Wednesday, August 29, 2007

บทความที่ ๒๔๓.กฎูมพี ตอนที่๑

กฎุมพี

กฎุมพี ตามความหมายของคำ แปลว่าชนชั้นกลางที่มีอาชีพเป็นพ่อค้า หรือเป็นช่างฝีมือที่เป็นเจ้าของโรงงานหัตถกรรมเล็กๆในสมัยศักดินา และเป็นเจ้าของโรงงานใหญ่ๆในสมัยทุนนิยม พวกนี้เป็นที่ดูถูกของพวกชนชั้นสูงหรือพวกศักดินาในยุคศักดินา และต่อมาพวกนี้ก็กลายเป็นที่เกลียดชังของคนชั้นต่ำในยุคทุนนิยม

กฎุมพี หรือ พวกกฎุมพี อุบัติขึ้นครั้งแรกในตอนปลายของยุคศักดินา ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติกล่าวว่า ในยุคศักดินานอกจากมีชนชั้นศักดินากับพวกเลกหรือทาสกสิกรแล้ว ยังปรากฏมีอิสรชนอยู่อีกพวกหนึ่ง แต่ทว่าเป็นส่วนน้อย พวกอิสรชนนี้ส่วนมากมีอาชีพเป็นช่างฝีมือที่มีโรงงานหัตถกรรมเล็กๆ เป็นของตัวเอง และบางทีก็มีพวกทาสอยู่ช่วยเหลือด้วย แต่ทว่าไม่ใช่อยู่ในฐานะทาส หากแต่อยู่ในฐานะลูกมือ และพวกทาสลูกมือเหล่านี้แหละภายหลังก็ได้กลายมาเป็นกรรมกร นอกจากช่างฝีมือแล้วก็ยังมีการค้าอีกด้วยที่อยู่ในความสนใจของพวกอิสรชน จากอาชีพดังกล่าวทำให้พวกอิสรชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าพวกเลกหรือทาสกสิกร แต่ก็ยังเลวกว่าพวกศักดินาอยู่นั่นเอง ดังนั้นพวกนี้จึงได้ชื่อพวกชั้นกลางหรือ กฎุมพี

และจากการที่พวกเลกหรือทาสกสิกร ได้ลุกขึ้นทำการโค่นล้มระบบศักดินาหลายครั้งหลายหน และถึงหากว่าจะไม่เป็นผลสำเร็จก็ตาม แต่ทว่าก็ทำให้ระบบศักดินาลั่นสะเทือนถึงโคนราก พร้อมกันนั้นก็เป็นโอกาสให้พวกกฎุมพีได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้น และในที่สุดพวกกฎุมพีได้เข้านำการโค่นล้มระบบศักดินาจนประสบผลสำเร็จ พร้อมกับกาลอวสานของระบบศักดินานั้น ระบบทุนนิยมเยาว์วัยภายใต้การนำของกฎุมพีก็ปรากฏตัวออกมาและค่อยๆ เติบโตเข้มแข็งขึ้นตามพัฒนาการของสังคม คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เจริญเติบโตและจะดับไปในที่สุด

ในขณะเดียวกับกับที่ระบบทุนนิยมอันเยาว์วัยของพวกกฎุมพี ได้ลงหลักปักมั่นในสมรภูมิแห่งการต่อสู้ทางชนชั้นอยู่นั้น การเศรษฐกิจก็ได้คลี่คลายขยายตัวกว้างขวางออกไปอีก โรงงานหัตถกรรมซึ่งเคยใช้ลูกมือไม่กี่คน ก็ได้กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีคนงานจำนวนหลายร้อยคน และโดยที่พวกเลกหรือทาสกสิกรไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องมือและปัจจัยในการผลิต ดังนั้น,ถึงหากว่าพวกเลกและพวกทาสจะได้รับการปลดปล่อยจากระบบศักดินาแล้วก็ตาม แต่พวกนี้ก็หนีจากการถูกกดขี่ขูดรีดไปไม่พ้นอยู่นั่นเอง นั่นคือ พวกนี้ได้กลายมาเป็นกรรมกรหรือชาวนารับจ้างหรือชาวนายากจน ส่วนพวกกฎุมพีหรือพวกชนชั้นกลางเก่าก่อนนั้น ก็กลายมาเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมหรือพ่อค้าที่ร่ำรวย และกลายเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีดหรือชนชั้นกรรมาชีพจนกระทั่งบัดนี้

จากการที่พวกกฏูมพีมีความคิดเห็นในทางเศรษฐกิจไปในแนวเสรีนิยม ดังนั้นในด้านอุตสาหรรมจึงได้มีการแข่งขันการผลิตกันอย่างขนานใหญ่ และจากการแข่งขันการผลิตกันนี้เองได้ก่อให้เกิดลัทธินายทุนขึ้นอย่างแท้จริง พวกกฎุมพีบางส่วนได้กลายเป็นนายทุนใหญ่ บางส่วนก็เป็นนายทุนน้อยและบางส่วนก็ต้องล้มละลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำ
แต่พวกนี้แม้จะอยู่ในฐานะต่ำต้อยหาเช้ากินค่ำก็ตาม เขาก็ยังหวังไม่วายที่จะมีความคิดเห็นในแนวทางเสรีนิยมอยู่นั่นเอง เขายังหวังว่าวันหนึ่งโชคคงจะนำให้เขาได้พบกับความร่ำรวย และดังนั้นพวกนี้จึงกลัวการปฏิวัติ แต่ศรัทธาในลัทธิปฏิรูป และพวกนี้ก็นิยมในสิ่งลึกลับและสิ่งศักดิสิทธิ์เกี่ยวกับลัทธิทุนนิยม พวกนี้พยายามพิสูจน์ว่า “จะคงอยู่ชั่วนิรันดรในฐานะรูปแบบการผลิตแบบสุดท้าย” และก็พร้อมกับที่พยายามปฏิเสธความขัดแย้งระหว่างชนชั้น พวกนี้มีทัศนะต่อการพัฒนาการสังคมว่า

“มีความเจริญอย่างสงบสุขจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยม โดยไม่ต้องผ่านการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ และการก้าวกระโดด หากแต่จะเป็นโดยค่อยเป็นค่อยไป (ตามยถากรรม)”

ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ ตราบนั้นระบบสังคมนิยมจะไม่อาจสถาปนาขึ้นได้ มาร์กซ์ ได้กล่าวเกี่ยวแก่พวกกฎุมพีไว้ว่า

“ชนชั้นกฎุมพีได้เคยมีบทบาทปฏิวัติสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อชนชั้นกฎุมพีได้ครองอำนาจแล้วได้พัฒนาระบบทุนนิยม โดยรวบรวมการผลิตทางสังคมทั้งหมดไว้ในกำมือของพวกตน ซึ่งเป็นคนส่วนข้างน้อยของสังคม ทำการขูดรีดเบียดเบียนชนชั้นผู้ไร้สมบัติ อันเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และเมื่อระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้พัฒนายิ่งขึ้นเท่าใด ก็ทำให้ชนชั้นกลาง ชนชั้นนายทุนน้อยต้องถูกแข่งขันยิ่งขึ้น และถูกเบียดขับไปเป็นชนชั้นผู้ไร้สมบัติในที่สุด ชาวนาซึ่งมีลักษณะเป็นชนชั้นนายทุนน้อยก็จะประสบชะตากรรมเช่นนั้นด้วย คนส่วนใหญ่ของสังคมก็จะได้รับความอัตคัดขัดสน”

แต่ในที่สุดสังคมทุนนิยมของชนชั้นกฎุมพีก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นสังคมที่ยังความเดือดร้อนและอัตคัดขัดสนให้กับคนส่วนใหญ่ หรือนัยหนึ่ง เพราะสังคมทุนนิยมไม่อาจรับใช้ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ จึงหมดภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์และจึงต้องลงจากเวทีประวัติศาสตร์ไปเช่นเดียวกับสังคมทาส สังคมศักดินา ที่จากลงเวทีประวัติศาสตร์ไปล่วงหน้าแล้ว

และแล้วสังคมใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าจะเข้ามารับภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์สืบต่อไป เช่นเดียวกับที่สังคมทุนนิยมของกฎุมพีซึ่งเข้ามารับภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์สืบต่อจากสังคมศักดินา สังคมใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าที่จะเข้ามารับภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์สืบต่อจากสังคมทุนนิยม คือ “สังคมนิยม” และนี่คือกฎวิวัฒนาการของสังคมอันเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่มีใครสามารถจะหลีกเลี่ยงหรือยับยั้งได้ เช่นเดียวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

No comments: