Tuesday, August 21, 2007

บทความที่๒๓๔.วาสนาคนไทยได้แค่ไสยศาสตร์ ตอนที่๑

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) บรรยายธรรมเรื่อง
“การบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” และเรื่อง
“เข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับจตุคามรามเทพ”


บรรยายธรรมที่วัดญาณเวศกวัน วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๐


พระพรหมคุณาภรณ์ : อาตมาไม่ได้เข้าฝ่ายไหนว่าจะเขียน ไม่เขียน (เขียนบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ-ผู้ถอดความ)แต่ว่าจะเขียนหรือไม่เขียนก็ควรจะพูดและแสดงถึงการรู้ เข้าใจเรื่อง และให้มีประโยชน์ในทางสร้างสรรค์เพราะว่าเมื่อจะเขียนหรือไม่เขียนมันมีทาง เราต้องมองไปที่ว่าแล้วเราจะจัดการอย่างไร ให้มันเกิดผลขึ้นมา ทำอย่างไรให้เกิดผลดี ก็ถือโอกาสจัดความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ “พระศาสนา” ไม่ใช่มีแค่ความเห็นอย่างเดียว ถ้าไปพูดทำนองว่า “เขียนหรือไม่เขียนก็เป็นอยู่แล้วแหละ แล้วก็บอกว่ารัฐธรรมนูญนั้นน่ะไม่ต้องเขียน” (หัวเราะ)ก็เพราะอยู่ได้อยู่แล้วใช่ไหม เออ-เขียนทำไมรัฐธรรมนูญก็ประเทศมันก็อยู่ ก็เป็นอย่างนี้

ควรถือเป็นโอกาสว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดผลดี ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติประชาชน สร้างความเข้าใจแล้วมาจัดอะไรต่างๆ เขียนหรือไม่เขียนก็(ต้อง)ทำให้เกิดประโยชน์

ผู้กราบเรียนถาม : แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธไม่เอาไหน อย่างจตุคามรามเทพอย่างนี้ !

พระพรหมคุณาภรณ์ : ที่จริงอยากจะย้ำอีกด้วยซ้ำ บอกว่าการเขียนก็ต้องระวัง มันอาจะเป็นเหตุให้เกิดความประมาท แล้วพอเป็นเข้าแล้ว-ศาสนาประจำชาติ,ชื่อเป็นพระพุทธศาสนาแต่เนื้อแท้เป็นไสยศาสตร์ ! หมายความว่าประเทศไทยนี้นะมีอะไรเป็นศาสนาประจำชาติ ? อ๋อ-ก็มีไสยศาสตร์เป็นศาสนาประจำชาตินะสิ-ใช่ไหม ? เวลานี้มันก็จะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เวลานี้ที่ว่าไม่เขียนก็เป็นอยู่แล้ว ก็คือมีไสยศาสตร์ประจำชาติไง (หัวเราะ)ทีนี้เราควรจะถือโอกาสว่า นี่มันมีปัญหานี้อยู่แล้ว เราจะถือโอกาสอย่างไรทำให้มันได้ประโยชน์กับประชาชน ให้เข้าสู่หลักการพระพุทธศาสนา เอาเลย(ไปพูด)กับพระ(ทั้งหลาย)นี่ พูดบอกว่า

“โอ้ท่าน เรื่องนี้(เรื่องบัญญัติพระพุทธศาสนาฯ-ผู้ถอดความ)สำคัญครับ แต่ผมดูแล้วประชาชนเนี่ย ไม่ได้เข้ากับหลักพุทธศาสนาเลย ยังอยู่กับหลักไสยศาสตร์ แล้วเราจะมาทำยังไง”

ท่านลองพยายามดู เรื่องนี้มาช่วยกันคิด ถือโอกาสมาพูดเรื่องนี้กันซะ มันจะเป็นประโยชน์ดีกว่าที่จะมัวมาเถียงกันอยู่ แล้วทั้งสองฝ่ายก็เข้าใจคำที่พูดไม่เหมือนกัน คือคนหนึ่งที่จะเรียกร้องเอานี่นะ ในความคิดในสมองเขาน่ะ เขามองคำว่า ”ศาสนาประจำชาติ” ในความหมายหนึ่ง ทีนี้คนที่ค้านจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการอะไรนี่นะ ก็มองความหมายของคำเดียวกันนี้นะคือคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” อีกความหมายหนึ่ง ! เขาเถียงคำเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่เขาคิดอยู่คนละเรื่อง นี่ก็ใช้คำว่าอะไรนะ ? คนละเรื่องเดียวกันอะไรทำนองนั้น คือสิ่งที่เขาเถียง เขาเข้าใจกันไปคนละเรื่อง มันเป็นอย่างนั้น เขาไม่ได้เข้าใจเรื่องเดียวกันหรอก ความหมายของคำว่าศาสนาประจำชาตินี่นะ ชาวบ้านก็บอกอย่างหนึ่ง-คิดพร่าๆ แล้วก็ไม่ชัดด้วย ชาวบ้านก็ไม่ชัด นักวิชาการก็ไม่ชัด
บังเอิญว่าสองวันนี่ไปอ่านหนังสือ บทความอันหนึ่ง เขาพูดถึงพระศาสนา เขาไม่ได้พูดตรงๆ แต่เขาพูดเป็นนัยทำนองว่า “ในพุทธศาสนาเถรวาท ไม่มีรัฐพุทธศาสนา” - เนี่ย,แสดงว่าเขากำลังมองว่าศาสนาประจำชาติในความหมายแบบฝรั่ง คือถ้าเอาศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็เหมือนกับตะวันตกยุคที่ศาสนาคริสต์เป็นใหญ่ คือเป็นรัฐคริสต์ หรืออย่างมุสลิมก็เป็นรัฐอิสลาม

เขา(ผู้เขียนบทความนั้น)ไม่เข้าใจความหมาย วิธีปฏิบัติ ประเพณี ความสัมพันธ์อะไรของเรา เขาก็ไม่รู้ อย่างนั้นก็ควรทำความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ก่อน เริ่มต้นคุณก็ต้องลงกันก่อนว่า คำว่า ”ศาสนาประจำชาติ” หมายความว่าอย่างไร ? ที่เราจะเถียงกันนี่นะ มีความหมายว่าอย่างไร ?

ผู้กราบเรียนถาม : เข้าใจตรงกันหรือเปล่า

พระพรหมคุณาภรณ์ : ใช่,เข้าใจตรงกันหรือเปล่า

ผู้กราบเรียนถาม : มนุษย์เราเป็นอย่างนี้ ทะเลาะกันแทบตาย เข้าใจกันคนละอย่าง

พระพรหมคุณาภรณ์ : เรื่องนี้มันเข้าใจคนละอย่างกันอยู่แล้ว เพราะว่านักวิชาการหลายคนเวลานี้ เวลาพูดก็มองไปทิศตะวันตก ! เช่นอ้างว่า “โอ้,ฝรั่งเขาก็แยกรัฐกับศาสนา” วันนั้นพอดีอาตมาฟังข่าววิทยุแห่งประเทศไทยประจำ พอชั่วโมงข่าวก็ฟัง หนึ่งทุ่ม,หนึ่งโมงเช้า หลังจากที่(อาตมา)พูด(เรื่องนี้)ว่า “รัฐมีหน้าที่ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องศาสนาประจำชาติ ว่าเป็นยังไง”

ไม่รู้เขาได้ยินหรืออย่างไรนะ อีกวันหนึ่งเขาออกว่า เนี่ย,”ต้องให้ประชาชนได้มีความรู้(เรื่อง)ศาสนาประจำชาติว่าเวลานี้ในตะวันตกนั้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ เขาก็แยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน” -พูดแค่เนี้ย ! รู้แล้วก็ตัดสินใจกันเอาเอง (หัวเราะ)แสดงว่า (ผู้เอาคำไปพูดต่อ)ยิ่งไม่รู้ใหญ่ !!

ก็นี่ละเรื่องนี้,เรื่องของเราที่ต้องมาให้ความรู้ที่ชัดเจน - อะไรไม่รู้กล่าวมาแค่นี้ (เรื่องสำนักข่าวเอาคำท่านไปกล่าวให้ผิดไปจากความหมาย –ผู้ถอดความ)

No comments: