Monday, July 30, 2007

บทความที่ ๑๘๘. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๒

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”

ดังที่ผมกล่าวแล้วข้างต้นว่า การแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาต่างๆ ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่เกี่ยวกับการเตรียมพระราชทานอธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย ดังที่ประมวลฯ พยายามอธิบายให้เข้าใจเช่นนั้น แต่เป็นแผนการยึดอำนาจของพระองค์คืนจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้ทรงเปิดเผยความจริงดังกล่าวนี้ให้ปรากฏอยู่ในพระบรมราโชวาท ฉบับที่ ๒ ที่ทรงพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมงกุฎราชกุมาร พระองค์แรก ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“..ในเวลานั้นอายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยา (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์-สุพจน์) และจะต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ใดได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอันอาจจะหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องที่ร่วมบิดาหรือร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่..”

ข้อ ๒. เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะรักษาอธิปไตยของพระองค์ไว้ให้มั่นคงด้วยการปฏิรูปหรือที่พระองค์เรียกว่า รีฟอม ดังพระราชหัตถเลขาตอบหนังสือกราบบังคมทูล ลงวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๒ ปีวอก ฉศก ศักราช ๑๒๔๖ ตรงกับวันที่ ๘ เดือนมกราคมคริสตศักราช ๑๘๘๕ ของเจ้านายและข้าราชการสถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ประกอบด้วย
๑.พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรวรฤทธิ์
๒.พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต(ต่อมาเป็นกรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา)
๓. พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิ์รัตนวิศิษฏ์)
๔. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
๕. พระยาดำรงราชพลขันธ์ (นกแก้ว คชเสนี)
๖. หลวงนายเวร (สุ่น สาตราภัย)
๗. หลวงวิศิษสาลี (นาค ณ ป้อมเพ็ชร์ ต่อมาเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา ผู้รักษากรุงเก่า)
๘. บุศย์ เพ็ญกุล
๙. ขุนปฏิภาณพิจิตร (หรุ่น)
๑๐. สับเลฟท์เทอแนนท์ สะอาด สิงหเสนี
๑๑. นายเปลี่ยน

หนังสือกราบบังคมทูลขึ้นต้นด้วยข้อความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า ผู้มีชื่อในท้ายหนังสือเล่มนี้ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท..

ความซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้ มีอยู่สามข้อเป็นประธาน

๑.คือภัยอันตรายซึ่งจะมีมาถึงกรุงสยามได้ด้วยความปกครองของกรุงสยามอย่างเช่นมีอยูในปัจจุบันนี้ (สมบูรณาญาสิทธิราชย์-สุพจน์) จะเป็นไปด้วยเหตุต่างๆ ดังเช่นมีตัวอย่างของชาติที่มีอำนาจใหญ่โตได้ประพฤติต่อชาติซึ่งหาอำนาจป้องกันปกครองมิได้

๒. คือการที่จะต้องรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตราย ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย การปกครองของบ้านเมืองอย่างมีอยู่ในปัจจุบันนี้ (สมบูรณาญาสิทธิราชย์-สุพจน์)โดยทางยุติธรรมฤาอยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้วแล ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้

๓. ที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้อย่างเดียว แต่จะตั้งพระราชหฤทัย ว่าสรรพสิ่งทั้งปวงจะต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฎ์ (ปฏิวัติ-สุพจน์)ทุกสิ่งทุกประการไม่เว้นว่าง”

ครั้นแล้วหนังสือกราบบังคมทูลดังกล่าวได้บรรยายถึงรายละเอียดในอันตรายที่จะได้รับจากการปกครองในระบอบเก่าคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์) ไว้อย่างยืดยาวหลายหน้ากระดาษรวมทั้งหนทางที่จะแก้ไขอันตรายเหล่านั้น คือ เดินตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว (คือราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ดังมีความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ด้วย ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงมีความเชื่อถืออันแน่วแน่ว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชหฤทัยทรงพระอุตสาหะ ดังที่ได้มีมาเป็นพยานอยู่แต่ก่อนแล้ว ที่จะทรงพระราชวินิจฉัยในราชกิจทำนุบำรุงพระราชอาณาเขต และไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้มีความสุขความเจริญต่อไป แลทั้งโดยความกตัญูสวามิภักดิ์ ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงโดยเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงนำให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์อันแรงกล้าที่จะได้เห็นรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปด้วยความดี ความเจริญ

เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึงสามารถขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต กราบบังคมทูลพระกรุณา ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทควรทรงพระราชดำริถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในสมัยอันประเสริฐคือ “ศิวิไลเซชัน” นี้ ไม่ควรจะให้มีความดีความเจริญเพียงเสมอรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่โบราณมา ด้วยราชกิจแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น ใช่แต่จะทรงทำนุบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ให้พ้นจากภัยอันตรายตลอดไปชั่วรัชกาลหนึ่งมิได้ ต้องให้ความดีความเจริญที่ใต้ฝ่าฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงพระราชอุตสาหะประพฤติมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เป็นการป้องกันรักษาอันแน่นอนของกรุงสยามและเป็นรากของความเจริญที่จะเจริญต่อไป

และเมื่อรัชกาลในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสุดสิ้นไปแล้ว ให้ผู้ที่จะมารักษาพระราชประเพณีสืบไปแลทั้งข้าราชการ ราษฎรนั้นได้ระลึกถึงรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเคารพนับถือ ว่าเอกราชของกรุงสยามและกำเนิดของความสุขความสบายที่ตั้งอยู่เจริญรุ่งเรืองมาจนวันนี้นั้น เพราะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระองค์เดียวได้ทรงทำนุบำรุงในทางอันประเสริฐมา และจะได้เป็นแบบอย่างของรัชกาลข้างหน้าสืบไป”

บทความที่ ๑๘๗. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๑

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”

ประมวล รุจนเสรี ได้พยายามอธิบายให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีพระราชดำริที่จะพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ สืบต่อจากการวางรากฐานที่รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงดำเนินการไว้บ้างแล้ว

ประมวลฯ ได้พูดถึงสภาการแผ่นดินและสภาองคมนตรี ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ แล้วได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และฉบับต่อมาจนถึงฉบับที่ ๑๖ ในปี ๒๕๔๘ แล้วประมวลฯ ได้ลงท้ายหัวข้อ อธิปไตยพระราชทาน ด้วยบทสรุปว่า

“อำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน เป็นมรดกตกทอดมาจากอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ที่พระมหากษัตริย์มีมาอย่างสมบูรณ์ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ของไทยได้วางแนวทางการพระราชทานอำนาจนี้ให้แก่ปวงชนชาวไทยไว้อย่างเป็นระบบ ที่ทรงใช้เวลาเตรียมการถึง ๒-๓ รัชกาล แต่ในที่สุด คณะราษฎรได้ฉกฉวยโอกาสและราชปณิธานในการพระราชทานอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ทำการยึดอำนาจเสียก่อน..”

ในบทนี้มีข้อเท็จจริงที่สับสนและฝ่าฝืนสัจจะหลายตอน อันเป็นที่เสียหายทางประวัติศาสตร์ ดังที่ผมจะได้ชี้แจงให้เห็นต่อไปนี้

ข้อ ๑. การแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาต่างๆ ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ไม่เกี่ยวกับแผนการเตรียมพระราชทานอธิปไตยแก่ประชาชนชาวไทยแต่ประการใด แต่เป็นแผนการยึดพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จของพระมหากษัตริย์กลับคืนมาจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งขณะนั้นก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ดังคำอธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ซึ่ง หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์(วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์)ผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม เนติบัณฑิตสยามและอังกฤษ บี.เอ. มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นผู้เขียน พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ พ.ศ.๒๔๗๕ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๔๗ โดยสถาบันพระปกเกล้า มีข้อความว่าดังนี้ (อักขระตามต้นฉบับ)

“ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น กรุงสยามของเรานี้นับแต่พระร่วงเจ้าได้ปลดแอกของเขมรออก และตั้งกรุงศุโขทัยเป็นราชธานีสืบอิสสระภาพมาจนบัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ย่อมทรงใช้พระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศแต่ผู้เดียว แต่อำนาจนี้โดยปกติประเพณีของไทย พระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงเลือกใช้โดยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นแก่พลเมืองของท่านได้ นัยหนึ่งกษัตริย์ของเราได้ทรงใช้วิธีการปกครองราษฎรอย่างละมุมละม่อมฉันท์บิดาปกครองบุตร์เสมอมา แต่ก็เคยพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ซึ่งไม่ประพฤติตนอยู่ในทศพิธราชธรรม กดขี่ข่มเหงประชาราษฎร์ ให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นเนืองนิตย์ หรือมิฉะนั้นก็มีพระเจ้าแผ่นดินที่ไร้ความสามารถขาดกำลังจะยึดบังเหียนแห่งการปกครองประเทศไว้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่สามารถกว่าก็ย่อมฉวยโอกาสกำจัดพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ เสีย แล้วขึ้นนั่งเมืองแทนเป็นธรรมดาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้

แต่ส่วนประเพณีการปกครองนั้นก็คงใช้ของเก่าไปตามเดิม มิได้มีใครคิดหรือพยายามเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองให้ดีขึ้น ด้วยถือเป็นธรรมเนียมเสียว่าเมื่อเจ้าไม่ดีก็หาเจ้าใหม่ที่ดีมาแทนได้ ดังนี้

ครั้นมาในสมัยรัชชกาลที่ ๕ แห่งกรุงเทพพระมหานครนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกู้อำนาจของกษัตริย์ซึ่งตกไปอยู่ในเงื้อมมือผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตั้งแต่ต้นรัชชกาลนั้นกลับคืนมาได้ โดยใช้วิธีเอาขุนนางอื่นๆ เข้าเป็นกำลังช่วยพระเจ้าแผ่นดิน

ในที่สุดจึงได้ทรงตั้งสภารัฐมนตรีเรียกตามภาษาอังกฤษว่า เคาน์ซิลออฟสเตต (Council of State) ขึ้นสำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในปีจุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ.๒๔๑๗)และต่อมาก็ประกาศตั้งอีกสภาหนึ่ง เรียกว่า ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) คือองคมนตรีสภา สำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการในพระองค์บ้าง ราชการแผ่นดินบ้างและช่วยวินิจฉัยฎีกาต่างๆ ทำนององคมนตรีอังกฤษ

เมื่อจะทรงตั้งสภาองคมนตรีขึ้นนั้น ได้มีประกาศแสดงพระราชประสงค์จะทรงจัดการบ้านเมืองให้เจริญดีขึ้นโดยยกเลิกการกดขี่อันมีอยู่ในบ้านเมืองไทยให้น้อยลง

ส่วนเหตุที่ตั้งสภารัฐมนตรีขึ้น ก็โดยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า ถ้าจะทรงจัดการบ้านเมืองแต่ลำพังพระองค์เดียว การคงจะไม่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ต้องมีผู้ช่วยกันคิดหลายปัญญา ความเจริญจึงจะมีแก่บ้านเมือง

ทรงพระราชดำริดั่งนี้ จึงได้เลือกสรรข้าราชการที่มีสติปัญญาเข้าเป็นคณะ เพื่อโต้เถียงปัญหาต่างๆ ก่อนออกพระราชบัญญัติ เมื่อตกลงกันเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จึงให้เอาข้อตกลงนั้นไปร่างเป็นกฎหมายขึ้น แล้วให้นำเข้าถวายในที่ประชุมคราวหน้า เมื่อที่ประชุมตกลงเห็นชอบพร้อมกันแล้ว ถ้าเป็นการใหญ่ต้องเอาไปปรึกษาเสนาบดีอีกชั้นหนึ่ง ต่อเสนาบดีเห็นชอบด้วยจึงลงพระนามประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป แต่ถ้าเป็นการเล็กน้อยก็ประกาศใช้ทีเดียวโดยไม่ต้องปรึกษาเสนาบดี

ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น แต่แรกมีขุนนางชั้นพระยา ๑๓ คน ต่อมาภายหลังจึงได้เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ความลำบากครั้งนั้นอยู่ที่หาคนพูดยาก (เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำจัดโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์-สุพจน์) อันเป็นการตรงกันข้ามกับความลำบากสมัยนี้ ซึ่งมักมีคนชอบพูดมากเกินไปในที่ประชุม เพราะในสมัยนั้นผู้ที่เข้าใจการปกครองแบบปาเลียเมนต์แทบว่าจะไม่มีเลย ใครเสนออะไรขึ้นมา มนตรีอื่นๆ ก็มักยอมตามโดยไม่ออกความเห็น

จนในที่สุด ทรงเห็นว่าการที่จะประชุมต่อไปไม่มีประโยชน์ จึงปล่อยให้รัฐมนตรีสภานั้นดับศูนย์ไปเอง พระเจ้าแผ่นดินคงมีแต่เสนาบดีสภาและองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาตลอดมาจนถึงปลายรัชกาลที่ ๖”

Wednesday, July 25, 2007

บทความที่ ๑๘๖. กระเบื้องจะฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม

กระเบื้องจะฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม

“กระเบื้องจะฟูลอย
น้ำเต้าน้อยจะถอยจม”

สำนวนกลอนนี้มีมาแต่โบราณเป็นวรรคหนึ่งในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา วรรคนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง อาจจะเป็นเพราะอุปมาอุปมัยที่จดจำได้ง่าย การอธิบายความหมายโดยทั่วไปกล่าวว่า “กระเบื้อง(หมายถึงคนไม่ดี) ควรจะอยู่ในที่ต่ำในน้ำ กลับลอยเฟื่องฟูเหนือน้ำ ส่วนน้ำเต้า(หมายถึงคนดี) กลับต้องเก็บตัวเงียบ หลบซ่อนหรือไม่ก็ต้องถูกกล่าวหาว่าทำผิดทั้งที่ไม่ผิด”

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ได้รับการสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในปลายกรุงศรีอยุธยา บทกลอนที่นำมาขยายความสำนวนดังกล่าวคือ

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์ เพราะสมัครสมาคมซึ่งมารยา

แสดงถึงความตกต่ำของราชอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองอย่างสูง ซึ่งเป็นความเสื่อมถอยทางศีลธรรม และสาเหตุของความเสื่อมทรามของราชอาณาจักรก็คือ

ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ เกิดนิมิตรพิศดารทุกบ้านเมือง

ในเพลงยาวนี้ได้เริ่มอธิบายความตกต่ำของสังคมว่ามาจาก “ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม” จึงเป็นสาเหตุให้ “จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ” คือธรรมชาติเปลี่ยนแปลงในทางเลวร้าย ศีลธรรมจริยธรรมตกต่ำ สังคมเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย

ทศพิธราชธรรม

เหตุวิปริตที่มาจากเหตุ พระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองไม่มีทศพิธราชธรรม หรือธรรมของผู้ปกครอง ๑๐ ประการ ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจักต้องประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ ทศพิธราชธรรมมีดังนี้

๑.ทาน (ทานํ) การให้ การเสียสละทั้งทรัพย์และน้ำใจให้แก่ผู้อื่น
๒.ศีล (ศีลํ) ความประพฤติที่ดีงามทางกาย วาจา และใจ ปราศจากโทษทั้งในการปกครอง คือกฎหมายและราชประเพณีทางศาสนา
๓. บริจาค (ปริจาคํ) การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของมวลประชาชน
๔. ความซื่อตรง (อาชชวํ) ความซื่อตรงต่อฐานะของผู้ปกครองบ้านเมือง เป็นผู้มีความสัตย์ สุจริต มีสัจจะ
๕.ความอ่อนโยน (มัททวํ) มีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผล มีสัมมาคารวะต่อสมณะและผู้อาวุโส
๖.ความเพียร (ตปํ) ความเพียร วิริยะในการปฏิบัติกิจการงาน
๗.ความไม่โกรธ (อกฺโกธ)ความมีเมตตาไม่แสดงความโกรธต่อธารกำนัล
๘.ความไม่เบียดเบียน (อวีหึสา) การไม่เบียดเบียน บีบคั้นก่อทุกข์แก่อาณาราษฎร
๙. ความอดทน (ขันติ) อดทนอดกลั้นต่อสิ่งทั้งปวง
๑๐.ความยุติธรรม (อวิโรธนํ) ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูดหรือ อารมณ์ หรือสักการะใดๆ

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฎรจนา สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวานิช

ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยา
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์ ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก จึงอยู่เป็นสุขสวัสดี

เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี คหบดีพราหณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาศัย ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร

ด้วยพระเดชาอานุภาพ อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล แต่เครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์ เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ จนคำรบศักราชได้สองพัน

คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ เกิดนิมิตรพิศดารทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองจะออกไปสู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้ อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม

ในลักษณะทำนายไว้บ่ห่อนผิด เมื่อพินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์ เพราะสมัครสมาคมซึ่งมารยา

พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อสัจจะเลื่องลือชา พระธรรมาจะตกลึกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ จะสาปสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์ สัปบุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ

ทั้งอายุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณไม้อันหอมรส จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่

จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี จะเกิดกาลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพล่พล จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย

จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์ จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน

ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย จะสาปสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม จะสิ้นนามศักราชห้าพัน

กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ นับวันจะเสื่อมสูญ เอยฯ
เรียบเรียงจากวารสาร สยามปริทัศน์ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐

Monday, July 23, 2007

บทความที่ ๑๘๕. จดหมายจากคุณสุพจน์ ด่านตระกูล โต้ข้อเขียนของคุณระพี สาคริก ตอนที่ ๒

จดหมายจากคุณสุพจน์ ด่านตระกูล โต้ข้อเขียนของคุณระพี สาคริก

เรียบเรียงจากหนังสือ “โต้ประมวล รุจนเสรี เรื่อง พระราชอำนาจ” ของสุพจน์ ด่านตระกูล
ข้อสอง ท่านระพีสาคริก ระบุว่า “การเลือกตั้งที่คิดแก้ปัญหาใช้เงินซื้อเสียง ผมเห็นว่ามันเป็นปัญหามานานแล้ว แต่ก็แก้ไม่สำเร็จ”

ใช่ครับ เป็นปัญหามานานแล้ว แต่ก็แก้ไม่สำเร็จและจะแก้ไม่สำเร็จตราบใดที่ยังคงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเจ้าสมบัติ ต่อเมื่อเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเจ้าสมบัติที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งหมายถึง อำนาจสูงสุดในแผ่นดิน (เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม หรือทรรศนะสังคม) เป็นของราษฎรทั้งหลายเท่านั้น การเลือกตั้งจึงจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยที่ไม่ต้องตั้งกรรมการอะไรต่ออะไรขึ้นมาควบคุมการเลือกตั้งให้เสียเงินแผ่นดินโดยใช่ที่

ข้อสาม ท่านระพี สาคริก เขียนว่า “ผมเองอายุย่างเข้า ๘๓ ปีแล้ว ยังจได้ดีว่าเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ๒๔๗๕ ซึ่งผมมีอายุ ๑๐ ขวบ ได้มีโอกาสเห็นการปฏิวัติโดยกำลังทหาร เพื่อยึดอำนาจราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์”

ผมเองขณะนี้ก็มีอายุย่างเข้า ๘๒ ปีแล้ว ระดับการศึกษาพออ่านออกเขียนได้และคิดเป็น แต่คิดไม่เป็นว่าคนขนาดดอกเตอร์จะมีอคติและฝ่าฝืนสัจจะถึงกับกล่าวหาคณะราษฎรว่า ...เพื่อยึดอำนาจราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์

ข้อเท็จจริงและเอกสารต่าง ๆ ก็ระบุไว้อย่างชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ได้มีการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็เท่านั้นเอง ส่วนราชบัลลังก์ คณะราษฎรไม่ได้แตะต้องเลย ยังคงเป็นราชบัลลังก์ของพระราชวงศ์จักรีอยู่ก็เท่านั้นเอง

และแม้เมื่อพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ เวลา ๑๓.๔๕ น. รัฐบาลคณะราษฎรก็ยังได้อัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดาของพระปกเกล้าฯ (ที่ถูกข้ามไปแล้ว) ขึ้นครองราชสมบัติสืบบัลลังก์ต่อมา และเมื่อพระองค์ทรงสวรรคตด้วยถูกพระแสงปืน เมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ รัฐบาลขณะนั้น (ปรีดี พนมยงค์) ก็ได้อัญเชิญพระราชอนุชาของพระองค์ ขึ้นครองราชบัลลังก์สืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้ คำกล่าวของท่านระพีจึงไร้ซี่งสัจจะ

ข้อสี่ ท่านระพี สาคริก ระบุว่า รัชกาลที่ ๖ ส่งทหารไปร่วมสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นทรงมีแผนว่าจะปลอดปล่อยกฎหมายไทยให้สามารถคุ้มครองคนได้ทั้งประเทศ แทนที่จะปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาอยู่ในเมืองไทยโดยไม่ต้องขึ้นศาลไทย “และก็ทรงทำได้สำเร็จ”

ก็ไม่ทราบว่าท่านระพีต้องการโฆษณาชวนเชื่อเพื่ออะไร ที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ว่า ก็ทรงทำได้สำเร็จ (หมายถึงการแก้ไขสัญญาให้คนต่างชาติที่ทำผิดกฎหมายไทยขึ้นศาลไทย) ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรและภาพถ่ายอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศขณะนี้ บอกให้เรารู้ว่า การแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือที่เรียกกันว่า การยกเลิกสัญญาสภาพนอกอาณาเขตและภาษีร้อยชักสามนั้น กระทำสำเร็จในรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐)

ดังคำกล่าวสุนทรพจน์ ของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรีที่สืบต่อจากพระยาพหลฯ เนื่องในวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ มีความตอนหนึ่ง ดังนี้

“...สนธิสัญญากับนานาประเทศซึ่งได้ผูกมัดมิให้ชาติของเราสร้างความเจริญขึ้นได้ตามใจเรามานานหนักหนานั้น ได้เป็นผลสำเร็จด้วยความไมตรีจิตอันดีของนานาชาติ เราได้รับเอกราชทางศาล สามารถที่จะตัดสินคดีได้โดยมิต้องให้นานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซง เราสามารถที่จะขึ้นพิกัดอัตราภาษีขาเข้าได้ตามควรแก่ความพอใจของเรา เราสามารถที่จะออกกฎหมายทุกชนิดเพื่อให้พี่น้องชาวไทยมีอาชีพสมกับที่เป็นชาติเอกราชนั้นได้...”

ข้อห้า ท่านระพี สาคริก ตอกย้ำกล่าวหาคณะราษฎรว่าปล่อยให้ต่างชาติเข้ามายึดครองเมืองไทยว่า

“...ใครครองเมืองไทยจนแทบจะไม่เหลือแผ่นดินสำหรับคนไทยอยู่โดยสิทธิอันชอบธรรมอีกแล้ว แม้จะมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ แต่ก็ถูกกันออกไปอยู่นอกพื้นฐานการตัดสินใจระดับชาติ เพราะยึดอำนาจราชบัลลังก์ไปแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕..”

ก็ไม่รู้ว่าทำไมท่านระพีฯ จึงกลายเป็นคนแก่ตัญหากลับอย่างนี้ไปได้ ก็ขอย้ำอีกทีว่า การเปลี่ยนแปลงระบอบจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์มีอำนาจอย่างล้นพ้น มาเป็นราชาธิปไตย (อ่านว่า ราชาธิปไตย) ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่กษัตริย์ถูกจำกัดอำนาจโดยกฎหมาย คือจาก Absolute Monarchy มาเป็น Limited Monarchy ส่วนราชบัลลังก์นั้น คณะราษฎรไม่ได้แตะต้อง จึงยังคงมีสถาบันกษัตริย์ให้พวกเราได้แสดงความจงรักภักดีมาจนถึงทุกวันนี้

แต่บางคนแสดงความจงรักภักดีอย่างที่เรียกว่า “Ultra Royalist” หรือผู้เกินกว่าพระราชา ซึ่งแทนที่จะเป็นผลดีต่อพระราชากลับจะเป็นการทำลายพระราชาเสียด้วยซ้ำ ตรงกันข้ามการกระทำของคณะราษฎรที่เชิดชูพระมหากษัตริย์ให้ทรงอยู่เหนือการเมือง นั่นคือเป็นการรักษาสถาบันกษัตริย์ เพราะการเมืองมีทั้งพระเดชและพระคุณ มีทั้งคนรัก และคนชัง พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองมีแต่พระคุณ จึงมีแต่คนรักบูชาด้านเดียว ดังที่พระองค์ทรงได้รับอยู่ในขณะนี้

ตรงกันข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี ที่มีคนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ท่านระพีฯต้องการให้พระมหากษัตริย์ของเราเป็นเช่นนั้นหรือ นี่หรือคือความจงรักภักดี

ข้อหก ท่านระพี สาคริก ระบุลงไปว่า “ปี ๒๔๗๕ หาใช่การเปลื่ยนแปลงการปกครองตามที่คนกลุ่มหนึ่งนำมาอ้าง แท้จริงแล้วก็คือการปฏิวัติยึดอำนาจมาเป็นของพวกตน เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยไม่รู้ว่านั่นคือการเปิดประตูบานใหญ่ของชาติให้คนต่างชาติ ซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าไหลเข้ามาถือครองแผ่นดินไทยได้ทั้งระบบ”

ความจริงประเด็นนี้มีข้อที่จะต้องทำความเข้าใจกันมาก มีเป็นต้นว่า อะไรคือ “ปฏิวัติ” อะไรคือ “ยึดอำนาจ” แต่ผลเกรงใจเจ้าของคอลัมน์ที่มีหน้ากระดาษจำกัด จึงขอตอบโดยสรุปว่าการเปิดประตูบานใหญ่ของชาติให้คนต่างชาติซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าไหลเข้ามาถือครองแผ่นดินไทยได้ทั้งระบบนั้น หาใช่ใครที่ไหนไม่ ก็คนจำพวกที่เรียกว่า Ultra Royalist นั้นเอง ที่ถือเอาผลประโยชน์ส่วนตนเหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม จึงร่วมกันขัดขวางร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดี พนมยงค์ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และกำจัดท่านออกนอกประเทศ

ทั้ง ๆ ที่เค้าโครงดังกล่าว เป็นเค้าโครงเศรษฐกิจสหกรณ์ครบรูป อันยังผลประโยชน์ให้กับส่วนรวม ตามอุดมคติที่ว่า แต่ละคนเพื่อทุก ๆ คน และทุก ๆ คนเพื่อแต่ละคน

ขอจบเท่านี้ก่อนะครับ
สุพจน์ ด่านตระกูล
๑๘ – ๑ – ๔๘

ผมเขียนไว้ในข้อห้าข้างต้น ตอนหนึ่งที่ว่า “แต่บางคนแสดงความจงรักภักดีอย่างที่เรียกว่า Ultra Royalist หรือผู้ที่เกินกว่าพระราชา ซึ่งแทนที่จะเป็นผลดีต่อพระราชากลับจะเป็นการทำลายพระราชาเสียด้วยซ้ำ..”

ที่ผมเขียนเช่นนี้ ก็เพราะมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสซึ่งท่านปรีดีฯ ได้เขียนตำหนิพวกที่ทำตัวเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี โดยยกเรื่องราวของพวกนี้ที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ดังนี้

“ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสปรากฏว่าระหว่างเวลา ๘๐ ปีนับแต่การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.๑๗๘๙ ถึง ค.ศ. ๑๘๗๐ ราชวงศ์บูร์บองได้กลับมาปกครองราชย์หลายครั้ง ต่อมาเมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๐ นโปเลียนที่ ๓ แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ตได้สละราชสมบัติเนื่องจากแพ้เยอรมัน ฝ่ายเจ้าสมบัติเมื่อได้ปราบปรามขบวนการสหการปารีส (ปารีสคอมมูน-สุพจน์) สำเร็จแล้ว ก็ได้จัดให้มีระบบรัฐสภาเพื่อลงมติว่าฝรั่งเศสจะปกครองโดยระบบสาธารณรัฐหรือราชาธิปไตย โดยอัญเชิญรัชทายาทแห่งราชวงศ์บูร์บองขึ้นครองราชย์ เสียงราษฎรส่วนมากที่พ้นจากการปราบปรามขณะนั้นปรารถนาตามวิถีหลังนี้ แต่พวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น ได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์และเรียกร้องเกินเลยไป แม้เรื่องธงชาติก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสีมาใช้ธงสีขาว ประกอบด้วยรูปดอกไม้สามแฉก (คล้ายดอกบัวดิน) ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Fleurs De Lis” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะพระราชวงศ์บูร์บอง

ก่อนที่รัฐสภาฝรั่งเศสจะลงมติดังกล่าวแล้ว สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (Due De Magenta) ได้มีรับสั่งเตือนผู้ที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี และอ้างว่ารู้พระราชหฤทัยต่าง ๆ นั้นว่า ถ้าพวกนั้นต้องการจะเอาธงมีรูปดอกไม้ชนิดนั้นมาใช้แทนธงสามสีแล้ว ทหารปืนยาวก็จะเดินแถวไปตามลำพังโดยปราศจากธงประจำกอง แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคำเตือนของสมเด็จเจ้า จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมส่วนมากปรารถนาสถาปนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกนั้น ต้องลดน้อยลงไป แม้กระนั้นเมื่อถึงเวลาลงมติ ฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐชนะเพียง ๑ เสียงเท่านั้น

ถ้าหากผู้ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาเด่นของตนแล้ว ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก ดังนั้น พวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าพระราชาธิบดี จึงมิเพียงแต่เป็นพวกที่ทำให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น หากยังทำให้ราชวงศ์บูร์บองสลายไปตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงบัดนี้”

ผมเห็นว่า คำเตือนสติของท่านปรีดีฯ ต่อพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในบ้านเมืองของเราเวลานี้ โดยเฉพาะเหมาะสมกับคำขึ้นต้นของหนังสือที่ชื่อว่า “โต้ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ” และด้วยความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมจึงนำข้อตำหนิมาบอกกล่าวเป็นการเตือนสติประมวลฯ กับพวก Ultra Royalist เพื่อสังวร.
ด้วยความจริงใจ
(สุพจน์ ด่านตระกูล)
๑๐ พ.ย. ๒๕๔๘

Saturday, July 21, 2007

บทความที่ ๑๘๔. จดหมายจากคุณสุพจน์ ด่านตระกูล โต้ข้อเขียนของคุณระพี สาคริก ตอนที่ ๑

จดหมายจากคุณสุพจน์ ด่านตระกูล โต้ข้อเขียนของคุณระพี สาคริก
เรียบเรียงจากหนังสือ “โต้ประมวล รุจนเสรี เรื่อง พระราชอำนาจ” ของสุพจน์ ด่านตระกูล
คุณสุพจน์ ด่านตระกูลเมื่อได้อ่านหนังสือ “พระราชอำนาจ”ที่เขียนโดยประมวล รุจนเสรี ทำให้ท่านนึกถึงข้อเขียนของคุณระพี สาคริกที่เขียนไปลงหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันอังคารที่ ๙ พ.ย. ๒๕๔๗ คุณสุพจน์เห็นว่าข้อเขียนของคุณระพี สาคริก ฝ่าฝืนต่อสัจจะแห่งประวัติศาสตร์หลายประการ ท่านจึงได้เขียนบทความเป็นข้อ ๆ สื่อถึงคุณระพี สาคริกโดยส่งผ่านไปยังผู้ควบคุมคอลัมน์หนังสือพิมพ์นั้น แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา บทความของคุณสุพจน์มีดังนี้

เรียน คุณใบตองแห้งผ่านไปถึงท่านระพี สาคริก

มีพรรคพวกตัดคอลัมน์ ว่ายทวนน้ำ ของ นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันอังคารที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ ส่งไปให้ผมพิจารณา ผมพิจารณาแล้วจึงได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาเพื่อการพิจารณาของคุณใบตองแห้งต่อไป และเพื่อความง่ายต่อการพิจารณา ผมขอแจงประเด็นเป็นข้อ ๆ ดังนี้

ข้อหนึ่ง ท่านระพี สาคริก ตำหนิการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ว่า “เพราะเราไปเอาเปลือกประชาธิปไตยของฝรั่งเข้ามาใช้ ในขณะที่คนเหล่านั้นยังมองเห็นได้ไม่ลึกซึ้งถึงรากเหง้าของเขา เพราะความอยากได้อำนาจจึงทำลงไป”

ในหัวข้อนี้มีอยู่ ๒ ประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจ ประเด็นแรกที่ว่า เราเอาเปลือกประชาธิปไตยของฝรั่งเข้ามาใช้ และประเด็นที่สองคือ เพราะความอยากได้อำนาจจึงทำลงไป

ลำพังประเด็นแรก ถ้าจะทำความเข้าใจกันอย่างถึงที่สุดก็จะเป็นหนังสือเล่มโต ๆ ได้เล่มหนึ่ง ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำความเข้าใจอย่างถึงที่สุด ณ ที่นี้ ผมจึงขอทำความเข้าใจโดยสรุปเพียงเพื่อดอกบัวปริ่มน้ำจะพอเข้าใจได้ ดังนี้

คำว่า ประชาธิปไตย มีเป็นอย่างน้อยก็ ๒ นัย

นัยหนึ่ง คือ รูปแบบ เช่น มีการเลือกตั้ง มีการประชุมปรึกษาหารือ มีการฟังเสียงข้างมาก เหล่านี้เป็นต้น

อีกนัยหนึ่ง คือ เนื้อหา มีอยู่ ๓ ด้านตามโครงสร้างของสังคม คือ เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมหรือทรรศนะสังคม ซึ่งรวมเรียกว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย

และใน ๓ ด้าน หรือ ๓ ส่วนนี้ เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการเมืองและวัฒนธรรม หรือทรรศนะสังคมเป็นโครงสร้างชั้นบน

และโดยกฎธรรมชาติ โครงสร้างชั้นบนขึ้นต่อโครงสร้างพื้นฐาน ในทางสังคมก็เช่นเดียวกัน ชนชั้นใดกุมอำนาจทางเศรษฐกิจอันใดเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ชนชั้นนั้นก็จะมีโอกาสกุมอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมหรือทรรศนะสังคม อันเป็นโครงสร้างชั้นบนร่วมด้วย

ในยุคทาส เจ้าทาส เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การเมืองและวัฒนธรรมหรือทรรศนะสังคมจึงเป็นของเจ้าของทาส

ในยุคศักดินา เจ้าศักดินาเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การเมืองและวัฒนธรรมหรือทรรศนะสังคมจึงเป็นของเจ้าศักดินา

ในยุคทุนนิยม เจ้าสมบัติ (นายทุน)เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การเมืองและวัฒนธรรมหรือทรรศนะสังคมจึงเป็นของเจ้าสมบัติ (ดังที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้)

แต่คำว่าประชาธิปไตยในบ้านเรา โดยความเป็นจริงในขณะนี้เป็นแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น ส่วนเนื้อหาเป็นเผด็จการ คือ อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของเจ้าสมบัติ หรือ ประชาธิปไตยเจ้าสมบัติ

ในประเด็นที่สองที่ว่า “..เพราะอยากได้อำนาจจึงทำลงไป (หมายถึงคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะต้องการอำนาจ) ในประเด็นนี้มีข้อเท็จจริงมากมายที่จะชี้ให้เห็นว่า คณะราษฎรไม่ได้ทำลงไปเพราะต้องการอำนาจ แต่มีข้อจำกัดด้วยเนื้อที่ของคอลัมน์ผมจึงขอสรุปโดยย่นย่อดังนี้

กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ไม่ได้ขึ้นกับความอยากได้อำนาจหรือไม่อยากได้อำนาจของใคร แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และความเรียกร้องทางประวัติศาสตร์ ดังแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองระบุไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้

“...เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรได้ร่มเย็น แต่ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงครองอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจในทางทุจริต..ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร...”

แถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวนี้ไม่เกินเลยไปจากความจริงที่ดำรงอยู่ในเวลานั้น ดังหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของนายทองเจือ จารุสาธร ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๗๔ (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง)มีความตอนหนึ่ง ดังนี้

“เวลานี้ไปที่ใด แม้แต่ชาวนาชนบทก็กล่าวถึงเศรษฐกิจ การเมือง ได้ยินข้อครหาอย่างธรรมดาและเลือดร้อน บ้างว่ารัฐบาลปกครองราษฎรอย่างทาส อย่างหลอกลวง อย่างสูบเลือดสูบเนื้อกันทุกหนทุกแห่ง การนินทาว่าร้ายนั้นไม่ถึงกับเป็นภัยในเร็ววันนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นชนวนให้เกิดความเสียหายในอนาคตทีละเล็กละน้อย..” (หจช. ร.๗ รล. ๒๐/๑๙๔ นายทองเจือ จารุสาธร ถวายฎีกา ๑๔ มีนาคม ๒๔๗๔)

โดยสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จึงเป็นความเรียกร้องทางประวัติศาสตร์ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีคณะราษฎรหรือไม่มีก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ขึ้นกับความอยากได้อำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง

Tuesday, July 17, 2007

บทความที่ ๑๘๓. สุนทรพจน์หลวงประดิษฐ์มนูธรรมปี ๒๔๗๘

สุนทรพจน์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหมาดไทย
ทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘

ท่านผู้ฟังทั้งหลาย

วันคืนก็ได้ล่วงมาบรรจบครบรอบปีที่ ๓ ณ วันนี้ที่ ๒๗ มิถุนายน อันเป็นมหามงคลที่ชาติไทยได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ในระหว่าง ๑ ปี นับแต่วันที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมาแสดงถึงเรื่องสองปีที่ล่วงมาแล้ว รัฐบาลก็ได้พยายามที่จะผดุงประเทศชาติให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นตลอดมา

อันชีวิตของชาติ จะเจริญด้วยความมั่งคั่งสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ แห่งชาติ ความสามัคคีเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาติมีกำลังเข้มแข็งเข้าสู่ความเจริญอย่างไรนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงมาแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ และชาติเราจำต้องฝ่าอุปสรรคอันมีอยู่ประการใดนั้น เมื่อคืนวันที่ ๒๖ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ได้แสดงให้ท่านทราบแล้วว่า นอกจากขาดกำลังทรัพย์ ประเทศเรายังขาดกำลังคน คือขาดผู้รู้ผู้ชำนาญในวิทยาการ สยามที่ได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญนั้นมิใช่จะตั้งต้นใหม่แต่ในระบอบการปกครอง สยามจำต้องเพาะคนขึ้นใหม่ จำต้องเพาะผู้รู้ผู้ชำนาญเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมอวัยวะของชาติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ภาษิตของชาวตะวันตกบทหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้อ้างเมื่อปีกลายนี้ว่ากรุงโรมมิได้สร้างสำเร็จลงในวันเดียวนั้น ข้าพเจ้าก็จำต้องขออ้างซ้ำอีก สำหรับประเทศสยามประเทศอันเป็นที่รักของเรา ณ บัดนี้

ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรอบขวบปีนี้มีประการใดนั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงแก่ท่านโดยสังเขปในส่วนที่เกี่ยวแก่หลักการทั่วไปตามแนวหลัก ๖ ประการ และบรรยายหนักไปในหน้าที่กระทรวงมหาดไทยโดยฉะเพาะ ดั่งต่อไปนี้

ประการที่ ๑ เรื่องความเป็นเอกราชนั้น กล่าวโดยฉะเพาะการศาล ประมวลกฎหมายต่าง ๆ ของเราที่ยังค้างอยู่ก็ได้รีบเร่งชำระสะสาง เสนอสภาผู้แทนราษฎรและประกาศเสร็จไปหมดแล้ว คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว บรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อีกทั้งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ และเราก็จะเริ่มเจรจาสัญญาทางพระราชไมตรีต่อไป

ส่วนความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้น รัฐบาลได้รีบเร่งจัดทำวัตถุอื่นๆ เพื่อเป็นอุปกรณ์ที่จะให้ความเป็นเอกราชมั่นคงขึ้น

ประการที่ ๒ เรื่องรักษาความสงบภายในนั้น กล่าวโดยฉะเพาะในเรื่องโจรผู้ร้ายที่ลุกลามอยู่มากมายในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และต้นปี พ.ศ.๒๔๗๗ บัดนี้ก็ได้ลดน้อยถอยลงไป จะเห็นได้ว่าคดีอุกฉกรรจ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ น้อยกว่าในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ๗๕ ราย ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๘ น้อยกว่าในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๗ ๗๓ ราย ใน ๓ สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนนี้เทียบกับเดือนมิถุนายนที่แล้วมา ก็ปรากฏว่าจำนวนคดีอุกฉกรรจ์ได้ลดน้อยลงอย่างมาก

ในส่วนการราชทัณฑ์ ก็ได้พยายามที่จะฝึกฝนอบรมนักโทษไปในทางหาผลประโยชน์ และดัดนิสัยให้กลายเป็นคนดี และหาอาชีพให้แก่ผู้ที่พ้นโทษแล้ว ได้เริ่มตั้งเรือนจำที่จะเปลี่ยนรูปเป็นทัณฑนิคมในภายหน้าในจังหวัดนครราชสีมา และเตรียมการตั้งต่อไปอีกในจังหวัดยะลา ผลประโยชน์ที่ได้จากการราชทัณฑ์ใน พ.ศ.๒๔๗๗ นี้ เป็นเงิน ๒๘๙,๙๐๒ บาทเศษ มากกว่าที่กำหนดไว้ถึง ๑๘๙,๗๐๒ บาท ได้หักเอาไว้จ่ายทำทุนใน พ.ศ.๒๔๗๗ บ้าง สำหรับ พ.ศ.๒๔๗๘ บ้าง ที่เหลือก็นำส่งคลังเป็นรายได้ อนึ่งโรงเรียนดัดสันดานก็จะจัดตั้งขึ้นใหม่อีก

ส่วนการปกครอง การสาธารณสุขและการแพทย์ การโยธาเทศบาล อันเป็นอุปกรณ์สำคัญแห่งการรักษาความสงบภายในก็ได้จัดให้คืบหน้าจากปีที่แล้วมา

ระเบียบการปกครองแบบเทศบาลจะเริ่มขึ้นโดยเปิดสภาจังหวัดตามจังหวัดต่าง ๆ ในเร็ววันนี้ และการสุขาภิบาลที่มีอยู่แล้วแต่เดิม ๓๔ แห่ง ก็จะมีสภาพใหม่เป็นเทศบาล ประดุจดังเทศบาลนครที่จะจัดให้มีขึ้นในจังหวัดพระนครแห่งหนึ่ง ในจังหวัดธนบุรีอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ได้มีงบประมาณสำหรับจัดเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลอีกหลายแห่ง ซึ่งจะได้จัดให้มีตามเมืองและตำบลที่สำคัญ ราษฎรก็จะได้มีส่วนมีเสียงในการจัดการปกครองท้องถิ่นของตนยิ่งขึ้น

ในเรื่องการสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งจะทำให้ราษฎรได้มีอนามัยสมบูรณ์ ก็ได้อาศัยกำลังเงินจากรัฐบาลบ้าง จากสลากกินแบ่งบ้าง จากท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคบ้าง จากกำลังแรงของผู้เสียสละบ้าง สถานพยาบาลก็ได้สร้างขึ้นหลายแห่ง เช่นสุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จังหวัดธนบุรี ซึ่งท่านผู้เป็นเจ้าของนามสุขศาลานั้นได้บริจาคทรัพย์ให้ จังหวัดสิงห์บุรีก็ได้จัดสร้างสุขศาลาขึ้นโดยเงินของสุขาภิบาลและเงินเรี่ยไร จังหวัดอุดรธานีได้สร้างเรือนคนไข้เพิ่มเติมในบริเวณสุขศาลา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังกำลังสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลกลางจังหวัดพระนคร โรงพยาบาลหนองคาย โรงพยาบาลอุบลราชธานี ส่วนที่จังหวัดนครพนมจะลงมือในไม่ช้า จังหวัดแพร่จะดำเนินการให้มีสุขศาลา และอนาถาพยาบาลพระประแดงก็จะได้สร้างเรือนคนไข้วรรณโรคหญิงเพิ่มเติมอีก ส่วนราษฎรในฝั่งแม่น้ำโขงก็จะได้รับความสะดวกในการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลได้ลงมือสร้างเรือยนตร์พยาบาลประจำแม่น้ำโขงให้แล้ว เรือนี้จะแล่นไปมาในลำแม่น้ำโขง ในเขตต์จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม และลำน้ำก่ำเขตต์จังหวัดสกลนครด้วย นอกจากนี้ แห่งใดที่จะสร้างโรงพยาบาลหรือสุขศาลายังไม่ได้ ก็ได้ให้เปิดสถานทำการบำบัดโรคขึ้น ณ ที่พักแพทย์ เช่นที่อำเภอเซ่าจังหวัดลพบุรี และอำเภอท่าบ่อจังหวัดหนองคาย

ฝ่ายบุคคลที่เป็นโรคจิตต์ ซึ่งที่แล้ว ๆ มาในต่างจังหวัดได้ฝากไว้ยังเรือนจำนั้น ต่อไปจะได้เริ่มจัดให้ไปอยู่ ณ โรงพยาบาลโรคจิตต์ ซึ่งจะสร้างขึ้นสำหรับภาคใต้ ๑ แห่ง ภาคเหนือ ๑ แห่ง

ปัญหาสำคัญเรื่องผู้รักษาพยาบาลนั้น ก็ได้พยายามอบรมให้มีผู้ช่วยแพทย์ขึ้นสำหรับภาคอิสาน ๓๐ คนแล้ว และในปีนี้ก็ได้เปิดอบรมขึ้นที่เชียงใหม่อีก ๒๐ คน ในส่วนกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ก็ได้ประกาศไปแล้ว ๒ ฉะบับ คือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ นอกจากนี้คณะกรรมการสาธารณสุขและการแพทย์ที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้น ยังได้ช่วยเหลือวางโครงการณ์ในการสาธารณสุขและการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการโยธาเทศบาลอันเป็นอุปกรณ์สำคัญอันหนึ่งแห่งการปกครอง ก็ได้ทำการคืบหน้าไปหลายอย่าง โดยฉะเพาะการทางนั้นพอกล่าวได้ว่าสายแพร่-น่าน ได้กะงบประมาณเพื่องานดินซึ่งหวังให้เสร็จในปีนี้ สายสวรรคโลก-ตาก ก็จะลงหินให้เสร็จ สายชนบทร้อยเอ็ด-อุบล สายอุบล-มุกดาหาร-นครพนม สายตะพานหิน-เพ็ชร์บูรณ์- สายแปดริ้ว-สัตตหีบ สายปราจีน-อรัญญประเทศ สายชุมพร-กระบุรี สายห้วยยอด-กระบี่ สายยะลา-เบตง สายท่านุ่น-ตะกั่วป่า ทางหลวงเหล่านี้มีระยะทางรวมทั้งหมด ๑,๓๐๑ กิโลเมตร์ ได้จัดถางป่าไปแล้ว ๖๕๕ กิโลเมตร์ ทำงานดินเสร็จ ๔๗๗ กิโลเมตร์ ถมหินแล้ว ๙๙ กิโลเมตร์ สร้างสะพานคอนกรีตแล้ว ๔๖ แห่ง ฝังท่อระบายน้ำแล้ว ๒๖๒ แห่ง

อนึ่ง สายแปดริ้ว ชลบุรี สัตตหีบ ก็จะเร่งรีบทำงานเพราะงานดินเสร็จแล้ว งานหินเสร็จบางตอน กองทัพเรือก็ได้ช่วยทำจากสัตตหีบย้อนมายังชลบุรี

ถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง และกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ทั้งสองนี้งานดินได้จัดทำแล้ว เวลานี้กำลังสร้างสะพานและท่อระบายน้ำและกำลังเตรียมงานสำหรับลงหินต่อไป

ทางหลวงที่สำคัญซึ่งเมื่อได้ทำการสำรวจแล้ว ก็จะดำเนินการก่อสร้างต่อไปคือ สัตตหีบ-ระยอง,ราชบุรี-บ้านโป่ง, เพ็ชร์บูรณ์-หล่มศักดิ์, บัวใหญ่-ชัยภูมิ,จักราช-พิมาย,ขอนแก่น-เลย,อุดร-เลย-เชียงคาน

ในส่วนพระนครและธนบุรีนั่นเล่า ก็ได้รับงบประมาณที่จะก่อสร้างถนนให้ดีขึ้น ทางฝั่งพระนคร ถนนเหล่านี้จะลาดแอสฟัลด์ ถือถนนทรงวาด,ทรงสวัสดิ์,ดินสอ, บ้านตะนาว,จักร์เพ็ชร์,พระสุเมรุ,ตีทอง,ตรีเพ็ชร์ และบริเวณหน้าสถานีรถไฟหลวงก็ได้ทำลานคอนกรีตแล้ว ทางฝั่งธนบุรีนั้น ถนนลาดหญ้าจากวงเวียนใหญ่ถึงคลองบางกอกใหญ่จะได้ถมหินและสร้างสะพาน และงานดินงานหิน งานสะพานจะได้ทำจากถนนลาดหญ้าต่อไปยังตลาดพลู ซึ่ง ณ บริเวณตลาดนั้นมีถนนซึ่งจะได้ถมหินให้

การไฟฟ้าและการประปาหัวเมืองก็จะได้รีบเร่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มหาชน เวลานี้ได้มีพระราชบัญญัติซึ่งอนุญาตรัฐบาลให้ยืมเงินแก่สุขาภิบาลหรือเทศบาล ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจะได้ตั้งโรงไฟฟ้า ณ เมืองฉะเชิงเทรา, อุตรดิตถ์,อุทัยธานี,และในท้องที่ชุมแสง,บางมูลนาค และจะสร้างประปาในพระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี,นครสวรรค์,พิษณุโลก

สำหรับพระนครและธนบุรีก็มีข่าวสำคัญที่จะนำมาซึ่งความชื่นชมยินดีที่จะแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบ ณ บัดนี้ก็คือ อัตรากระแสไฟฟ้าและค่าเช่าเครื่องซึ่งมีมูลค่าแพ่งอยู่นั้นต่อไปจะลดลง โดยที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำความตกลงกับบริษัทไฟฟ้าสยามคอร์ปอเรชั่นจำกัด สำเร็จแล้วในอันที่จะลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าลงจากอัตราที่คิดอยู่ในเวลานี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ กระแสไฟฟ้าสำหรับแสงสว่าง เครื่องอุปกรณ์กำลัง และความร้อน อัตราขั้นสูงลดหน่วยละ ๒ สตางค์ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ลดหน่วยละ ๓ สตางค์ หมายความว่าปีนี้เราได้ลดลง ๒ สตางค์ ปีหน้าเราได้ลดรวม ๕ สตางค์ ส่วนค่าเช่าเครื่องวัดไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ ๑๐ อังแปร์ลงมา

วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ คิดเพียง ๘๐ สตางค์ ได้ลด ๒๐ สตางค์

วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ คิดเพียง ๕๐ สตางค์ ได้ลด ๕๐ สตางค์

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยโดยฉะเพาะ นอกจากนี้การรักษาความสงบภายในก็ได้อาศัยกำลังทหาร ตำรวจ พลเรือน ช่วยกันรักษาประเทศให้ยืนยงตลอดมา

ประการที่ ๓ การเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วเมื่อปีกลายนี้ รายการละเอียด ข้าพเจ้าของดไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในการนั้นมาแสดงต่อท่าน

ประการที่ ๔ เรื่องสิทธิเสมอภาค และประการที่ ๕ เรื่องเสรีภาพของประชาชน ข้าพเจ้าก็ได้กล่าวมาเมื่อปีกลายนี้ และซึ่งได้บังเกิดขึ้นแล้วตามรัฐธรรมนูญฉะบับถาวร และรัฐบาลก็ได้ตั้งกรรมการที่จะชำระสะสางบทกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว อันส่อให้เห็นถึงความตั้งใจดีของรัฐบาลที่จะยังความเสมอภาคและเสรีภาพให้มากยิ่งขึ้น

ประการที่ ๖ เรื่องการศึกษานั้นก็ได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โรงเรียนประชาบาลจะตั้งขึ้นทุกตำบล และสิ่งที่น่าจะเห็นในความสุจริตใจของรัฐบาลก็คือ รัฐบาลได้ตกลงวางนโยบายคืนเงินศึกษาพลีที่รัฐบาลก่อน ยืมมาจากจังหวัดต่าง ๆ หวังว่าจังหวัดต่าง ๆ ได้เตรียมแผนการตามนโยบายนั้น และได้รับเงินนี้คืนไปแล้ว ก็คงจะช่วยการศึกษาประชาบาลให้แก่ยุวชนเรามากยิ่งขึ้น และจะส่งเสริมการปกครองแบบเทศบาลให้ไปสู่ยังผลสำเร็จ

ผลแห่งรัฐธรรมนูญในรอบขวบปีหนึ่ง มีดั่งได้กล่าวมาแล้วโดยสังเขป ท่านที่ตั้งใจเป็นธรรมก็คงปรารถนาที่จะแลเห็นผลอันนี้ก้าวหน้าต่อไปอีก ข้าพเจ้าจำต้องขอร้องต่อท่านผู้ฟังประดุจดังที่ขอร้องมาแล้วในปีก่อน ขอวิงวอนให้พวกเราชาวไทยจงมีใจรัก มีใจนิยมรัฐธรรมนูญด้วยความสุจริต ต่างคนต่างช่วยแก้ไข ช่วยกันคิดช่วยกันสร้าง ปราศจากการทำลายล้างต่อกัน เมื่อเป็นได้ดังนั้น รัฐธรรมนูญของเราจะถาวรลอยเด่นอยู่เสมอ ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้ท่านนิยมรัฐบาลหรือนิยมใครเป็นส่วนตัว แต่ขอร้องให้ท่านเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนทั่วไป ขอให้พวกเราชาวไทยจงช่วยกันรักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามให้สถิตย์สถาพรอยู่ชั่วกาลปาวสานเทอญ.

Saturday, July 14, 2007

บทความที่ ๑๘๒. บ้านกับหนังสือ

บ้านกับหนังสือ โดย แหลมตะลุมพุก


บ้านใดที่มีหนังสือ
บ้านนั้นก็คือบ้านป่า
ถ้าแม้หนังสือนานา
สอนให้ประชามืดมน

ถอยหลังเข้าคลองข้องอยู่

ในเล่ห์ของผู้หวังผล
ขูดรีดหลอกลวงปวงชน
ย่อยยับอับจนนิรันดร์

หนังสือคือกองขยะ

หากมุ่งสาระเช่นนั้น
บ้านใดมีไว้อนันต์
ควรนับบ้านนั้นป่าดง

แม้เปรียบด้วยบานหน้าต่าง

เพียงเพื่ออำพรางให้หลง
เปิดเห็นทุ่งนาป่าดง
หาทางออกตรงไม่มี

สูรย์จันทร์นั่นสาดส่องหล้า

ห่อนเลือกเคหาเศรษฐี
หนังสือที่จัดว่าดี
ประโยชน์มากมีทั่วไป

คือสอนให้คนรู้หลัก

สัจจะประจักษ์แค่ไหน
สังคมบ่มร้ายเช่นไร
เปิดเผยแก้ไขเปลี่ยนแปลง

เช่นการรีดนาทาเร้น

ชี้ปมลับเร้นแอบแฝง
แลเล่ห์มารยาพลิกแพลง
เป็นการช่วยแรงปวงชน

หนังสือคือบานหน้า

ต่างยามเปิดสว่างให้ผล
ทำลายความมืดหมองมน
เพื่อประชาชนภิญโญ

Monday, July 2, 2007

บทความที่ ๑๘๑. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องท่านปรีดีฯ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องท่านปรีดีฯ (ปี ๒๕๒๖)

ถาม กรณีสวรรคตนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนยังติดใจสงสัยอยู่ อยากให้อาจารย์พูดให้กระจ่าง

ส. พูดให้กระจ่างไม่ได้ ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์

ถาม หมายถึงว่าจากคำพูดของอาจารย์ปรีดี

ส. พูดไม่ได้เพราะมันสะเทือน ท่านปรีดีท่านไม่ได้พูด ท่านเอาหลักฐานมาให้ผมดู ปรากฏว่าลอร์ด หลุย เมาแบทเต็นเตือนท่านว่า มันเป็นแอ็คซิเดนท์ ควรยอมรับปัญหาจะได้หมดไป ถ้าไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ มันจะเป็นชนักติดหลัง นี่เป็นคำที่ลอร์ด หลุย เมาแบทเต็นเสนอมาว่าให้ยอมรับ ยอมรับเสียว่าเป็นแอ็คซิเดนท์ ท่านปรีดีไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ จะได้อโหสิให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บ้านเมืองจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิฉะนั้นแล้วนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะเอาอันนี้มาทำลายได้ นี่เป็นหลักฐานที่ลอร์ด หลุย เมาแบทเต็นพูด และผมได้เห็นเอกสารนั้น เขาเปิดเผยกันแล้วที่อังกฤษ ในเมืองไทยก็มี ไม่มีใครกล้าเอามาพิมพ์กัน

ถาม เรื่องเสรีไทย อาจารย์ปรีดีกับอาจารย์เสนีย์ มีบทบาทอย่างไร

ส. คุณต้องเข้าใจนะว่า เสนีย์น่ะเป็นประเด็นเล็กมากในขบวนการเสรีไทยทั้งหมด วิธีจะดูนี่ คุณต้องถามคนรุ่นนั้นดู อาจารย์เสนีย์นี่แกนึกว่าแกใหญ่ตลอดเวลา ข้อเสียของเสนีย์นี่ แกสอบได้ที่ ๑ เป็นนักเรียนอังกฤษแกเลยนึกว่าแกที่หนึ่งตลอดเวลา ความจริงแกเล็กมากในขบวนการเสรีไทย คุณอย่าเชื่อผม คุณไปถามนักเรียนไทยในอเมริกาเวลานั้นทั้งหมด ไม่มีใครเขานับถือชอบพอเสนีย์ คุณอ่านหนังสือที่พระพิศาลสุขุมวิทเขียน หลังสงครามแล้วไปติดต่อกับอเมริกาต่าง ๆ ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ติดต่อผ่านเสนีย์เลย ติดต่อกับอเมริกาโดยตรง

เพราะฉะนั้นเสนีย์แกมีบทบาท ไม่ใช่ไม่มีบุญคุณ แกมี แต่บทบาทและบุญคุณแกน้อยมาก แต่แกนึกว่าแกยิ่งใหญ่ คุณลองนึกดูว่าแกยิ่งใหญ่เท่าท่านปรีดีหรือไม่ ถ้าไม่มีอาจารย์ปรีดี ทำสำเร็จได้หรือไม่ ทำไม่ได้ ท่านปรีดีเวลานั้นท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย สำคัญเหลือเกิน

ท่านติดต่ออังกฤษ อเมริกาโดยตรง เสนีย์เข้ามาเกี่ยวน้อย แล้วถ้าเสนีย์ทำดี ๆ แล้วคุณจำกัด พลางกูรจะไม่ต้องตาย แต่คุณเสนีย์สนใจแต่ตัวเอง ลองไปถามนักเรียนไทยดู...แกเป็นคนแคบ เป็นคนไม่กว้างเลยและเป็นคนที่ไม่มีเวลาให้กับคนอื่น

ถาม เรื่องเสรีไทยที่ชื่อจำกัด พลางกูร ที่ถูกส่งไปเมืองจีนแล้วอาจารย์เสนีย์ ปราโมชบอกไม่รู้จัก

ส. เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่อาจารย์ปรีดีส่ง(นายจำกัด)ไปเมืองจีนจริง เรื่องมันซับซ้อนมาก ถ้ามาพูดตอนนี้มันจะไขว้เขว มีคนสงสัยว่าจีนจะแอบฆ่า อะไรต่าง ๆ แต่อันนี้ก็พิสูจน์ไม่ได้ พูดกันไปก็ทะเลาะกันเปล่า ๆ แต่ที่ท่านไปตายประเทศจีน ที่จริงเรื่องนี้พูดกันตรงไปตรงมาแล้ว เขาไม่มีเอกสารเปิดเผย แล้วคนที่นั่นเขายังอยู่ เป็นใหญ่เป็นโต เป็นหัวหน้าพรรคเวลานี้ ท่านปรีดีติดต่อให้เขาไปคนแรก ที่เขาอ้างว่าเขารักชาติ แต่เขาไม่ไป! ที่ให้เขาไปเพราะมันมีประโยชน์ เพราะหัวหน้าเสรีไทยในอเมริกาเป็นหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เขาอ้างว่ารักชาติ แต่เขารักชาติโดยทำเฉพาะสิ่งที่เขาจะได้หน้า นี่มันเสี่ยงชีวิต คุณจำกัดแกก็ไป แกเป็นคนใจนักเลง มีวิชาความรู้ไม่น้อยกว่าคึกฤทธิ์ แกก็เสียสละไป แล้วไปก็ไม่ใช่ไปง่าย ภรรยาไปส่งกันที่ชายแดน ข้ามไปเมืองลาว จากลาวข้ามไปญวน จากญวนถึงจะทะลุเข้าไปทางฮานอย ต้องหาทางเข้าเมืองจีนเอง เรื่องมันหโหฬาร

ถาม ภาพที่ออกมานี่ในขบวนเสรีไทย อาจารย์เสนีย์จะเด่นมาก

ส. อ้าว ธรรมดาที่คุณเรียนที่เค้าจะต้องยกย่องเสนีย์เรื่องเสรีไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี่ก็ไปยกย่องเจ้าคุณพระยามโนฯ เขาพยายามลบท่านปรีดีฯออกจากประวัติศาสตร์เพราะอะไร ? เพราะประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของอธรรม หลวงประดิษฐ์มนูธรรมท่านอยู่ฝ่ายธรรมะ ผมเองก็เติบโตมาด้วยการเกลียดหลวงประดิษฐ์ฯ เพราะว่าประวัติศาสตร์ไทยมอมเมา ให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของดี หลวงประดิษฐ์ฯท่านอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย คุณเสนีย์อยู่ฝ่ายราชาธิปไตย เขาเป็นหม่อมราชวงศ์ ประชาธิปัตย์นี่ก็อยู่ฝ่ายราชาธิปไตยไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แล้วเวลานี้พรรคการเมืองทั้งหมดนี่มีแนวโน้มจะกลับไปหาราชาธิปไตย

ดูซิระบบโรงเรียน ระบบหนังสือพิมพ์ก็ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยทั้งนั้น มีฟังเสียงผู้น้อยหรือเปล่า แต่หลวงประดิษฐ์ท่านต้องการให้เป็นอีกอย่างหนึ่งครับ เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่อยากให้มีคนอย่างท่าน ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ คือเขาต้องการจะลบท่านออกจากประวัติศาสตร์ อะไรที่เขาปฏิเสธไม่ได้ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว การแก้สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตครั้งสุดท้ายท่านปรีดีฯเป็นคนเดินทางไปเจรจา แต่พวกนี้กลับมายกย่องฟรานซิสบีแซ บีแซนี่ต่อต้านประเทศไทยอย่างหนักเลย ต่อต้านครั้งสุดท้ายไม่ให้มีประชาธิปไตยเสนอพระปกเกล้าฯ แล้วเราก็มาเชื่อฝรั่ง ในสมัยของหลวงประดิษฐ์ฯนั้นท่านร่างกฎหมายขัดผลประโยชน์ของอเมริกัน นายบีแซเลยวีโต้ในฐานะที่ปรึกษาระห่วางประเทศแล้วเราก็ยกย่อง มีถนนกลัยา- ณมิตร บีแซ อยู่ข้างกระทรวงต่างประเทศ เราช่วยยกย่องคนเหล่านี้เพราเขาเป็นประโยชน์กับชนชั้นปกครอง

ถาม เรื่องที่จีนขอเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในเมืองไทย

ส. อันนี้จริงทีเดียว เพราะงั้นถึงส่งจำกัด พลางกูร ไปเจรจากับเจียง ไคเช็ค ถึงต้องติดต่อกับอเมริกัน ที่นายจำกัดถูกฆ่าเพราะเหตุนี้ ถ้าจีนเข้ามาเมืองไทย เราก็จะกลายเป็นเหมือนเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ กองทัพของจีนตอนนี้ก็ยังอยู่-กองพล ๙๓ ตอนแรกก็ไม่ยอมรับ ตอนหลังก็รับออกมา นี่เป็นบุญคุณสำคัญของท่านปรีดีฯ แต่เราก็พยายามไม่นึกถึงกัน ถ้าไม่มีท่านเรื่องนี้(เรื่องต่อต้านการแบ่งไทย) ก็ไม่สำเร็จ