Tuesday, June 26, 2007

บทความที่ ๑๗๓. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๗

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๗. ท่านปรีดี เดินทางออกไปนอกประเทศ

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ให้นายปรีดี พนมยงค์ไปพบทีวังปารุสกวัน และขอร้องแกมบังคับให้นายปรีดีฯ เดินทางออกไปนอกประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยโดยรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่ในต่างประเทศให้ปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งนายปรีดีฯ ไม่มีทางเลือก จึงต้องยอมเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส

ครั้นถึงวันที่นายปรีดีฯ จะต้องเดินทางออกแผ่นดินไทย ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ วันนั้นที่ท่าเรือบีไอ ฝูงชนได้พากันชุลมุนกันอย่างคับคั่งโดยไม่ต้องมีใครไปกะเกณฑ์มีทั้งนักการเมืองระดับรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ พ่อค้าประชาชนและแม้กระทั่งภิกษุสามเณรและลูกเสือ

รายงานข่าวหนังสือพิมพ์หลักเมือง ฉบับวันที่ ๑๓ เมษายน รายงานว่า

“ความที่ประชาชนไปชุมนุมกันอย่างมากมาย ณ ท่าเรือแห่งนั้น ทำเอาบริษัทตกใจกลัวว่าทรัพย์สินจะเสียหายอันเนื่องมาจากการเบียดเสียดของฝูงชน จึงให้คนยามปิดประตูเสีย จนเกิดต่อล้อต่อเถียงกันขึ้นระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่บริษัทถึงกับจะใช้กำลังปะทะกันทีเดียว แต่เรื่องก็เรียบร้อยลงได้เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา ขอร้องให้บริษัทเปิดประตูให้ประชาชนเข้าไปส่งนายปรีดีฯ ได้ถึงท่าเรือโดยท่านรับรองจะใช้ค่าเสียหายให้บริษัทถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น”

หนังสือพิมพ์หลักเมืองยังได้รายงานว่า ประชาชนที่หลั่งไหลไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ท่าเรือ บีไอวันนี้ไม่ต่ำกว่า ๓-๔ พันคน ในจำนวนนี้มีบุคคลขั้นรัฐมนตรีหลายท่าน เช่น พระยาพลพลพยุหเสนา พระยามานวราชเสวี หลวงศุภชลาศัย หลวงพิบูลสงคราม นายแนบ พหลโยธิน นายตั้ว ลพานุกรม หลวงเดชสหกรณ์ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ

ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีหลายสิบคน เช่น

หลวงแสงนิติศาสตร์,พระวุฒิศาสตร์เนติญาณ,พระยานิติศาสตร์ไพศาล,นายมานิต วสุวัต,นายดิเรก ชัยนาม,นายจรูญ สืบแสง,นายจรูญ ณ บางช้าง,หลวงชำนาญนิติเกษตร, นายทวี บุญเกตุ,นายชุน ปิณฑานนท์, นายสงวน ตุลารักษ์, นายซิม วีระไวทยะ,นายหงวน ทองประเสริฐ,นายวิเชียร สุวรรณทัต, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์,หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์,นายวิลาศ โอสถานนท์,นายบรรจง ศรีจรูญ,หลวงอรรถกิตติกำจร,หลวงอรรถสารประสิทธิ์,หลวงทัศนัยนิยมศึก เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ได้รายงานต่อไปว่า เมื่อจวนจะถึงเวลาเรือออก เจ้าคุณพหลฯ ก็ได้นำพวงมาลัยไปสวมให้แก่นายปรีดีฯ ซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจมากสำหรับคนที่รักและเคารพนายปรีดีฯ ต่อจากนั้นผู้ที่เป็นเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ลูกหาทั้งทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ต่างก็เข้าสัมผัสมือกับนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อหมดพิธีแล้วนายปรีดีฯ จึงเดินขึ้นบันไดเรือและครั้นแล้วเสียงไชโยก็ดังขึ้นอย่างกึกก้องเมื่อเรือได้เคลื่อนที่ออกจากท่ามุ่งออกสู่ทะเลลึกตรงไปยังสิงคโปร์

หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งคือ ศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๓ เมษายน รายงานในเนื้อข่าวว่า

“รัฐมนตรีเป็นอันมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ พลเรือน พ่อค้าคหบดี นักเรียน ลูกเสือไทย ลูกเสือแขก พระภิกษุ สามเณร นักบวชฝรั่ง ประชาชนทุกชั้นทุกภาษา ทั้งหญิงชาย ผู้ใหญ่และเด็ก ประมาณ ๓,๐๐๐ คนไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)ด้วยน้ำตาอาบไหลพรากไปตาม ๆ กันเป็นส่วนมาก เสียงไชโยกึกก้องกังสดาลนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกล่าเคลื่อนออกลับตาไป

การส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกจากกรุงเทพฯ ไปประเทศฝรั่งเศส ณ วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น เป็นประวัติการณ์แห่งการส่งได้ครั้งหนึ่งตั้งแต่ได้มีการส่งอำลาซึ่งกันและกันมา การส่งเขาย่อมว่า ถึงแม้จะมีการร้องไห้ก็เฉพาะในวงศาคณาญาติและมิตรที่สนิทสนมกันเท่านั้น แต่การส่งคราวนี้มองดูหน้าใคร ๆ เกือบเห็นน้ำตาไหลหรือหล่อหน่วยหรือดวงตาแดงกร่ำไปเกือบทุกคน บางคนถึงกับสะอึกสะอื้น ฟูมฟายก็มี แม้พระยาพหลฯ ผู้เป็นประธานในที่นั้นและตัวหลวงประดิษฐ์ เองก็กล้ำกลืนน้ำตาไว้ไม่อยู่ ผู้ที่ไปส่งถึงสิงคโปร์รวมสามคน คือ หลวงทัศนัยนิยมศึก ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ และนายจรูญ สืบแสง

พระยาพหลฯ ได้สวมพวงมาลัยอันร้อยกรองอย่างวิจิตรให้แก่หลวงประดิษฐ์ฯ แล้วทั้งสองก็กอดร่ำลากลมไปกลมมาราว ๕ นาที เสียงไชโยก็ระเบิดออกมาอย่างสนั่น เสียงร้องไห้ของสตรีเข้าแทรกประดุจฆ้องไชย เสียงสะอึกสะอื้นของหลายคนประดุจดนตรีบรรเลง พร้อมกันนั้นต่างชูหมวกและผ้าเช็ดหน้ากวัดแกว่งประดุจธงสะบัด กล้องถ่ายรูปรอบข้างได้กระทำหน้าที่กันจ้าละหวั่น ครั้นแล้วพวกก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งร่วมตายกันมากับหลวงประดิษฐ์ ทั้งทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ก็เข้ากอดและจับมือด้วยความอาลัยทั้ง ๆ ที่มีน้ำตาบ้างไม่มีบ้าง

ต่อไปนี้หลววประดิษฐ์ฯ ก็เดินขึ้นสะพานเรือจับมือสำแดงความอาลัยกับผู้ไปส่งตลอดทางเสียไชโยไม่ขาดสายจนกระทั่งเข้าไปห้องอาหาร ซึ่งมิตรสหายได้จัดของว่างไว้รับ ตอนนี้ก็ได้กอดร่ำลากันพักใหญ่อีก บางคนได้สวมกอดหลวงประดิษฐ์ฯ เช่นหลวงวิจิตรวาทการ พระสารศาสน์ประพันธ์ เป็นอาทิ บางคนขอจับมือด้วยความศรัทธา

เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบลามารดาของท่านอีกแล้วก็ออกจากห้องอาหารขึ้นไปบนห้องโถงบนเรือ ได้มีการลากันกับคณะราษฎรผู้ก่อการทั่วหน้า และพอพระยาพหลฯ ตามขึ้นไปจูบสั่งลาเป็นครั้งสุดท้ายก็พอดีอาณัติสัญญาณเรือออก

ต่อไปนี้ มหาชนก็ยืนรอกันที่สะพานชานชาลา เพื่อรอส่งเวลาเรือกลับลำแล่นผ่านท่าอีกครั้ง เวลา ๑๖.๓๐ น.เศษ เรือโกล่าแล่นผ่านท่าเรือบีไอหลวงประดิษฐ์ และคณะก็แกว่งโบกผ้าเช็ดหน้า พูดขอลาก่อน ฝ่ายผู้ส่งก็โบกตอบและเปล่งเสียงไชโย กึกก้องจนกระทั่งเรือลับตาหายไป

No comments: