Saturday, August 18, 2007

บทความที่ ๒๓๒.พุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมไปแล้วก่อนที่มุสลิมจะทำลาย

ความวิกฤติของแผ่นดินไทยในขณะนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องอำนาจการปกครองของมวลประชาชนกำลังจะถูกทำลาย แล้วถูกบีบคั้นบังคับโดยคณะผู้ยึดอำนาจทุกวิถีทางเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองสูงสุดของประเทศให้เป็นอำนาจของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า "คณาธิปไตย" อันเป็นการปกครองที่ล้าหลังต่อความเจริญของประเทศชาติ, แต่วิกฤติของพระพุทธศาสนาในประเทศก็หนักหนาไม่แพ้กัน

เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทในแผ่นดินไทยส่วนมาก ไม่ได้ศึกษาหลักธรรมว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมอะไร และหลักธรรมที่จะนำสัตว์จากทุกข์ได้นั้นคืออย่างไร จึงไม่ต่างจากพุทธบริษัทในอินเดียก่อนที่พระพุทธศาสนาจะถูกทำให้สูญสิ้นไป คือขาดความสนใจ ขาดความเข้าใจแม้หลักธรรมเบื้องต้นของพุทธบริษัท คือเรื่องกรรมและผลของกรรม จึงปรากฏทั่วไปแล้วว่าพุทธบริษัทในประเทศไทย นิยมแสวงหาเครื่องราง ของขลัง บูชาเจ้าพ่อ เจ้าแม่ กราบไหว้วัตถุที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ เป็นมงคล ทั้งนี้ก็เพราะเขาเหล่านั้นมุ่งหวังความร่ำรวย สะดวก สบาย การหายจากโรคภัย การได้รับผลสำเร็จต่างๆ

จึงปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปว่า ทั้งผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นภิกษุ เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กลับกระทำการเป็นอลัชชี นอกรีต ปลุกเสก เครื่องรางของขลัง ทำการค้าขายไม่ผิดกับชาวบ้านผู้ครองเรือน, และฆราวาสที่มุ่งหวังเพียงขอให้ตนได้ วัตถุ ลาภ ยศ ความร่ำรวย จากการศิโรราบ กราบไหว้ "วัตถุ" ทั้งหลาย โดยไม่พิจารณาว่าการกระทำเพียงเพราะหวังว่าตนจะได้ จะทำลายประเทศให้เสื่อมจากพระพุทธศาสนาไปมากเพียงใด

ซ้ำร้ายประเทศยังเสื่อมจากพระพุทธศาสนาลงไปอีก เมื่อมีการปลุกกระแส บูชาจตุคามรามเทพ ให้ระบาดไปในหมู่คนไทยที่ใจคอยแต่จะหวัง จะได้ จะเอา ลาภ ยศ เงินทอง ความสำเร็จ โดยการหาสิ่งนั้นมา "บูชา" !!! มิใยจะฉุกคิดสักนิดว่า จตุคามรามเทพ นั้นเป็นคำสอนของพระพุทธองค์หรือไม่ พระพุทธองค์จะทรงตรัสสอนให้พุทธบริษัทบูชาสิ่งนอกศาสนากระนั้นหรือ ? พระพุทธองค์จะทรงตรัสสอนให้พุทธบริษัท พึ่งหวัง อ้างอิงกับวัตถุที่ไม่ทำให้เกิดปัญญาอย่าง เหรียญจตุคามรามเทพ กระนั้นหรือ ? ก็เหตุใดไม่ฉุกคิดสักนิดล่ะว่า การที่ได้รับ ลาภ ยศ เงินทอง ความสำเร็จ เป็นเพราะ "บูชา" จตุคามรามเทพ หรือเป็นเพราะ ผลของกุศลกรรมที่ตนได้เคยกระทำไว้แล้วกันแน่ ก็เพราะเรื่องกรรมและผลของกรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งที่พุทธบริษัทจะต้องศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้อง พุทธบริษัททั้งภิกษุและฆราวาสจึงไม่ศึกษาให้เข้าใจ จึงมุ่งหวังจะได้โดยเร็ว ได้โดยสะดวก จากการบูชาจตุคามฯ

เมื่อเมื่อภิกษุก็ไม่สามารถจะรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ กลายมาเป็นพระปลุกเสกเหรียญจตุคามเพียงเพราะจะได้รับ ลาภปัจจัย เป็นเงินทองข้าวของต่างๆ ก็กลายเป็นพระพาณิชย์ กลายเป็นอลัชชีนอกพระศาสนาสิ้นความเป็นภิกษุในพระศาสนาของพระศาสดาไปแล้ว มีแต่ผ้าเหลืองที่ห่มหลอกคนทั่วไปไว้ แล้วอย่างนี้ประเทศชาติประชาชนจะไม่เสื่อมจากพระสัทธรรมได้อย่างไร

เมื่อภัยภายในของพุทธศาสนาคือภัยอันเกิดจาก พุทธบริษัทพากันเหยียบย่ำทำลายหลักธรรม โดยการไม่ศึกษา ไม่ใสใจที่จะรักษาพระธรรมวินัยไว้ ประกอบกับภิกษุและฆราวาสพากันไปกระทำนอกพระพุทธศาสนาคือ ไปปลุกเสก สร้างเหรียญจตุคาม และเครื่องรางอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้ประเทศเสื่อมจากพระศาสนาดุจเดียวกับพุทธบริษัทอินเดียเสื่อมจากหลักธรรมและในที่สุด มุสลิมก็ยกทัพเข้ามาทำลายบุคคลและวัตถุ เป็นอันปิดฉากพระศาสนาในอินเดีย

เหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดในแผ่นดินทองของผองพุทธบริษัทที่จิตใจเสื่อมทรามลงทุกทีๆไม่ว่าจะสูงสุด ชั้นกลางหรือชั้นต่ำ ล้วนแต่เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่สามารถจะยืนหยัดปกป้องพระศาสนาไว้ได้ วิกฤตครั้งนี้ประชาชนคนไทยจึงจะสูญเสียทั้งอำนาจสูงสุดของมวลชนไป และยังจะเสียพระศาสนาให้แก่ศาสนาอื่นเข้ามาเป็นใหญ่แทนที่

จึงขอนำบทความของท่าน ป.อ.ปยุตโต ที่กล่าวถึงความเสื่อมสูญของพระศาสนาในอินเดีย จากหนังสือ จาริกบุญ จารึกธรรม มาให้ท่านทั้งหลายได้ตระหนึกและตระหนักถึงภารกิจที่เราจะต้องปกป้องชาติและศาสนาก่อนที่จะเสียไป
พระพุทธศาสนาในอินเดียที่ดำรงมา ๑,๗๐๐ ปี ก่อนที่จะถูกทัพมุสลิมเตอร์กทำลายภิกษุและวิหารเสียสิ้น. ๑,๗๐๐ ปีนั้นหากพิจารณาจากต้นจนเสื่อมสูญ ก็จะเป็นพิจารณาได้เป็นยุคๆ ดังนี้

ยุคที่ ๑ ประมาณ ๕๐๐ ปีแรก เป็นยุคของพระพุทธศาสนาแบบ เถรวาท คือแบบที่สืบทอดมาถึงเรานี้ แต่รุ่งเรืองในถิ่นกำเนิดได้เพียง ๕๐๐ ปี

ยุคที่ ๒ ต่อจากนั้นเป็นยุคของ มหายาน ตั้งแต่ประมาณหลัง พ.ศ.๕๐๐ ไปจนถึง พ.ศ.๑๐๐๐ แต่เป็นมหายานที่ยังหนักแน่นอยู่

ยุคที่ ๓ หลัง พ.ศ.๑๐๐๐ มหายานเริ่มเสื่อมลง และราว พ.ศ.๑๒๐๐ ก็เกิดพุทธศาสนามหายานแบบลัทธิตันตระ ซึ่งมีเรื่องเวทมนต์คาถามาก

ยุคที่ ๔ หลัง พ.ศ.๑๕๐๐ เป็นตันตระยุคเสื่อมโทรม และทรามมาก จนถึงกับให้พระพุทธเจ้ามีศักติ ทำนองว่ามีชายา ฝรั่งแปลว่า consort มีการเสพสุรา และเสพกาม ถือเป็นการบรรลุนิพพานได้

ฮินดูตอนนั้น ก็เหลวเละมาก ฮินดูก็มีตันตระ พุทธก็มีตันตระแข่งกันมา แต่ก็คือเหมือนๆ กัน แล้วก็กลมกลืนกันนั่นเอง และระหว่างนี้แหละที่พุทธศาสนาได้กลมกลืนกับศาสนาฮินดูจนหมดความหมายพิเศษของตนเอง

ความเสื่อมทรามทั้งด้านกามและไสยศาสตร์เด่นมาก ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๐๐ จนมาถึง พ.ศ.๑๗๐๐ ก็พอดีมุสลิมเตอร์กยกทัพเข้ามากวาดล้างทำลายเสียเรียบหมดเลย

มีเรื่องเล่าไว้ว่า เมื่อมุสลิมเตอร์กยกกองทัพมาฆ่าและเผานั้น พระที่อยู่ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาต่างๆ ก็หนี ที่ถูกฆ่าก็มรณะไป ที่หนีได้ก็ลงเรือไปพม่าบ้าง หนีขึ้นเหนือไปเนปาลบ้าง ไปทิเบตบ้าง

ที่ทิเบตมีหลักฐานเหลืออยู่ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่ นาลันทา หรือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแถบนั้นถูกทำลาย เมื่อกองทัพมุสลิมเตอร์กยกเข้ามา อันแสดงถึงความเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์และเวทมนต์ว่าเป็นอย่างไร

มีตัวอย่างหลักฐานค้างอยู่ที่ทิเบตเล่าว่า พระองค์หนึ่งมีเวทมนต์คาถาขลังและมีพัดกายสิทธิ์ ก็บอกว่า เดี๋ยวพอกองทัพมันมานะ ฉันจะใช้พัดนี้โบก กองทัพมันจะแตกกระจัดกระจาย กระเจิงไปหมด แต่ผลที่แท้ก็คือพระเองนั้นถูกฆ่าหมด น้อยนักที่หนีรอดไปได้

แสดงว่า ตอนนั้นพระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์ คาถา กลายเป็นมนตรยาน

นิกายตันตระนั้นเป็นเรื่องของมนตรยาน ถือกันว่า “ตันตระ” “มนตรยาน” และ “วัชรยาน” ใช้แทนกันได้ ซึ่งมนตรยานก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นลิทธิเวทมนตร์ ถือว่า สามารถบรรลุถึงจุดหมายได้ด้วยเวทมนตร์ เชื่อจนหมกมุ่นในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ พุทธศาสนาเสื่อมไปถึงขนาดนี้ นอกจากอิทธิฤทธิ์จะรักษาตัวไม่ได้แล้ว ก็กลมกลืนกับศาสนาฮินดูได้สะดวกง่ายดายอย่างดี

เรื่องเหล่านี้เป็นคติสอนใจชาวพุทธอย่างดีว่า จะต้องไม่ยอมถูกล่อเร้าชักจูงให้เขวออกไปจากหลักการของพระพุทธศาสนา

เฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเทพเจ้า เจ้าพ่อ เจ้าแม่ อิทธิปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์นั้น มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก ซึ่งเป็นความเชื่อและการปฏิบัติที่มีผลเสียและขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนาหลายอย่าง..

ในแง่สังคม เมื่อคนมัวมองหาเทวดาและอำนาจภายนอกมาช่วย มัวแต่จะรักษาความสัมพันธกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็จะไม่เอาใจใส่กันและกันในหมู่มนุษย์เอง ไม่แสวงหาความร่วมมือในการที่จะช่วยกันแก้ปัญหาและทำการต่าง ๆ แต่ละคนจะเอาแต่ผลประโยชน์ของตัว สังคมก็ยิ่งเสื่อม อย่างน้อยก็พัฒนา “ประชาธิปไตย” ไม่สำเร็จ...

พุทธศาสนาในเมืองไทย ถ้ารักษาหลักไว้ไม่ได้ ก็คง(เสื่อมสูญ)ไปเหมือนกัน การมาอินเดียในครั้งนี้ เป็นเครื่องเตือนใจอย่างหนึ่ง อย่างน้อยช่วยให้มองเห็นในเรื่องเหล่านี้ และให้เราพยายามรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้ อย่าให้เสียหลัก.
เรียบเรียงจากหนังสือ "จาริกบุญ จารึกธรรม" (ป.อ. ปยุตโต)

No comments: