Wednesday, August 29, 2007

บทความที่ ๒๔๔. กฎุมพี ตอนที่๒ (จบ)


ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนถึงความเป็นมาของคำว่า “กฎุมพี” มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“ต่อมาในปลายสมัยยุคกลางของยุโรปตะวันตก คือเมื่อประวัติคริสตศตวรรษที่ ๑๓ ได้มีบุคคลจำพวกที่ออกสำเนียงตามภาษาฝรั่งเศสว่า “บูรชัวส์” เขียนเป็นอักษรฝรั่งเศสว่า “Bourgeois” คือพ่อค้าและผู้ประกอบหัตถกรรมที่อยู่ในย่านตลาดการค้า ซึ่งเรียกว่า “บรูก์” เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Bourg” คำนี้เทียบได้คำไทยว่า “บุรี”

ฉะนั้น “บูรชัวส์” เทียบได้กับคำไทยว่า “บุรี” ซึ่งได้เป็นผู้เริ่มแรกในการจัดตั้งเป็นขบวนการต่อต้านเผด็จการศักดินาที่ปกครองท้องที่ ชาวบุรีได้รวมกำลังกันเป็นองค์การร่วมที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า คอมมิน (Commune) ซึ่งแผลงมาจากคำลาติน Commuis อันเป็นองค์กรที่ชาวบุรีผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนและต่อสู้เจ้าศักดินาท้องที่ เพื่อมีอิสระในการปกครองท้องที่ของตนเองออกต่างหากจากเผด็จการของเจ้าศักดินาท้องที่ แต่ยังยอมขึ้นตรงต่อพระราชาธิบดีซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของรัฐ

การต่อสู้ได้ใช้เวลายาวนาน ชาวบุรีจึงได้รับสัมปทานจากพระราชาธิบดีให้มีสิทธิปกครองท้องถิ่นของตนเอง อันเป็นประวัติของระบบเทศบาลในฝรั่งเศสและในหลายประเทศของยุโรปตะวันตก

ชาวบุรีก็หมดสภาพเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินาแห่งท้องที่ โดยพระราชาธิบดีรับรองให้มีฐานนันดรที่ ๓ ของสังคม คือเป็นฐานันดรถัดลงมาจากขุนนางบรรพชิต-ขุนนางฆราวาส คือมีสภาพเป็นชนชั้นกลางระหว่างฐานันดรสูงกับผู้ไร้สมบัติ (Proletariat) ซึ่งยังคงฐานะเป็นข้าไพร่ของศักดินาท้องถิ่น

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวบุรีมีฐานะเป็นนายทุนชั้นกลาง ต่อมาชาวบุรีได้พัฒนาเครื่องมือหัตถกรรมให้มีสมรรถภาพดีขึ้นตามลำดับ ได้ขยายการค้ากว้างขวางขึ้นตามลำดับ และสะสมสมบัติเป็นทุนได้มากขึ้น และเมื่อได้เกิดมีผู้ประดิษฐ์เครื่องมือใช้พลังงานไอน้ำในปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ชาวบุรีก็อาศัยทุนอันได้สะสมไว้นั้นเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมและวิสาหกิจสมัยใหม่ สภาพของชาวบุรีซึ่งเดิมเป็นเพียงนายทุนชั้นกลาง จึงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นนายทุนใหญ่สมัยใหม่

ผมถือว่าสาระสำคัญที่นายทุนสมัยใหม่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคม จึงได้ถ่ายทอดคำที่เรียกชนชั้นนี้ว่า บูรชัวส์ นั้นเป็นภาษาไทยว่า ชนชั้นเจ้าสมบัติ”


ดังนั้น ในภาษาไทยเราปัจจุบันจึงมีคำอยู่ ๒ คำที่ถ่ายทอดคำภาษาอังกฤษ Bourgeois ในความหมายเดียวกัน คือ คำ กฎุมพี และคำว่า เจ้าสมบัติ ซึ่งเป็นคำที่ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นผู้บัญญัติขึ้นใหม่ โดยท่านให้เหตุผลในการบัญญัติศัพท์ เจ้าสมบัติ หมายถึง Bourgeois ในภาษาอังกฤษดังนี้

“เดิมผมได้คิดว่าจะใช้คำว่า ธนสารบดี โดยถือว่าปัจจัยการผลิตนั้นเป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นแก่นสาร ต่อมาผมได้เปลี่ยนใหม่ โดยเห็นว่า สมบัตินั้น ภาษาไทยแผลงมาจากมูลศัพท์บาลี สันสกฤต สมฺปตฺติ แปลว่าเงินทองของมีค่า เมื่อเติมคำว่า “เจ้า” ไว้ข้างหน้าเป็น เจ้าสมบัติ แล้ว ก็พอจะแสดงว่า นายทุนชนิด (Species) นี้มีลักษณะเฉพาะซึ่งแสดงว่าเป็น “เจ้า” ชนิดหนึ่ง คือ เจ้าสมบัติ ซึ่งเมื่อได้ทำลายเจ้าศักดินาแล้ว ก็เป็นเจ้าของสังคมทุนนิยม โดยใช้สมบัติกดขี่เบียดเบียนกรรมกรสมัยใหม่

ส่วนคำว่า กฎุมพี นั้น เคยให้ข้อสังเกตไว้ก่อนแล้วว่า สามัญชนคนทั่วไป ใช้ควบกับคำว่า ไพร่ เป็นไพร่กฎุมพี คือ เป็นผู้มีทุนอันดับต่ำกว่าคหบดีและเศรษฐี”



จากหนังสือ ปทานานุกรม การเมือง ฉบับ ชาวบ้าน ของสุพจน์ ด่านตระกูล

No comments: