ดังคำกล่าวของ ปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวแก่กองกำลังเสรีไทยในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองว่า
"ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในครั้งนี้ถือว่าเป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้เข้าร่วมองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีก ๑๗ ล้านคนที่ทำหน้าที่โดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้ ...ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการทำหน้าที่ของผู้รับใช้ชาติเป็นโดยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจนั้นก็มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้นโดยพฤตินัยไม่ใช่คนไทย"
แหล่งข้อมูล
นิตยสารสารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๔

No comments: