Wednesday, August 22, 2007

บทความที่ ๒๓๖. ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน ตอนที่ ๘

อ่านบทความตอนที่ ๑ - ๗ ได้ที่
เข้าสู่ยุคอิสลาม มะละกาที่แดนมาเลเซีย ขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือ ชวา

บนผืนแผ่นดินแหลมมลายู หรือคาบสมุทรมาเลย์ ที่ประเทศมาเลเซียปัจจุบันตั้งอยู่ ในภาคเหนือของดินแดนมาเลเซียนั้น ตลอดถึงตอนล่างของประเทศไทย เมื่อคริสตศตวรรษต้นๆ คือเกือบๆ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู ที่ฝรั่งเรียกว่า Indianized State ขนาดย่อมๆ ทยอยเกิดขึ้นและเสื่อมไป รวมแล้วอาจจะถึง ๓๐ อาณาจักร โดยเฉพาะอาณาจักรลังกาสุกะ ที่เล่ามาแล้ว

ต่อมา เมื่ออาณาจักรใหญ่ๆ เจริญขึ้นมาบนแหลมอินโดจีนและในเกาะทางอินโดนีเซีย อาณาจักรเล็กๆ เหล่านี้ ก็ถูกอาณาจักรใหญ่ๆ เหล่านั้นครอบครอง เช่นอาณาจักรฟูนัน แล้วก็ศรีวิชัย จนถึงมัชปาหิตและอยุธยา

ได้เล่ามาถึงอาณาจักรมัชปาหิต ในเกาะชวา และเรื่องของมัชปาหิตนั้น ก็มาต่อกับเรื่องบนแผ่นดินมาเลเซีย ด้วยเรื่องอาณาจักรมะละกา ที่เคยเล่าไปบ้างแล้ว ซึ่งในที่นี้ขอทบทวนเพื่อเชื่อมความสักหน่อย ดังนี้

เมื่ออาณาจักรศรีวิชัย ที่ปาเล็มบังในสุมาตรา เสื่อมลง และอาณาจักรมัชปาหิตในชวา ได้เป็นใหญ่แล้ว ครั้นถึงปี ค.ศ. ๑๓๘๙ ราชาองค์สำคัญของมัชปาหิตสวรรคต จึงถูกทางมัชปาหิตขับไล่ ได้หนีมาขึ้นที่สิงคโปร์

ดังกล่าวแล้วว่า สิงคโปร์เป็นเมืองหน้าด่านแห่งหนึ่งของศรีวิชัยต่อมาเมื่อศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง สิงคโปร์ก็ขึ้นต่อมัชปาหิต แล้วจากนั้นได้ขึ้นต่ออยุธยา จนกระทั่งอาณาจักรมะละกาใหญ่ขึ้น สิงคโปร์ก็ตกเป็นของมะละกาในตอนต้นคริตศตวรรษที่ ๑๕

ต่อจากนี้ เข้าสู่ยุคอาณานิคม สิงคโปร์ถูกโปรตุเกสเข้าครองในปี คริสตศตวรรษที่ ๑๖ แล้วหลุดไปเป็นของฮัลลันดาใน คริสตศตวรรษที่ ๑๗ จนกระทั่งอังกฤษเอาเป็นศูนย์บัญชากิจการอาณานิคมในปี ค.ศ.๑๘๑๙ แล้วเดินทางยาวไกลมาเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียในปี ค.ศ.๑๙๖๓ และในที่สุดได้เป็นเอกราชสมบูรณ์ตั้งเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) ในปี ค.ศ.๑๙๖๕

เรื่องต่อไปว่า ในปี ค.ศ.๑๓๙๐ เจ้าปรเมศวรได้เข้ายึดอำนาจที่สิงคโปร์ โดยสังหารเจ้าเมืองเสีย แล้วครองสิงคโปร์อยู่ได้ ๓-๕ ปี ก็ถูกพระราชบัญชาจากอยุธยาให้ขับไล่ ต้องหนีต่อไปยังแผ่นดินแหลมมลายู (บางตำราบอกว่า มัชปาหิตได้ตามมาทำลายสิงคโปร์พินาศไปในคราวนั้น) เจ้าปรเมศวรไปถึงเมืองมะละกาในราวปี ค.ศ.๑๔๐๐

มะละกาเป็นเมืองค้าขายชายฝั่งทะเล เวลานั้นพ่อค้ามุสลิมจากอินเดียมาตั้งหลักแหล่งกันมาก จึงเจริญด้วยเศรษฐกิจการพาณิชย์

นักประวัติศาสตร์ทราบเรื่องคร่าวๆ ว่า เจ้าปรเมศวรได้ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ที่นั่น และเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูเข้าอิสลาม กลายเป็นมุสลิมเฉลิมพระนามว่าสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์ ปกครองรัฐสุลต่านแห่งมะละกาเริ่มแต่ปี ค.ศ.๑๔๐๒ หรือ ค.ศ.๑๔๐๓

รัฐสุลต่านแห่งมะละกานี้ ถือว่าเป็นความภูมิใจและเป็นแหล่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย และเนื่องจากเจ้าปรเมศวรมาจากดินแดนมลายูแห่งสุมาตรา จึงนำความเป็นมลายูมาด้วย เหมือนกับเป็นผู้นำความเป็นมลายูมาสถาปนาในแผ่นดินมาเลเซีย

(คำว่า “มลายู” ก็เป็นศัพท์ที่คงต้องสืบค้นที่มากันต่อไป แต่ที่ชัดเจนก็คือเป็นชื่อของถิ่นที่เป็นฮินดู-พุทธมานาน มีคำจารึกหนึ่งอันเก่าแก่เมื่อปี ค.ศ.๑๓๔๗ เขียนว่า “เมลายุปุระ”)

เนื่องจากเวลานั้น อาณาจักรสยามแห่งอยุธยากำลังมีอำนาจมาก สุลต่านแห่งมะละกาจึงหันไปพึ่งจีน เพื่อให้ตนพ้นจากอิทธิพลของอยุธยาและจากการขอความคุ้มครอง ในปี ค.ศ.๑๔๐๕ พระจักรพรรดิจีนก็ได้ทรงยกย่องสุลต่านแห่งมะละกาให้เป็นราชาธิบดี กับทั้งต่อมาในปี ๑๔๑๑ สุลต่านแห่งมะละกาก็ได้เดินทางไปกับกองทัพเรือของจีนเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้าจักรพรรดิที่กรุงปักกิ่ง

แต่กระนั้นอีก ๓๔ ปีต่อมา คือในปี ค.ศ.๑๔๔๕ และ ๑๔๕๖ ทางกรุงศรีอยุธยาก็ได้ส่งกองทัพมาตีมะละกา เป็นการลงโทษที่มะละกาไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการ แต่ถึงตอนนั้นมะละกาเข้มแข็งมากแล้ว จึงตีต้านทัพศรีอยุธยาแตกกลับไปทั้ง ๒ ครั้ง

รัฐสุลต่านแห่งมะละกาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างยิ่ง จนได้เป็นศูนย์กลางพาณิชย์ใหญ่ที่สุดแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในทางการเมืองก็แผ่อำนาจไปอย่างกว้างขวาง ทั้งขึ้นไปทางเหนือบนผืนแผ่นดินจนถึงปัตตานี และลงไปตามชายฝั่งทะเลถึงสุมาตราภาคตะวันตก

ดินแดนแถบนี้ (แม้ถึงถิ่นที่เคยเป็นลังกาสุกะ อย่างน้อยบางส่วน) ได้เปลี่ยนเข้าอิสลามนานแล้ว ก่อนรัฐสุลต่านแห่งมะละกาเกิดขึ้น (อาจจะเปลี่ยนในยุคเดียวกับอาเจะห์) แต่ตอนนั้นอิสลามยังขยายไปเชื่องช้า จนกระทั่งเมื่อเข้ายุคที่มะละกายิ่งใหญ่ และได้เป็นศูนย์กลางสำคัญในการเผยแพร่ อิสลามจึงแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางจริงจัง

ในยุคมะละกานี้เอง พลเมืองที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นมุสลิม ได้เริ่มเรียกตนเองว่าเป็นคนมาเลย์ หรือมลายู และต่อมา คำว่า มาเลย์หรือมลายูนี้ อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าความเป็นมลายูนั้น มากับเจ้าปรเมศวร จากศรีวิชัยเดิม ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของคนนับถืออิสลามและพูดภาษามาเลย์แบบเฉพาะของพวกตน

อย่างไรก็ตาม รัฐสุลต่านแห่งมะละกายิ่งใหญ่อยู่ได้ไม่ถึงศตวรรษก็ถึงกาลอวสาน เมื่อโปรตุเกสเข้ามายึดเป็นอาณานิคมได้ในปี ค.ศ.๑๕๑๑ ชนชั้นปกครองต้องหนีภัยเข้ามาในแผ่นดินจนไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ยะฮอร์

โปรตุเกสครองมะละกาอยู่ได้ศตวรรษเศษ ก็ต้องเสียมะละกานั้นให้แก่ฮอลลันดา เมื่อปี ค.ศ.๑๖๔๑

ทางฝ่ายอังกฤษได้ปีนัง จากสุลต่านแห่งเคดาห์ในปี ค.ศ.๑๗๘๖ ต่อมาเมื่อตั้งฐานที่สิงคโปร์ในปี ค.ศ.๑๘๑๙ แล้ว ก็คืบหน้ามาตามลำดับ ถึงปี ค.ศ.๑๘๒๔ ก็ได้มะละกา และในที่สุดปี ๑๘๙๕ ก็ตั้งอาณานิคมที่เรียกว่า Federated Malay States

อังกฤษให้เอกราชในปี ๑๙๕๗ เรียกชื่อประเทศว่า Federation of Malaya ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๖๓ ขยายเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia) แต่สิงคโปร์ถอนตัวออกไปในปี ๑๙๖๕

No comments: