Thursday, August 16, 2007

บทความที่ ๒๒๓.รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย ตอนที่๑๐

ล้มจอมพล ป. : ก่อตั้งรัฐบาลเสรีไทย

คุณูปการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ก็คือการสร้างระบบรัฐสภาเอาไว้เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้นวิถีทางรัฐสภา ซี่งก็คือการใช้วิธีการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่สถานการณ์ในขณะนั้นจอมพล ป. มีอิทธิพลอย่างสูงในรัฐสภา สิ่งแรกที่ขบวนการเสรีไทยในประเทศทำก็คือ ขยายแนวร่วมไปยังผู้แทนราษฎรให้มากที่สุด จากที่เคยมีแต่ผู้แทนภาคอีสาน

ชิต เวชประสิทธิ์ ส.ส. จังหวัดภูเก็ต ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า

"กลุ่มผู้นำอีสานและแนวร่วมที่เกาะกลุ่มอยู่ก่อนได้ตกลงกันว่า ต่างคนต่างดำเนินการหาสมัครพรรคพวกเป็นอิสระ โดยมีหลักการสำคัญข้อแรก คือ ต้องสามารถมั่นใจว่าผู้แทนคนนั้นสามารถรักษาความลับได้เป็นอย่างดี ข้อสองคือมีทัศนะโน้มเอียงไปทางต่อต้านญี่ปุ่น"

ต่อมาขยายไปยังกลุ่มผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ โดยบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย คือ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมีความสำคัญมาก นอกจาก พล.ต.อ. อดุลจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ แล้ว ยังสามารถใช้กลไกของตำรวจที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านญี่ปุ่นอีกด้วย

ผลจากการที่ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นกองบัญชาการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของทหารญี่ปุ่นที่ก้าวร้าวและข่มเหงคนไทย ค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ถี่ขึ้นเป็นลำดับ กรุงเทพมหานครในช่วงปี ๒๔๘๖-๒๔๘๗ ถูกโจมตีทางอากาศถึง ๔,๐๐๐ ครั้ง ทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้คะแนนนิยามในตัวรัฐบาลลดน้อยลงทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีนโยบายย้ายเมืองหลวง ไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นดินแดนทุรกันดารเนื่องจากมีไข้ป่าชุกชุม

จากรายงานของสภาผู้แทนราษฎรแจ้งว่า ในปี ๒๔๘๗ มีราษฎรที่ถูกเกณฑ์จำนวน ๑๒๗,๒๘๑ คน มีผู้บาดเจ็บ ๑๔,๓๑๖ คน เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ๔,๐๔๐ คน และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ส่งผลให้มีการใช้ประเด็นนี้มาเป็นเครื่องมือล้มรัฐบาล

เมื่อรัฐบาลนำเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครหลวงเพชรบูรณ์ เพื่อขออนุมัติในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้หยิบเอาประเด็นนี้มาอภิปราย ผลของการลงคะแนนลับ ปรากฏว่ารัฐบาลพ่ายไปด้วยคะแนน ๓๖ : ๔๘

สองวันต่อมา เมื่อรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล ฝ่ายต่อต้านได้หยิบยกประเด็นเรื่องความสิ้นเปลืองงบประมาณมาอภิปราย ผลของการลงคะแนนลับปรากฏว่ารัฐบาลพ่ายไปด้วยคะแนน ๔๑ : ๔๓

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะผู้นำรัฐบาลยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อมีการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปรากฏว่า ควง อภัยวงศ์ ภายใต้การสนับสนุนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาก็ได้มีการลดอำนาจทางการทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้วยข้ออ้างว่าไม่มีในทำเนียบราชการทหาร

การที่สามารถโค่นอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงได้ นับว่ามีความสำคัญต่อขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเป็นอันมาก เพราะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยหน้าฉากมี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจากับญี่ปุ่น ขณะที่หลังฉากมี ทวี บุณยเกตุ ตัวแทนขบวนการเสรีไทย รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า

"ที่เลือกระทรวงศึกษาธิการก็เพื่อจะได้ทำงานต่อต้านญี่ปุ่น ในขบวนการเสรีไทยได้เต็มที่ โดยใช้กำลังสนับสนุนจากนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์จากโรงเรียน วิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง"

สุดท้าย กลไกรัฐไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ที่เคยขัดขวางการทำงานของเสรีไทย กลับสามารถใช้เป็นเครื่องมืออย่างดีในการต่อต้านญี่ปุ่น

No comments: